คิดไปเอง (บทบรรณาธิการ นิตยสารสารคดี ฉบับ 343 กันยายน 2556)


 

ไม่กี่วันก่อนได้ฟังข่าวผู้ใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงว่าประชาชน “คิดไปเอง” เรื่องข้าวของแพง

                คุณผู้อ่านเคยมีอาการ “คิดไปเอง” บ้างไหมครับ

                ระยะหลังติดตามเหตุการณ์ต่างๆ แล้วผมรู้สึก “คิดไปเอง” บ่อยขึ้น  

                ยกตัวอย่างเหตุน้ำมันรั่วกลางอ่าวไทยวันแรกๆ เมื่อผู้รับผิดชอบบอกว่าไม่มีปัญหาในการควบคุมและกำจัดน้ำมัน ทุกคนก็คิดว่าเดี๋ยวเรื่องคงเรียบร้อย

                แต่ไม่กี่วันน้ำมันดิบสีดำก็ทะลักเข้าเต็มหาดอ่าวพร้าว ผมอดคิดไปเองไม่ได้ว่างานนี้คงยุ่งยากสุดๆ และน่าจะใช้เวลาฟื้นฟูกันยาวทีเดียว  แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยืนยันทันทีว่าการขจัดคราบน้ำมันให้หาดขาวสะอาดจะเสร็จในชั่วเวลาไม่กี่วัน   

                ทว่าถึงวันนี้ใครที่ “คิดไปเอง” ว่าการฟื้นฟูอ่าวที่ถูกกองทัพน้ำมันดิบยึดหาดเป็นงานง่ายๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้กำลังกองทัพเรือและกองทัพบกรับมือกันนานหลายสัปดาห์

                แม้แต่ความห่วงใยต่อสิ่งมีชีวิตตามหาดทรายและท้องทะเล นักอนุรักษ์ขี้กังวลก็ถูกมองว่า “คิดไปเอง” - “ปะการังฟอกขาว” ฟอกขาวอยู่แล้ว ไม่ใช่ผลกระทบจากน้ำมันรั่ว  ซากปลาเกยหาดก็ “คิดไปเอง” ว่าตายเพราะคราบน้ำมันดิบ ความจริงซากแบบนี้พบเห็นได้บ่อยๆ เช่นเดียวกับก้อนน้ำมันดิบเล็กๆ

                น่าสังเกตว่าอาการ “คิดไปเอง” ในบ้านเมืองช่วงนี้ ถูกยัดเหยียดให้คนที่ออกมาเตือนสังคมถึงเรื่องร้ายๆ  แต่ฝ่ายที่เห็นว่าทุกอย่างเอาอยู่ เป็นปัญหาเล็กน้อยแทบทั้งนั้น ไม่เรียกว่า “คิดไปเอง” บ้าง

                ชวนให้คิดถึงเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั้งภาคใต้เมื่อหลายเดือนก่อน มหาภัยน้ำท่วมเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว หรือสึนามิเมื่อหลายปีโน้น อะไรที่เคยมีคนบอกว่าไม่เกิดขึ้นหรอก หรือเอาอยู่ สุดท้ายกลายเป็นเรื่องใหญ่เสียแทบทุกครั้ง

                ในทางวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่ยากแก่การทำนายให้ถูกต้องแม่นยำ เรียกว่า ทฤษฎีเคออส (chaos)  บางคนเรียกทฤษฎีโกลาหลบ้าง ทฤษฎีไร้ระเบียบบ้าง  

คิดว่าหลายคนอาจเคยได้ยินวลีเด็ดที่มักใช้พูดถึงทฤษฎีนี้คือ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือประมาณว่า “เพียงแค่ผีเสื้อขยับปีกที่นี่ก็อาจก่อให้เกิดพายุถล่มในอีกซีกโลก” บางคนก็รู้จักทฤษฎีเคออสในอีกนามหนึ่งว่า Butterfly Effect  

                ประโยคทั้งสองนี้อาจสร้างความเข้าใจเกินเลยอยู่บ้าง เพราะทำให้เราคิดว่าอะไรๆ ก็เชื่อมโยงถึงกันหมด และอะไรเล็กๆ ก็จะก่อเหตุโกลาหลวุ่นวายใหญ่โต  แต่ความจริงทฤษฎีนี้ไม่ครอบจักรวาลขนาดนั้น เพราะถ้าจริง พายุคงเกิดขึ้นกันแทบทุกนาที และดาวอาจระเบิดกันแทบทุกคืน

                ความเข้าใจเบื้องต้นตามทฤษฎีเคออส คือความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในการเกิดปรากฏการณ์บางอย่างไม่เหมือนการบวกตัวเลข 1+1 =2  หรือ 2+2 =4   แต่เป็นระบบที่แม้จะมีกฎเกณฑ์ แต่ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปอย่างสะเปะสะปะ จุดเริ่มต้นที่มีค่าต่างกันเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลอย่างอลหม่านจนเมื่อผ่านเวลาไปช่วงหนึ่งก็จะเกิดผลลัพธ์ที่ต่างกันสิ้นเชิง

ตัวอย่างใกล้ตัวคือระบบลมฟ้าอากาศ แดดจะออกหรือฝนจะตก ไม่มีใครพยากรณ์ล่วงหน้าถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ และการพยากรณ์อย่างน่าเชื่อถือกระทำได้ในช่วงไม่กี่วันข้างหน้าเท่านั้น การพยากรณ์ระยะยาวๆ ไม่อาจเป็นไปได้เลย  หรือการเกิดพายุที่แม้นักวิทยาศาสตร์จะรู้ถึงปัจจัย เงื่อนไขและกลไกทุกอย่าง แต่ก็ไม่อาจระบุว่าสุดท้ายแล้วจะกลายเป็นพายุระดับใหญ่ขนาดไหน ดีเปรสชั่นหรือไต้ฝุ่น หรือจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางใดแน่ชัด

                แล้วทฤษฎีเคออสมีประโยชน์อะไร นอกจากจะบอกว่ามนุษย์มีขีดจำกัดในการพยากรณ์อนาคต

                ถ้าเรายอมรับว่าปรากฏการณ์ในธรรมชาติหลายอย่างไม่ใช่ 1+1 = 2 และเงื่อนไขเริ่มต้นเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่ผลลัพธ์อันแตกต่างหลากหลาย  การจัดการปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นให้อยู่หมัดน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้เรื่องบานปลาย

                สำนวนไทยๆ อย่าง “ระวังน้ำผึ้งหยดเดียว” น่าจะใช้การได้ดีมาก

                น้ำมันดิบรั่วกลางอ่าวไทยน่าจะเป็นกรณีตัวอย่างตามทฤษฎีเคออส  เริ่มจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างรอยปริบนท่อส่งน้ำมัน  แผ่ขยายไปกลางทะเลสะเปะสะปะ ยากจะคาดเดา แล้วซัดโครมเข้าอ่าวพร้าว  ผลกระทบหลังจากนั้นยังเป็นอีกความโกลาหล ทั้งชาวประมง นักท่องเที่ยว นักข่าว นักอนุรักษ์ โดยเฉพาะบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ที่โดนคลื่นโกลาหลสั่นสะเทือนอย่างแรง

ในกรณีนี้ผู้ถูกกล่าวหาว่ามีอาการ “คิดไปเอง” น่าจะศึกษาทฤษฎีเคออสไว้หน่อย เผื่อใช้เตือนผู้มีอำนาจที่ชอบให้ข่าวว่าทุกสิ่งอยู่ในการควบคุมว่า “อย่าประมาท”

                น้ำมันแพง แก๊สแพง ของแพง หนี้ภาคครัวเรือนสูง ร้านค้าปลีกยอดขายตก สลายม็อบสวนยาง หนี้จำนำข้าว ฯลฯ  ผมก็ไม่อยากคิดไปเองหรอกครับว่าผีเสื้อตัวไหนจะขยับปีก และจะเกิดพายุเศรษฐกิจ พายุการเมือง ในเมืองไทยขึ้นเมื่อไร   

                “อย่าประมาท” ครับ “อย่าประมาท”

 

บรรณาธิการบริหาร

                                                                                                                สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

 

 

หมายเลขบันทึก: 549227เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2013 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่น่าประมาทจริงๆด้วยครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท