ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ : CSR


                                    ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ

ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ : CSR เป็นแนวคิดของการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ระดับองค์กร ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและหลากหลายในปัจจุบัน เพื่อให้ลูกค้าได้มีภาพลักษณ์ที่ดีมีความภักดีกับตราสินค้า เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากการสร้างกำไรและปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นยุทธศาสตร์ในการประชาสัมพันธ์ที่ดีของธุรกิจ การสร้างดุลยภาพของการผสานประโยชน์ระหว่างธุรกิจและการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะขององค์กร

 

 แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคม

             แนวคิดเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ( Corporate Social Responsibility: CSR) มีการกล่าวถึงกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เริ่มจากแนวความคิดสนับสนุนที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจากนักวิชาการต่างประเทศในปี พ.ศ.2483 (ค.ศ.1940 ) ศาสตราจารย์ ธีโอดอร์เครปส์Professor Theodor Kreps จากสแตนด์ฟอร์ดบิสสิเนสสคูล ใช้คำว่า “Social Audit” เป็นครั้งแรก ซึ่งกล่าวว่าองค์กรธุรกิจควรมีการทำรายงานการกระทำที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ทว่ากระแสเรื่อง CSR ก็ยังไม่เป็นที่สนใจอยู่ดีต่อมาปี พ.ศ.2496 (ค.ศ.1953 ) โฮเวิร์ด โบเวนด์(Howard Bowend)  เขียนหนังสือเรื่อง “Social Responsibilities of Business Man” โดย กล่าวถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมของนักธุรกิจในปี พ.ศ.2503 (ค.ศ.1960 ) จอร์จ กอยเดอร์(George Goyder) เขียนหนังสือเรื่อง “The Responsible Corporation” หรือความรับผิดชอบต่อสังคมโดยนักธุรกิจ ได้พัฒนาแนวคิดการทำ CSR อย่างชัดเจนขึ้นและเมื่อต้นปีพ.ศ.2513 (ค.ศ.1970) ฟิลิปคอตเลอร์(Phillip Kotler) มิลตัน ฟรีแมน (Milton Freeman), วิลเลียม ลาเซอร์ (William Lazer) ได้เกริ่นถึงรูปแบบการตลาดแนวใหม่ในพื้นฐานที่ว่า การดำเนินธุรกิจเพียงแค่หวังผลกำไรนั้นไม่เพียงพออีกต่อไปแต่ควรวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างมีจริยธรรมและห่วงใยต่อสังคม  ซึ่งจะนำไปสู่ความพึงพอใจของลูกค้า ก่อให้เกิดผลกำไรที่ยั่งยืนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม (Crane & Desmond, 2002, p.548) จนกลายเป็นยุคของการประกอบธุรกิจแบบการตลาดอิงสังคม (Societal Marketing Concept) ที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงความต้องการและความจำเป็นในการผลิตสินค้า หรือให้บริการแก่ผู้บริโภค เช่นเดียวกับตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสังคม และเป็นที่มาของความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมในที่สุด (อนันตชัย ยูรประถม, 2552, 22)

แนวทางการปฏิบัติตามหลักการความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ

             คณะทำงานส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน คณะกรรมการการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติตามหลัก CSR ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ควบคุมกับธุรกิจนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 ขั้นดังนี้

   ขั้นที่1 Mandatory Level: ข้อกำหนดตามกฎหมาย (Legislation) ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแรงงาน การจ่ายภาษี เป็นต้น

   ขั้นที่2 Elementary Level: ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ (Economic Profit)ธุรกิจคำนึงถึงความสามารถในการอยู่รอดให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ผลกำไรที่ได้นั้นต้องไม่เบียดเบียนสังคม

             ขั้นที่3 Preemptive Level: จรรยาบรรณทางธุรกิจ (Business Code of Conduct)ธุรกิจสามารถสร้างผลกำไรแก่ผู้ถือหุ้นได้ในอัตราที่เหมาะสม ผู้ประกอบธุรกิจได้ใส่ใจเพื่อให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สังคมมากขึ้น โดยเฉพาะสังคมใกล้ที่อยู่รอบข้าง

           ขั้นที่ 4 Voluntary Level: ความสมัครใจ (Voluntary Action) การดำเนินธุรกิจควบคู่กับการปฏิบัติตามแนวทาง CSR ด้วยความสมัครใจ โดยไม่ได้ถูกเรียกร้องจากสังคมบนพื้นฐานของการมุ่งประโยชน์ของสังคม โดยหลักสำคัญพอประมาณที่ธุรกิจต้องไม่เบียดเบียนตนเองและสังคม

ขอบเขตของความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ

            การดำเนินงานด้านCSR มีขอบเขตของความรับผิดชอบต่อสังคมหลายระดับ การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบหรือตัวแปร พิจารณาออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้ (วิทยา ชีวรุโณทัย, 2553)

  1. แกนหลักความรับผิดชอบต่อสังคม (Core of Social Responsibility) ความรับผิดชอบต่อสังคมต้องเริ่มจากภายในที่เป็นแกนสำคัญขององค์กร ซึ่งมี 4 องค์ประกอบหลักที่ต้องรับผิดชอบ คือ สินค้า และบริการ พนักงานและบุคลากร ผู้บริโภคและลูกค้า เจ้าของกิจการ และผู้ถือหุ้น

  2. ความรับผิดชอบต่อเนื่องที่มีต่อสังคม (Chain of Social Responsibility) ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจขององค์กรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือมีผลประโยชน์ร่วมในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย คู่ค้า ภาครัฐ นักลงทุน คู่แข่งในตลาดและองค์กรที่เกี่ยวข้องในเชิงกฎหมายหรือข้อบังคับต่างๆ

  3. ความรับผิดชอบในวงกว้างต่อสังคม (Boundary of Social Responsibility) ความสัมพันธ์ขององค์กรกับสิ่งรอบตัวภายนอก ผลกระทบที่ส่งผลในระยะสั้นและระยะยาว การป้องกันแก้ไขแบบยั่งยืนได้แก่ ความเป็นอยู่ของชุมชน สังคม จารีตประเพณีสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน และนักวิชาการ

  4. ความรับผิดชอบสากลที่มีต่อสังคม (Universe of Social Responsibility) ความรับผิดชอบที่อยู่วงนอกสุด การป้องกันรักษาเสริมสร้างความสมดุลแห่งโลก ระบบนิเวศวิทยาสิ่งมีชีวิต การพัฒนาแบบยั่งยืน คลอบคลุมถึงอุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลง ทรัพยากรธรรมชาติ และชีวิตสังคมโลก (Life on Earth)

 

       ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ เป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักจริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ควบคู่ไปกับการใส่ใจรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม หัวใจของการทำ CSR นั้นเริ่มจากภายในมุ่งสู่ภายนอก ห้ความสำคัญกับบุคลากร  มีผู้บริหารหรือผู้นำกระบวนการ (Process Leadership) ที่มีความต่อเนื่องมากกว่าบทบาทการเป็นผู้นำกิจกรรม (Event Leadership) ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย สร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากร แนวโน้มทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตจำเป็นต้องมีเป้าหมายเชิงสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  เริ่มที่ผู้นำองค์กรต้องมีความเข้าใจ CSR อย่างถ่องแท้ พัฒนาดำเนินกิจกรรม CSR อย่างมีกลยุทธ์ กำหนดไว้ในวิสัยทัศน์ พันธกิจนโยบาย และแผนกลยุทธ์ขององค์กร บูรณาการ CSR เข้ากับกระบวนการธุรกิจในทุกส่วน กระตุ้นให้พนักงานทุกระดับมีส่วนร่วม การปลูกฝัง ปรับเปลี่ยนจิตสำนึก กระบวนทัศน์ในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้องค์กรและสังคมเติบโตควบคู่กันอย่างยั่งยืน

 

 

หมายเลขบันทึก: 545757เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2013 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2013 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

           CSR ... เยี่ยมจริงๆ ค่ะ .... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท