เพลินกับเรื่องเล่าของคุณครูช่วงชั้นที่ ๒ : "อ่าน - เขียน - เรียนรู้"


เรื่องราวที่ทำให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจในการอ่านออก เขียนได้ และมีความกระตือรือร้นในการเร่งพัฒนาตนเอง

 

ในวันพฤหัสที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๖ ถือเป็นครั้งที่สองที่คุณครูชั้น ๖ ทุกคนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นนอกชั้นเรียน แต่ส่งผลที่เป็นพลังบวกกลับไปยังชั้นเรียนเป็นอย่างมาก

 

 

ฉันเริ่มต้นสร้างบรรยากาศคล้ายๆ กับการทำวง KM ระดับชั้น ๕ ฉันให้คุณครูทุกคนได้วาดภาพและระบายสีที่ตนเองได้เลือกไว้ ๒ สี ลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ เมื่อทุกคนระบายเสร็จ ก็ให้นำกระดาษแผ่นเล็กๆ ของตนเองมาวางคว่ำไว้ตรงกลางวง ต่อจากนั้น ให้คุณครูทุกคนเลือกหยิบมา ๑ แผ่น เมื่อได้ยินเสียงระฆัง ก็ส่งต่อไปยังคนขวามือเรื่อยๆ ไป เมื่อสิ้นเสียงระฆังก็ขอให้เราน้อมรับเอา กระดาษแผ่นนี้มาเป็นของเรา

 

 

ในครั้งนี้ ตัวฉันเองได้ร่วมทำกิจกรรมนี้ด้วย เมื่อได้รับกระดาษของคุณครูนัท ฉันแอบยิ้มในใจ และรู้สึกว่าช่างบังเอิญเสียจริงๆ เพราะกระดาษแผ่นนี้จะทำให้ฉันมีโอกาสมอบถ้อยคำดีๆ เพื่อเป็นกำลังใจให้กับคุณครูนัทอีกครั้ง...

 

 

ก่อนหน้าการจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้ ครูใหม่แนะนำให้ฉันไปทำหน้าที่เป็นแมวมองเพื่อมองหาครูที่มีความสำเร็จเล็กๆ ด้วยการเข้าไปสังเกต พูดคุยติดตามถามไถ่คุณครูนอกรอบมาก่อน  แล้วฉันก็ได้พบว่า คุณครูนัท - นันทกานต์ ที่ปีการศึกษานี้มีโอกาสลงไปช่วยสอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในระดับชั้น ๓  น่าจะเป็นคนที่มีเรื่องเล่าดีๆ มาแบ่งปัน  เพราะเป็นเวลา ๒ ภาคเรียนมาแล้วที่ทุกคนเห็นคุณครูนัททุ่มเทกับการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาในการอ่านเขียนอยู่ที่ห้องพักครู ชั้น ๖

 

 

เมื่อคุณครูนัทเล่าถึงความสำเร็จของการช่วยเหลือเด็กๆ ในระดับชั้น ๓ ให้อ่านคล่อง เขียนคล่อง ฉันพบว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และชื่นชมคุณครูนัทว่าทำได้ดี  ณ ขณะนั้น คุณครูนัทถามฉันกลับมาว่า “มันเป็นความสำเร็จหรือ นัทรู้สึกว่ามันยังไม่สำเร็จ”  แต่พอฉันสะท้อนให้เห็นว่าคุณครูนัททำการงานนี้ด้วยกระบวนการเช่นไร  คุณครูนัทมีรอยยิ้มกลับมา แล้วถามย้ำว่า “นี่ก็ถือเป็นความสำเร็จใช่ไหม” เพราะคุณครูนัทคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในชั้นเรียน ฉันรีบตอบคุณครูนัทกลับไปว่า “นี่มันก็ชั้นเรียน” แถมยังเป็นเป็นชั้นเรียนที่น่าศึกษาอย่างยิ่งในการช่วยเหลือเด็กที่อ่อนด้วย

 

 

ในคืนนั้นฉันเห็นคุณครูนัทไปโพสต์ถ้อยคำดีๆ ในเฟสบุ๊คว่า “ความสำเร็จมองจากจุดเล็กๆ ก็พอ” แล้วใช้สัญลักษณ์ Feeling Wonderful แทนความรู้สึกเอาไว้

 

 

ตั้งต้นที่การสร้างความเข้าใจ

 

 

คุณครูนัท – นันทกานต์    อัศวตั้งตระกูลดี ได้บอกเล่าเรื่องราวที่ทำให้เด็กๆ เกิดความภาคภูมิใจในการอ่านออก เขียนได้ และมีความกระตือรือร้นในการเร่งพัฒนาตนเอง

 

 

ในภาคเรียนนี้ คุณครูนัทได้มีโอกาสไปสอนเด็กๆ ระดับชั้น ๓ ในหน่วยวิชา “ภูมิปัญญาภาษาไทย” เพิ่มอีก ๑ ห้องเรียน และสอนเด็กๆ ระดับชั้น ๖ จำนวน ๒ ห้องเรียน ในหน่วยวิชาเดียวกัน การที่คุณครูนัทได้ลงไปสอนเด็กเล็ก ทำให้ได้รู้ปัญหาของเด็กๆ ว่า หากอ่านไม่คล่องเขียนไม่คล่อง จะเป็นอุปสรรคอย่างมากในการเรียนรู้ภาษาไทยในอนาคต ที่สำคัญคุณครูนัทเห็นว่าทักษะนี้ เป็นหัวใจในการเรียนรู้ของทุกๆ หน่วยวิชา

 

 

เมื่อได้ไปสอนนักเรียนในระดับชั้น ๓ คุณครูนัทก็สังเกตพบว่า มีเด็กจำนวน ๙ คน ที่มีปัญหาอุปสรรคในการอ่านเขียน ดังนั้น คุณครูนัทจึงคิดหาวิธีการในการสอนเสริมนอกเวลาให้กับเด็กๆ กลุ่มนี้

 

 

เริ่มแรก คุณครูนัทได้ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองกลุ่มนี้  บอกเล่าถึงวัตถุประสงค์และแนวทางในการเพิ่มพูนทักษะในการช่วยเหลือให้นักเรียนอ่านออก เข้าใจความหมาย จับใจความได้ และเขียนถ่ายทอดออกมาได้  จนผู้ปกครองเกิดความรู้ความเข้าใจในความมุ่งหมาย และวิธีการที่คุณครูใช้เป็นอย่างดี  ต่อจากนั้นจึงนัดวันเวลาให้เด็กๆ มาฝึกฝนทักษะเหล่านี้อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ในเวลาตอนเช้า และตอนเย็น อีกทั้งในวันอื่นๆ ที่ไม่ได้มาฝึกกับคุณครูนัท ผู้ปกครองก็จะเป็นผู้ไปฝึกต่อที่บ้าน เพราะผู้ปกครองรู้แล้วว่าจะใช้วิธีการอย่างไร  วิธีการที่คุณครูแนะนำคือ  การไม่บอก ใช้การตั้งคำถาม เพื่อให้เด็กๆ หาคำตอบด้วยตนเอง

 

 

เริ่มกระบวนการฝึกฝน

 

 

คุณครูนัท จัดแบ่งเด็กทั้ง ๙ คน ออกเป็น ฝึกฝนแบบเดี่ยว ๓ คน กับฝึกฝนแบบกลุ่ม ๖ คน ซึ่งแบ่งตามทักษะและความสามารถที่สังเกตเห็นจากการเรียนรู้ในห้องเรียน ต่อจากนั้น คุณครูนัทก็จัดหาหนังสือนิทานที่มีความง่ายต่อการอ่านเป็นเบื้องต้น โดยดูจากจำนวนคำ จำนวนประโยค ในนิทานนั้นๆ

 

 

เมื่อเด็กๆ มาหาคุณครูนัทในยามเช้า คุณครูนัทก็จะให้เด็กๆ อ่านนิทานออกเสียง ถ้าในระหว่างที่อ่านมีคำใดที่อ่านไม่ได้ ก็จะแก้ทันที และฝึกสะกดคำกับเด็กๆ ไปเลย เช่น เมื่อเด็กอ่านคำว่า “เห็น” เป็นคำว่า “เป็น” คุณครูนัทรู้ว่าเด็กใช้การจำเป็นคำ แต่ไม่ได้ใช้สะกดคำ จึงลองให้เด็กอ่านแบบสะกดคำดู คือ หอ เอะ = เห็น เมื่อเด็กๆ สามารถอ่านสะกดคำและรู้ว่าต้องอ่านเช่นไรแล้ว เมื่อมีคำที่สะกดเช่นนี้ เด็กๆ ก็สามารถอ่านได้ คุณครูนัทก็ทำเช่นนี้กับทุกๆ คำที่เด็กมีปัญหาในการอ่าน

 

 

หลังจากที่อ่านจบ  คุณครูนัทก็จะชวนเด็กๆ ให้พูดเล่าเรื่องตามความเข้าใจของตัวเอง แล้วตั้งคำถามเพิ่มในลักษณะ ใคร ทำอะไร ที่ไหนตัวละครพูดแบบนี้ หมายความว่าอย่างไร แล้วให้เด็กๆ ตอบปากเปล่า เมื่อเด็กๆ เข้าใจแล้ว คุณครูนัทก็จะให้เด็กๆ ลองเขียนเรียบเรียงออกมา ถ้าเด็กๆ สามารถเขียนเรียงเรียงครบทุกๆ ประเด็นแล้ว ในครั้งต่อไป เด็กๆ ก็จะได้อ่านหนังสือนิทานที่ยาก (และสนุก) ขึ้นเรื่อยๆ   

 

 

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ที่เด็กคนหนึ่งต้องมาเรียนเดี่ยวกับคุณครูนัท แต่ไม่ได้มาในครั้งนั้น จึงไปเรียนแบบกลุ่มกับเพื่อนในวันถัดไป ปรากฏว่าเด็กคนนั้นมีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการตอบคำถาม เพราะมีเพื่อนๆ เป็นแรงกระตุ้น ที่สำคัญเด็กคนนั้นสะท้อนว่า “รู้สึกสนุกเพราะมีเพื่อนร่วมเรียนไปด้วย”  จึงขอคุณครูนัทมาเรียนแบบกลุ่ม เมื่อคุณครูนัทจึงตัดสินใจจัดกลุ่มเพิ่มขึ้นอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เรียนแบบทั้งเดี่ยวและกลุ่ม กล่าวคือ ได้เรียนเดี่ยว ๑ ครั้ง เรียนกลุ่ม ๑ ครั้ง ซึ่งคุณครูนัท พบว่า การเรียนแบบนี้ช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดที่เด็กต้องเพิ่มเติม และยังช่วยกระตุ้นให้ได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนด้วย ทำให้เด็กๆ รู้สึกกระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น

 

 

ตอนนี้คุณครูนัทจึงมีรูปแบบการจัดกลุ่มเด็กทั้ง ๙ คน ออกมา ดังนี้ เรียนแบบเดี่ยวทั้ง ๒ ครั้ง ๑ คน เรียนแบบเดี่ยว ๑ ครั้ง แบบกลุ่ม ๑ ครั้ง ๒ คน และเรียนแบบกลุ่ม ๒ ครั้ง อีก ๖ คน ซึ่งทั้ง ๙ คนนี้ ก็จะมาเรียนอย่างสม่ำเสมอตลอด ๔ ๕ สัปดาห์ ทำให้คุณครูนัทเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กๆ

 

 

ผลที่เกิดขึ้น

  • มีความใส่ใจและกระตือรือร้นที่จะมาเรียนเพิ่มขึ้น
  • สามารถอ่านได้ถูกต้องมากขึ้น
  • จากที่เคยทำงานเขียนในห้องเรียนไม่เสร็จ ตอนนี้เด็กบางคนสามารถทำงานได้เสร็จในห้องเรียน
  • ผู้ปกครองบางท่านสะท้อนว่า จากที่ทำการบ้านไม่ได้ ตอนนี้สามารถทำการบ้านได้ด้วยตนเองแล้ว   

เมื่อคุณครูนัทเล่าเรื่องนี้จบ คุณครูชั้น ๖ ทุกๆ คนก็ร่วมกันถอดปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จ

 

 

ด้านคุณครู

  • มีกระบวนการส่งเสริมให้เห็นพัฒนาการได้อย่างเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ และไต่ระดับไปเรื่อยๆ
  • เห็นปัญหา และมีสายตาในการประเมินเด็ก
  • มีความต่อเนื่องในการทำ  

 

 

ด้านเด็ก

  • ให้ความร่วมมือ เพราะรู้สึกสนุกในสิ่งที่ทำ 
  • ได้ฝึกฝนจากง่ายไปยาก จึงเห็นความสำเร็จและเห็นคุณค่าในตนเอง
  • มีทัศนคติในการเรียนเสริมที่ดี

 

ด้านผู้ปกครอง

  • เกิดความเข้าใจในปัญหาเดียวกัน
  • ให้ความร่วมมือและใช้วิธีการเดียวกันกับโรงเรียน 

 

 

เมื่อคุณครูนัทเห็นปัจจัยความสำเร็จที่คุณครูทุกๆ คนช่วยกันถอดออกมา คุณครูนัทยิ้มและเอ่ยขึ้นว่า “เราทำมากถึงขนาดนี้เลยหรือ” แต่สำหรับเด็กๆ ชั้น ๖ คุณครูนัทยังทำไม่สำเร็จเลย คุณครูอัม อัมภิณี จึงสะท้อนว่า “เห็นความสำเร็จเหมือนกันนะ อย่างน้อยๆ ก็เห็นเด็กชั้น ๖ กระตือรือร้นที่จะมาท่องอาขยานเรื่องกุศลบท ๑๐”

 

 

แม้ความสำเร็จนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กชั้น ๖ โดยตรง แต่เป็นความสำเร็จของคุณครูนัทที่ได้ทุ่มเทและเพิ่มพูนพิเศษให้เด็กๆ มีพัฒนาการในการอ่าน การจับใจความเป็น และเขียนบรรยาย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยากที่คุณครูนัทจะนำแนวทางนี้มาปรับใช้กับเด็กๆ ชั้น ๖  การเพิ่มพูนพิเศษให้กับเด็กๆ ชั้น ๓ ในครั้งนี้ จึงถือเป็นแรงส่งที่ดีมาก ที่จะนำแนวคิดและวิธีการนี้มาเพิ่มพูนพิเศษให้กับเด็กๆ ในทุกๆ ระดับชั้นต่อไป   

 

 

หลังจากจบวง KMชั้น ๖ แล้ว ทำให้ฉันเรียนรู้ว่า หากต้องการให้คุณครูท่านใดมีความภาคภูมิใจที่จะมาเล่าเรื่องความสำเร็จที่ทำลงไปนั้น ฉันควรที่จะเข้าไปถามไถ่ ให้กำลังใจ และเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริมให้คุณครูได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ ...แม้ปลายทางจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญ แต่ระหว่างทางที่คุณครูแต่ละคนกำลังเดินทางอยู่นั้นก็สำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะทุกคนต่างก็ต้องการกำลังใจ การช่วยเหลือ และการเกื้อหนุนจากคนรอบข้าง  แล้วความคิดดีๆ ทัศนคติดีๆ ก็จะเป็นแรงส่งให้มีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ เฉกเช่นเดียวกับบทเรียนจากการศึกษานอกชั้นเรียนของคุณครูนัท ที่เป็นแรงส่งให้ผู้เรียนกลับไปมีความก้าวหน้าทั้งในชั้นเรียนและในชีวิตนั่นเอง

 

 

 

ครูเล็ก- ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์  บันทึก

 

หมายเลขบันทึก: 548942เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2013 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2013 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเยี่ยมยามเรียนรู้ ครูเพื่อศิษย์ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท