เติบโตไปด้วยกัน : การสร้างสมรรถนะของกลุ่ม PLC โรงเรียนทางเลือก (๔)


 

โรงเรียนเพลินพัฒนา

 

คุณครูปาด – ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนฝ่ายวิชาการ นำเสนอคุณค่าของเอกสารประมวลการจัดการเรียนรู้เพื่อที่ครูจะได้มีการวางแผน coaching เด็กอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งหากหวังผลให้การจัดการเรียนรู้มีผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้เรียน

 

 

ขณะนี้มีแผนการเรียนรู้เชิงชั้นเรียนค่อนข้างชัดเจนแล้ว เนื่องจากที่โรงเรียนเน้นการเรียนรู้แบบ open approach แต่แผนการเรียนรู้เชิงโครงงานครูยังไม่ชัดเท่าไร เพราะในแผนการ coaching ต้องใช้ OLE (Objective – Learning – Evaluation) ประกอบเข้าด้วยกัน

 

ถ้าให้ครูยึดสมรรถนะแทนที่จะยึดเนื้อหาแล้ว ครูจะสอนอย่างไรก็ได้ถ้าแม่นกระบวนการ
สมรรถนะ = เป็นผลรวมของทักษะ แรงขับ ความเป็นเจ้าของ สติปัญญา และการเชื่อมโยงความรู้กับทักษะเข้าด้วยกัน
ทักษะ = ความเชี่ยวชาญ
ในการประเมินผล ควรมีวางแผนการประเมินก่อน (พิมพ์เขียวเพื่อการประเมินผล) เพื่อดูว่างานชิ้นใดจะประเมิน หรือไม่ประเมิน และชิ้นที่ประเมินจะประเมินด้วยวิธีการใด

 

คุณครูอ้อ - วนิดา สายทองอินทร์ หัวหน้าพัฒนาหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย  นำเสนอการประมวลประสบการณ์จากการเปิดชั้นเรียน (open class) ทั้ง ๕ ครั้ง ให้เพื่อนครูในระดับชั้นต่างๆ ที่สอนในหน่วยวิชาเดียวกันได้ร่วมเรียนรู้ทั้งในขั้นสร้างแผน - ขั้นการเรียนการสอน - ขั้นสะท้อนหลังสอน  และได้นำคลิปจากห้องเรียนชั้น ๒  มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย

 

 

หน่วย “พฤกษาพาคำ – กลอนสี่ชมพฤกษา” ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบ open approach ที่เดิมเป็นกระบวนการเรียนรู้ของหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ แต่มีการนำไปปรับใช้ในให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้หน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยของโรงเรียนเพลินพัฒนา

 

ก้าวแรกของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ คือ การประเมิน met before ของนักเรียนว่าอะไรเป็นสิ่งที่ผู้เรียน “รู้จริง” (ไม่ใช่การระบุจากสิ่งที่ครูได้สอนไปแล้ว)  เพื่อนำพาผู้เรียนไปสู่บันไดขั้นถัดไปของการเรียนรู้ เช่น ถ้าจะเรียนเรื่องการเขียนกลอน ผู้เรียนต้องรู้ก่อนว่าคำคล้องจองเป็นอย่างไร แต่หากครูพบว่าผู้เรียนยังไม่มีคลังคำ ก็ต้องเริ่มจากการสร้างให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ที่จะสะสมคลังคำก่อน จึงจะก้าวไปสู่การเขียนกลอนได้ เป็นต้น

 

ประสบการณ์เดิมของผู้เรียน


ตอนอยู่ชั้น ๑  เมื่อปีการศึกษาที่แล้ว ผู้เรียนกลุ่มนี้มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ภาษาไทยควบคู่ไปกับการเล่นกับส่วนต่างๆ ของต้นกล้วย และพืชชนิดต่างๆ เช่น นำเอาก้านใบไปทำม้าก้านกล้วย  เอาใบมาตองทำแหวน ทำกระทง  เอาดอกอัญชัญมาหุงห้าว  เอาใบบัวมาห่อข้าว  ใบเตยมาทำดอกกุหลาบ เป็นต้น

 

.........................................................

 

ในปีการศึกษา ๒๕๕๖ ภาคฉันทะ

ก่อนหน้าที่จะเปิดชั้นเรียน

ครูพานักเรียนสำรวจต้นมะขาม เขียนคลังคำตามที่ได้เรียนรู้จากการมีประสบการณ์ตรง

 

เปิดชั้นเรียนครั้งแรก

ชิมทุกๆ ส่วนของกล้วย มีการสร้างใบงานเพื่อใส่คลังคำที่ได้เรียนรู้ การให้เขียนบรรยายเกี่ยวกับกล้วย ครูพบว่ามีกลุ่มเด็กอ่อนที่ยังเขียนได้ไม่คล่องอยู่จำนวนหนึ่ง

 

เปิดชั้นเรียนครั้งที่สอง

ครูให้เขียนบรรยายต้นกล้วยให้ชัดเจนขึ้น ในขั้นการออกแบบแผนการเรียนรู้มีการระบุให้แบ่งผู้เรียนออกเป็น ๒ กลุ่ม พร้อมทั้งแบ่งงานออกเป็น ๒ ระดับ แต่ครูยังไม่กล้าที่จะทำตามแผนที่กลุ่มช่วยกันออกแบบไว้เนื่องจากยังขาดประสบการณ์

 

เปิดชั้นเรียนครั้งที่สาม

แบ่งนักเรียนออกเป็น ๒ กลุ่ม ให้กลุ่มแรก (กลุ่มกล้วยดิบ) เขียนบรรยายบรรยายปักษาสรรค์ ให้อีกกลุ่มหนึ่งกล้วยสุกหาคำคล้องจองจากกลอน ๔ เรื่องกล้วยที่ครูแต่งขึ้น

ครูคิดเปลี่ยนสื่อ เพื่อไม่ให้จำเจ และได้ใช้คลังคำเกี่ยวกับกล้วยที่มีอยู่เดิม เลือกต้นพุทธรักษา และ ปักษาสวรรค์ ที่ใบมีสีเขียว ผิวเรียบลื่น คล้ายใบตอง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำคลังคำศัพท์ที่มีอยู่เดิม เป็นฐานในการเขียนบรรยายลักษณะต่างๆ ได้

สังเกตว่ายิ่งได้ลงมือทำงาน พลังก็ยิ่งมา ต่างจากครั้งแรกๆ ที่ผู้เรียนส่วนหนึ่งจะรู้สึกเครียดที่ต้องทำงานเขียน ปัจจัยความสำเร็จคือการแยกกลุ่มเรียนรู้ที่เป็นไปตามความสามารถ เมื่อผู้เรียนได้งานที่พอมือ พบได้เลยว่าทุกคนมีความสุข และร่าเริงกับการเรียนรู้ตลอด ๙๐ นาที

 

เปิดชั้นเรียนครั้งที่สี่

ให้อ่านกลอน ๔ แบบเน้นเสียงตรงจังหวะที่มีสัมผัส โดยให้ผู้เรียนจับสัมผัสได้เองจากการได้ยินจังหวะการเน้นเสียงของครู เพื่อให้จับสัมผัสเสียงที่มีอยู่ในบทกลอนจากการร้องเล่น และบันทึกคลังคำที่สังเกตได้ลงในผังมโนทัศน์ ที่แต่ละคนเขียนไว้ในสมุด ครั้งนี้เขียนกลอน ๔ กันได้หลายคนแล้ว

 

 

 

เปิดชั้นเรียนครั้งที่ห้า

ให้ทั้งห้องทดลองแต่งกลอน ๔ ด้วยกัน จากนั้นให้ทุกคนแต่งของตนเองโดยใช้คลังคำที่ได้สะสมมา แล้วใช้กลอน ๔ ที่แต่งขึ้นแปลงให้เป็นเวทย์มนต์ (ภาษาคือมนต์ขลัง) ในการเชิญนกของสวรรค์ที่อยู่ในรูปของดอกปักษาสวรรค์ (Bird of Paradise) ลงมาจากฟากฟ้า

 

ครั้งนี้พบว่า ผู้เรียนมีการมีการนำคำใหม่ๆ ที่ไพเราะมาใช้ในการเขียนกลอน เช่น ชูไสว สวยหรู ได้เองทั้งๆ ที่ครูไม่ได้นำเข้ามาในชั้นเรียน เนื่องจากเราทุกคนมีชีวิตอยู่กับภาษาแม่ ทั้งในจิตสำนึก และจิตใต้สำนึก หากการเรียนภาษาอยู่ในกระบวนการของดึงคลังคำที่ทุกคนมีอยู่ออกมาแบ่งปันกัน ประตูการเรียนรู้ที่ปิดอยู่ก็จะเปิดออกพร้อมเปิดรับภาษาแม่อย่างเป็นธรรมชาติ หลังจากนั้นกระบวนการธรรมชาติจะทำงานเอง


กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนทำให้

  • ครูได้เห็นตัวตนของครูที่ก่อเกิดผลกับชั้นเรียน
  • ครูได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ได้เกิดสายตาใหม่
  • ครูได้ละวางตัวเอง
  • ทุกคนอยู่ในวิถีของการเรียนรู้ร่วม ได้เรียนลัดจากความสำเร็จของครูรุ่นพี่ ครูที่มาร่วมอยู่ในกระบวนการสังเกตชั้นเรียนได้วิธีการที่ดีไปใช้กับห้องเรียนของตน
  • เกิดการยกระดับคุณภาพครู และผู้เรียนได้ภายในระยะเวลาของการเรียนการสอนใน ๕ ครั้ง (ครั้งละ ๙๐ นาที) เนื่องจากเป็นการระดมความคิดและประสบการณ์ ตลอดจนทรัพยากรที่มีทั้งหมด เพื่อการสร้างแผนการเรียนรู้ และนวัตกรรมการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

 

ข้อค้นพบ

วิธีการจัดการเรียนการสอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย  ๗ ขั้นตอน

๑. การสร้างภาวะพร้อมเรียน
๒. Input โดยใช้ประสบการณ์จริง
๓. คลี่คลาย ผลิตคลังคำ วลี ประโยค ซึ่งควรมีวิธีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ เช่น ใช้ผังมโนทัศน์มาช่วยให้คำเดียวกันอยู่ได้หลายบริบท 
๔. เปิดโจทย์สถานการณ์ 
๕. สร้างสรรค์ แก้ปัญหา ให้เวลาให้เพียงพอ
๖. ปฏิสัมพันธ์ (แลกเปลี่ยนเรียนรู้)
๗. สังเคราะห์ร่วมกัน

 

ชุดความรู้จากการปฏิบัติที่สกัดได้ คือ


- วิธีทบทวนความรู้เดิม ผ่านกระบวนการที่มีสุนทรียภาพ
- วิธีการเพิ่มพูนคลังคำจากการได้มีประสบการณ์จริง
- วิธีการจัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้
- การสร้างโจทย์การเรียนรู้ที่มีเงื่อนไขชัดเจน และวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้กลุ่มย่อยที่เหมาะสมกับศักยภาพของผู้เรียน
- การใช้ผังมโนทัศน์ (concept map) มาสร้างให้ผู้เรียนสามารถจัดเก็บความรู้อย่างเป็นระบบ
- การจัดช่วงเวลาให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสื่อสารความคิด และได้เรียนรู้ความคิด ความเข้าใจของเพื่อน เพื่อจะได้นำเอาความคิด ความเข้าใจนั้นมาพัฒนางานของตนเองได้อย่างหลากหลาย

 

ครูควร


- แม่นยำในการเชื่อมโยงสาระความรู้
- จัดรูปแบบการใช้กระดานที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความสวยงาม ความกระจ่างชัดเจน เป็นระเบียบเรียบร้อย
- ใช้สื่ออุปกรณ์ที่เหมาะสม เช่น สื่อภาพ แผนภาพแสดงข้อมูล ตัวหนังสือไม่เล็กไป หรือใหญ่ไป ไม่แน่นเกินไป

- กระตุ้นให้ผู้เรียนสังเคราะห์ และสรุปความรู้ด้วยตัวเอง

- ให้โอกาสผู้เรียนได้นำเสนอความคิดของตนเอง

 

ครูไม่ควร


- ใช้พลังควบคุมชั้นเรียนให้เป็นไปตามความต้องการ แต่ควรนำพลังนั้นไปสังเกตการเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่า
- ยึดติดกับแผนมากเกินไป แต่ควรมุ่งไปที่การประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน
- ตัดสินและตีความจากสิ่งที่ผู้เรียนนำเสนอด้วยแนวคิดของครู
- เร่งรัดคำตอบเพื่อให้นักเรียนพูดในสิ่งที่ครูอยากฟัง

 

ข้อเสนอแนะสำหรับทุกโรงเรียน


หาครูดี ที่มีใจ มีความสามารถ อยากเรียนรู้ มาเปิดชั้นเรียนแล้วยกระดับคุณภาพครูขึ้นมาเป็นครูแกนนำ และสร้างชุมชนการเรียนรู้ครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกันให้เกิดขึ้นในโรงเรียน และระหว่างโรงเรียนเพื่อการเติบโตไปด้วยกัน

 

หมายเลขบันทึก: 546813เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอชื่นชมบันทึกที่ดีมีประโยชน์มากๆนะคะ...ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณสำหรับแนวทางการสอนที่สร้างการเรียนรู้อย่างแท้จริงค่ะ

ขอบคุณ ดร.พจนา และคุณนกทะเลค่ะ ที่เข้ามาทักทาย และติดตามอ่านอยู่เสมอ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท