"ตำเสา" .....บอกเล่าตำนาน..แห่ง "ป่าสันทราย"


"ตำเสา"..บอกเล่าตำนาน..แห่งป่าสันทราย (๑)..

 

ต้น "ตำเสา" ไม้เ่ด่นของ "ป่าสันทราย" ยืนคู่กับศาลาตำเสาที่นี่มาหลายชั่วอายุคน

 

เสียงปืนสนั่นในความมืดแห่งรัตติกาล  แสงไฟลุกโชนเผาบ้าน สภาพผู้คนตื่นตระหนก เมื่อครั้งเหตุการณ์อันน่าอดสู ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องที่นี่ไม่กี่ปีมานี้  ท่ามกลางสถานการณ์ไฟใต้ที่ระอุ   ในขณะที่ก่อนหน้านั้น ความผูกพันของสายสัมพันธ์ผู้คนที่นี่ คือสายเลือดเดียวกัน  ชุมชนพุทธและมุสลิมอยู่รวมกัน ช่วยเหลือเอื้ออาทร ...คนไทยไม่ทำร้ายกัน... ภาพเหล่านี้เกิดขึ้นที่นี่  เสาบ้านที่ถูกไฟเผาไหม็ยังปรากฏอยู่เตือนให้ระลึกถึงวันนั้น ..ในขณะที่ ..."ศาลาตำเสา"..สองร้อยปี ที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมของชุมชน ..มีต้นตำเสา (หรือเรียกว่า ..กันเกรา) ขนาดใหญ่ หลายคนโอบ อายุเป็นร้อยปี อยู่คู่กัน..  ทุกอณูกิ่งก้านใบ ซึมซับเรื่องราวในชุมชน  คราบน้ำตาแห่งความสลดทั้งการฆ่าปาดคอ และ เอาชีวิตด้วยการเผาบ้าน  เมื่อไหร่หนอจะยุติ  แต่ชีวิตก็ดำเนินต่อไป..

 

ย้อนไปก่อนหน้านี้ เราเข้ามายังพื้นที่ ที่ครั้งหนึ่งสงบร่มเย็น.. ตำเสา" ต้นนี้ รับรู้ เหตุการณ์ ผ่านร้อน ผ่านหนาว มากับภาพสะเทือนขวัญ  หลายครั้งหลายครา..  ฉันแวะทักพูดคุยกับน้องทหารหาญสองคน ที่ทำหน้าที่อารักขา อาสาพิทักษ์อยู่ด้านหน้าโรงเรียน  โดยมีเครือข่ายชุมชนนั่งรออยู่ที่ศาลาตำเสารอทีมเราอยู่  ... เช้าวันศุกร์ ๑๖ สค. เรามีนัดกับเครือข่ายชุมชน  ..เก้าโมงหลังสอนเสร็จ  ฉันและน้องๆรีบบึ่งเดินทางจากมอ มาสมทบกับเครือข่ายทีมงานที่นี่    หากการเดินทางเป็นของคุณครูที่นี่ ทุกวันในระหว่างเวลาที่กำหนดไว้  จะมีสุภาพบุรุษทหารหาญคอยยืนอารักขาประจำเป็นจุดๆ ตลอดเส้นทางไปโรงเรียนในช่วงเช้าเย็น  ส่วนทีมเราไม่ได้เข้าไปทุกวันจึงไม่ได้ทำตัวตามกฏเกณฑ์ของที่นี่...หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในภูมินิเวศ "ป่าสันทราย" ป่าที่มีความจำเพาะของระบบนิเวศในพื้นที่ภาคใต้ ที่มากด้วยความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและวิถีการดำรงชีพที่สัมพันธ์กับป่า.


 

วันนี้น้องๆนักเรียน มีกิจกรรมเยี่ยมบ้าน โดยคณะครูออกเดินสาย แวะเยี่ยมบ้าน ทำความคุ้นเคยกับผู้ปกครอง  .. ฉันถาม..แปลกใจทำไมเช้านี้โรงเรียนช่างเงียบเชียบ ...."แวนูเซ็ง"..หนึ่งในแกนนำเยาวชนรุ่นแรกที่เริ่มทำงานกับทีมเราบอกอย่างนั้น    การเข้าชุมชนครั้งนี้เราได้ออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบองค์รวม ด้วยการนำนักศึกษาจากมอเข้ามายังแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในพื้นที่   เรียนรู้ร่วมกันโดยมีเยาวชนจากโรงเรียน และเยาวชนแกนนำจากพื้นที่ รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน ที่จะเป็นผู้เล่าเรื่อง  เบื้องหลังของวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับป่า    ไม่ว่าจะเป็น การทำยางชัน  การทำนาพรุ  การทำน้ำตาลโตนด- น้ำตาลแว่น  และหาของป่าชนิดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้วิถีเหล่านี้เริ่มแผ่วเบาลงไปทุกที หากไม่ช่วยกันเห็นคุณค่า สักวันคงเหลือไว้เพียงความทรงจำ  ..

 

คู่มือเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าสันทราย เป็นผลงานที่ีทีมเราได้จัดทำไว้เมื่อปีก่อน ประกอบด้วย ๑๐ ฐานเรียนรู้ อันได้แก่ ๑.  ศาลาตำเสา   ๒. เผาเพียงร่าง    ๓.บ่อทรายขายหน้าดิน  ๔.ถิ่นหลาวชะโอน  ๕.หอมกลิ่นข้าวใหม่  ๖.ยางชันผูกพันวิถี  ๗.ม้าวิ่งสันทราย  ๘.เพลิดเพลินเฟิร์นนาคราช  ๙.แหงนมองนมตำเลีย  และ ๑๐ หอมหวานน้ำตาลแว่น  ...ครั้งนี้จะได้ถึงวาระแห่งการถูกทำมาใช้เป็นครั้งแรก    เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจของพวกเราทีมงานไม่น้อย  เพราะเบื้องหลังกว่าจะเป็นคู่มือเล่มนี้ก็มีกระบวนการเรียนรู้ ต่อยอดเราไปเก็บตัวร่วมหัวกันคิดช่วยกันปะติดปะต่อ .....วันที่๒๕ สค. นี้ ละซิที่เราจะไปปฏิบัติการในป่าสันทราย    การเตรียมการระดับพื้นที่จึงเพียงเป็นขั้นแรกก่อนที่วันสำคัญจะมาถึง...องค์ความรู้ในปราชญ์ชาวบ้านจะช่วยเติมเต็ม สานต่อ แล้วแต่ใครสนใจจะถามไถ่ประเด็นอะไร ในแหล่งเรียนรู้ที่นี่  ก่อนที่จะรวบรวมไปเป็นประเด็นแห่งการแลกเปลี่ยนต่อไป

 

 

ซุ้มการเวกกลิ่นละมุน ทำให้ฉันหยุดมองหา จากการก้าวเท้าเข้าไปที่นี่สำรวจการเปลี่ยนแปลงของโรงเรียนประถมของชุมชนแห่งนี้ บรรยากาศของค่อนข้างเงียบ แม้เป็นวันศุกร์ช่วงเช้า   โน่น ..ต้นชุมเห็ดเทศ ขนาดใหญ่  อวดทรงต้นในสวนสมุนไพร  ต้นตะแบกต้นโตดอกม่วงสวยกำลังบาน  ขณะที่ด้านข้างสนามเด็กเล่นมีดอกพุดสีขาวพราวเต็มต้น  สายลมพัดเอื่อยๆทำให้โรงเรียนน้อยๆช่างร่มรื่นนัก ผิดกับข่าวคราวเมื่อครั้งมีเหตุการณ์น่าสลดในพื้นที่  ใจฉันอดแว่บคิดถึงแต่ก็ดึงกลับมา  สายตาพลันกระทบกับภาพด้านหน้า อืมม์... ขานร้บนโยบาย AEC ด้วยภาพวาดน่ารักๆแสดงความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศสมาชิก...ทั้งหมดนี้เป็นบรรยากาศน่าประทับใจของโรงเรียนขนาดเล็กที่เห็นภาพการพัฒนาในด้านต่างๆ  ที่นี่จำนวนเด็กนักเรียนไม่ถึงสองร้อยคน ในจำนวนแปดห้อง (ป๑-๖ รวมอนุบาล ๒ ห้อง)

 

                   ภาพวาดที่ฝาผนัง...ฝีมือน้องนักเรียนประถมที่โรงเรียนนี้ น่าชื่นชมในคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก

หมู่บ้านนี้ ปัญหาเรื่องยาเสพติดระบาดในหมู่วัยรุ่น  แต่ในระดับประถมนักเรียนที่นี่เป็นความภูมิใจของชาวบ้านและครูอาจารย์.. ไม่ว่าเรื่องกีฬา "ตระก้อ" ที่ฝึกซ้อมมีวินัยในการฝึกซ้อมและมีน้ำใจเป็นนักกีฬา ชาวบ้านร่วมมือกันฝึก   เสียง"แวนูเซ็ง"  แกนนำเยาวชน เล่าให้ฟังทั้งในส่วนที่เป็นความภูมิใจและความเป็นห่วง ในการเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านเกิดของตนเอง     ฉัน...สาวเท้าเดินตามไปเรื่อยๆ และหวนคิดว่า ครั้งหนึ่งเราร่วมจัดกิจกรรมที่นี่ ใต้ถุนโรงเรียน  ฉันนึกถึงชีวิตวัยเด็กๆของที่นี่ในวันที่เปิดเรียนกับคุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิตในวัยเด็ก  ..มองไปคิดไป ถึงคุณภาพในระบบการศึกษาไทยเริ่มต้นจาก สพฐ.  จากประจักษ์พยานที่นี่เห็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้
 

..ป้าย "ห้องสมุด"  เชิญชวนให้ค้นหา   ไม่รอชาฉันเชิญตัวเองก้าวเข้าไปพบ ก็ความประทับใจในความเป็นระเบียบ มีันักบรรณารักษ์น้อยๆช่วยกันทำงาน  รายนามปรากฏให้เห็น  (ทราบต่อมาว่าเป็นการอาสาทำงานของเด็กๆเอง)  หนังสือต่างๆ   รางหมากขุม-ของเล่นวัยเด็ก   ที่ชวนให้นึกภาพวัยเด็กที่ผ่านมาแสนนานแล้วเช่นกัน  และแม้กระทั่งหนังสือที่น่าอ่าน เช่น คำสอนของพ่อ วางบนชั้นเป็นหนังสือแนะนำของห้องสมุด

 

 

 

ฉันกล่าวทักทายพี่ครูอาวุโส ซึ่งละจากงานเยี่ยมบ้านมาพบปะกับพวกเรา   ท่านทำงานที่นี่นานมากถึง ๓๐ ปี... เพราะรักและผูกพันในโรงเรียนและชุมชนที่นี่  เป็นสิ่งที่เราได้ยินจากพี่ครู. ผ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลายรูปแบบ ...ท่านชวนคุย..และให้ข้อมูลว่า วันนี้เป็นวันที่ครูเยี่ยมบ้าน  ซึ่งชุมชนมุสลิมที่นี่เพิ่งจะเสร็จสิ้นการถือศีลอดต่อเนื่องจาก เดือนรอมฏอน  โดยทำต่อไปอีก 6 วัน  เรียกกันว่า "ปอซอแน"  บ้านและโรงเรียน ทำหน้าที่ร่วมกันบ่มเพาะเยาวชนในเห็นสิ่งที่มีอยู่และบ่มเพาะจิตวิิญญาน คุณค่าในความเป็นมนุษย์   และสิ้นสุดก็เฉลิมฉลองในวัน "รายอแน"  ซึ่งชุมชนแห่งนี้ ชาวบ้านจะมีกิจกรรม โดยมารวมกันที่ "กูโบว์" คล้ายๆสุสาน ...เป็นที่ซึ่งหลายชีวิตของบรรพชนถูกนำร่างมานอนวางฝังไว้ที่นี่  แหล่งรวมตำนาน-จิตวิญญานของที่นี่  

เรา ร่วมสนทนาแลกเปลี่ยน..และเชิญชวนให้ครูที่โรงเรียน ให้เข้าร่วมกิจกรรมเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าสันทราย และใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ร่วมกันของ นักเรียน นักศึกษา ชาวบ้าน เพื่อสืบสานวิถีที่เกี่ยวข้องกับป่า และรักษ์ป่าสันทรายที่มีความสำคัญในระบบนิเวศเอาไว้เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญของหมู่บ้าน และจะได้ปรับปรุงคู่มือเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าสันทรายมอบไว้ให้กับทางโรงเรียนเพื่อใช้ในการเรียนการสอนต่อไป

 

ได้เวลาพอสมควร ..หลังจากเข้าสำรวจเส้นทางอีกครั้ง ดูการเปลี่ยนแปลงฐานเรียนรู้ทั้ง  ๑๐ ฐาน  เดินเข้าไปพร้อมปราชญ์ชาวบ้าน  บันทึกการเปลี่ยนแปลงไว้เพื่อจัดการในวันที่นำนักศึกษาเข้าม   เราลาพี่อาจารย์ น้องทหารหาญ และชาวบ้านแกนนำ พร้อมกับเดินทางกลับมอ....มีคำถามในใจมากมาย ..ฉันสลัดความคิดต่างๆไป สิ่งใดที่ยังแก้ไขไม่ได้ก็ให้มองสิ่งที่ทำได้ก่อน  นั่นคือการศึกษา ที่สัมผัสและปฏิบัติได้ในแหล่งเรียนรู้จริง  ผู้รู้จริง..คุณค่าเหล่านี้หากได้สัมผัสเรียนรู้กันแบบซึมซับทั้งกาย และจิตวิญญาน คงเป็นพื้นฐานที่ทำให้ไ่ม่ใ้ห้ลืม "ราก"..ก่อนที่จะผลิดอก ออกผลต่อไป.. ฉันรอวันที่เราจะเข้าไปจัดกิจกรรมอย่างใจจดจ่อ คู่มือที่ได้รวบรวมเป็นเล่มไว้จะใช้ได้ดีไหมหนอ??...รอไว้มาเล่าให้รับทราบกันต่อไป หากยังมีลมหายใจอยู่  ...ณ. ปลายด้ามขวานทองของไทยเรา..

ต้นชุมเห็ดเทศ ในสวนสมุนไพรที่โรงเรียนประถมแห่งนี้

  

๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๖

Kitatanee 

หมายเลขบันทึก: 545752เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2013 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณ คุณพ.แจ่มจำรัส  กัลยาณมิตรผู้มาเยือนยามรัตติกาล  ค่ะ...ขอบคุณสำหรับกำลังใจ จักได้รวมพลังส่งไปยังพื้นที่  เช่นเดียวกับทีมเราที่เดินทางไปเยือนถึงถิ่นเสมอแม้ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ใจเราสื่อถึงกัน  ไปเยือนต้นตำเสา ตำนานของที่นี่และทุกชีวิตที่... ป่าสันทรายบ้านเทียรยา .. แห่งนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท