พยาบาล สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างไร


เมื่อพูดถึงความยากง่ายของงานด้านสุขภาพ  หลายคนมักจะมองว่าพยาบาลที่ทำงานในห้องผ่าตัด  แผนก ICU หรือแผนกที่ต้องใช้เครื่องมือมากๆ เป็นผู้น่าให้ความเคารพ ยอมรับ เพราะทำงานยาก มากกว่าคนที่ทำงานในแผนกผู้ป่วยนอก หรือ ออกไปสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน  เห็นได้จากการตีค่า  การให้ค่าตอบแทนพยาบาล โดยแบ่งเป็นเกรด A  B และ C   โดยพยาบาลที่อยู่ห้อง ICU หรืออยู่แผนกที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่ซับซ้อนได้รับการยกย่องให้เป็นพยาบาลเกรดA   พยาบาลที่อยู่ตามหอผู้ป่วยทั่วไปได้รับเกรด B และพยาบาลที่อยู่ OPD หรือพยาบาลชุมชนถูกมองว่าทำงานง่าย ได้รับเกรด C ไปด้วยค่าตอบแทนที่น้อยที่สุด

ดิฉันอยากให้กำลังใจพยาบาลชุมชนว่า  งานที่เราทำนั้นเป็นงานที่ท้าทาย  เพราะถ้าเราทำได้ดี กล่าวคือ สามารถป้องกันไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย  สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุด   พยาบาลที่อยู่ ICU หรือ แผนกฟอกไต ก็คงจะไม่มีงานทำ หรือ ว่างงานไปเลย  แต่ประเด็นสำคัญก็คือ  พยาบาลชุมชน ปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มความสามารถแล้วหรือยัง  จากประสบการณ์ พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่บางคนมีงานยุ่งเสียจนลืมไปว่าเป้าหมายของวิชาชีพคืออะไร  สิ่งที่ดิฉันจะกล่าวต่อไปนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อพยาบาลโดยทั่วไปและนักศึกษาพยาบาล  ผู้ซึ่งกำลังเรียนรู้ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร โดยดูอาจารย์และบุคลากรทางการพยาบาลเป็นตัวอย่าง

ในทุกกิจกรรมการพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น งานลงทะเบียนซักประวัติ  งานคัดกรองสุขภาพเช่นชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง  วัดรอบเอว งานให้คำปรึกษาแนะนำ หรืองานฉีดยา ทำแผล  เป็นงานที่มีค่า มีความสำคัญและเปิดโอกาสให้เราได้สร้างเสริมสุขภาพและช่วยเหลือประชาชนหรือ “ทำบุญ” ด้วยกันทั้งสิ้น 

ยกตัวอย่างเช่น ในการซักประวัติเรื่องการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า ดิฉันเคยได้ยินเจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าวว่าถ้าเป็นผู้หญิงไม่ต้องถามก็ได้  ซึ่งตรงนี้ไม่ดีแน่เพราะเราจะพลาดโอกาสประเมินภาวะเสี่ยงของผู้หญิง ครั้งหนึ่งเมื่อดิฉันซักประวัติการสูบบุหรี่จากผู้ชายวัย 51 ปี เขาตอบว่าสูบบ้างวันละ 2-3 มวน  ถ้าเราหยุดการซักถามเรื่องบุหรี่เพราะได้คำตอบที่ต้องการแล้วหันไปถามคำถามอื่นต่อไป  เราอาจพลาดโอกาสสำคัญ   ดิฉันถามต่อไปว่า สูบทำไม (เพื่อประเมินว่า สูบเพราะสังคม หรือเพราะเหตุผลใด) เขาตอบว่า “สูบเฉพาะเวลาเข้าห้องน้ำ เพราะไม่รู้จะทำอะไร”  ดิฉันจึงแนะนำให้อ่านหนังสือหรือทำอย่างอื่นแทนการสูบบุหรี่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งจากควันบุหรี่ลงได้   ซึ่งผู้ชายคนนั้นเข้าใจและรับที่จะเลิกสูบ  และเดือนหลังจากนั้น ดิฉันทราบว่าเขาเปลี่ยนเป็นอ่านหนังสือแทนการสูบบุหรี่ เวลาเข้าห้องน้ำ   

อีกครั้งหนึ่งเมื่อวัดรอบเอว ชั่งน้ำหนักและวัดความดันโลหิต สามีภรรยาคู่หนึ่งอายุ 50-51 ปี พบว่า  มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติเล็กน้อย รอบเอวและน้ำหนักเกินมาตรฐานเล็กน้อย  ถ้าเราเห็นว่ามีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย  แล้วก็หยุดหันไปซักถามหรือทำอย่างอื่นต่อไป  เราก็จะพลาดโอกาสที่จะ “ทำบุญ” อีก  ดิฉันได้บอกกับสามีภรรยาคู่นี้ว่า ความดันโลหิตสูงกว่าปกติไปเล็กน้อย และอ้วนไปหน่อย  และอธิบายว่าถ้าไม่รีบแก้ไขจะมีผลเสียตามมามากมาย  ทั้งสองคนให้ความสนใจและถามวิธีแก้ไข  ดิฉันซักถามพฤติกรรมสุขภาพ พบว่าทั้งคู่กินอาหารเย็นประมาณ 17.00 น.แล้วนอน 20.00 น. จึงแนะนำให้ปรับเวลาอาหารเย็นให้เร็วขึ้น  ทั้งสามีภรรยาก็เข้าใจและรับว่าจะปฏิบัติตนใหม่ให้มีสุขภาพดียิ่งขึ้น   

ดิฉันยังมีประสบการณ์อีกในการซักประวัติ   เมื่อดิฉันถามลุงคนหนึ่งที่เป็นเกษตรกรว่า  ปกติไปรับยารักษาเบาหวานที่ไหน คุณลุงตอบว่าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง  ถ้าดิฉันหยุด แล้วปล่อยให้คุณลุงไปแผนกอื่น ดิฉันคงพลาดโอกาส “ทำบุญ”อีก  ดิฉันจึงถามถึงเหตุผลที่ใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งนั้น  คุณลุงตอบว่า เนื่องจากโรงพยาบาลนั้นมาเปิดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่คัดกรองเบาหวาน แล้วเมื่อพบว่าคุณลุงเป็นเบาหวานจึงเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลนั้นตลอดมา  ซึ่งแต่ละครั้งค่ายา ค่ารักษาและค่าเดินทางรวมกันเป็นหลักหมื่น  ดิฉันจึงแนะนำให้ใช้สิทธิบัตรทองที่โรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านโดยให้ความมั่นใจว่ามีการตรวจรักษาที่ได้มาตรฐาน มีคุณภาพในการรักษาเบาหวานไม่แตกต่างจากโรงพยาบาลเอกชนนั้น  คุณลุงและภรรยาก็เกิดความมั่นใจ และดีใจที่จะได้ประหยัดเงินค่าใช้จ่ายในการรักษา

นี่เป็นตัวอย่างเล็กน้อยที่พยายามจะอธิบายว่า  งานพยาบาลไม่ว่าจะทำจุดไหนก็มีคุณค่าทั้งสิ้น  เราสามารถสร้างเสริมสุขภาพให้กับประชาชนได้ตลอดเวลา  ขณะที่ทำงานหนึ่งก็สามารถบูรณาการงานอื่นๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการสร้างเสริมสุขภาพได้เสมอ  ทั้งยังมีโอกาสช่วยประชาชนด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของการพยาบาล  ซึ่งอาจเป็นการ “ทำบุญ” ที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการทำบุญตามปกติเสียอีก   ที่สำคัญ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวิชาชีพการพยาบาล  นั่นคือ “ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนได้รับมากกว่าที่เขาคาดหวัง”            

 

หมายเลขบันทึก: 552867เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2013 10:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2013 10:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท