บทความ เรื่อง การนิเทศเต็มพิกัดเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก


บทความ

เรื่อง การนิเทศเต็มพิกัดเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก

โดย...เผชิญ  อุปนันท์

               โรงเรียนเป็นองค์กรในระบบการศึกษาที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด  โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนตั้งแต่ 1-120 คน มีจำนวนมากขึ้นทุกปี เกือบร้อยละ 50 ของโรงเรียนทั้งหมด โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้กระจายกันอยู่ทุกพื้นที่ตำบลทั่วประเทศ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพนักเรียนให้สูงขึ้น หรือใกล้เคียง หรือเท่าเทียมกับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่โดยการนิเทศแบบเต็มพิกัด คือ ตรงประเด็น เต็มกำลัง และเต็มพื้นที่

               โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ชุมชน/บรรพชน  ได้ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาโดยการบริจาคที่ดินในการก่อสร้าง มาตั้งแต่อดีต เพื่อใช้เป็นที่ศึกษาหาความรู้และเป็นศูนย์รวมการจัดกิจกรรมของชุมชน/หมู่บ้าน  จึงทำให้เกิดความรักและหวงแหนโรงเรียนของตนเอง แต่ด้วยเหตุสภาพการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา สังคม สิ่งแวดล้อม ความสะดวกของการคมนาคม รวมทั้งการแข่งขันกันทางการศึกษาที่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนในโรงเรียนที่ดีและมีชื่อเสียง  ประกอบการกับยุคนี้เป็นยุคที่คนในวัยเจริญพันธ์น้อยลง อัตราการเกิดก็ลดลงด้วย จึงเป็นเหตุให้นักเรียนน้อยลง โรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทั้งนี้ชุมชนก็ยังต้องการ ให้โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้คงอยู่กับชุมชนต่อไป

               การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีอยู่ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะคุณภาพของผู้เรียนจะต้องมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ครูผู้สอนมีเทคนิคการสอนใหม่ ๆ นักเรียนไม่เบื่อการเรียน ผู้ปกครองชื่นชมการจัดการเรียนการสอนของครู พอใจในผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีสอนให้กับครูผู้สอนด้วย จึงถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของศึกษานิเทศก์ที่จะต้องนิเทศการเรียนการสอนให้เกิดคุณภาพในโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ให้ได้ ประกอบกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ  ได้กำหนดแนวทางการนิเทศ “นิเทศเต็มพิกัด” เพื่อการระดมพลังของการนิเทศ ทั้งจำนวนอัตรากำลังบุคลากร เทคนิควิธีการและเชื่อมโยงเครือข่ายในการนิเทศให้เกิดคุณภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพเพื่อส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนิเทศ ด้วย 1 ตรง 2 เต็ม คือ “ตรงประเด็น” จะต้องวินิจฉัยปัญหา ค้นหาสาเหตุและดำเนินการนิเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาได้จริง “เต็มกำลัง” ซึ่งจะต้องนิเทศอย่างเต็มกำลังความสามารถทั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา/วิชาการ และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพการเรียนการสอนให้เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว และ“เต็มพื้นที่” ก็คือ การนิเทศที่ทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ รวมทั้งเชื่อมโยง เครือข่ายในพื้นที่มาเป็นพลังหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพอย่างเป็นรูปธรรม ปฏิบัติอย่างจริงจัง

               การนิเทศเต็มพิกัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะการนิเทศอย่างเต็มกำลัง  ตรงประเด็น เต็มพื้นที่ จะช่วยให้ครูผู้สอนได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอน มีกำลังใจ อบอุ่น และมั่นใจในการจัดการเรียนการสอนในเทคนิคใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน ชุมชนก็มีความพึงพอใจในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็กเป็นอย่างดี

 

 

หมายเลขบันทึก: 548947เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2013 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2013 10:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท