ตลาดนัดโรงเรียน..เรียนรู้สู่การปฏิบัติ


พอเพียง เพียงพอ

ผมเป็นคณะกรรมการประเมินสถานศึกษาแบบอย่างการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ สถานศึกษาพอเพียง มาได้ ๒ - ๓ ปีแล้ว โดยประเมินโรงเรียนทั้งในและนอกเขตการศึกษา การได้ไปหลายที่หลายแห่ง ทำให้พบเห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่หลากหลาย มีทั้งความเหมือนและแตกต่างกันไปตามบริบทและการบริหารจัดการของโรงเรียน การประเมินไม่มีการจัดอันดับ มีแต่ผ่านกับไม่ผ่าน ซึ่งก็ว่ากันไปตามเกณฑ์

 

ทุกโรงเรียนที่รับการประเมิน..ผมไม่ได้เป็นห่วงอะไร จริงๆแล้วก็ให้คะแนนผ่านกันทุกโรงเรียนนั่นแหละ เพราะเขตพื้นที่ได้มีการกลั่นกรองกันมาบ้างแล้ว แต่ก็อดที่จะมีข้อคิดความเห็น เสนอแนะกันไปบ้าง ส่วนที่แนะไม่ได้หรือถ้าพูดตรงเกินไป ก็ดูจะเสียมารยาท และอาจเสียผู้เสียคนได้ จึงขอนำมาบอกเล่ากันตรงนี้

 

มีหลายโรงเรียนที่อยากเป็น"สถานศึกษาพอเพียง" แสดงความกระตือรือร้นอย่างจริงจัง พยายามนำเสนอสิ่งที่ดูดีมีสาระ แต่บางครั้ง ผมเองกลับมาคิดว่า กิจกรรมมันมากไปหรือเปล่า จึงดูสะเปะสะปะ จัดระบบงาน(ภาคปฏิบัติ)ไม่ได้เลย คืองานสำคัญที่เป็นแก่นสาร ที่ควรจะเด่นและยั่งยืนสักอย่าง จึงมองไม่เห็นคุณค่าของเนื้องาน แต่พอมองไปข้างห้องประชุม หญ้ายังรกอยู่เลย ห้องน้ำนักเรียนยังต้องแหวกหญ้าเข้าไป ห้องส้วมยังเหม็นและขยะพลาสติค ยังเผากันต่อหน้าต่อตา

 

ร้ายไปกว่านั้น มีหลายโรงเรียน ภูมิทัศน์ดีมาก สะอาดร่มรื่น สวยงามเด่นเป็นสง่า แต่พบว่าครูทั้งโรงเรียนไม่ได้ขับเคลื่อนไปด้วยกันหรอก ต่างคนต่างทำ ครูที่นั่งอยู่ในที่ประชุม ก็ไม่ใช่ตัวจริง ตอบคำถามอะไรไม่ได้ ส่วนครูวิชาการบางคน ก็ห่วงหน่วยและแผนการเรียนรู้ตามหลักสูตร สู้อุตส่าห์ไปถ่ายสำเนามาจากโรงเรียนอื่น จึงไม่สามารถมองงานได้ตลอดแนว แทนที่จะนำเวลาไปพัฒนานักเรียนให้ได้ลงสู่ภาคปฏิบัติจริง

 

ดังนั้น เวลาที่สัมภาษณ์นักเรียน ครูจึงเป็นกังวลมาก นักเรียนเองก็ไม่เป็นธรรมชาติ เหมือนเพิ่งจะฝึกมาในช่วงเวลาอันสั้น มีโอกาส..ผมจึงแนะนำว่า ให้นำหลักการและแนวปฏิบัติปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างจริงจัง ทั้งครูและนักเรียน ให้เป็นส่วนหนึ่ง(ที่สำคัญ)ของการเรียนการสอนและการบริหารจัดการในโรงเรียน

 

บางโรงเรียนก็ดูจะยาก เพราะผู้บริหารไม่ยอม "ขยับ" ครูบางคน แทบไม่น่าเชื่อ นอกจากจะไม่ลึกซึ้งแล้ว ยังพยายามจะไม่เข้าถึง "ทฤษฎี"ที่เป็นมงคลนี้ โดยกล่าวอ้าง ดินน้ำลมไฟ แบบลมๆแล้งๆ ทั้งที่เรื่องนี้ มีหลายมิติ จะเล่นเรื่องไหนก็ได้ ล้วนสามารถเข้าถึงจิตใจได้ทั้งสิ้น ขอเพียงทำด้วยใจและกล้าเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเลิกคิดเสียทีว่าความพอเพียงมีแค่ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์เท่านั้น

 

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมติดใจ แต่ไม่ได้หักคะแนน เพราะเกรงว่าจะเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง คือไม่มีโรงเรียนไหนเลย ที่นักเรียนจะร้องเพลง "พอเพียง"ได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลายเวอชั่นมาก ก่อนหน้านั้นครูผู้สอนก็ผ่านการอบรมมา และในตำราของเด็กก็มีเพลงให้ร้อง แสดงว่าเราขาดการคิดวิเคราะห์กันหรือเปล่า และ/หรือ การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ไม่จำเป็นต้องใช้เพลง ใช่ไหม

 

วันนี้ กลับเข้าสู่โรงเรียน เห็นครูและนักเรียนเตรียมของไปขายในงาน"ตลาดนัดโรงเรียน" ที่จัดโดยเขตพื้นที่ โดยให้โรงเรียนภายในอำเภอ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ใช้สถานที่บริเวณตลาดนัดใหญ่ของหมู่บ้าน ตลาดเปิดสี่โมงเย็น ช่วงบ่าย..นักเรียนช่วยกันเก็บผักบุ้งหมดทั้งแปลง นักเรียนหญิงนับไข่ไก่อนามัยได้ ๑๑๐ ฟอง ที่สะสมไว้แต่ละวัน  เพิ่มเติมกระถางต้นไม้ที่เพาะชำไว้ ๕๐ กว่ากระถาง นำไปร่วมกิจกรรมโดยมีครูนิรุตเป็นผู้นำพาไป

 

หกโมงเย็น..ครูนิรุตกับนักเรียนกลับเข้าโรงเรียน แล้วรายงานว่า สนุกมาก เด็กได้ขายของหมดเกลี้ยง ของไม่พอขาย  เพราะขายถูก วันนี้เด็กได้เรียนรู้การค้าขายได้ประสบการณ์ตรง

 

ก่อนแยกย้ายกันกลับ นักเรียนบอกว่า "ครูคะ มีบางโรงเรียนซื้อผักไปขายด้วยค่ะ แล้วบอกว่าที่โรงเรียนปลูกเอง"

"ช่างเขาเถอะนักเรียน เขาจะหลอกใครก็ช่างเขา เราอย่าหลอกตัวเราเองก็แล้วกัน"

 

 

หมายเลขบันทึก: 546807เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2013 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
  • สวัสดีครับ ผอ.
  • "เลิกคิดเสียทีว่าความพอเพียงมีแค่ปลูกผักและเลี้ยงสัตว์เท่านั้น" จริงด้วยครับ
  • เรื่องซื้อผักจากร้านค้า แล้วนำไปขายในฐานะปลูกเอง
  • ดูตลกดีครับ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีแบบนี้ด้วย

-สวัีสดีครับ..

-ตามมาให้กำลังใจน้อง ๆครับ..

-เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ไปสู่การปฎิบัติที่เห็นเป็นรูปธรรมครับ..

-สมัยก่อนตอนเป็นละอ่อน ผมก็นำของไปขายในงานวันประถมศึกษาน่ะครับ..

-นึกถึงแล้วยังสนุกไม่หาย..

-ขอบคุณครับ..

อ้าว...เศรษฐกิจพอเพียงมีมากมายหลายแนวปฏิบัติเหรอ...คิดว่า

ปลูกมะเขือสองสามต้น ก็ครบตามประเด็นแล้ว " อิ อิ อิ

ชื่นชมกิจกรรมที่ดีมีประโยชน์นะคะท่านผอ.ชยันต์

ชอบมากค่ะน่ารักดีดูน่าสนุกด้วยค่ะ เคยไปช่วยพี่สาวขายตามตลาดนัดเหมื่อนกันสนุกมากๆเลยค่ะ

เข้ามาเป็นกำลังใจและชื่นชมค่ะผอ.

สวัสดีค่ะ  อาจารย์ชยันต์

- ได้อ่านเรื่องราว  การติดตามตรวจประมิน การเป็นโรงเรียน  "พอเพียง"  ของอาจารย์  แล้ว  ได้เรียนรู้ / รับรู้ / แนวทางปฏิบัติ  และ  แนวคิด  ที่น่าชื่นชม....มากมาย  เสมือนได้ไปตรวจเยี่ยม  กับอาจาีรย์  ด้วยจริงๆ

- ชอบ ข้อสังเกตุ  ที่อาจารย์  นำเสนอ  เรื่อง  "ความพอเพียง  มันน่าจะมาคู่กับความ  พอเหมาะ พอดี (ในความไม่เหมาะไม่ควรบางเรื่อง) ...โดยเฉพาะเรื่อง...การปลูกฝัง / ปลุกจิตสำนึกแห่งความ  "ซื่อสัตย์" .....

ก่อนแยกย้ายกันกลับ นักเรียนบอกว่า "ครูคะ มีบางโรงเรียนซื้อผักไปขายด้วยค่ะ แล้วบอกว่าที่โรงเรียนปลูกเอง"
"ช่างเขาเถอะนักเรียน เขาจะหลอกใครก็ช่างเขา เราอย่าหลอกตัวเราเองก็แล้วกัน"
 

ขอบคุณประสบการณ์ต่างถิ่น  ที่ยอดเยี่ยมนะคะอาจารย์

ไปจัดตลาดนัดที่ไหนมาครับ น่าสนใจมากๆ

ขอขอบคุณพี่ เพื่อน น้อง ชาวโกทูโนว์ ที่เคารพรัก ที่อ่านบทความและให้กำลังใจกัน ครับ

ผมให้เด็กไปขายของที่ตลาดนัดบ้านบ่อยาง ต.หนองโสน อ.เลาขวัญ จัดโดย สพป.กจ.๔ ครับ

อยากไปช็อบด้วยจังค่ะ

ชอบช๊อปแบบนี้ค่ะ

เป็นการช๊อปที่เรียนรู้จิตวิญญาณของผู้คนไปด้วย

ได้เห็นรอยยิ้ม และน้ำคำที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย

ความเอื้ออาทร ซึ่งแตกต่างกับการช๊อปในห้างค่ะ

ขอบอก ....  ผักช่วยราชการ ก็มี ..... จริงมิ อิอิ เออนะ .....ไม่ดี      ไม่ใช่ผิดเป็น ครู หรือเป็นผอ     แต่ผิดตั้งแต่วิธีคิด....เด้กจึงคิดวิเคราะห์ บ่ได้  เพราะ ครูที่ไปซื้อผักมา อาจเพียงหวังว่า  ค้าขาย กำไรขาดทุน  แต่กระบวนการ บ่ได้  ตกเห็นๆๆๆๆ จริงมิ พอเพียง ที่ขาดความสมดุล สมเหตสมผล ภายใต้เขื่อนไข ที่ขาดคุณธรรม   ด้วย

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท