3 ข้อค้นพบจากการเยี่ยมโรงเรียน และ 5 จุดที่ควรปรับเปลี่ยนของครู


จากการลงพื้นที่ไปเยี่ยมโรงเรียนระดับประถมศึกษา  (และประถมฯ ขยายโอกาส) กว่า 20 โรงเรียน ในเขตพื้นที่ในรัศมีจากมหาวิทยาลัยไม่เกิน 100 กิโลฯ ผมมีข้อค้นพบ 3 ประการสำคัญ และข้อสังเกต 5 จุดที่ควรปรับเปลี่ยนสำหรับกิจกรรมการเรียนการสอนของครู ที่อยากนำมาแบ่งปันเสนอแนะ ดังนี้ครับ

ข้อค้นพบ

  1. พบว่ายังไม่มีโรงเรียนระดับประถมใดเลย ที่ครูสอนแบบ "โครงงานบูรณาการบนฐานปัญหาชีวิต" หรือ PBL (Project-based Learning หรือ Problem-based Learning)
  2. พบว่าสิ่งที่สำคัญที่จำเป็นต้องมีแต่ยังมีน้อย หรือแทบไม่มีคือ "การนิเทศการสอนภายในโรงเรียน" ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญประการหนึ่งของ "PLC ชั้นใน" (PLC ในโรงเรียน)... โจทย์วิจัยและพัฒนาสำคัญคือ "ทำอย่างไรจะทำให้ ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูให้ความสำคัญ และมีทักษะในการ นิเทศการสอนภายใน ใช้กระบวนการ KM ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอย่างผ่อนคลาย และสม่ำเสมอ"
  3. พบว่ามี "ครูเพื่อศิษย์" ที่สามารถเป็น Best Practice (BP) ในพื้นที่ ที่ควรจะได้รับการ "ถอดบทเรียน" และเผยแพร่ ขยายผลสู่คนอื่นๆ ได้หลายคน.... (ทีม CADL ของ มมส. กำลังทำหน้าที่ "ถอดบทเรียน" ของ BP เหล่านั้น และจะนำมาแบ่งปันต่อไป) 

จุดที่ควรปรับเปลี่ยนในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนที่พบ 

  1. สอนจาก "จากสำรวจประสบการณ์เดิม สู่การเติมความรู้ใหม่".... เนื่องจากความจริงจากงานวิจัยพบว่า การเรียนรู้ของเราส่วนใหญ่เกิดขึ้นแบบ "งอกใหม่" ความรู้ใหม่ "งอก" จากความรู้เดิม พูดให้สั้นคือ ความรู้เดิมมีผลต่อการเรียนรู้อย่างมาก ดังนั้นวิธีการหรือการออกแบบการเรียนรู้ของครูต้องอยู่บนฐานการ "รู้ความรู้เดิมของเด็กรายบุคคล"......หลายครั้งที่ผมเรียนวิธีการเรียนรู้แบบนี้ว่า "การเรียนรู้จากปฏิบัติไปสู่ทฤษฎี" (สิ่งที่มีและทำกันอยู่คือการเรียนรู้จากทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ)
  2. สอนให้ครบวงจรการเรียนรู้ "Input -> Process -> Output"...การสอนของครูที่พบส่วนใหญ่เป็นการสอนทางเดียว มีแต่ Input -> Process ไม่ได้ออกแบบให้นักเรียนมีส่วนร่วม นักเรียนไม่ได้ Output กลับออกมา ไม่ครบวงจร IPO .... นักประสาทวิทยาและนักการศึกษาเห็นตรงกันในประเด็นสำคัญนี้ว่า กระบวนการเรียนรู้ที่ครบวงจร IPO จะทำให้เข้าถึง "ความจำถาวร" (Long-term memory) ได้มากกว่า 
  3. สอน "เน้นกระบวนการเรียนรู้" มากกว่าการสอน "เน้นเนื้อหา" ... แม้ว่าเราจะพูดประเด็นนี้จนเป็นคำติตตลาดติดกระแส แต่ครูยังไม่เข้าใจและแน่นอนว่าไม่ได้ปฏิบัติเลย.....อาจจะต้องใช้คำใหม่ว่า เป้าหมายของครู ไม่ใช่ "ป้อนความรู้ให้นักเรียน" แต่เป็น "เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ของนักเรียน" ซึ่งจะทำอย่างนี้ได้ครูต้อง ออกแบบให้นักเรียนได้ผ่านวิธีการเรียนรู้หลายๆ แบบ เช่น สืบค้น สำรวจ ทดลอง ลงมือทำ นำเสนอ ด้วยตัวของพวกเขาเอง 
  4. ต้องให้นักเรียนได้ "สะท้อนผลการเรียนรู้ของตนเอง" คือต้องให้นักเรียนได้ "สะท้อนบทเรียน" (Reflection).... ข้อนี้ผลงานวิจัยที่ไหนก็ชี้ชัดว่าเป็นสิ่งจำเป็น แต่ประหลาดที่โรงเรียนในประเทศเรายังไม่เห็นความสำคัญ... แม้กระทั่งปัจจุบันนักการศึกษาและครูส่วนใหญ่คิดว่าการให้ "สะท้อนบทเรียน" ทำไปเพื่อจะได้วัดและประเมินผลลัพธ์ให้ครู (หรือผู้อยากรู้)ได้ดู แต่ความจริงคือ การสะท้อนหรือถอดบทเรียนจะทำให้นักเรียนได้ "ฝึกเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ของตนเอง" คือทำให้ "นักเรียนรู้จักตนเอง" (ไม่ใช่ให้ใครที่ไหนมา "ตัดสิน" นักเรียน)
  5. กิจกรรมการให้ได้ "เรียนรู้เป็นทีม" จริงๆ .... หลายครั้งที่พบว่า มีการจัดให้นักเรียนได้นั่งเป็นกลุ่ม แต่การออกแบบงานยังเป็นแบบงานเดี่ยว.... การออกแบบกิจกรรมให้ได้เรียนรู้เป็นทีมจะเกิดขึ้นทันทีท่าครูทำงานเป็นทีม ... การสอนจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ครูจึงเป็นศิลปินนักออกแบบและเป็นต้นแบบในตัวคนเดียว.... 

สำหรับการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ (Active Learning) นั้น ครูเข้าใจ แต่เข้าใจไม่ลึก โดยมากจะเข้าใจว่า แค่เพียงนักเรียนได้ลงมือทำแบบฝึกหัด ลงมือทำโจทย์ปัญหา ลงมือทำใบงาน ได้แก้ปัญหาที่ครูออกแบบให้ ก็ถือว่าได้ทำสิ่งนี้แล้ว.... จึงทำให้ไปยังไม่ถึงการเรียนรู้แบบรู้จริง (Mastery Learning) ที่เน้นการเรียนรู้แบบลงมือทำ (Learning by doing) ด้วยตนเองทั้งหมด ตั้งแต่ ฝึกคิด ฝึกตั้งคำถาม ฝึกทำฝึกแก้ปัญหา ฝึกสร้างสื่อใช้สื่อ ฝึกนำเสนอ กล่าวให้สั้นคือ "ฝึกเรียนรู้ด้วยตนเอง"  ซึ่งการเรียนรู้แบบ PBL ยังไม่มี สิ่งนี้จึงเกิดได้ยาก......

ท่านว่าไงครับ  

หมายเลขบันทึก: 547067เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 23:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 23:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีครับ

ชอบ

มามอบดอกไม้

 

และกดติดตามครับ

ขอบพระคุณครับ ผมไปอ่านบันทึกของท่านก็ชอบเช่นกัน จึงขออนุญาตติดตามเช่นกันครับ

ณ ปัจจุบันก็ยังได้ยินว่า สอน..ไม่ทัน แสดงว่า เนื้อหาก็ยังมาแรงกว่ากระบวนการอยู่ในบางพื้นที่

ไม่ทราบว่า ผู้บริหารยุคใหม่ (อาจจะหลายคน) รู้จักคำว่า " นิเทศภายใน " อยู่หรือเปล่านะ

จะทราบไหมว่า การนิเทศงาน กับนิเทศวิชาการ เป็นอย่างไร....เพราะเห็นแต่ "ชูดาบ" ขยับ

จะฟันผู้ใต้บังคับบัญชาการตลอด...แถมยังนิยมใช้ระบบการปกครองแบบ " ตีให้แตก แล้ว

แยกปกครอง " กันอยู่ให้เกร่อ...ครูเก่ง  ครูดี  ครูต้นแบบ ส่วนหนึ่ง จึงต้องอำลาวงการ

ครูหยินเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง...กับคุณมะเดื่อ

แปลกแท้หลักสูตรผู้บริหารมีพิศดารหลาย ๆ อย่าง

อยู่อย่างเรากันเถิดน่ะพัฒนาเด็กให้ถึงแก่น

อยากมีผู้บริหารท่ี....น่าศรัทธากับเค้าบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท