Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

คลินิกกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ : จุดเชื่อมระหว่างประชาชนในสังคมและนักศึกษากฎหมาย


“ทนายความตีนเปล่า” “ทนายความวิชาชีพ” “กรณีศึกษา” “ห้องทดลองทางสังคม” “สูตรสำเร็จ” และ “ต้นแบบของความสำเร็จ” ? : ทำไม ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บทเรียนหนึ่งในงานวิจัยกว่า ๑๐ ปี เพื่อศึกษาการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151895645483834

------------------------------

๑.            ประชาชนที่อาจไม่รู้กฎหมายก็ทำหน้าเป็น “ทนายความตีนเปล่า” เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงในสังคมที่แสดงความไม่เป็นธรรมในสังคมได้

-------------------------------

ในการลงพื้นที่จริงเพื่อศึกษารูปแบบของปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย เราจะทำบันทึก/รายงานประเภทหนึ่งที่เรียกว่า รายงานการสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริง โดยงานเขียนนี้ เราจะตระหนักได้ว่า ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่พบมีลักษณะอย่างไร ? และปรากฏตัวในพื้นใดบ้างของประเทศไทย ? และสังคมไทยในส่วนนั้นปฏิบัติอย่างไรต่อการปรากฏตัวนั้น ? รายงานข้อเท็จจริงในลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องทำโดยนักกฎหมาย/ทนายความวิชาชีพ ในการทำงานของเราตั้งแต่การทดลองที่ “คลินิกกฎหมายแม่อาย”[1] เราก็พบว่า คนในชุมชนที่ไม่เคยเรียนนิติศาสตร์เลย ก็สามารถที่จะทำการสำรวจในลักษณะนี้ได้[2] ดังนั้น ในหลายปีที่ทำงานเพื่อขจัดปัญหาคนไร้สัญชาติ มีหลายคนหลายฝ่ายก้าวเท้าเข้ามาร่วมงานกับคณะนักวิจัยและพัฒนา และส่วนหนึ่งของคนเหล่านี้ก็เข้ามาทำหน้าที่ของ ผู้สำรวจข้อเท็จจริง (Fact Finder)” โดยการทำงานของคนกลุ่มนี้ ในวันนี้ เรามีคำร้องของเด็ก เยาวชน ครอบครัวจำนวนมากในมือเรา

------------------------------

๒.           แต่ในขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อกฎหมายในข้อเท็จจริงที่ส่งมาโดยประชาชนในสังคมนั้น ย่อมต้องใช้ “ทนายความวิชาชีพ” ที่เรียนกฎหมายและฝึกฝนการใช้กฎหมายแล้ว

-------------------------------

ขั้นตอนต่อไปที่จะต้องจัดการ ก็คือ การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงที่สำรวจได้  ขั้นตอนนี้ถูกเรียกโดยคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติว่า “งานกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย” ซึ่งจะต้องต้องใช้ทั้งกฎหมายและนโยบายทั้งในระดับกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งในขั้นตอนนี้ จะต้องใช้คนที่เรียนนิติศาสตร์ และจะต้องผ่านการฝึกงานมาแล้วอีกด้วย ลำพังเพียงแค่สอนผ่านหลักสูตรนิติศาสตร์มา ก็อาจยังทำงานไม่ได้ ในช่วงของการทำงานวิจัยตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมา เราพบว่า มีนักศึกษากฎหมายน้อยที่มุ่งหน้ามาฝึกงานในคลินิกกฎหมายที่เราสร้างขึ้นสำหรับนักศึกษากฎหมาย และกรณีศึกษาที่เก็บขึ้นมาโดยทนายความตีนเปล่าหรือนักกฎหมายในชุมชนจึงเป็น “ห้องทดลองทางสังคม” ที่ดีสำหรับการฝึกเอากฎหมายและนโยบายที่เรียนในห้องเรียนมาปรับใช้กับเรื่องจริงในสังคม ดังนั้น ในแต่ละครั้งที่เราพบพื้นที่อาศัยอยู่ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เราก็จะสามารถสร้างห้องทดลองทางสังคมสำหรับนักศึกษากฎหมายของเราอาทิ (๑) บ้านห้วยน้ำอุ่น อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย[3] (๒) บ้านห้วยคลุม/ถ้ำหิน อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี[4]

------------------------------

๓.            ขั้นตอนการพัฒนาสิทธิตามกฎหมายให้แก่ประชาชนที่เป็นเจ้าของปัญหาต้องการความร่วมมือกันระหว่างเจ้าของปัญหา ทนายความตีนเปล่า และทนายความวิชาชีพ ด้วย “สูตรสำเร็จ” ของคลินิกกฎหมายในมหาวิทยาลัย

-------------------------------

นอกจากนั้น เมื่อเราสามารถปรับข้อกฎหมายต่อข้อเท็จจริงของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในกรณีศึกษาใด  “ขั้นตอนการพัฒนาสิทธิ” สำหรับเจ้าของปัญหานั้น ก็จะปรากฏตัวขึ้นเช่นกัน ในการทดลองพัฒนาสิทธิให้แก่กรณีศึกษาหนึ่งๆ ก็หมายถึงการส่งผ่านองค์ความรู้ในการจัดการสิทธิให้แก่คนในสังคมที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

เราอาจไม่สามารถจัดการทุกปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เดินทางเข้ามาร้องทุกข์กับเรา แต่เราอาจสร้าง “สูตรสำเร็จ” ในการกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย และในการพัฒนาสิทธิที่เข้ามีอยู่หรือควรจะมีอยู่ งานเขียนอันเป็นผลมาจากการทดลองทำงานใน ๒ ขั้นตอนนี้ โดยเหล่านักศึกษานิติศาสตร์ที่มาศึกษาในวิชาของผู้วิจัยและเลยตามเข้ามาทำงานใน ๒ ขั้นตอนนี้ จึงปรากฏมากมายในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผู้วิจัยจมอยู่กับเรื่องราวนี้ หลายท่านเข้ามาทำงานจนจบการศึกษาตามหลักสูตรที่ต้องการ แล้วก็จากไป

------------------------------

๔.           “คลินิกกฎหมายในมหาวิทยาลัย” : จุดเชื่อมระหว่างความรู้ในข้อเท็จจริงทางสังคมของนักศึกษากฎหมายและความรู้ในข้อกฎหมายของชาวบ้านในสังคม

-------------------------------

แต่หลายท่านก็ดำเนินชีวิตในสายความคิดและวิชาชีพนี้ต่อไป และเชี่ยวชาญมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุด ผู้วิจัยก็ตระหนักว่า ผลของการวิจัยที่มิใช่เพียงแต่กระดาษบันทึกรายงานผลการวิจัย ก็คือ การที่นักศึกษาและนักวิจัยกลุ่มนี้ที่ตระหนักว่า งานจัดการประชากรของรัฐเป็นวิชาชีพที่พวกเราหลงรักและเชี่ยวชาญ ดังนั้น พวกเขาจึงรวมตัวกันและสร้างพื้นที่ทำงานร่วมกัน มีหลายพื้นที่ทางความคิดที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางของผู้วิจัยในโครงการศึกษาวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยอันนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนและใกล้ตัวมาก ก็คือ “บางกอกคลินิก”[5] ซึ่งเหมือนจะไม่มีตัวตน แต่ก็จะปรากฏตัวขึ้นอย่างแข็งแรงเมื่อมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติสักคนหนึ่งต้องการความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือนักศึกษาน้อยสักคนต้องการฝึกงานกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นรายงานผลการวิจัยที่เขียนโดยความรักในมวลมนุษยชาติและความศรัทธาในวิชาชีพก็ว่าได้

มีคนตั้งคำถามเสมอว่า ผู้วิจัยจะสามารถแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไปจากสังคมไทยได้จริงหรือ ? ผู้วิจัยก็ไม่อาจตอบคำถามดังกล่าวได้ แต่สิ่งที่ยืนยันได้ ก็คือ หากเราสร้างองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติให้ชัดเจนและทำได้จริง โดยเฉพาะ การสร้าง “สูตรสำเร็จ” ในการจัดการปัญหา  โดยเฉพาะการสอนให้เจ้าของปัญหารู้จักแก้ไขปัญหาของเขาเอง ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด[6] และการสร้าง ต้นแบบของความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา”[7] ก็ดูจะเป็นสิ่งที่เราควรทำมากที่สุด[8]

ด้วยวิธีการดังกล่าว “คลินิกกฎหมายในคณะนิติศาสตร์” จึงทำหน้าที่เป็น จุดเชื่อม” ระหว่างประชาชนในสังคมและนักศึกษากฎหมาย และ “จุดผลิต” องค์ความรู้ที่กินได้จริง กล่าวคือ ใช้ได้จริงสู่การทำงานของเหล่าประชาชนที่ต้องการใช้กฎหมายในการจัดการสิทธิของตนเองในโลกของความเป็นจริง “สูตรสำเร็จในการทำงาน” จึงเป็นผลผลิตของการทำงานระหว่างประชาชนและนักศึกษากฎหมายที่ทำงานในคลินิกกฎหมายในมหาวิทยาลัยที่งานวิจัยได้สร้างขึ้น

 



[1] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, สำนักงานกฎหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนไร้รัฐไร้สัญชาติโดยทนายความตีนเปล่า,คำนำสำหรับหนังสือทำมือเรื่อง คลินิคแม่อาย, เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง โครงการเสวนาทางวิชาการเรื่อง การถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานด้านสถานะและสิทธิบุคคลของคลินิกกฎหมายชาวบ้าน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่, จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ, ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=402&d_id=401<วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

[2] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, บุญ พงษ์มา : จากอดีตคนไร้สัญชาติแห่งแม่อาย สู่หมอความตีนเปล่าแห่งคลีนิคกฎหมายแม่อาย,เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์รายวันมติชนเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๑๐๔๕๙ http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=330&d_id=329<วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

[3] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, บ้านห้วยน้ำอุ่น อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย : ห้องทดลองทางสังคม,เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐ http://www.oknation.net/blog/home/video_data/414/11414/video/9072/9072.wmv <วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

[4] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, บ้านห้วยคลุม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี : ห้องทดลองทางสังคมเรื่องคนอพยพ, เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๐,  http://www.oknation.net/blog/home/video_data/414/11414/video/9366/9366.wmv<วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

[5] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, งานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย : มองผ่านประสบการณ์บางกอกคลินิก , เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง “สังคมวิทยาข้ามพรมแดน ข้ามสาขาวิชาซึ่งทำในเวทีเสวนาย่อยอันเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมที่มีชื่อว่า “การประชุมสังคมวิทยาระดับชาติครั้งที่ ๔ แผ่นดินเดียวกัน แต่เหมือนอยู่คนละโลก: วาระการวิจัยเพื่ออนาคตซึ่งจะจัดในวันที่ ๑๘ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร, เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕, ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.gotoknow.org/posts/545106 <วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151823154483834<วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

https://docs.google.com/file/d/0B7ummaGfFLZSOG1ibUNNWE5jc0k/edit?usp=sharing<วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

[6] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, คำนิยมหนังสือ “ดวงดาวที่ริมขอบแดน” เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จ ‘Success Story’ ของคนไร้รัฐไร้สัญชาติและคนชาติพันธุ์,เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓, เผยแพร่ในหนังสือชื่อ “ดวงดาวที่ริมขอบแดน” , เพื่อเผยแพร่เรื่องราวแห่งการยืนหยัดและสรรค์สร้างสังคมของเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติและชาติพันธุ์, ปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว บรรณาธิการ, จัดพิมพ์โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล, โรงพิมพ์เดือนตุลา, ๒๕๕๓, หน้า ๖ – ๑๗http://gotoknow.org/blog/archanwell-and-swit/374112 <วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=529&d_id=528<วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

[7] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, คำนิยมหนังสือคู่มือการจดทะเบียนการเกิดของ อ.ด๋าวและอ.วีนัส  : เมื่อเอ็นจีโอและจีโอฝันที่จะพัฒนา สูตรสำเร็จ เพื่อจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างยั่งยืนให้แก่เด็กที่มีจุดเกาะเกี่ยวไทย,เริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๓, เขียนเสร็จเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓, เผยแพร่ในหนังสือชื่อ “๓ สูตรสำเร็จเพื่อการจดทะเบียนการเกิด ถ้วนหน้า ครบขั้นตอน และถูกต้อง”, คู่มือเล่มที่ ๑ สำหรับผู้ปฏิบัติงานและเจ้าของปัญหา, โดย วีนัส สีสุข, ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล และ ชาติชาย อมรเลิศวัฒนา, จัดพิมพ์โดย สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ, สนับสนุนทุนการพิมพ์โดย Action Aid ZThailand) และ Open Society Institute, โรงพิมพ์เดือนตุลา, ๒๕๕๓, หน้า ๓ – ๑๓   http://gotoknow.org/blog/my-work-on-birth-registration/340900 <วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖> http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=506&d_id=505<วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

[8] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ต้นแบบแนวคิดและวิธีการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ : Purpose and Output ของกิจกรรมของคลินิกแม่อายใน พ.ศ.๒๕๕๒ ???,เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ http://gotoknow.org/blog/archanwell-and-maeai-study/273840<วันที่ ๒๙ กรกฎาคม  พ.ศ. ๒๕๕๖>

หมายเลขบันทึก: 548159เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2013 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท