สร้าง KM ให้ทุนมนุษย์ ! ปูทางองค์กรเพื่อความเป็นเลิศ


การบริหารจัดการองค์กรในยุคนี้ หากองค์กรไหนมีเป้าหมายไปสู่ "องค์กรแห่งการเรียนรู้" (learning organization : LO) ต้องเรียกว่าพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี

การบริหารจัดการองค์กรในยุคนี้ หากองค์กรไหนมีเป้าหมายไปสู่ "องค์กรแห่งการเรียนรู้" (learning organization : LO) ต้องเรียกว่าพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงได้ดี

เนื่องจากองค์กรแห่งการเรียนรู้เป็นองค์กรที่สามารถเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง สามารถเพิ่มพูนสมรรถนะที่จะก่อเกิดการพัฒนาการดำเนินกิจการให้ก้าวหน้าได้ไม่ยาก

ซึ่งไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายที่ทุกองค์กรจะพัฒนาตัวเองไปถึงขั้นการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนถาวรได้ !

แต่เส้นทางหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ติดอาวุธทางปัญญาให้กับองค์กรจนสามารถก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้ไม่ยากนัก นั่นก็คือแนวทางของ "การจัดการความรู้" (knowledge management) หรือ KM

ดร.ประพนธ์ ผาสุกยึด

"ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด" ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการสื่อสารพัฒนาการเรียนรู้ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมไทย ใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนางานโดยใช้ความรู้เป็นฐาน

ความน่าสนใจอยู่ที่ว่าตอนนี้พัฒนาการของแนวคิดด้าน KM ไปถึงไหนแล้ว ?

"การจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตอนที่ไม่มีชื่อว่า KM ในหลายๆ แห่งก็มีการจัดการความรู้กันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ทำๆ กันในตอนนั้น อาจจะไม่ชัดเจน หรือทำกันไม่เต็มรูปแบบเหมือนในขณะนี้"

บางแห่งอาจจะสนใจจัดการแต่ความรู้ที่อยู่ในเอกสาร สนใจแต่ความรู้ที่เป็นวิชาการ หรือในบางองค์กรเน้นแต่ความรู้เชิงปฏิบัติการ ให้ความสำคัญเฉพาะส่วนที่มาจากประสบการณ์จริง จึงจัดการความรู้กันแค่เพียงบางส่วน ไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุม

แต่ในปัจจุบัน ผู้บริหารองค์กรได้เห็นความสำคัญของ "ความรู้" ทั้งที่อยู่ในเอกสาร และในตัวผู้ปฏิบัติงาน

เริ่มให้ความสำคัญและหันมาสนใจในความรู้ที่เป็น "ต้นทุน" ที่อยู่ในตัวคน !

"เริ่มพูดถึง human capital ค่อนข้างจะบ่อย มองว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ สำคัญยิ่งกว่าทรัพยากรอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุ อุปกรณ์ หรือเครื่องจักร ซึ่งธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ คือธุรกิจที่สามารถนำศักยภาพของคนมาใช้ได้อย่างเต็มที่"

และเริ่มมีการให้ความสำคัญกับ "ทรัพย์สินทางปัญญา" หรือ intellectual property โดยพยายามที่จะตีค่าให้เป็น "มูลค่า" ในทางบัญชี ในรูปของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible asset)

ทำให้แนวคิดเรื่อง KM ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ

"วิวัฒนาการ KM นั้นไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่ามาจากแนวคิดของผู้หนึ่งผู้ใด แต่ได้พัฒนาเรื่อยมาจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ในปัจจุบันเป็นช่วงที่เรียกกันว่า new economy หรือ "เศรษฐกิจใหม่" เป็นเศรษฐกิจที่สังคมต้องใช้ความรู้เป็นฐาน (knowledge - based society) เป็นยุคของการแข่งขันกันด้วยความคิดสร้างสรรค์ เอาชนะกันด้วยการส่งมอบสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า และเป็นยุคของการบริหารจัดการ ที่ต้องใช้ความรู้เป็นฐาน"

สคส. จึงได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถด้าน KM ให้กับภาคีในบริบทที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และภาคราชการ ทั้งด้านการเกษตร ด้านการศึกษา ด้านบริการสุขภาพ และชุมชนท้องถิ่น

โดย สคส.ทำหน้าที่ "เชื่อมร้อย" เครือข่ายที่มีการใช้การจัดการความรู้ ให้ได้มีโอกาสเรียนรู้จากกันและกัน อีกทั้งส่งเสริมให้แต่ละหน่วยงานสร้าง สรรค์รูปแบบ การจัดการความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง ให้เป็น KM ผ่านยุทธศาสตร์ "ขับเคลื่อนเครือข่าย KM ประเทศไทย"

ภาคีเครือข่ายที่ได้นำ KM ไปใช้แล้วมีหลายแห่ง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต โรงเรียนชาวนา ของมูลนิธิข้าวขวัญ โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ชุมชนท้องถิ่น เครือข่ายเบาหวาน โรงพยาบาลเทพธารินทร์ และเครือข่ายการจัดการความรู้ในองค์กรทางการศึกษา

ภาคธุรกิจก็ได้มีการนำ KM ไปใช้พัฒนาการเรียนรู้ในองค์กรหลายๆ แห่งเช่นกัน อาทิ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ็นโอเค พรีซิชั่น คอมโพเนนท์ (ประเทศไทย) จำกัด

"โดยในวันที่ 1-2 ธันวาคมนี้ สคส. ได้เชิญภาคีเครือข่ายการจัดการความรู้กว่า 40 องค์กรร่วมจัดงาน "มหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติครั้งที่ 3" ขึ้น ณ ไบเทคบางนา ซึ่งนับเป็น "การขับเคลื่อนเครือข่าย KM ประเทศไทย" ที่ขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็ว"

ถึงแม้ว่าจุดเริ่มในการทำ KM ของภาคราชการ และภาคเอกชนจะแตกต่างกันบ้าง โดยภาคราชการส่วนใหญ่มาจากข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาข้าราชการ (ก.พ.ร.) ในขณะที่ภาคเอกชนมองเห็นว่า KM เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

"แต่ไม่ว่าการเริ่มต้น KM จะเป็นไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลที่ออกมาค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน KM คือรากฐานสำคัญในการพัฒนาองค์กร เพราะปัจจุบัน KM กลายเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานต่างๆ ทั้งในระดับชาติและในระดับโลก"

เช่น เป็นเกณฑ์ในการขอรับรองคุณภาพ

มาตรฐานโรงพยาบาลของสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการขอรับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award-TQA) เป็นเกณฑ์มาตรฐานในการขอรับรางวัลคุณภาพระดับโลก ตามแนวทางของ Malcolm Baldridge National Quality Award (MBNQA)

"KM จึงไม่ใช่แค่ "ทางเลือก" หากแต่เป็น "ความจำเป็น" สำหรับองค์กรที่ต้องการมุ่งสู่ความเป็นเลิศ เป็นความจำเป็นสำหรับองค์กรที่ต้องการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม (innovation) ได้อย่างต่อเนื่อง"

เมื่อถามว่า KM กับองค์กรแห่งการเรียนรู้สัมพันธ์กันอย่างไร ?

หากใช้แบบจำลองของ Peter Senge ที่บอกว่าองค์กรแห่งการเรียนรู้จะต้องมีองค์ประกอบหรือคุณลักษณะที่สำคัญ 5 ประการ อันได้แก่ 1.มีการมีวิสัยทัศน์ร่วม (shared vision) 2.มีการเรียนรู้จากกันและกัน (team learning) 3.มีผู้ที่ใผ่เรียนรู้ (personal mastery) 4.มีผู้ที่สามารถสร้างกรอบความคิด (mental model) และ 5.มีผู้ที่คิดไม่ติดกรอบ เห็นความเชื่อมโยงเป็นระบบ (systems thinking) มาจับ

จะเห็นได้ว่าองค์กรที่มีการทำ KM แบบครบวงจร คือมีกระบวนการจัดการความรู้ทั้งส่วนที่เห็นได้ชัด (explicit knowledge) และส่วนที่ฝังลึก (tacit knowledge) จะทำให้เกิดการพัฒนาคุณสมบัติทั้ง 5 ประการนี้ได้

"การทำ KM โดยเริ่มต้นด้วยการตอบคำถามที่ว่า "ทำ KM ไปทำไม ...ทำ KM เพื่ออะไร" นั้น จะทำให้ KM ดำเนินไปอย่างไม่พลาดเป้า ทำให้ KM สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและทิศทางขององค์กร เป็นการสร้างความชัดเจน ทำให้เห็นว่าประเด็นที่สำคัญคืออะไร ทำให้ได้วิสัยทัศน์ร่วมกัน ซึ่งก็คือ shared vision นั่นเอง"

และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (knowledge sharing) คือสิ่งที่ LO เรียกว่า team learning การทำ KM เป็นการส่งเสริมให้เกิด team learning ในทุกระดับ KM ที่ได้ผลและเป็นธรรมชาติจะทำให้เกิดกลุ่มการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เรียกว่า CoPs (comminity of practice) ขึ้นมา

การพัฒนาความใฝ่รู้ ในตัวบุคคลก็เช่นกัน กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน KM จะเป็นเส้นทางไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เป็นวัฒนธรรมที่ทำให้คนไม่หยุดนิ่ง หาวิธีการที่ดีกว่าเดิม เรียนรู้เพื่อจะทำสิ่งใหม่ให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

"กระบวนการ KM โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนของการฝึกฟังอย่างตั้งใจและการฟังอย่างลึกซึ้ง (deep listening) หากได้ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ จะทำให้ผู้ฟังได้ตรวจสอบกรอบความคิดของตนเอง ซึ่งตรงกับ mental model ใน LO"

และกระบวนการ KM นอกจากจะสอนให้คนเปิดกว้างทางความคิด จนไม่ยึดติดใน mental model ที่ตนเองสร้างขึ้นมาแล้ว ยังจะทำให้ได้เห็นว่าสิ่งต่างๆ นั้นมีการโยงใยถึงกันได้อย่างไร เป็นเพราะเหตุปัจจัยใดบ้าง จึงทำให้เกิดผลนั้นๆ ขึ้นมา ทำให้ได้เห็น "ภาพใหญ่" และสามารถเข้าใจ "ภาพย่อยๆ" ไปได้พร้อมๆ กัน

"โดยต้องเป็น KM ที่ไม่ติดอยู่แต่ที่ตัวระบบหรือเทคโนโลยี แต่ต้องเป็น KM ที่เน้นไปที่ตัวคน ให้ความสำคัญกับเรื่องความคิด เรื่องจิตใจ หากทำได้เช่นนี้ก็จะเป็น KM ที่ปูทางไปสู่การสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้"

ตอนนี้องค์กรของคุณให้ความสำคัญกับ KM แล้วหรือยัง ?

ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3836 (3036)



หน้า 47

คำสำคัญ (Tags): #km#lo#peter#senge#model
หมายเลขบันทึก: 55378เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2006 09:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอเรียนถามท่านอาจารย์ ดังนี้ครับ

ทักษะกระบวนการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเกื้อหนุนให้เกิดสัมฤทธิ์ผลทางด้านการจัดการความรู้อย่างไรบ้างครับ?

ขอบคุณครับ

อานันท์

 

 

 

ทักษะทาง IT  ย่อมเกื้อหนุนให้เกิดสัมฤทธิผลในการจัดการความรู้
เพราะทักษะ IT  เป็นความสามารถที่ทำให้คนนำมาใช้เป็นช่องทางในการ
ติดต่อสื่อสาร (Communication)   เป็นช่องทางในการแพร่กระจาย (Diffusion)
เป็นทักษะที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  (Share vision)   โดยอาศัย IT  เป็นเครื่องมือ  แต่ถ้าเราไม่มีทักษะทาง IT  ก็ต้องใช้ช่องทางอื่น ๆ เช่น การจัดกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้จัดการความรู้

กระบวนการของ IT  มีอย่างกว้างขวาง  กระบวนการที่เรากำลังใช้อยู่นี้คือ Blog เป็นเครื่องมือของการเก็บรวบรวมและเผยแพร่ความรู้
เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการจัดการความรู้   โดยใช้กระบวนการทาง IT เข้ามาช่วย    สัมฤทธิผลของการจัดการความรู้ผ่าน IT ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่เข้ามาอ่านจะแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือไม่  

ถ้าใช้กระบวนการทางไอทีอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ   ความรู้ต่าง ๆ ก็จะถูกสะสมเอาไว้ใน blog  เมื่อมีการนำเสนอ แลกเปลี่ยนความเห็น หรือสรุปประเด็นต่าง ๆ ของความรู้แต่ละเรื่องก็จะกลายเป็นองค์ความรู้ใหม่    การจัดการความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ก็จะประสบความสำเร็จ  กลายเป็นความรู้ที่แท้จริงไปในที่สุด

ธมนวรรณ เพชรสุข นักศึกษาปริญญาเอกคริสเตียน473028

ทักษะทาง IT ดิฉันคิดว่าสามารถนำมาใช้ได้ในงานวิจัยและเกิดประโยชน์ช่วยให้ผู้ใช้รวบรวมข้อมูลได้ดีเพราะนำข้อมูลที่ได้มาเก็บบันทึกไว้ก่อนเมื่อต้องการข้อมูลใดที่จะใช้ในการวิเคราะห์ก็นำข้อมูลนั้นมา การใช้ IT  ทำให้ประหยัดเวลาในการคำนวณวิเคราะห์อีกด้วย ส่งผลงานวิจัยไปได้ทันท่วงที อาจารย์มีความคิดเห็นเช่นไรค่ะ

                                          ขอบคุณค่ะ

                                               ธมนวรรณ

สุทธิพร กรุงกาญจนา 493001
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้มีการศึกษาและนำโครงการระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลัก (System  Application  and  Products  in  Data  Processing : SAP) มาใช้ในการดำเนินการด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและให้บริการลูกค้ามาแล้วประมาณ  2 ปีเศษ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีมาก แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ บุคลากรขาดความรู้ในการใช้ระบบ IT ที่ดีพอ ขาดการบริหารจัดการด้าน LO เท่าที่ควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์ใดมีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้เป็นอันดับแรก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท