beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ลปรร.เรื่อง "รายได้" ไม่สำคัญเท่า "รายเหลือ"


ถ้าครอบครัวใด บริหารจัดการเงินในบ้าน ให้มีรายเหลือทุกเดือน หรือทุกปีแล้ว ผมคิดว่า รวยทุกครอบครัวครับ

    ผมเล่าเรื่องของชีวิตชนบท เกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ มา 3 ตอนแล้ว ตอนนี้อยากพูดเรื่อง "รายได้" กับ "รายเหลือ" ครับ

   ในรัฐบาลปัจจุบัน (นายกทักษิณ) มีแนวคิดว่า ข้าราชการ ขั้นต่ำควรได้เงินเดือน 7,000 บาท พอทำงานได้ 2-3 ปี ควรได้ 10,000 บาท ชีวิตผมเป็นข้าราชการ (เอาไว้ค่อยพูดตอนต่อไป) ผมว่า 7,000 บาทนี่ พอสำหรับคนโสดครับ ถ้ามีครอบครัว 2 คน ควรจะได้สัก 10,000 บาท ที่เป็นอย่างนี้เพราะปัจจัยพื้นฐานที่ต้องมี คือ บ้าน (เช่า), อาหาร (ซื้อเขา), เครื่องน่งห่ม (ต้องดูดี), รักษาโรค (เบิกได้หรือไม่ได้), ค่าพาหนะ (มีหรือไม่มีก็ต้องจ่ายบ้าง) ส่วนสุดท้ายคือภาษีสังคม (งานแต่ง งานบวช ขึ้นบ้านใหม่ งานศพ) พวกข้าราชการอยู่ในเมืองมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าชาวชนบทครับ

   คราวนี้มาพูดถึงครอบครัวชาวนาที่ผมกล่าวไว้ในตอนก่อน มีรายได้เฉลี่ย 2 คน ๆ ละ 7,000 บาท (หักค่าใช้จ่ายในบ้านแล้ว ซึ่งส่วนนี้อาจมาจากรับจ้างเขาทำงาน) เดือนหนึ่ง รับ 14,000 บาท ปีหนึ่งก็ 1 แสน หกหมื่นบาท เก็บหอมรอมริบให้ดี 10 ปีก็มีเงินล้านได้ (ถ้าไม่ติดอยายมุข)

   ส่วนครอบครัวที่เป็นพ่อค้าน้ำแข็ง 2 คน มีรายได้เฉลี่ยคนละ 5,000 บาท 2 คน เดือนละ 10,000 บาท แต่แกอยากมีรถ ก็เลยไปดาวน์มา ต้องส่งเดือนละเกือบหมื่น ประมาณ 5-7 ปี ถึงจะหมด พอหมดรถก็เสื่อมพอดี ต้องหารถใหม่อีกแล้ว  ส่วนค่ากินของแกนี่ ต้องกินของดี ๆ มีน้ำอัดลม มื้อหนึ่ง 60-70 บาท วันหนึ่งประมาณ 200 บาท ถึงให้มีรายได้มากกว่านี้ ก็ไม่มีเงินให้เหลือเก็บครับ เพราะไม่มีรายเหลือ

   รายเหลือของผม คือ รายได้-รายจ่าย ซึ่งก็คือเงินคงเหลือ แต่ผมขอใช้คำว่า "รายเหลือ" เพื่อให้คล้องจองกับรายได้  ถ้าครอบครัวใด บริหารจัดการเงินในบ้าน ให้มีรายเหลือทุกเดือน หรือทุกปีแล้ว ผมคิดว่า รวยทุกครอบครัวครับ (ถ้ารู้จักพอ)

   มาดูชีวิตข้าราชการกินเงินเดือน (เห็นมามากแล้ว) เห็นช้างขี้ ก็ขี้ตามช้างครับ (เป็นสุภาษิต ไม่ใช่คำหยาบ) บางคนเห็นข้าราชการ "ซี" เท่ากัน เงินเดือนพอ ๆ กัน เห็นเขามีรถก็อยากมีรถบ้าง แข่งกันมีรถ (ยนต์) และเดี่ยวนี้การมีรถก็เป็นแฟชั่น มีสีสรรสวยงามหลากหลายสี แต่หารู้ไม่ว่า ที่เขามีรถเพราะทางบ้าน (พ่อแม่) เขารวยและซื้อรถให้ (กลัวลูกลำบาก) แต่ครอบครัวเราไม่เป็นอย่างนั้น ไปแข่งกับเขาก็พังซีครับ หนี้บานเบอะ ดอกเบี้ยบานตะไท

   ผมเคยเห็นอาจารย์จบใหม่ ขี่รถเบ้นซ์ ผมลองคุยกับแก แกบอกว่าไม่อยากขับหรอกครับ กลัวว่าไปจอดซื้อของแล้วเขาจะคิดแพง หรือหากไปจอดทิ้งไว้ คนมาขูดสีก็เสียดาย ที่ขับอยู่ทุกวันนี้เพราะคุณแม่ซื้อให้ ลำพังเงินเดือนเติมน้ำมันก็แทบจะไม่พอ

   อาจารย์หญิงอีกท่านหนึ่ง อยู่วังทอง ขับรถไป-กลับทุกวัน ค่าน้ำมันยุคน้ำมันแพง เดือนหนึ่งตก 3-5 พันบาท ทางบ้านต้องช่วยค่าใช้จ่ายเดือนละ 3,000 บาท (ที่บ้านขายของ).....

   ขอทิ้งประเด็นไว้ เผื่อว่าจะมีการ ลปรร.กันครับ

  

หมายเลขบันทึก: 5455เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2005 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมขับรถมือสองเก่าๆ ครับ เห็นว่าพอดีกับลักษณะการใช้งานของตัวเองในหาดใหญ่

แต่เคยถูกพูดซึ่งๆ หน้าเหมือนกันว่า "อะไร จบมาตั้งสูง ขับรถแค่นี้เองเหรอ" เลยพูดกลับไปว่า "ถ้าเรียนไม่สูงพอ ขับรถคันนี้ไม่ได้หรอก ต้องไปผ่อนรถใหม่เอา" (อืมม... ประโยคถามตอบจริงเข้มข้นและมีรายละเอียดกว่านี้มาก... ฮา) หลังจากนั้นก็ไม่มีใครกล้าถามอีกเลย

ผมเชื่อว่าในวัฒนธรรมที่มีการแข่งขันทางวัตถุภายนอกอย่างฉาบฉวย ถ้าเรามีความมั่นใจในตัวเองสูงเสียอย่าง การแข่งขันก็ทำอะไรเราไม่ได้ครับ คนที่กำลังแข่งขันกันด้วยวัตถุอยู่ต่างหากที่จะไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง พูดอะไรนิดหน่อยก็จะรู้สึกถูกกระทบได้เยอะ

คราวนี้ก็เลยกลับมาที่คำถามว่าทำอย่างไรคนไทยถึงจะมีความมั่นใจในการเป็นตัวตนของตนเอง ไม่หวั่นไหวไปเปรียบเทียบกับตัวตนของคนอื่นจนเกิดความอยากได้อยากมีขึ้นมา

สำหรับผมโจทย์นี้ใหญ่เกินตัวครับ เคยพยายามนึกว่าตัวเองจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร แต่ก็นึกไม่ออกไม่เห็นทางครับ

ถ้าเรารู้ทันกิเลสตัวหนึ่งคือความอยากมี อยากเป็นแล้ว เราไม่เอาเราไปเปรียบกับคนอื่น อยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงเราก็อยู่ได้ครับ ขอบคุณสำหรับ ลปรร.ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท