ฮักแพงเบิ่งแญงขามเรียง (1) : นิทรรศการเครื่องใช้เครื่องสอย "ของจริง-ใช้จริง" ในเวทีศิลปวัฒนธรรมอีสาน มมส


ผมชอบทุกๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นในเวทีนั้น หากแต่สุขใจเหลือล้นกับนิทรรศการข้าวของเครื่องใช้อันเป็นเครื่องไม้เครื่องมือการยังชีพของชาวขามเรียงเป็นที่สุด เพราะเป็น "ของจริง" มิใช่ปั้นแต่งสาธิตขึ้นมาใหม่ ของทุกชิ้นล้วน "มีอยู่จริง" และ "ใช้จริง" ในชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้นำมารวบรวมไว้ที่วัดประจำหมู่บ้าน (บ้านมะกอก) ด้วยหมายใจว่า ในอนาคตจะสามารถจัดระบบระเบียบเป็น ศูนย์การเรียนรู้ ของชุมชนได้ในสักวัน

24-26 กันยายน 2556 ทีมวิจัยไทบ้าน ฮักแพงเบิ่งแญงขามเรียง มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการ ศิลปวัฒนธรรมอีสาน ณ อาคารพัฒนานิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีนิสิต บุคลากร และชาวบ้านเข้าร่วมในจำนวนที่น่าพึงพอใจ 


ต้องยอมรับว่าโครงการศิลปวัฒนธรรมอีสานที่จัดขึ้นในปีนี้มี ประเด็น การจัดงานที่แจ่มชัด หรือ คม ชัด ลึก กว่าปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด เพราะแทนที่จะโฟกัสกว้างๆ ไปยังความเป็น อีสาน ทั้งหมด แต่กลับจำกัดให้ แคบ-ลึก ลงด้วยการชูประเด็น ชุมชนขามเรียง มาเป็นหัวใจของการขับเคลื่อน
 

 

 

 

  

การชูประเด็น อีสานขามเรียง เป็นวิธีคิดที่มุ่งต้องการให้ผู้เข้าร่วมงานได้รู้และสัมผัสกับ ทุนทางสังคม หรือ มรดกทางวัฒนธรรม ของชุมชนขามเรียงอันเป็นชุมชนที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในปัจจุบัน ซึ่งการรู้และสัมผัสในเชิงทุนทางสังคมดังกล่าว มีทั้งมิติของการ คงอยู่-เลือนหาย-กำลังเลือนหาย 

  

 

 

ในระยะแรกของการออกแบบกิจกรรมนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำกัดอยู่ในวังวนของบุคลากรกองกิจการนิสิต (กลุ่มงานกิจกรรมนิสิต) เท่านั้น ซึ่งร้อยทั้งร้อยมุ่งประเด็นความเป็นอีสานแบบกว้างๆ แทบทั้งสิ้น แถมยังไม่หวนกลับไปทบทวนว่าสองปีที่ผ่านมา มีประเด็นอะไรน่าสนใจ อะไรคือความท้าทายที่ต้องต่อยอด อะไรคือความท้าทายที่ต้องสะสาง..อะไรคือสิ่งที่ควรต้องเรียนรู้ในแบบ บันเทิงเริงปัญญา มิใช่แค่กะเกณฑ์คนมากรีดกรายจับจ่ายใช้สอยราวกับ ตลาดนัด หรือไม่นิสิตก็ทำได้เพียงแค่ประกวดร้องเพลง ออกซุ้มนิทรรศการกิจกรรม ซึ่งอธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำว่ากิจกรรมเหล่านั้นสัมพันธ์กับ ศิลปวัฒนธรรม อย่างไร ...



ครับ -... แต่ครั้นพอผมมีโอกาสได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะทำงาน จึงได้ให้ข้อเสนอแนะในการชวนให้หวนกลับมายังชุมชนรอบมหาวิทยาลัย โดยยกเอา ขามเรียง มาเป็นหัวใจหลัก ปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยขยับไปสู่ชุมชน ท่าขอนยาง
 

 


นั่นจึงเป็นที่มาของนิทรรศการชุด ม.ขามเรียง อันเป็นกิจกรรมหนึ่งในเวที ศิลปวัฒนธรรมอีสาน และคำว่า ม.ขามเรียง ก็ประกอบด้วย (
1) หมู่บ้านขามเรียง (2) ม.มหาสารคาม นั่นเอง
  

 

 

 

 

แน่นอนครับ- ผมไม่ได้เสนอแนะแค่ประเด็นพื้นที่ของการสะท้อนวิถีวัฒนธรรมเท่านั้น หากแต่เสนอแนะให้เชิญทีมวิจัยไทบ้าน (ฮักแพงเบิ่งแญงขามเรียง) ที่ผมมีส่วนในการก่อร่างสร้างทีมมากับชาวบ้านได้มีโอกาสเข้ามา ออกแบบกิจกรรม ร่วมกัน เพราะนี่คือวิธีการ หรือ รูปแบบ ทำงานภายใต้การวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ผมและทีมฮักแพงฯ กำลังขับเคลื่อนในชื่ออันแสนยาว ว่า รูปแบบและกลไกการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของนิสิตและชุมชนเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพชุมชนเทศบาลตำบลขามเรียง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 

 

และเป็นที่น่าชื่นชมและยินดีเป็นที่สุด เนื่องจากในเวทีของการร่วมออกแบบการจัดกิจกรรมระหว่าง ชาวบ้าน (ทีมวิจัย) กับบุคลากรของกองกิจการนิสิตนั้น ชาวบ้านได้สะท้อนถึงข้อมูลอันเป็นทุนทางสังคมที่มีอยู่ ผนึกกับข้อมูลใหม่ที่เกิดจากการเก็บข้อมูลบริบทชุมชนผ่านการ วิจัย ในระยะที่ 1 มาแบ่งปันบอกเล่าเป็นชุดๆ จนก่อให้เกิดกิจกรรมมากมายที่ชุมชนจะเคลื่อนเข้ามาสมทบผ่าน ปราชญ์ ในด้านต่างๆ เช่น สรภัญญะ เพลงกล่อมลูก หมอลำ ดนตรี กลุ่มอาชีพ หรือแม้แต่เครื่องไม้เครื่องมือการยังชีพของชาวบ้าน ฯลฯ

   

 

 

แน่นอนครับ ผมกล้าที่จะยืนยันว่านี่คือรูปแบบหนึ่งของการสะท้อนข้อมูลที่ได้จากการวิจัย และนี่คือส่วนหนึ่งของการทำงาน ร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยกับชุมชน ที่มีกลุ่มวิจัยไทบ้านฯ เป็นเสมือน กลไก ของการเชื่อมประสานภายใต้แก่นคิดหลักของการทำงานแบบมีส่วนร่วม 

 

หรือแม้แต่การพยายามสื่อให้เห็นว่า " ชาวบ้าน-ชุมชน มีที่ยืนในมหาวิทยาลัย มิใช่มหาวิทยาลัยเป็นดินแดนอภิสิทธิ์ชนที่ชาวบ้านเข้ามาเยือนอย่างยากลำบาก"

 

  

  

โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบทุกๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นในเวทีนั้น หากแต่สุขใจเหลือล้นกับนิทรรศการข้าวของเครื่องใช้อันเป็นเครื่องไม้เครื่องมือการยังชีพของชาวขามเรียงเป็นที่สุด เพราะเป็น "ของจริง" มิใช่ปั้นแต่งสาธิตขึ้นมาใหม่ ของทุกชิ้นล้วน "มีอยู่จริง" และ "ใช้จริง" ในชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้นำมารวบรวมไว้ที่วัดประจำหมู่บ้าน (บ้านมะกอก) ด้วยหมายใจว่า ในอนาคตจะสามารถจัดระบบระเบียบเป็น ศูนย์การเรียนรู้ ของชุมชนได้ในสักวัน 

 

 

 

 

ครับ- ผมว่านั่นคือวิธีคิดที่มหาวิทยาลัยฯ หรือแม้แต่องค์กรในท้องถิ่น หรือภาคีอื่นๆ ต้องหันกลับมาร่วมคิด ร่วมรังสรรค์และหนุนเสริมชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถ "คิดและทำ" ในสิ่งเหล่านี้ให้จงได้ เพราะศูนย์หรือแหล่งเรียนรู้ที่ว่านี้ อาจหมายถึง "คลังความรู้" ที่มี "ชีวิต" ของชาวขามเรียงและชุมชนใกล้เคียงที่ใครๆ ก็สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ความเป็น "ตัวตน" ของชุมชน หรือความเป็นสังคมของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "มนุษย์" ได้ในที่สุด ซึ่งสามารถเชื่อมร้อยไปยังจุดอื่นๆ อีกอย่างไม่ต้องกังขา 

 

 หากแต่สำหรับผมและทีมวิจัยฯ ได้ข้อสรุปอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า การจัดทำแหล่งเรียนรู้ที่ว่านี้ น่าจะหยิบจับมาเคลื่อนเป็นหนึ่งในกิจกรรมของการวิจัยฯ ซึ่งยังต้องออกแบบร่วมกันอีกครั้ง นับตั้งแต่การเติมองค์ความรู้เรื่องการรวบรวมและจัดแสดง โดยชุมชนต้องเป็นหัวเรือใหญ่ มิใช่ผู้คนจากมหาวิทยาลัยฯ ดุ่มเดินออกไปจัดตั้งให้เป็นชุดๆ โดยไม่อยู่บนฐานรากของการ "เรียนรู้ร่วมกัน"

 

แต่อย่างน้อยที่สุด การที่ทีมวิจัยฯ ได้นำสิ่งของเครื่องใช้เหล่านี้มาจัดแสดงในห้วงดังกล่าว ผมถือว่าได้จุดประกายบางอย่างได้ไม่ใช่ย่อย ทั้งนิสิต บุคลากร หรือแม้แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นๆ ก็ได้พบเห็น แตะต้องสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ร่วมกันอีกครั้ง หลังจาก "ลืม" และ"เกือบจะลืม" ไปแล้ว ---

 

หรือแม้แต่อย่างน้อย ผมและทีมงานจากมหาวิทยาลัยฯ ได้ทำป้ายนิเทศเล็กๆ อธิบาย "ข้าวของเครื่องใช้" เหล่านั้นตามเจตนารมณ์ของชาวบ้านไปในตัว เพียงแต่เกริ่นกล่าวไว้ว่า ... ในอนาคต เราจะไปจัดทำข้อมูลนี้ใหม่ ทำป้ายนิเทศผ่านปากคำชาวบ้านที่เป็นเจ้าของอุปกรณ์นั้นๆ โดยตรง...

 

 

 

 

  

ติดตามต่อไปครับว่า ทั้งผมและทีมวิจัยไทบ้านฯ จะขับเคลื่อนได้หรือไม่ !

 

หมายเหตุ ::
ภาพโดย อติรุจ อัคมูล


หมายเลขบันทึก: 550207เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2013 10:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2013 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีภูมิปัญญาพื้นบ้านน่าสนใจหลายชิ้น

ชอบไซ  ตอนนี้ไม่ค่อยมีคนสานแล้วครับ

ทีมวิจัยพื้นบ้านชุดนี้น่าสนใจมากๆๆ

มาชื่นชม แนวคิด การจัดกิจกรรม ของจริง ของชาว ขามเรียง ค่ะ

ขอให้ ทีมวิจัยไทบ้านฯ ประสบความสำเร็จ ได้ผลตามเป้าหมาย ทุกประการ นะคะ

สวัสดีครับ อ.ขจิต

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ
ทีมวิจัยชุดนี้ ผมหมายใจว่าจะให้เป็นวิทยากรกระบวนกรในชุมชนด้วยเหมือนกันนะครับ  คงดีไม่น้อยเลยหากสามารถทำได้

สวัสดีครับ อ.Joy

กิจกรรมนี้ ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนมากนัก เกิดจากแรงบันดาลใจที่เก็บข้อมูลแล้วพบว่าน่าจะลองสะท้อนข้อมูลในเชิงศิลปะแบบแตะต้องสัมผัสได้  ดีกว่าสะท้อนข้อมูลในแบบแห้งๆ เป็นวิชาการ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท