ญาติเสียชีวิตไปแล้ว นอนอยู่ในโลง จะขอตรวจดีเอ็นเอได้ไหม ?


     วันนี้ ผมได้รับโทรศัพท์ขอปรึกษาเรื่องการตรวจดีเอ็นเอ โดยแจ้งรายละเอียดว่า มีญาติคนหนึ่งเป็นผู้ชาย มีสมบัติอยู่มากพอสมควร เคยมีครอบครัว แต่มีทายาทหรือไม่ ไม่แน่ใจ ตอนนี้เสียชีวิตแล้วเมื่ออาทิตย์ก่อน ศพอยู่ในโลง โดยไม่ได้ฉีดน้ำยาดองศพ จะขอตรวจดีเอ็นเอเก็บไว้เป็นหลักฐาน จะได้หรือไม่ เผื่อว่าในอนาคต มีคนมาอ้างว่าเป็นลูก-หลาน เพื่อขอรับมรดก

     เรื่องราวทำนองนี้ เกิดขึ้นได้ครับ ผมเคยให้คำปรึกษาเรื่องลักษณะนี้  รายนี้เป็นรายที่ สองแล้วครับ เราลองมาดูรายละเอียดกัน

     1. ถ้าจะส่งศพมาตรวจดีเอ็นเอ ต้องแจ้งความไหม ?

     คำตอบคือ ไม่จำเป็นครับ เพราะเราไม่ได้มีเรื่องกับใคร การส่งศพมาตรวจดีเอ็นเอก็เป็นเรื่องภายในครอบครัว ไม่เกี่ยวข้อง หรือขัดแย้งกับใคร เพราะฉะนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งความครับ  แต่ถ้าญาติอยากจะขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ก็เป็นดุลพินิจของญาติ ครับ ผมไม่ได้ขัดข้อง แต่ถ้าบอกว่าแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น การส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของรัฐ ก็เป็นหลักฐานทางราชการเช่นกัน สามารถใช้ยืนยันในชั้นศาลสถิตยุติธรรมได้เช่นเดียวกัน

     2. ถ้าอย่างนั้น ก็ส่งศพ มาตรวจที่โรงพยาบาล ม.อ. ได้เลย ใช่ไหม ?

     ใจเย็นๆ ครับ ยังไม่ไปถึงขั้นตอนนั้นครับ ก่อนที่จะส่งศพมาตรวจ ไม่ใช่ใครก็ส่งมาตรวจได้ครับ ลำดับแรก ต้องมาดูกันก่อนครับ ว่าผู้เสียชีวิต มีญาติโก โหติกา ที่ไหนอย่างไร และขณะนี้ ใครเป็นผู้ดูแล หรือครอบครองศพ  เริ่มต้น ถ้าจะเคลือนย้ายศพ ก็ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ครอบครองศพ อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยต้องมีข้อความระบุว่า ผู้ครองครองศพ ยินดีโดยสมัครใจให้เคลื่อนย้ายศพ และยินดีให้เก็บตัวอย่างตรวจ เพื่อใช้ในการตรวจรูปแบบดีเอ็นเอ โดยปราศจากการบังคับขู่เข็ญ  แล้วลงลายมือชื่อไว้ พร้อมทั้งมีพยานเซ็นชื่อรับรอง ครับ ที่ต้องทำเช่นนี้ เพื่อป้องกัน การขโมยศพ มาขอตรวจดีเอ็นเอครับ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจริง ญาติ หรือผู้ครอบครองศพ อาจแจ้งความดำเนินคดีว่า ห้องแล็บเรา ทำลายศพได้

     3. แล้วถ้าญาติเก็บตัวอย่างตรวจ เช่น เลือด หรือ เส้นผม หรือ ฟัน หรืออะไรก็ตามจากศพ มาขอตรวจดีเอ็นเอที่ โรงพยาบาล ม.อ. โดยไม่ต้องส่งศพมาตรวจได้ไหม ?

     ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ก็คงต้องถามกลับไปก่อนครับว่า แล้วทางโรงพยาบาล จะแน่ใจได้อย่างไรครับ ว่าตัวอย่างตรวจนี้ เป็นของผู้ตายจริง   ไม่มีการสลับสับเปลี่ยนตัวอย่างตรวจระหว่างทาง  เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ โดยเฉพาะหากในอนาคต จำเป็นต้องขึ้นโรงขึ้นศาลด้วยแล้ว แล้วถ้าอีกฝ่ายอ้างว่า ตัวอย่างตรวจที่ทางโรงพยาบาลตรวจให้นั้น ไม่ได้มาจากผู้เสียชีวิตจริง แล้วจะทำอย่างไร  ดังนั้นหากคิดจะส่งตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอที่โรงพยาบาล ม.อ. ผมตอบได้เลยครับว่า โรงพยาบาล ม.อ. ไม่รับตรวจ ตัวอย่างตรวจที่ญาตินำมาให้ตรวจครับ ก็ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น  เพราะฉะนั้น ทางที่ดีที่สุด คือส่งศพมาตรวจครับ แล้วทางโรงพยาบาล ม.อ. จะเป็นผู้รับรองเองว่า ได้เก็บตัวอย่างตรวจจากศพผู้ตายจริง เพื่อทำการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ แล้วได้รูปแบบดีเอ็นเอเป็นแบบใด  ต่อมาภายหลัง ได้ทำการเปรียบเทียบรูปแบบดีเอ็นเอนี้ กับผู้กล่าวอ้างว่าเป็นญาติ หรือเป็นลูก เป็นหลาน หรืออะไรก็แล้วแต่ ได้ผลการตรวจเปรียบเทียบเป็นอย่างไร

     4. ถ้าขอไม่ส่งศพ พอจะมีแนวทางอื่นอีกหรือไม่ ในการส่งตรวจดีเอ็นเอ ?

     ถ้าไม่ส่งศพมาตรวจที่โรงพยาบาล ม.อ. ก็ต้องหาบุคคลที่น่าเชื่อถือ มาทำการเก็บตัวอย่างตรวจ ให้ครับ บุคคลที่น่าเชื่อถือในที่นี้ เช่น แพทย์ ที่มีใบประกอบโรคศิลป์ เพื่อให้แพทย์มาพิจารณาศพว่า สภาพศพเป็นอย่างไร ควรเก็บตัวอย่างตรวจชนิดใด ในการส่งตรวจดีเอ็นเอ โดยให้แพทย์ประสานงานกับทางหน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา โรงพยาบาล ม.อ. โดยตรงครับ   แล้วตัวอย่างตรวจที่เก็บได้ ต้องมีการเก็บใส่ภาชนะที่ถูกต้อง มิดชิด มีการป้องกันการสับเปลี่ยนตัวอย่างตรวจระหว่างทาง โดยมีการเซ็นชื่อแพทย์ผู้เก็บตัวอย่าง มีการระบุวัน เวลา ที่เก็บตัวอย่าง แล้วมอบให้แก่ใครบ้างก่อนส่งมาถึงโรงพยาบาล ม.อ. ทุกคนที่เกี่ยวข้องต้องมีการลงลายมือชื่อกำกับไว้บนซอง หรือกล่องเก็บตัวอย่างตรวจ โดยไม่ขาดตอน หากมีใครคนใดคนหนึ่ง รับตัวอย่างตรวจนี้ไปโดยไม่ลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จะทำให้ตัวอย่างตรวจนั้น ไม่มีความน่าเชื่อถืออีกต่อไป  นั่นเป็นความยากของกระบวนการส่งตรวจ โดยยังคงมีความน่าเชื่อถือสูงสุดไว้

     ปัญหาเริ่มต้น คือจะไปติดต่อ แพทย์ที่ไหน ให้เขามาช่วยเก็บตัวอย่างตรวจให้ เรื่องนี้ ก็ไม่ง่ายแล้วล่ะครับ

     5. แล้วถ้าให้ สัปเหร่อ เก็บตัวอย่างตรวจให้ได้ไหม ?

     สำหรับที่โรงพยาบาล ม.อ. เราระบุว่า ต้องเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ เช่น แพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลป์เป็นต้น ไม่ใช่ว่า ใครก็ได้ สามารถเก็บตัวอย่างตรวจได้  ดังนั้น ถ้าให้บุคคลอื่น เก็บตัวอย่างตรวจให้ แม้ขั้นตอนการส่งตรวจจะมีความรัดกุม มีการเซ็นชื่อรับ-ส่งตัวอย่างตรวจโดยไม่ขาดตอน จนกระทั่งส่งมาถึงโรงพยาบาล ม.อ. เราก็ไม่รับตรวจให้ครับ

     6. สมมติว่า ส่งศพไปเก็บตัวอย่างตรวจที่ โรงพยาบาล ม.อ. แล้ว ตรวจดีเอ็นเอได้เลยใช่ไหม ?

     เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกครับ การตรวจดีเอ็นเอ ก็ต้องมีการซักรายละเอียดประวัติทางครอบครัวของผู้เสียชิวิตด้วย ว่า มีญาติเป็นใคร อย่างไร เช่น มีลูก มีหลาน มีญาติพี่น้องอะไรที่ไหน ที่อาจจะมาขอแบ่งปันเงินทองในภายหลัง  ทั้งนี้เพราะ การทดสอบที่เราเรียกว่าตรวจดีเอ็นเอนั้น จริงๆแล้ว ดีเอ็นเอที่ตรวจนั้น มีอยู่ 4 ชนิด แล้วมีวัตถุประสงค์ในการตรวจแตกต่างกัน ได้แก่

     6.1 ดีเอ็นเอบนโครโมโซมร่างกาย การตรวจดีเอ็นเอแบบนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจความเป็นพ่อ-แม่-ลูก หรือตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล คือตรวจเพื่อหาว่า บุคคลนี้เป็นใคร   ถ้าไม่มีข้อมูล รายละเอียดอะไรมากมาย เราก็จะตรวจรูปแบบดีเอ็นเอแบบนี้ไว้ให้ครับ

     6.2 ดีเอ็นเอบนโครโมโซมวาย หรือโครโมโซมเพศชาย มีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจความเป็นญาติร่วมบรรพบุรุษสายพ่อเดียวกัน ดีเอ็นเอแบบนี้ ตรวจได้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น เพราะในผู้หญิงไม่มีดีเอ็นเอชนิดนี้  และญาติร่วมสายพ่อเดียวกัน จะมีรูปแบบดีเอ็นเอแบบนี้เหมือนกันทุกคน เราใช้ในการตรวจ ปู่-หลานชาย, ลุง-หลานชาย, หรือพี่ชาย-น้องชาย ร่วมพ่อเดียวกัน เป็นต้น

     6.3 ดีเอ็นเอบนไมโตคอนเดรีย  มีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจความเป็นญาติร่วมบรรพบุรุษสายแม่เดียวกัน โดยดีเอ็นเอแบบนี้ จะส่งต่อจากแม่สู่ลูกเท่านั้น โดยไม่มีการส่งต่อจากพ่อสู่ลูก ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกผู้หญิง หรือลูกผู้ชายก็ตาม จะมีรูปแบบดีเอ็นเอแบบนี้เหมือนกันทุกคน เราใช้ตรวจความสัมพันธ์ร่วมญาติสายแม่เดียวกัน เช่น พี่-น้องร่วมแม่เดียวกัน (ตรวจได้ทั้งผู้หญิงหรือผู้ชาย), น้า (น้องของแม่)-หลาน, ยาย-หลาน, ป้า-หลาน เป็นต้น

     6.4 ดีเอ็นเอบนโครโมโซมเอ็กซ์ หรือโครโมโซมเพศหญิง  มีวัตถุประสงค์ เพื่อตรวจความสัมพันธ์ พี่สาว-น้องสาว ร่วมพ่อเดียวกัน หรือ ย่า-หลานสาว

     เพราะฉะนั้น ต้องแจ้งด้วยว่าจะตรวจดีเอ็นเอแบบไหน  ถ้าไม่มีการแจ้งอะไร ส่วนใหญ่จะทำการตรวจรูปแบบดีเอ็นเอแบบแรก คือ ดีเอ็นเอบนโครโมโซมร่างกายไว้ให้ครับ  และการตรวจดีเอ็นเอเหล่านี้  มีค่าใช้จ่ายครับ ถ้าตรวจน้อย ก็จ่ายน้อย ถ้าตรวจมากก็จ่ายมากครับ ดังนั้นจึงควรตรวจเท่าที่จำเป็นไว้เท่านั้นครับ อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างตรวจเหล่านี้ โรงพยาบาล ม.อ. จะมีการเก็บรักษาดีเอ็นเอไว้ ระยะเวลาหนึ่ง (หลายปี) ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมในภายหลัง ก็สามารถนำดีเอ็นเอที่เก็บไว้นี้ ออกมาใช้ตรวจเพิ่มเติมได้ครับ  ที่เก็บไว้นี้ แม้ว่าจะเก็บไว้หลายปี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเก็บรักษาไว้ตลอดไป โดยไม่มีการทิ้งทำลายนะครับ

    

หมายเลขบันทึก: 549244เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2013 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท