ทำไมต้องทนายไร้ตั๋ว



ทนายไร้ตั๋วมาจากไหน ?

 “ทนายไร้ตั๋ว” เป็นชื่อทีมที่คิดขึ้นมาเนื่องจากตอนนั้นอาจารย์ที่ปรึกษาของเราต้องการให้มีการตั้งทีม ในคืนวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๐๐.๑๕ นาฬิกา ณ โรงอาหารมหาวิทยาลัยทักษิณ  ซึ่งสมาชิกท่านหนึ่งได้รับโทรศัพท์จากอาจารย์เสาวนีย์ แก้วจุลกาญจน์ ซึ่งอาจารย์ก็ให้สมาชิกบางท่านที่อยู่ที่นั่นลองคิดว่า “เราควรจะตั้งชื่อทีมอะไรดี และมีวัตถุประสงค์อย่างไร” ตอนแรกนั้นมีการเสนอชื่ออื่นก่อน ต่อมามีคนเสนอความคิดน่าจะใช้ชื่อทีม “ทนายไร้ตั๋ว” คงจะดีกว่า จากนั้นเป็นต้นมา “ทนายไร้ตั๋ว” จึงปรากฏชื่อกลุ่ม ณ ปัจจุบัน 

อย่างไรก็ดีก็ยังมีความเห็นว่าชื่อ “ทนายไร้ตั๋ว” นั้น เป็นชื่อไม่ทางการบ้าง หรือฟังแล้วไม่ใช่แนววิชาการเท่าใดนัก ดังนั้นจึงตั้งชื่อเป็นทางการว่า “นิสิตนิติปัญญาชน” ขึ้นมา

แม้ว่าทีม “ทนายไร้ตั๋ว” จะมีชื่อเป็นทางการก็ตาม การรับ-ส่งข้อมูล ประชาสัมพันธ์ หรือแม้กระทั้งติดตามงาน ก็ยังคงใช้ในกลุ่ม “ทนายไร้ตั๋ว” อีกทั้งในการเผยแพร่งานครั้งแรกในสื่อออนไลน์ อย่าง  Go To Know  ก็ยังคงแขวนเครดิตใต้หัวข้อว่า “ทนายไร้ตั๋ว”

______________________________

 

ทำไมต้องทนายไร้ตั๋ว ?

เมื่อมีที่มา ก็ต้องมีที่ไปเช่นเดียวกัน ทีม “ทนายไร้ตั๋ว” นั้นไม่ได้ตั้งขึ้นมาโดยปราศจากความหมาย โดยจากที่มาของทนายไร้ตั๋วนั้นมาจาก อาชีพหนึ่งที่นักศึกษาหรือนิสิตหลายๆ คนที่เข้ามาเรียนนิติศาสตร์ มักนึกถึงอาชีพทนาย คือ ผู้ที่ให้คำปรึกษาและให้ว่าต่างแก้ต่างในคดี ซึ่งคำว่า “ทนาย” นั้นแผลงมาจากคำว่า “แทนนาย” หมายถึง ผู้แทนนาย ฉะนั้นทนายหากถามใครผู้กำลังศึกษาในคณะนิติศาสตร์คงไม่รู้จักวิชาชีพนี้คงเป็นไม่ได้ 

ครั้งก่อนเราจะมีชื่อทีม “ทนายไร้ตั๋ว” นั้น เราก็ได้ทำ case หนึ่ง ซึ่งจากการทำครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นแรกที่คิดว่า งานที่เราได้รับมอบหมายนั้นมีลักษณะคล้ายกับทนายมาก คือ หาข้อเท็จจริง หลักฐาน สอบปากคำ และตีประเด็นข้อกฎหมาย พร้อมกับให้คำแนะนำแก่บุคคลภายนอกว่าควรปฏิบัติอย่างไร

 

            แต่อย่างไรก็ดีขั้นตอนและกระบวนการการทำงานให้สำเร็จลุล่วงนั้นก็คงเป็นไปไม่ได้ทุกขั้นตอน อย่างเช่น การสอบปากคำ และการดำเนินการในชั้นศาล เนื่องจากการจะทำเช่นนั้นได้ต้องวิชาชีพทนายความที่ได้รับตั๋วเท่านั้น  ซึ่งตาม พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา 33  บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่ง ขาดจากการเป็นทนายความ หรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความใน ศาลหรือแต่งฟ้องคำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ เว้นแต่ จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ หรือกฎหมายอื่น”

ดังนั้นพอทราบแล้วใช่ไหมว่าทำไมต้อง “ไร้ตั๋ว”แต่อย่างไรก็ดี ยังมีอีกมุมมองหนึ่งที่ให้มอง “ทนายไร้ตั๋ว” ว่า “ไร้ตั๋ว” มาจาก “ไร้ประสบการณ์ (non-experience)” ไร้ระสบการณ์ในที่นี่ หมายความว่า สมาชิกทุกท่านยังไม่มีประสบการณ์จริงๆ ในชั้นศาล โดยเฉพาะบทบาทที่สำคัญในศาล อย่างเช่น ว่าความ เขียนคำฟ้อง คำร้อง  (โดยลงลายมือชื่อตนเอง) แต่พวกเราก็เข้าใจกระบวนการดังกล่าวได้ดี แต่ไม่สามารถลงมือปฏิบัติได้ ดังนั้น “ทนายไร้ตั๋ว” จึงมี ๒ มุมให้มอง และนั้นจึงเป็นที่มาของ “ทีมงานทนายไร้ตั๋ว”

ทิ้งท้าย แล้วหากว่าสมาชิกทีมทนายไร้ตั๋วทุกท่านนั้น “สอบตั๋วทนาย” ได้แล้ว เราคิดจะเปลี่ยนทีมงาน “ทนายไร้ตั๋ว” หรือไม่ เราคงตอบเลยว่า “ไม่เด็ดขาด” ชื่อทีมนี้ยังคงเป็น “ทีมทนายไร้ตั๋ว” ต่อไป เพราะสมาชิกทุกท่านนั้น (พวกเรา) บุกเบิกกลุ่มนี้เป็นครั้งแรก ตอนที่ยังใส่เสื้อเชิ้ตขาว ผูกไทหรือปักเข็มมหาวิทยาลัย เมื่อพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจนมีอนาคตในทางการงาน กลุ่มนี้ยังคงเป็นที่รวบรวมภาพความทรงจำ ให้ระลึกถึงเมื่อคราใดที่พวกเรายัง “ไร้ตั๋ว” ช่วงเวลานั้นเราก็ยังทำงานเสมือนจินตมโนภาพว่าเรา คือ “ทนาย” จริงๆ และทำได้เหมือนทนายที่มีตั๋วเช่นกัน เพียงแต่เราทำเอกสารราชการไม่ได้ แค่ทำเท่านี้พวกเราก็ภูมิใจแล้ว อีกทั้งพวกเราก็อยากเปิดโอกาสให้รุ่นน้องหรือคนที่เรียนกฎหมายที่สนใจให้เข้ามาส่วนหนึ่ง จากจุดเริ่มต้นที่ “ไร้ตั๋ว” แต่ไม่ “ไร้จิตสาธารณะ” ได้เข้ามาเรียนรู้จากสังคมจริงๆ นอกเหนือจากการท่องบทกฎหมายสอบในห้องเรียน และทำงานจิตอาสาเพื่อสังคม  ดั่งคติพจน์ที่พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ทรงกล่าวว่า My life is service (ชีวิตของฉันเกิดมา เพื่อรับใช้ประเทศชาติ) ซึ่งนักกฎหมายพึงเตือนใจตนไว้เสมอ

 

 

......... เอวังประการฉะนี้

หมายเลขบันทึก: 548210เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2013 00:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2013 00:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาสนับสนุนน้องร่วมมหาวิทยาลัยเก่าครับ

ทำงานแบบนี้มีประโยชน์แก่สังคมมากๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท