กรรมใหม่สำหรับทำ...กรรมเก่าสำหรับรู้


        ในปัจจุบันบางคนอาจจะเคยสงสัยในทำนองที่ว่า...บางคนทำดีมาแทบตายกลับมีแต่สิ่งที่ร้าย ๆ ผ่านเข้ามาในชีวิต ในขณะที่อีกคนหนึ่งซึ่งทำเลวมาทั้งชีวิต กลับมีแต่สิ่งที่ดี ๆ เข้ามาในชีวิต ดังที่เราคงจะเคยได้ยินบางคนถึงขนาดพูดในทำนองประชดประชันที่ว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป จากสภาวการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในสังคมจนทำให้หลาย ๆ คนอดที่จะคิดและสงสัยไม่ได้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วยังใช้ได้อีกเหรอ หรือต้องรออีกนานเท่าไหร่กว่าจะได้เห็นผลจากการทำดี?

 

 

          ในปัจจุบันจะเห็นตามข่าวสารรวมทั้งหนังสือต่าง ๆ ที่มีออกมามากมายเกี่ยวกับการแก้กรรม ในทำนองที่ว่าแก้กรรมแล้วทำให้...? โดยเฉพาะถ้าหากบุคคลที่เข้าร่วมกระบวนการแก้กรรมดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงแล้วหละก็ พิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะยิ่งใหญ่อลังการเป็นอย่างมาก ซึ่งในเรื่องของการแก้กรรมนั้นยังมีอีกหลาย ๆ คนที่อาจจะมีข้อสงสัยติดค้างอยู่ในใจลึก ๆ ว่าแก้ (กรรม) ได้หรือไม่ได้ ในประเด็นดังกล่าวผู้เขียนขออนุญาตนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ รู้ทันกรรม รู้ทันโลกที่เขียนโดยพระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล) ซึ่งท่านได้อุปมาอุปไมยให้เห็นภาพชัดเจน โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญว่า :

 

             การแก้กรรมนั้น...ทำได้หรือไม่? อาตมาก็ขอย้อนถามท่านว่า แล้วเวลาคนเราเป็นหนี้สิน ติดค้างเงินทองกันนั้น เราใช้หนี้เหล่านั้นคืนได้หรือไม่ แน่นอนถ้ามีเงินพอ ก็ใช้คืนได้

 

              สมมติว่าวันนี้ อาตมายืมเงินโยม ๑๐๐ บาท เมื่อยืมเงินมา อาตมาก็เป็นหนี้ วันนี้อาตมาจึงเป็นฝ่ายติดหนี้โยม ๑๐๐ บาท อีกหนึ่งเดือนพบกัน อาตมาเอาเงิน ๑๓๐ บาท มาใช้คืนให้ ซึ่งโยมก็พอใจเพราะได้ดอกเบี้ย ๓๐ บาท หลวงพี่ก็พอใจ เพราะหมดหนี้แล้ว

 

             ถามว่า : ความเป็นหนี้ของอาตมานั้นหมดไปไหม ถ้าหนี้หมดได้ กรรมก็หมดได้ ครั้งแรกที่อาตมาขอยืมเงินนั้น นับว่าเป็นกรรมครั้งที่หนึ่ง ส่วนการนำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปคืนนั้น นับว่าเป็นกรรมครั้งที่สอง แต่ผลของกรรมคือ การกระทำครั้งที่สองนั้นไปหักล้างกับผลของกรรมครั้งแรก ที่ก่อให้เกิดความเป็นหนี้

            ฉะนั้น ในเมื่อหนี้เงินสามารถชดใช้ได้ด้วยเงิน หนี้กรรมในลักษณะอื่นย่อมต้องมีวิธีชดใช้ หรือแก้กรรมได้นั่นเอง

 

           ถ้าเราเคยทำความไม่ถูกต้องเอาไว้  และความไม่ถูกต้องนั้นส่งผลกระทบต่อโลกหรือผู้อื่น แน่นอนว่า วันหนึ่งข้างหน้า ผลของกรรมนั้น พร้อมกับดอกเบี้ยของกรรมที่เกิดขึ้น ย่อมจะส่งผลมาสนองเรา ซึ่งถ้าเรารู้ตัวล่วงหน้า ว่าวันนั้นวันนี้ ถึงวันที่เราจะต้องชดใช้หนี้กรรมนั้นแล้ว ถ้ารู้ล่วงหน้าทัน เราต้องรีบขวนขวายสร้างกรรมดี เพื่อก่อให้เกิดผลของกรรมดี ที่มีขนาดพอเพียงหรือมากกว่าผลของกรรมชั่ว ที่เรากำลังจะได้รับ ตรงนี้มันถึงจะหักล้างกันได้ แต่ต้องทันเวลาด้วย

           เพราะฉะนั้น การทำกรรมดีของเรา ต้องแรง เร็ว และส่งผลได้ทันเวลา โดยมีขนาดพอเพียง หรือมากกว่าขนาดของความสูญเสียที่เราจะได้รับ

 

นั่นก็คือ การทำกรรมดีใหม่ มาแก้ผลที่เกิดจากกรรมเก่า

 

 

           แล้วแก้ที่อะไร ต้องแก้ที่ผล ไม่ใช่ที่เหตุ

           เราไม่สามารถจะบอกว่า เราไม่เคยยืมเงินโยม หรือไม่เคยทำกรรมชั่วที่ล่วงไปแล้วเหล่านั้น แต่เราสามารถที่จะทำกรรมใหม่ แล้วให้มีผล มาแก้ผลของกรรมเก่าได้อย่างนี้ชัดเจนไหม

           ฉะนั้นกรรมต้องแก้ได้ แก้โดยวิธีไหน แก้โดยการทำกรรมใหม่ที่ส่งผลในทิศทางที่สวนกลับ ในขาดที่เท่ากับความสูญเสียที่จะได้รับจากกรรมเก่า เอามาสัมพัทธ์หักล้างกัน หักล้างกันได้เมื่อไร เมื่อนั้นก็เป็นอันจบ

 

          การใช้หนี้กรรม ก็หลักการเดียวกันกับการใช้หนี้เงินนั่นแหละ หนี้เงินต้องจ่ายด้วยเงิน สมมติว่าอาตมาติดหนี้โยม ๑๐๐ บาท แต่แทนที่อาตมาจะเอาเงินมาคืน ๑๐๐ บาท อาตมาดันเอากระเบื้องหลังคาวัด มาตีเป็นมูลค่าเท่ากับเงิน ๑๐๐ บาท แล้วเอามาตั้งไว้ตรงนี้ โยมจะเอาไหม ไม่เอา มันคนละเรื่อง ฉันจะเอากระเบื้องไปทำไม ในเมื่อฉันไม่ได้ต้องการนี่

          เห็นไหม มันคนละช่องทางกัน ฉะนั้นเวลาแก้ไข จะแก้ไขให้ได้ผลตรงที่สุด ก็ต้องตรงช่องทางกัน สามารถเปรียบเทียบกันได้

ยิ่งตรงกันได้มากเท่าไร...ย่อมได้ผลมากเท่านั้น

ยิ่งยักเยื้องกันเท่าไร...ยิ่งยุ่งยากมากขึ้นเท่านั้น

 

              การแก้กรรม (ชั่ว) ที่เราเคยก่อไว้ทั้งในอดีตที่ผ่านมา เราไม่สามารถรู้ได้ว่ากรรม (ชั่ว) ที่สั่งสมของเราติดลบไปมากเท่าไหร่แล้ว ซึ่งการแก้กรรม ก็คือ การสร้างกรรมดีเพื่อมาแก้ผลของกรรม (ชั่ว) เก่า นั่นเอง (พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน ท่านใช้คำว่า แก้กรรมโดยการทำกรรมใหม่ที่ส่งผลในทิศทางที่สวนกลับ) ซึ่งกรรมดีที่เราทำเพื่อแก้กรรม (ชั่ว) นั้นจะส่งผลในทิศทางที่สวนกลับมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเหตุหลาย ๆ อย่างทั้งประเภทของบุญหรือนาบุญที่เราได้ทำด้วย

 

               การแก้กรรมดังกล่าว ไม่ใช่การทำพิธีกรรมที่ใหญ่โตอลังการ แต่เป็นการมุ่งเน้นที่การชำระล้างจิตให้สะอาด (กิเลสลด) คือการสร้าง บำเพ็ญบุญ ๑๐ ประการ หรือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แก่

              ๑. ทานมัย              คือ    การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้รับ

              ๒. สีลมัย                คือ    การรักษากาย วาจา ให้ตั้งอยู่ในศีล มีศีล ๕ เป็นต้น

              ๓. ภาวนามัย           คือ    การเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา

              ๔. อปจายนมัย         คือ    การคารวะอ่อนน้อมต่อผู้ที่เจริญด้วยชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ

              ๕. เวยยาวัจจมัย       คือ    การช่วยเหลือการงานแก่ผู้ที่ควรช่วยเหลือ

               ๖. ปัตติทานมัย         คือ   การอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่น

               ๗. ปัตตานุโมทนามัย  คือ    การอนุโมทนายินดีในการทำบุญ ทำกุศลของผู้อื่น

               ๘. ธัมมัสสวนมัย        คือ   การสดับรับฟังธรรม

               ๙. ธัมมเทสนามัย       คือ   การแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง

             ๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์           คือ   การทำความเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ปัญญาที่รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตนเอง เป็นต้น

         

               สิ่งสำคัญในการทำกุศลใด ๆ ความสำเร็จแห่งบุญจะมีมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาในกาลทั้ง ๓ ได้แก่

๑.     ปุพพเจตนา  คือ  เจตนาที่เกิดขึ้นก่อนทำกุศล

๒.     มุญจเจตนา   คือ  เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังทำกุศล

๓.     อปรเจตนา   คือ  เจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังจากการทำกุศลแล้ว

 

       ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ให้ข้อคิดในการปฏิบัติให้ถูกต้องต่อกรรมในการ อยู่เพื่อพัฒนากรรม...ไม่ใช่อยู่เพื่อใช้กรรม ที่แยกเป็น ๓ ส่วน คือ กรรมเก่า – กรรมใหม่ – กรรมข้างหน้า (หนังสือ เชื่อกรรม รู้กรรม แก้กรรม โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). หน้า ๑๑๔.)

-      กรรมเก่า (ในอดีต) เป็นอันผ่านไปแล้ว เราทำไม่ได้ แต่เราควรรู้ เพื่อเอาความรู้จักมันนั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

-      กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) คือ กรรมที่เราทำได้ และจะต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ 

-       กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) เรายังทำไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมหรือวางแผนเพื่อจะไปทำกรรมที่ดีที่สุด ด้วยการทำกรรมปัจจับันที่จะพัฒนาเราให้ดีงามแลงอกงามยิ่งขึ้น จนกระทั่งเมื่อถึงเวลานั้นเราก็จะสามารถทำกรรมที่ดีสูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงขั้นเป็นกุศลอย่างเยี่ยมยอด

         

 

กรรมใหม่สำหรับทำ...กรรมเก่าสำหรับรู้

 

หมายเลขบันทึก: 548541เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2013 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2013 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คนเราสมัยนี้ ไม่ค่อยจะเชื่อเรื่อง "กฎแห่งกรรม" กันหรอกค่ะ มีให้เราเห็นมากมาย เพราะเขาไม่เคยรู้ซึ้งถึงรสชาดของ "หลักธรรม"

เข้าใจมากขึ้น  ชอบตรงนี้  เอาไปใช้ได้ค่ะ

"เอาความรู้จักมันนั้นมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น"

จุดสำคัญ.....กรรมปัจจุบัน  และวางแผนทำกรรมดี

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณอรรถรสของเหตุ และผลของกรรม » ไม่ก่อกรรม ยม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดมาชดใช้กรรม

ขอบคุณ คุณบุษยมาศ ทพญ.ธิรัมภา อาจารย์Wasawat คุณพ. แจ่มจำรัส และอาจารย์พี่ใหญ่ มากครับสำหรับข้อคิดเห็นดี ๆ ที่มีมาฝาก...:)

 

ขอบคุณมากครับ : สำหรับกำลังใจจากทุกท่านที่มอบผ่านทางดอกไม้...:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท