ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ Best practice ของครู


การนำเสนอผลงานที่เป็นเลิศ ( best practice ) เป็นการเผยแพร่กระบวนการทำงานที่ประสบผลสำเร็จ ได้รับการยอมรับ และส่งผลเชิงประจักษ์ต่อเด็ก

 

 

 

ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ Best practice ของครู

          ตัวชี้วัดว่า “ครูเก่ง” ประการหนึ่งก็คือ สอนเด็กโดยการใช้สื่อ กระบวนการ วิธีการ โครงงาน แล้วประสบผลสำเร็จเป็นที่ยอมรับ น่าชื่นชม มองเห็นความแปลก ความทันสมัย น่าทึ่ง จากการประยุกต์ใช้ทฤษฎี แล้วนำมาเผยแพร่ขยายผลได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งนักวิชาการให้คำนิยามผลงานลักษณะนี้ว่า “Best practice” พอผมได้มีโอกาสได้ทำหน้าที่กรรมการวิพากษ์การนำเสนอผลงานของครูในลักษณะเช่นนี้ ทั้งในระดับจังหวัด และภูมิภาค ก็ได้พบกับข้อสังเกตหลายประการ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนครู จึงขอนำมาแบ่งปันในที่นี้  

.concept ของครูผู้นำเสนอ Best practice(วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ) ยังติดภาพการนำเสนองานวิจัย งานวิทยานิพนธ์ งานโครงการ อันเป็นกระบวนการพัฒนานวัตกรรม จนลืมนำเสนอผลสำเร็จที่แท้จริงของงาน ที่เป็นจุดเด่นหรือความเป็นนวัตกรรมจนเห็นวิสัยทัศน์ เห็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎี เห็นองค์ความรู้ใหม่ เห็นแก่นแท้ของBest practiceเรื่องนี้น่าคิดมาก

๒. ผู้นำเสนอหลายคน เก่งงาน เก่งปฏิบัติ แต่ไม่เก่งเขียนรายงาน ไม่เก่งนำเสนอ จึงมีข้อด้อยในการอ้างอิงเอกสาร อ้างอิงทฤษฎีที่ถูกต้อง ทันสมัย สมเหตุสมผล เวลานำเสนองาน ไม่เน้นที่ประเด็นสำคัญ แต่กลับไปขยายความในประเด็นย่อยๆ อย่างน่าเสียดายเวลา

๓.งานที่นำเสนอเป็นBest practice ส่วนใหญ่ต่อยอดจากผลงานวิชาการเดิม งานวิทยานิพนธ์  งานวิจัยนวัตกรรม  รายงานโครงการ โครงงาน แต่ต่อยอดในลักษณะเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ เป้าหมาย กิจกรรม หรือเอาผลงานที่ประสบผลสำเร็จด้านอื่นๆ เข้ามาแทรกโดยไม่รู้ที่มา แทนที่จะสังเคราะห์งานขึ้นมาใหม่  ตั้งแต่ต้น จึงปรากฏเป็นงานซ้อนงาน  นวัตกรรมซ้อนนวัตกรรม  จนอธิบายได้ยากว่า ต้องการนำเสนอผลงานชิ้นใดกันแน่ 

๔.งานที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตรท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ควรแสดงโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา แสดงให้เห็นเป็นสาระท้องถิ่น หรือรายวิชาเพิ่มเติม หรือหน่วยการเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อให้เป็นเอกสารวิชาการที่สมบูรณ์ เป็นผลงานของครูที่น่าเชื่อถือ 

๕.ทักษะการนำเสนอผลงาน Best  Practice เป็นสิ่งที่ควรฝึกฝน เพราะเวลาขยายผลเผยแพร่ก็ต้องใช้  เวลาประกวดก็ต้องใช้ ควรนำเสนออย่างเร้าใจมีชีวิตชีวา ด้วยทักษะการพูดที่เร้าใจ ชัดเจน กระชับ รัดกุม มีทักษะการใช้สื่อ อุปกรณ์ ใช้ระบบเทคโนโลยี  ระบบออนไลน์ ประกอบการนำเสนอได้เป็นอย่างดี

๖.ผลงาน Best Practice ที่ผ่านการคัดเลือกถึง ระดับประเทศ เป็นสะพานเชื่อมดาว สู่วิทยฐานะที่สูงขึ้น เชื่อว่าเป็นแรงจูงใจลึกๆ ของครูที่นำเสนอผลงานทุกคน การทำงานผ่านคุณภาพเด็กเชิงประจักษ์ ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนทำได้ง่ายๆ  ต้องอาศัยความรู้ความสามารถ อุตสาหะ พากเพียร มุ่งมั่น อย่างสูงยิ่ง ดังนั้น ข้อที่พึงตระหนักก็คือ เด็กควรมีคุณภาพจากการเรียนรู้อย่างมีความสุข ไม่ควรมีคุณภาพจากการเคี่ยวเข็ญเด็กให้เป็นไปตามสเปคงานของครู

๗.การรักษาเวลาในการนำเสนอให้กระชับ ตรงเวลา ตรงประเด็น คมชัดในเนื้อหา มีเทคนิคที่เร้าใจ เป็นการพิสูจน์ความเก่งรอบด้านของผู้นำเสนอ (เก่งจริง)

๘.ในกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี ซึ่งประกอบด้วยหลายสาระ หลายคนนำเสนองานที่ใหญ่มาก ต้องอาศัยระบบการทำงานแบบเครือข่าย มีผู้เกี่ยวข้องมากมาย การวิเคราะห์ต้องใช้เวลายาวนาน เหมาะจะเป็น best Practice ของผู้บริหาร หรือของโรงเรียน มากกว่าของครูผู้สอน

๙.กรรมการวิพากษ์ที่เชี่ยวชาญ รอบรู้ ตรงไปตรงมา และกรรมการให้คะแนนที่ละเอียดถี่ถ้วน เป็นธรรม ส่งผลต่อการพัฒนา Best Practice ของครูอย่างยิ่ง ไม่ว่าเวทีใดๆ

 

หมายเลขบันทึก: 547112เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2013 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2013 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เข้ามาอ่านบันทึกของ "ท่าน ศน.สมาน เขียว" แล้ว ได้ความรู้ใหม่และแนวคิดที่ลุ่มลึก ครอบคลุมประเด็นที่ต้องการนำเสนอ เสมอเลย ชื่นชมความสามารถในมุมมองเชิงวิเคราะห์ของท่านจริงๆ ค่ะ
  • แง่คิดข้อสุดท้ายของท่าน "๙.กรรมการวิพากษ์ที่เชี่ยวชาญ รอบรู้ ตรงไปตรงมา และกรรมการให้คะแนนที่ละเอียดถี่ถ้วน เป็นธรรม ส่งผลต่อการพัฒนา Best Practice ของครูอย่างยิ่ง ไม่ว่าเวทีใดๆ" มั่นใจว่า ท่านเป็นหนึ่งในกรรมการวิพากษ์ ที่มีคุณสมบัติเช่นนั้น
  • อยากให้ครูที่นำเสนอผลงาน "ฺBest Practice" ทุกคนในประเทศนี้ ได้อ่านงานเขียนนี้จังค่ะ
  • "ไอดิน-กลิ่นไม้" ได้ขอเข้าไปช่วยทำกิจกรรม "เสริมทักษะการฟัง-พูดภาษาอังกฤษ" ให้กับเด็กในโรงเรียนบ้านหนองฝาง เพื่อทำประโยชน์ให้กับการศึกษาในระบบ (Formal Education) เพิ่มเติมจากที่ได้ให้การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) ผ่าน GotoKnow เพื่อตอบแทนประเทศชาติที่ได้ให้การชุบเลี้ยงหลังเกษียณอายุราชการ จะเริ่มพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายนนี้ค่ะ แต่คงต้องเข้าไปดูก่อนว่า ที่ผ่านมาเด็กๆ ได้รับประสบการณ์อะไรกันมาบ้าง บอกกับทางโรงเรียนไปว่า จะทำให้กับเด็ก ป.๔ - ๖ แต่ทางโรงเรียนขอให้ทำกับเด็กทุกระดับชั้น เพราะมีเด็กทั้งหมดไม่ถึง ๕๐ คนค่ะ สงสัยจะต้องใช้วิธี "Plearn : Play & Learn" และให้พี่ช่วยน้อง ค่ะ  

ขอบคุณท่าน ผอ.ชยันต์  ผศ.วิไล อย่างสูงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท