การศึกษากับประชาธิปไตย....ในทัศนะของพระธรรมปิฎก


การศึกษากับประชาธิปไตย....ในทัศนะของพระธรรมปิฎก

 

 จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคปฏิรูปการศึกษา โดยกำหนดให้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งระบุให้กระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และ ศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์

           จากประเด็นดังกล่าวนี้ พระธรรมปิฎกมีมุมมองที่ชี้ให้เห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องอาศัยการศึกษา เพื่อทำให้คนมีคุณภาพ เพราะคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน และ ในเวลาที่มองประชาธิปไตย ก็อย่ามองแค่การปกครอง อย่ามองแค่ว่า นี่เราเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนได้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง แล้วก็หยุดแค่นั้น โดยนึกว่า นี่เราเก่ง เราได้เป็นใหญ่แล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องมองว่า เราปกครองเพื่ออะไร เราควรจะมองไปให้ถึงจุดหมายของการปกครอง

           การปกครองนั้น ก็คือการที่มาร่วมกันจัดสรรสังคม เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เจริญ มั่นคง มีสันติสุข และให้แต่ละคนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ชีวิตเจริญงอกงาม บรรลุประโยชน์สุขที่สูง ประเสริฐ และมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมกันต่อไปอีก นี่แหละเป็นจุดหมายของการปกครอง

           พระธรรมปิฎกให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างยิ่ง โดยเน้นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น จะต้องอาศัยการศึกษา อย่างน้อยก็เป็นการนำเอาการศึกษามาช่วยเตรียมคนให้พร้อม ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการปกครองของสังคมประชาธิปไตย นี่คือ สาระที่สำคัญที่สุด คือการเตรียมคนให้พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตย หรือในกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด ถ้าไม่เตรียมการคนอย่างนี้ กระบวนการประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว เพราะว่าบุคคลที่เป็นส่วนร่วมซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนนั้น ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความพร้อม

           การศึกษาทำให้คนได้เข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย เราบอกกันเสมอว่า ประชาธิปไตยจัดสรรสังคมให้เกิดมีโอกาสแก่บุคคลแต่ละคนแล้ว แต่คนที่ไม่มีการศึกษา ก็ไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้โอกาสนั้น คือไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตย เช่น ถ้าบุคคลใดไม่รู้หนังสือ โอกาสที่มีอยู่มากมายในสังคมประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เขา ดังนั้น ในขั้นที่หนึ่งนี้ พระธรรมปิฎกจึงเห็นว่า การศึกษาช่วยให้คนเข้าถึงโอกาสและสามารถได้ประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตยนั้น

          ในขั้นต่อไป เมื่อคนมีการศึกษาดี ก็สามารถนำศักยภาพของตนออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม ดังนั้น การศึกษาช่วยให้คนสามารถใช้โอกาสที่จะทำประโยชน์แก่สังคมประชาธิปไตย และในที่สุดเมื่อกล่าวโดยรวม การศึกษาเข้ามาช่วยให้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีคุณภาพที่แท้จริง และสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของประชาธิปไตย มิเช่นนั้นประชาธิปไตยก็อาจจะเป็นเพียงชื่อ เป็นเพียงแต่ระบบในอุดมคติที่ไม่สามารถบรรลุผลได้เลย จึงกล่าวในประเด็นนี้ได้ว่า ปัจจัยที่จะให้สังคมประชาธิปไตยบรรลุผลสำเร็จก็คือ การศึกษา

          ในทางกลับกัน ประชาธิปไตยก็ให้โอกาสแก่ทุกคนที่จะเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคด้วย หมายความว่า เมื่อมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ตัวระบบของประชาธิปไตยก็เปิดโอกาสให้กับคนที่จะเข้าถึงการศึกษาได้ โดยนัยนี้ พระธรรมปิฎกมองว่า การสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย ก็คือการสร้างสรรค์สังคมที่เอื้อต่อการศึกษา หรือจะใช้คำที่กำลังนิยมกันว่า สร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะที่แท้จริง สังคมประชาธิปไตยกับสังคมแห่งการเรียนรู้ ก็คือ คนละด้านของเรื่องเดียวกัน

         กล่าวโดยสรุป...จะเห็นได้ว่า พระธรรมปิฎกให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสังคมประชาธิปไตย และสามารถได้รับประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตย แล้วก็ช่วยให้ประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยดี สู่จุดหมายของระบอบประชาธิปไตยด้วยอาศัยการศึกษานั่นเอง

 

 

หมายเลขบันทึก: 548536เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2013 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2013 15:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การศึกษากับประชาธิปไตย….ในทัศนะของพระธรรมปิฎก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท