ภาษาไทยใกล้ตัว


         ประชาคมอาเซียนใกล้เข้ามา หลาย ๆโรงเรียนมุ่งเน้นการสอนภาษาต่างประเทศทั้งภาษาที่หนึ่ง สอง
หรือสาม เพื่อเตรียมความพร้อมแก่นักเรียนและบุคลากร ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้เขียนซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทย
ก็ต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเช่นเดียวกัน แต่ถ้าถามว่าภาษาไทยยังเป็นภาษาที่สำคัญอยู่หรือไม่
สำหรับเด็กมัธยมศึกษา ก็ต้องตอบว่าสำคัญมากจริงๆ เพราะนักเรียนต้องใช้แสวงหาความรู้เพื่อการศึกษาต่อ
ในระดับที่สูงขึ้น เด็กต้องใช้ความสามารถด้านภาษาไทยฟันฝ่าข้อสอบทั้ง
O-net, GAT และ PISA
แต่ละด่านมหาโหดทั้งสิ้น
          เมื่อปลายปีการศึกษาที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปทบทวนความรู้แก่นักเรียนชั้น ม.6 จำนวน 200 คน
ที่หอประชุมของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ใช้เวลา 3 ชั่วโมง ประมวลความรู้ให้ครบถ้วน เป็นโจทย์ที่ยากหนักหนา
จะใช้วิธีเฉลยข้อสอบทั้ง 100 ข้อ คงไม่ทันแน่ ผู้เขียนเลยใช้วิธีให้นักเรียนเตรียมพื้นฐานความรู้ ให้สามารถ
ดึงไปใช้ในห้องสอบได้ทันที เหมือนกินอาหารฟาสต์ฟู้ด โดยการตั้งคำถามภาษาไทยกับชื่อของนักเรียน
และเพื่อนร่วมชั้น  ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า ชื่อของเราสามารถตั้งคำถามได้ร้อยแปด ลองทดสอบดูว่า
ท่านตอบคำถามเกี่ยวกับชื่อของท่านได้มากเพียงใด ยิ่งตอบได้มาก แสดงว่าท่านเป็นผู้มีความรู้ภาษาไทยดี
และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ 
  


 

ตัวอย่างคำถามเกี่ยวกับเสียง พยางค์ คำ


  - ชื่อของท่านมีกี่พยางค์ (นับจำนวนครั้งที่เปล่งเสียง) 
 
- พยัญชนะต้นของแต่ละพยางค์เป็นอักษรสูง กลาง หรือต่ำ (แยกอักษรกลางและสูงออกมาจากอักษรต่ำ
     ก่อนคิด อักษรกลางคือไก่จิกเด็กตาย....อักษรสูงจะออกเสียงสูง  ข ฃ ฉ ส ศ ษ ฐ ถ  ผ ฝ ห)
 
- แต่ละพยางค์มีเสียงวรรณยุกต์อะไรบ้าง (สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ผันเสียงอย่าดูรูปวรรณยุกต์)
  - มีพยางค์ที่เป็นสระประสมหรือไม่ (เอีย เอือ อัว จำง่าย ๆ เมีย เบื่อผัว นอกนั้นเป็นสระเดี่ยว) 
 
- มีตัวสะกดแม่อะไรบ้าง ตรงมาตราหรือไม่ตรงมาตรา (แม่กง กม เกย เกอว กน กก กด กบ)
     ที่มาของคำ
 
- ชื่อเป็นคำไทยแท้หรือมาจากภาษาอื่น (ไทยแท้อ่านง่าย สะกดตรงมาตรา ไม่มีการันต์)
  - ถ้ามาจากภาษาอื่นคือภาษาอะไร (บาลี - ตัวสะกดตัวตามเป็นพยัญชนะวรรคเดียวกัน เช่น
    อัคคี  สักขี มงคล, สันสกฤต - ใช้ ศ ษ ฤ รร ตัวสะกดตัวตามอยู่ต่างวรรคกัน  เขมร - มักขึ้นด้วยสระอำ
    เป็นคำอักษรนำ บัง บำ บัน)
  -
เป็นคำมูล ประสม สมาส หรือสนธิ (มูล-พยางค์เดียว ถ้ามากกว่า 1 พยางค์จะแยกคำไม่ได้เช่น สารภี
ประสม-มักเป็นคำไทย หรือไทยกับภาษาอื่น เช่น น้ำฝน ยิ่งลักษณ์ สมาส,สนธิ - เกิดจากบาลีสันสกฤตรวมกัน
สมาสไม่รวมเสียง เช่น ยุทธการ  สนธิรวมเสียง เช่น ยุทโธปกรณ์ เกิดจาก ยุทธ+
อุปกรณ์)
  - ชื่อมีความหมายว่าอะไร (ถ้าหลายพยางค์ แปลทีละครึ่ง เช่น ยุทธศักดิ์ แปล ยุทธ และ ศักดิ์)

  เมื่อได้ความรู้พื้นฐานด้านคำแล้วเริ่มขยายไปสู่ความรู้เรื่องอื่น ๆ  ใช้ชื่อเพื่อนๆ มาเกี่ยวข้อง เช่น
 
- เพื่อนคนไหนชื่อเป็นคำไทยแท้ เขมร
  - ยกชื่อเพื่อนที่ขึ้นต้นด้วย ส เรียงให้ถูกต้องตามลำดับพจนานุกรม
  - ยกชื่อเพื่อนที่สัมผัสคล้องจองกัน เช่น น้ำฝน ชลธิชา  มาลินี  ศรีสมร ฯลฯ
 
- จัดกลุ่มชื่อเพื่อนที่มีเสียงหนักเบา หรือครุลหุ เหมือนกันทุกพยางค์ เช่น ลหุ 3 พยางค์ สุริยะ  ปรมะ  จริยะ
 
- จัดกลุ่มชื่อเพื่อนที่มีลักษณะต่าง ๆ เช่น  ความหมายคล้ายกัน(ไวพจน์)  มาจากภาษาเดียวกัน  มีการันต์
                                                    ฯลฯ
           เด็กจะตอบคำถามได้ต้องทราบหลักเกณฑ์ทางภาษาไทย ซึ่งเรียนกันมามากแล้ว การตั้งคำถาม
เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนดึงความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้  ซึ่งเมื่อเจอสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจในห้องสอบ
ก็สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาเทียบเคียงเพื่อหาคำตอบได้  ผู้เขียนยังไม่ได้ติดตามผลว่าแนวคิดดังกล่าวนี้
ประสบผลเพียงใด แต่อย่างน้อยก็ได้พยายามหาเทคนิคกลวิธีที่น่าจะเหมาะสมกับเด็กยุคใหม่ ที่สมาธิสั้น
ไม่ค่อยจดจำรายละเอียด มาเป็นเครื่องช่วยพัฒนาความเข้าใจ ในการนำหลักเกณฑ์ทางภาษามาใช้คิดวิเคราะห์
เพื่อหาคำตอบ โดยใช้สื่อที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด นั่นคือชื่อของเรานั่นเอง  ถ้าไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับชื่อของตนเองได้เลย มาถึงตรงนี้คงต้องถามว่า  “คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า ?” 

หมายเลขบันทึก: 543815เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับครู

-ขอบคุณสำหรับความรู้ในบันทึกนี้นะครับ

-เป็นเทคนิคการสอนที่เข้าใจง่ายดีนะครับ

ชื่นชมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคุณครูในการสอนภาษาไทยมากค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคนิคการใช้คำถามในเรื่องใกล้ตัว ซึ่งถือว่าเป็น "การเรียนรู้อย่างมีความหมาย (Meaningful Learning)" และการเรียนรู้อย่างมีความหมายก็จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ดี

จำได้ว่า ในปีการศึกษา 2512 ในห้องเรียนวิชาภาษาไทย (วิชาบังคับเรียน หลักสูตร ป.กศ.สูง วิชาเอกภาษาอังกฤษ) อาจารย์ถามเพื่อนคนหนึ่งที่ชื่อว่า "นายอุดงค์ ทองมี" ว่า "นายอุดงค์ ชื่อเธอแปลว่าอะไร" เพื่อนลุกขึ้นตอบอย่างฉะฉาน "ไม่มีในพจนานุกรมครับ" เรียกเสียงฮาจากเพื่อนทั้งห้อง

จะบอกคุณครูด้วยว่า ตอนนี้ "ไอดิน-กลิ่นไม้" กำลังทำโครงการ "เพื่อนภาษา" โดยได้ลงบันทึกตอนที่ ๑ http://www.gotoknow.org/posts/543036 ไปแล้วประมาณ ๑ อาทิตย์  และตั้งใจจะลงบันทึกตอนที่ ๒ ไม่เกินพรุ่งนี้ จะขออนุญาตนำบันทึกนี้ของคุณครูไปอ้างอิงด้วย หวังว่าจะเต็มใจนะคะ ขอบคุณค่ะ        

       

      

 

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ ส่วนมากถ้าเจอชื่อเด็กที่แปลยาก ๆ จะพยายามช่วยเขาค่ะ เช่น บางคนชื่อวิลัย ซึ่งแปลว่าพินาศ
ก็จะให้เขาแปลว่างาม (วิไล) เพียงแต่สะกดผิดเพี้ยนไปเท่านั้น ถ้าเจออุดงค์ ก็คงจะแปลให้ว่า มีส่วนประกอบอันเลิศยิ่งแหละค่ะ
อุตม์ + องค์    ต แผลงเป็น ด ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท