โรคสมาธิสั้น


                                                          โรคสมาธิสั้น

                                            นายอานนท์ ภาคมาลี (หมอแดง)

โรคสมาธิสั้นคือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก กลุ่มอาการนี้ได้แก่ ขาดสมาธิ การขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง อาการซน  

 เด็กบางคนอาจจะมีอาการซนและการขาดความสามารถในการควบคุมตัวเองเป็นอาการหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย หรือบางคนอาจจะมีอาการขาดสมาธิเป็นปัญหาหลัก พบได้บ่อยพอ ๆ กันในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย โรคสมาธิสั้นนี้พบได้บ่อยในทุกประเทศทั่วโลก ในต่างประเทศพบว่าประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในวัยเรียน เป็นโรคสมาธิสั้น

จะสังเกตได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม

 1. การขาดสมาธิ โดยสังเกตพบว่าเด็กจะมีลักษณะดังนี้

       - ไม่สามารถทำงานที่ครู หรือพ่อแม่สั่งจนสำเร็จ
       - ไม่มีสมาธิในขณะทำงานหรือเล่น
       - ดูเหมือนไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย
       - ไม่สามารถตั้งใจฟัง และเก็บรายละเอียดได้ ทำให้ทำงานผิดพลาดบ่อย
       - ไม่ค่อยเป็นระเบียบ
       - วอกแวกง่าย
       - ขี้ลืมบ่อย ๆ
       - มีปัญหาหรือพยายามหลีกเลี่ยงงานที่ต้องใช้ความคิดหรือสมาธิ
       - ทำของใช้ส่วนตัวหรือของใช้ที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียนหายอยู่บ่อย ๆ

2. การซน และการขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง เด็กจะมีลักษณะดังนี้

หยุกยิก อยู่ไม่สุข นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อย ๆ ขณะอยู่ที่บ้านหรือในห้องเรียน  ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ พูดมาก พูดไม่หยุด เล่นเสียงดัง ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถาม โดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ รอคอยไม่เป็น ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังพูดอยู่ หากเด็กมีลักษณะในข้อ 1 หรือ 2 รวมกันมากกว่า 6 ข้อ อาการเด็กของท่านมีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น

การรักษาโรคสมาธิสั้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดคือการผสมผสานการรักษาหลายด้านดังนี้

1. การรักษาทางยา ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นเป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ยาจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบขึ้น มีความสามารถในการควบคุมตัวดีขึ้น และอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น ผลที่ตามมาเมื่อเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีคือ เด็กจะมีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง ดีขึ้น และมีความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้น

2. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว ผู้ปกครองและครูของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้องเพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตีหรือการลงโทษทางร่างกาย เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธหรือแสดงพฤติกรรมต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่าคือ การให้คำชมหรือรางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม หรือควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม โดยการงดกิจกรรมที่เด็กชอบหรือตัดสิทธิอื่น ๆ

3. การช่วยเหลือทางด้านการเรียน เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียนหรือเรียนได้ไม่เต็มศักยภาพร่วมด้วย ดังนั้นครูจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดีขึ้น  เมื่อเด็กโตขึ้น เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีโอกาสหายได้หรือไม่

เมื่อผ่านวัยรุ่นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของเด็กสมาธิสั้นมีโอกาสหายจากโรคนี้ และสามารถเรียนหนังสือหรือทำงานได้ตามปกติ โดยไม่ต้องรับประทานยา ส่วนใหญ่ของเด็กสมาธิสั้นจะยังคงมีความบกพร่องของสมาธิอยู่ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าเด็กดูเหมือนจะซนน้อยลง และมีความสามารถในการควบคุมดีขึ้นเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว บางคนสามารถปรับตัวและเลือกงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิมากนัก ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนอาจจะยังคงมีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่มาก ซึ่งจะมีผลเสียต่อการศึกษา การงาน และการเข้าสังคมกับผู้อื่น ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง


หมายเลขบันทึก: 543807เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 06:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณครับหมอ
  • ได้แนวทางวิเคราะห์พฤติกรรมเด็กนักเรียนจากบันทึกนี้เลยครับ

หวัดดีจ้ะคุณหมอแดง เดี๋ยวนี้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นเพิ่มขึ้นเยอะเลย  ครูก็กลายเป็น

โรค " สมาธิเสีย " ไปเลยแหละ อิ อิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท