นวัตกรรมกับการพัฒนาองค์กร


การใช้ทฤษฎีเทคโนโลยีเส้นโค้ง –S (technology S – curve) 2) ทฤษฎีการเว้นวรรคของดุลภาพ (punctuated equilibrium) 3) ทฤษฎีการออกแบบที่โดดเด่น (dominant design) และ 4) ทฤษฎีความสามารถในการดูดซึม (absorbtive  capacity) มีส่วนช่วยในการนำประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาจังหวัด ท้องถิ่น ชุมชน หรือองค์กรได้ โดยแต่ละทฤษฎีมีความโดดเด่นในตัวเอง แต่ก็ไม่สามารถนำไปอธิบายหรือใช้ได้ครบทุกเรื่อง จำเป็นต้องประยุกต์ใช้หรือนำไปบูรณาการกับการทำงานในรูปแบบของการกำหนดกลยุทธ์ในองค์กร

          ทฤษฎีเทคโนโลยีเส้นโค้ง – S (technology S – curve) จะเป็นประโยชน์ต่อการคิดของผู้นำองค์กร ซึ่งสามารถอธิบายเส้นทางแห่งการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีทั้งใหม่และเก่า ซึ่งผู้บริหารองค์กรต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ว่าองค์กร ของเรากำลังอยู่ในส่วนใดของ S-curve รวมถึงประสิทธิภาพของการบริหารทรัพยากร  การปรับปรุงประสิทธิภาพของการให้บริการ   ประสิทธิภาพของการแข่งขัน  ซึ่งจะสามารถนำไปกำหนดเป็นกลยุทธ์ขององค์กร ว่ามีกลยุทธ์ใดที่น่าจะประสบความสำเร็จในอนาคตมากที่สุด (ลุกซ์  ริชาร์ด, 2555 : 193-225)

          ทฤษฎีการเว้นวรรคของดุลภาพ (punctuated equilibrium) เป็นแนวคิดหนึ่งที่สามารถอธิบายการสิ้นสภาพของนวัตกรรมที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีเดิมและมีเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาแทนที่จนทำให้เทคโนโลยีเดิมนั้นหมดความนิยม หรือล้าสมัยลงไป ไม่เกิดการพัฒนาในเทคโนโลยีนั้นอีกต่อไป เช่น เครื่องพิมพ์ดีด  เตารีดถ่าน  เครื่องโรเนียว เอกสาร เป็นต้น เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะหยุดชะงักและอาจสูญพันธ์ไปในที่สุด หรือการยึดติดอยู่กับวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ จนกลายเป็น “ประเพณี”ทำให้บั่นทอนการคิดนอกกรอบหรือความสามารถในการพัฒนางานของผู้ปฏิบัติงานลดน้อยลง

          ทฤษฎีการออกแบบที่โดดเด่น (dominant design) เป็นการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมที่ก้าวผ่านเทคโนโลยีแบบเดิมๆ โดย Schumpeter ได้กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้เป็น “creative destruction” เป็นการทำลายที่สร้างสรรค์ เป็นการปรับปรุงสินค้า บริการ หรือวิธีการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นที่ละเล็กทีละน้อยจนถึงจุดที่เรียกว่า “Dominant Design”เป็นต้นแบบที่พร้อมออกสู่ตลาด  จุดเริ่มต้นของรูปแบบการแข่งขัน ซึ่งอาจจะมีการลอกเลียนแบบหรือเพิ่มเติม ปรับปรุงบางส่วนให้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการบริหารองค์กรที่ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวข้ามวิธีการปฏิบัติแบบเดิม ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ (Leapfrog Theory)

          ทฤษฎีความสามารถในการดูดซึม (absorbtive  capacity)  Cohen and Levinthan (1990:128)( อ้างอิงมาจาก อลงกรณ์  คูตระกูล, 2553 : 37-38)  ได้เสนอว่า ความสามารถดูดซับความรู้หมายถึง  ความสามารถที่จะเล็งเห็นถึงคุณค่าของความรู้ใหม่ที่อยู่ภายนอกองค์กร  รวมทั้งความสามารถที่จะซึมซับและใช้ความรู้นั้นเพื่อให้มโนทัศน์มีความชัดเจนขึ้น  Zahra and George (2002 : 185) ได้เสนอว่า เป็นความสามารถที่มีพลวัตอีนเกี่ยวกับการสร้างและใช้ความรู้ที่จะช่วยให้องค์กรได้มาและคงไว้ซึ่งความได้เปรียบเชิงแข่งขัน มีความสามารถ 2 ด้าน คือ ด้านที่เป็นศักยภาพ(Potential) ได้แก่การซึมซับ(Assimilation) และรับความรู้ (Acquisition) ส่วนด้านที่ได้ประจักษ์(Realized) ได้แก่ ความสามารถในการแปลงสภาพ(Transformation) และการใช้ความรู้(Exploitation) ในกระบวนการทำงานซึ่งเป็นงานประจำขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากความรู้ทั้งที่มีอยู่แล้วและที่สร้างขึ้นมาใหม่ด้วยการประสานความรู้ที่ได้รับมาและแปรสภาพเข้ากับกระบวนการทำงานประจำ 

          การดูดซึมความรู้จึงคล้ายคลึงกับการจัดการความรู้ (Knowledge Management) ในองค์กร แต่ทฤษฎีความสามารถในการดูดซึม นี้ยังมุ่งเน้นไปที่ความรู้ใหม่ที่มีอยู่นอกองค์กรด้วย จุดเน้นของผลลัพท์จึงต่างกัน

          ในองค์กร  ชุมชน  ท้องถิ่น  จังหวัด จึงสามารถใช้ทฤษฎีทั้ง 4  อย่างนี้อย่างผสมผสาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาองค์กร ตั้งแต่การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กร ชุมชน ท้องถิ่น ว่าสถานะขององค์กรอยู่ ณ จัดใด ในการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการในอนาคต สิ่งใดที่ควรมีการปรับเปลี่ยน รวมถึงวิธีการปฏิบัติงาน  ควรใช้เทคโนโลยีใดเข้ามาจัดการ  หรือจะคิดค้นเทคโนโลยี / นวัตกรรมใหม่เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ก้าวข้ามการปฏิบัติแบบเดิมๆ ด้วยกระบวนการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่สามารถนำความรู้จากการสร้างจากภายใน จากการคิดค้นวิธีแก้ปัญหาจากการปฏิบัติงาน และความรู้จากภายนอกซึ่งเป็นเป้าหมายความต้องการของผู้รับบริการ ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการจัดการนวัตกรรมในองค์กรต่อไป        

         

แหล่งอ้างอิง

ลุกซ์  ริชาร์ด. คัมภีร์นักนวัตกรรม. กรุงเทพฯ ธรรมกมลการพิมพ์, 2555.

http://www.learners.in.th/blogs/posts/417044

http://rangsaritster.blogspot.com/2010/09/leapfrog-theory.html

อลงกรณ์  คูตระกูล.  นวัตกรรมสังคม : กรณีศึกษาโครงการของท้องถิ่นในเขตภาคเหนือของประเทศไทย.         รัฐประศาสนาศาสตรดุษฎีบัณฑิต  คณะรัฐประศาสนศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์. 2553

 

 

หมายเลขบันทึก: 548949เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2013 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2013 10:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

น่าสนใจมาก

มาเขียนอีกนะครับ

ละอองทิพย์ บุณยเกียรติ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท