ร่วมกันสร้างสังคม(ที่)อุดม(ไปด้วย)ปัญญา


          การนำสังคมไปสู่สังคมอุดมปัญญาเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาชาติ  หนทางที่จะนำประเทศไปสู่สังคมที่อุดมปัญญาเป็นเรื่องยากยิ่ง 

         สังคมอุดมปัญญาควรประกอบด้วยองค์ประกอบอย่างไร

        1.    มีพลังแห่งการเรียนรู้ของปัจเจกบุคคล และขององค์กร

         2.    มีกระบวนการแห่งการเรียนรู้ที่ถูกต้อง

         3.    มีจิตวิญญาณแห่งการรับรู้

         พลังแห่งการเรียนรู้       การสร้างพลังการการเรียนรู้  ประกอบด้วย การสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ ได้แก่การสร้างสภาวะแวดล้อมภายในตัวและองค์กรพร้อมและยินดีกับความคิด ความรู้ใหม่ๆซึ่งได้จากการอ่าน การฟัง การสนทนา การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชน พลังของการใคร่รู้ขององค์กรจะไม่ถูกบดบังหรือทำให้ถดถอยย่อมมีเงื่อนไขต่างได้แก่

         1.    ไม่มีการกลั่นแกล้งกันในสังคม ผู้ใหญ่ไม่กลั่นแกล้งผู้น้อย

         2.    มีความยินดีต่อผู้ทำงาน ปราศจากอคติเลือกที่รักมักที่ชัง

         3.    ไม่สร้างทัศนะคติของตนที่ว่า อยู่เฉยๆดีกว่าปลอดภัยดี หรือ ดูๆไปก่อน     

       4.    มีการรับฟังทุกความคิดเห็นไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม และยินดีให้เผยแพร่ความคิดนั้นด้วยความยินดี

         5.    สร้างจินตนาการที่สมบูรณ์แบบ มองเห็นสิ่งที่จะทำอย่างชัดเจนไม่คลุมเครือ

               พลังแห่งการเรียนรู้จะสมบูรณ์แบบได้หากปัจเจกบุคคลและองค์กรสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ได้อย่างชัดเจนว่าการเรียนรู้นั้นมุ่งไปเพื่ออะไรหรือเพื่อแก้ปัญหาใด เทียบกับหลักการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ก็คือต้องรู้วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย ตัวอย่างการสัมนาที่จัดกันบ่อยๆ ผู้เข้าร่วมสัมนาที่สามารถกำหนดชัดถึงวัตถุประสงค์ของการจัดสัมนานั้นย่อมมีพลังในการรับรู้ได้ดีกว่าผู้ที่เข้าร่วมโดยไม่เข้าใจวัตถุประสงค์

         กระบวนการแห่งการเรียนรู้        ความรู้ย่อมได้มาจากการเรียนรู้ การเรียนรู้จนบังเกิดเป็นปัญญาได้นั้นย่อมเกิดจากการนำความรู้มาปฏิบัติจนเห็นผล จากการสัมผัสสิ่งที่เป็นความจริงในสังคม จากการทดลองตามหลักวิทยาศาสตร์ และไม่ด่วนสรุปถึงสิ่งที่รู้มาว่าเป็นความจริงตามหลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้าที่ว่า

      1.  มา อนุสฺสาเวน อย่าเชื่อโดยฟังตามกันมา
      2. มา ปรมฺปราย อย่าเชื่อโดยเหตุสักว่าตามสืบๆ กันมา
      3. มา อิติ กิราย อย่าเชื่อโดยตื่นข่าว
      4. มา ปิฎกสัมฺปทาเนน อย่าเชื่อโดยอ้างปิฎก
      5. มา ตกฺกเหตุ อย่าเชื่อโดยนึกเดาเอาเอง
      6. มา นยเหตุ อย่าเชื่อโดยคาดคะเน
      7. มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเชื่อโดยการตรึกตรองตามอาการ
      8. มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนกฺขนฺติยา อย่าเชื่อโดยเห็นว่าถูกตามลัทธิของตน
      9. มา ภพฺพรูปตาย อย่าเชื่อโดยเห็นว่า ผู้พูดควรเชื่อได้
    10. มา สมโฌ โน ครุ อย่าเชื่อโดยถือว่า สมณะนี้เป็นครูของเรา

        จิตวิญญาณของการรับรู้                คือมีสมาธิในการรับความรู้ต่างๆที่เข้าสู่ร่างกาย ตามหลักทางพุทธศาสนาที่ว่าเมื่อ สมาธิมา ปัญญาก็จะเกิด ในทางการเรียนรู้ตามหลักวิทยาศาสตร์ เมื่อมีสมาธิสมองจะสามารถรับรู้เรื่องราวต่างๆ และเรียบเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆได้ดีกว่าการเรียนรู้ในขณะไม่มีสมาธิ ในระดับองค์กรก็ต้องมีสมาธิ ไม่ตื่นข่าวลือจนทำให้กระบวนการเรียนรู้ภายในต้องเสียไป                สังคมอุดมปัญญาไม่ใช่ทุกคนต้องมีความเห็นเหมือนกัน แต่เมื่อทุกคนมีปัญญาก็จะรู้ได้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก สังคมไทยปิดกั้นความคิดมานานถึงเวลาแล้วยังที่ต้องมาสร้างสังคมที่อุดมไปด้วยปัญญา
คำสำคัญ (Tags): #ความเห็น#บทความ
หมายเลขบันทึก: 54528เขียนเมื่อ 13 ตุลาคม 2006 22:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท