เติบโตไปด้วยกัน : การสร้างสมรรถนะของกลุ่ม PLC โรงเรียนทางเลือก (๑)


 

 

วันที่ ๒๘ ก.พ. ๕๖  ที่ห้องประชุมใหญ่ โรงเรียนเพลินพัฒนา คณะผู้บริหารและครูจากโรงเรียนทอสี  รุ่งอรุณ เพลินพัฒนา และปัญญาประทีป ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ทั้ง ๔ โรงเรียนนำข้อมูลที่ได้จากการแปรผลทดสอบ  SAT- Scholastic Aptitude Test  (การวัดสมรรถนะการเรียนรู้ หรือการวัดความถนัดทางการเรียน) ของแต่ละโรงเรียนมาเรียนรู้เพื่อหาปัจจัยความสำเร็จร่วมกัน

 

วันที่ ๒๘ มิ.ย. ๕๖  ที่หอประชุมใหญ่ โรงเรียนปัญญาประทีป คณะผู้บริหารและครูจากโรงเรียนทอสี  รุ่งอรุณ เพลินพัฒนา และปัญญาประทีป ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นครั้งที่ ๒

 

โรงเรียนทอสี  นำเสนอเป็นโรงเรียนแรกเนื่องจากเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในระดับอนุบาล – ประถมปลาย  / โรงเรียนอื่นๆ เป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมต้น-มัธยมปลาย และอนุบาล – มัธยมปลาย

 

คุณครูแหม่ม - อาภาภัทร  ไชยประสิทธิ์  รองผู้อำนวยการโรงเรียนทอสี และ คุณครูประไพ  เพศยนาวิน ฝ่ายบ่มเพาะชีวิตนักเรียน กลับมาเล่าให้ฟังว่าการพบกันเมื่อครั้งที่แล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการกลับไปเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างที่โรงเรียน  ที่สำคัญ คือ

 

 

 

ปรับโครงสร้างฝ่ายบ่มเพาะชีวิตนักเรียน เริ่มมีการจัดโครงสร้างการทำงานให้มีหัวหน้าช่วงชั้น มีการจัดทำแผนการสอน  และมีโค้ชเข้าไปดูแลครูผู้สอน เพื่อขยายผลไปสู่การทำ Lesson Study ต่อไปในอนาคต

 

 

ปรับโครงสร้างหลักสูตร ให้น้ำหนักกับวิชาชีวิตมากกว่าวิชาการ แต่สัดส่วนของวิชาชีวิตและวิชาการมีความแตกต่างกันในแต่ละระดับชั้น และปรับเวลาเรียนช่วงเช้าให้นานขึ้น ภาคบ่ายให้เป็นวิชาที่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย พยายามจัดคาบเรียนแต่ละวิชาเป็นคาบคู่ อย่างน้อย ๑ คาบ เพื่อความต่อเนื่องในการเรียนรู้

 

 

ปรับการเขียนบันทึก ให้เริ่มต้นจากเกิดฉันทะ และรักการเขียนบันทึก การถ่ายทอดความคิด ประสบการณ์  โดยครูไม่ติดกรอบของการเขียนบันทึก คือไม่เอาเป็นเอาตายกับความถูกผิดหรือความเรียบร้อยในการเขียน เพื่อให้เด็กมีความสุขกับการเขียนมากขึ้น  และให้เด็กวาดรูปประกอบบันทึกได้

 

ปรับกิจกรรมหน้าแถว โดยเพิ่มการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวร่างกาย (ออกกำลังกาย) และการอ่านเงียบ

 

 

ปรับช่วงเวลาการโฮมรูม – ทอจิต  ด้วยการปรับเวลาเรียนใหม่เพื่อให้ครูมีเวลาพูดคุย และทำความเข้าใจกับนักเรียนในช่วงเวลาของการโฮมรูมมากขึ้น  โดยช่วงเช้าปรับให้คาบเป็นคาบสอนคู่ อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง  ช่วงบ่ายเป็นคาบศิลปะ ดนตรี  กีฬา  ก่อนนี้สิ่งที่เน้นกับการจัดการไม่เอื้อกัน

 

 

ปรับการแบ่งคาบเรียน  ก่อนนี้ ๓ คาบเช้าบูรณาการกันหมด (คาบละ ๕๐ นาที )

ตอนนี้ ประถมต้น  ๒ คาบแรก ชวนเด็กคิด สงสัย ทำไม  +  คาบบูรณาการ ๔ คาบ  +  สรุป  ๒  คาบสุดท้าย  / ประถมปลาย มีคาบสรุป ๓ คาบ

 

 

วิชาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว คือ  การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ  วิทยาศาสตร์ สังคม การงานอาชีพ ร้อยเรียงอย่างบูรณาการ  สัปดาห์ละ ๗ คาบ เพื่อให้เกิดการเรียบเรียงความรู้ สามารถเชื่อมโยง พัฒนาตนได้

 

โรงเรียนทอสีให้คาบกับวิชาวิทยาศาสตร์ และวิชาภาษาไทยมากเพราะเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการ  ส่วนวิชาชีวิตกับวิชาการ จะมีสัดส่วนเท่าไรนั้นจะแตกต่างกันไปตามวัย

 

ในวิชาจะมีเรื่องของคุณธรรมเด่น และ กระบวนการที่ต้องฝึกฝน เนื้อหาจะมีเรื่องของตัวเอง – ชุมชน – ประเทศ – จักรวาล – ดวงดาว เพื่อเตรียมตัวพวกเขาให้เข้มแข็ง มีความคิด และสามารถที่จะออกแบบชีวิตของตนเองได้

 

ปรับกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน  ลูกเสือ (พึ่งตัวพึ่งตน)  ก่อนหน้านี้เน้นการบริการล้างจานให้ครู ก็กลับมาคิดว่าจะเติมเรื่องอะไรได้อีก จึงกลับมาเพิ่มเติมการมอบงานให้เด็กได้เป็นแม่งานจริงๆ เช่น งานจิตอาสา

 

 

กิจกรรมที่โรงเรียนทำอยู่แล้ว

 

ภาษาชีวิต  เน้นการเรียนรู้ภาษาจากสิ่งรอบตัว และเป็นภาษาที่มีความหมายต่อชีวิต รวมถึงภาษาจากธรรมะ ภาษาในบทสวดมนต์ที่อยู่ในบริบทชีวิต

 

เด็กอนุบาลมีความสนใจและมีความสามารถในการอ่าน ส่งต่อให้ผู้ปกครองไปดูแลต่อที่บ้านด้วยวิธีการเดียวกันกับโรงเรียนโดยมี แม่แจง – จุฬารัตน์  อินทรมหา ฝ่ายบ่มเพาะชีวิตผู้ปกครอง ดูแลการอบรมผู้ปกครองใหม่ เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถพัฒนาภาษาของลูก  เป็นการสร้างความเข้าใจให้ผู้ปกครองว่าภาษาชีวิตคืออะไร  เชื่อมโยงกับชีวิตของลูกอย่างไร เกี่ยวข้องกับชีวิตลูกอย่างไร ใช้ทุกที่ ตัวเลข ทะเบียน สีรถยนต์ 

 

พ่อแม่ที่ทำเรื่องเหล่านี้อยู่เสมอจะได้เรื่องความสัมพันธ์  เพราะได้เล่นกับลูก  แล้วจะพบว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  และเด็กจะเกิดพัฒนาการทางภาษาอย่างเห็นได้ชัด  หลังจากที่อบรมแล้ว  ผู้ปกครองจะทำเกมมาเล่นกับลูกบ้านละ ๑ เกม เช่น เอาปฏิทินมาสอนอะไรได้บ้าง เอามาให้เพื่อนในห้องเล่น  ห้องหนึ่งก็จะมีหลายเกม และเด็กก็จะได้พบกับความความหลากหลาย

 

Family Trip  ที่มีผู้ปกครองเป็นหลักในการออกแบบกิจกรรม  เพื่อการเรียนรู้วิถีชีวิตแบบทอสี  มีการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาและเป็นการเริ่มต้นผ่านตัวแทนผู้ปกครอง มีกิจกรรมสวดมนต์  รักสิ่งแวดล้อม เกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน ปีละ ๑ ครั้ง

 

เรื่องครูของศตวรรษที่ ๒๑ ได้เกริ่นให้ครูฟังแล้ว  แต่ยังไม่ได้ทำอะไรมากนัก

 

 

แรงบันดาลใจ  การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน ๓ เดือนนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีโรงเรียนกัลยาณมิตร  คือรุ่งอรุณ และ เพลินพัฒนา ที่ทำให้ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิด เข้าใจ ช่วยเหลือ โอบอุ้ม ให้เวลา  และมีโรงเรียนคู่คิดคือ ปัญญาประทีป  แต่ตอนนี้ครูเหนื่อย หากได้เห็นผลสัมฤทธิ์ที่เด็กเมื่อไรความเหนื่อยคงจะคลายลง

 

 

คุณครูก้า – กรองทอง  บุญประคอง  ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนจิตตเมตต์  ชวนวงแบ่งปันประสบการณ์เรื่องครูเหนื่อย

 

คุณครูเล็ก- ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์  ที่โรงเรียนเพลินพัฒนามีวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครูแกนนำ ช่วยพัฒนาทั้งจิตใจ และสติปัญญา เป็นกัลยาณมิตรที่ช่วยดูแลกัน

 

ในการทำ Lesson Study ต้องสร้างระบบขึ้นมาช่วย และสื่อสารผ่านเรื่องที่ซับซ้อน และมีรายละเอียดลึกซึ้ง เพื่อให้เด็กมีความสุขในการเรียนรู้  และมี Lesson Study เป็นความสุขร่วม ที่มีทุกคนเป็นพลังของกันและกัน แกนนำต้องมีสติเป็นตัวช่วย

 

คุณครูนุ่น- พรพิมล  เกษมโอภาส  โรงเรียนเพลินพัฒนามีการทำงานเป็นทีม หล่อเลี้ยงพลัง ค้ำความรู้สึก  และมีทีมคอยsupport

 

แกนนำต้องเหนื่อยก่อน  ลองก่อน  ทำก่อน ผิดก่อน รู้ก่อน บอกได้เต็มปาก เพราะได้เคยทำมาแล้วทั้งหมด เห็นผลกับตัวเองมาแล้ว  ด้วยวิธีการนี้ทำให้ทุกคนได้เห็นตัวเอง และได้พัฒนาตัวเองจริงๆ

 

คุณครูอ้อ ครูชัชฎาภรณ์  ศิลปสุนทร ผู้ช่วยครูใหญ่ฝ่ายประถมโรงเรียนรุ่งอรุณแลกเปลี่ยนว่าคณะครูมีการปฏิบัติธรรมเป็นพลัง โดยมีตัวเราเป็นแกนที่ทุ่มเท และคลุกฝุ่นไปกับเขาด้วย ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณ ร่วมกับการสังเกต แล้วคุยกับครูเป็นรายบุคคล

 

มีการทำวงสะท้อนผล ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งการจัดการชั้นเรียน และการจัดการกับสภาวะอารมณ์ว่าอยากจะให้เพื่อนช่วยอะไร 

 

เห็นผลของการทำ Lesson Study ที่มีทีมคณิตทำนำร่องก่อน แล้วต่อไปที่ไทย และวิทยาศาสตร์  พาครูไปดู ให้เขาได้เห็น พาไปอบรมให้เห็นว่าเราอยากทำอะไร

 

อาศัยธรรมะว่าพิจารณาดูว่าเราเกิดสภาวะอะไร ลดความคาดคั้น  ลดการแบก แต่เข้าใจถึงความแตกต่าง  มีทีมที่ทำงานไปด้วยกัน ร่วมทุกข์ สุข ร่วมแลกเปลี่ยนสภาวะจิตใจกัลยาณมิตร คอยให้คำปรึกษาแนะนำ และมีการฟังธรรม เพื่อวางใจของตนให้ถูกต้อง

 

คุณครูก้า – กรองทอง  บุญประคอง  ในบทบาทครูของครู ทุกคนต่างก็เป็นผู้เรียนเหมือนกันหมด  และมีความสุขกับการพัฒนาตนเอง  เราจะเดินไปแค่ไหน ที่ยังทำให้ผู้เรียนของเรายังมีความสุข  ครูไม่ผ่านเลยคุณค่า แต่ต้องเป็นคนที่หยิบเอาคุณค่าเหล่านั้นมาชวนกันพิจารณา

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 544990เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2013 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2013 14:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

 

.... ขอบคุณ บันทึกดีดี นี้ค่ะ.... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท