Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รบกวนท่านที่สนใจเรื่องการจัดการสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์อ่านหน่อยค่ะ ...โดยเฉพาะเหล่านักสาธารณสุขศาสตร์


ถึงเวลาแล้วยังที่จะต้องแสวงหาความรู้เกี่ยวกับศาสตร์ที่จำเป็นในการพัฒนาสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์ ?

บันทึกการทบทวนสัมพันธภาพระหว่างนิติศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ และศาสตร์อื่นในการจัดการประชากรทางสาธารณสุข

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บันทึกเพื่อโครงการประชาคมวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากรในประเทศไทยภายใต้บริบทนิติศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์

: ตอนประเด็นศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารความเป็นธรรมทางสาธารณสุขแก่มนุษย์โดยกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยและประชาคมอาเซียน

ณ ห้องประชุม ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖

เริ่มเขียนเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151777718083834

-------------------------------------------------------------

ในโอกาสผู้เขียนบันทึกต้องทำหน้าที่เป็นผู้ยกร่าง โครงการประชาคมวิจัยเพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากรในประเทศไทยภายใต้บริบทนิติศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์: ตอนประเด็นศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารความเป็นธรรมทางสาธารณสุขแก่มนุษย์โดยกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยและประชาคมอาเซียน ผู้เขียนจึงพยายามที่จะแสวงหานักวิชาการทั้งทางนิติศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ทั้งที่สนใจในเรื่องสิทธิในสุขภาพของมนุษย์มาเข้าร่วมการเสวนา แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียน ตระหนักดีว่า ยังมีศาสตร์อีกหลายแขนงที่เกี่ยวข้องและจำเป็นในการจัดการสิทธิในสุขภาพดีของประชากรอยู่อีก นอกจากนิติศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์

แม้ผู้เขียนจะศึกษาการจัดการประชากรในแง่มุมของนิติศาสตร์ แต่ด้วยตระหนักในความเป็นจริงของเรื่องว่า ความเข้าใจโลกและชีวิตต้องการความรอบรู้ในศาสตร์หลายแขนง ผู้เขียนจึงพยายามศึกษาว่า น่าจะมีนักวิชาการในสายวิชาการใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการจัดการประชากร ? และเกี่ยวข้องอย่างไร ?

สำหรับผู้เขียน ความตระหนักรู้ในความจำเป็นที่จะเข้าใจสัมพันธภาพของสหวิทยาการในงานจัดการประชากรเกิดขึ้นในโอกาสที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่าน นพ.วิจารณ์ พานิชเมื่อราว พ.ศ.๒๕๓๕ เมื่อจะต้องทำวิจัยด้านนิติศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาสิทธิเข้ามาในประเทศไทยของแรงงานต่างด้าว และปัญหาการผสมกลมกลืนคนต่างด้าวในสังคมไทยโดยสัญชาติ ในบทเรียนครั้งนั้น ผู้เขียนได้ตระหนักรู้ว่า การจัดการสิทธิในสุขภาพดีของประชากรนั้น ไม่ใช้เหตุผลเดียวกันกับการจัดการประชากรทางการเมือง หรือทางแพ่ง/พลเมือง หรือทางเศรษฐกิจ หรือทางสังคม หรือทางวัฒนธรรม ในลักษณะที่เป็นเหตุผลเดี่ยว ยังมีศาสตร์ที่อีกแขนงที่มีลักษณะเป็นสหวิทยาการในตัวเองอีกด้วย ซึ่งวิชาการโลกเรียกว่า “สาธารณสุขศาสตร์ (Science of Public Health)” ซึ่งประกอบไปด้วยศาสตร์ที่สำคัญหลายศาสตร์อาทิ แพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ ทันตวิทยา จิตวิทยา และศาสตร์อีกหลายแขนงที่มีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพของมนุษย์ ดังนั้น เมื่อนักนิติศาสตร์ต้องใช้กฎฆมายเพื่อจัดการสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์ นักนิติศาสตร์จึงต้องเข้าใจสาธารณสุขศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาการที่เป็นวิชาชีพอีกด้วยอีกแขนงหนึ่ง แค่อ่านก็ไม่อาจรู้ดีได้ วิชาชีพเป็นเรื่องของการเรียนรู้โดยการลงมือปฏิบัติ (Learning by doing) จึงไม่ง่ายที่สองศาสตร์ที่เป็นวิชาการที่เป็นวิชาชีพจะผสมผสานกันเพื่อสร้างศาสตร์ประยุกต์แขนงใหม่  การจัดการประชากรโดยสัญชาติ ซึ่งเป็นงานนิติศาสตรโดยแท้และแสนจะคลาสสิกนั้นจึงไม่อาจชี้ให้ “รัฐเจ้าของสัญชาติ” หรือ “รัฐเจ้าของภูมิลำเนา” ของมนุษย์เท่านั้น ที่เข้ารับผิดชอบในสุขภาพของมนุษย์ มนุษย์อาจไม่ล้มป่วยในประเทศที่ตนมีสัญชาติ มนุษย์อาจไม่ล้มป่วยในประเทศที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่

เราพบต่อไปว่า วิชานิติศาสตร์ในยุคที่มนุษย์ประสบผลสำเร็จที่จะข้ามชาติอย่างเป็นธรรมดาในต้นศตวรรษที่ ๑๙ จึงคิดค้นการจัดการประชากรเพื่อกำหนดและรับรองสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์โดยใช้ “ความเป็นมนุษย์เอง” เป็นข้อเท็จจริงในการก่อตั้งสิทธิ ซึ่งหมายความว่า รัฐที่พบตัวมนุษย์ที่เจ็บป่วยมีหน้าที่ที่จะเข้าดูแลสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์ผู้นั้น ดังปรากฏในข้อ ๒๕[1] แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑

สำหรับประเทศไทยนั้น เราจะเห็นตลอดมาว่า การจัดการสิทธิทางสาธารณสุขของประชากรประสบวิบากกรรมมากทีเดียวที่นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์ไม่อาจเกื้อหนุนกัน และอาจด้วยเหตุผลที่นักการเมืองทั้งในภาครัฐสภา/รัฐบาล ตลอดจนในภาคราชการ มิได้ใช้องค์ความรู้ทางวิชาการในการจัดการประชากรในบริบททางสาธารณสุข ดังนั้น เราจึงเห็นการจัดการประชากรทางสาธารณสุขโดยสัญชาติและทะเบียนราษฎรของรัฐ อันทำให้การจัดการประชากรในเรื่องหลักประกันสุขภาพจึงจำกัดอยู่เพียงแค่มนุษย์ที่ได้รับการรับรอง “สถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย” โดยทางปฏิบัติของ สปสช. ซึ่งมีหน้าที่ดูแล “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” แต่กลับดูแลสุขภาพของคนส่วนเดียวในชาติ มิใช่สุขภาพของมนุษย์ทุกคนในชาติ

เราตระหนักในลัทธิแคบนิยมในนักคิดไทยหลายครั้ง หลายท่านกลัวว่า จะไม่มีงบประมาณให้โรงพยายาลเพื่อรักษาคนต่างด้าวยากจนที่ข้ามชาติมาจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำงานไร้ฝีมือในประเทศไทย  ความแคบมากทางความคิดนี้จึงปิดกั้นโอกาสที่จะเติบโตของภูมิปัญญาทางสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งที่เป็นแผนโบราณหรือแผนใหม่ ก็ต่างเป็นความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพที่พร้อมจะรับใช้มวลมนุษยชาติและสร้างผลกำไรให้ประเทศไทย  แต่เมื่อมองแคบๆ ก็จะเห็นแคบๆ จึงเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องตั้งคำถาม แล้วตอบด้วยมุมมองที่กว้างและรอบด้าน โดยพิจารณาประวัติศาสตร์กฎหมายสาธารณสุขโลก เราจะเห็นว่า การเกิดขึ้นของกระทรวงสาธารณสุขในทุกประเทศและการเกิดขึ้นขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ก็คือ บทพิสูจน์ของความจำเป็นที่จะต้องละทิ้งลัทธิแคบนิยมเมื่อต้องคิดถึงสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์ นักวิชาการในอดีตดูจะตระหนักดีแล้วว่า ถ้ายังคงใช้ลัทธิแบ่งแยกนิยม และลัทธิสัญชาตินิยม ลัทธิทะเบียนราษฎรนิยมจัดการสุขภาพของมนุษย์แล้ว สังคมมนุษย์ก็สิ้นสุดด้วยโรคอหิวาต์แบบง่ายๆ ดังนั้น แนวคิดใหม่ทางความมั่นคงของรัฐทางสาธารณสุขจึงเกิดขึ้นด้วยแนวคิด Health for all และต่อมา ธุรกิจเพื่อสุขภาพจึงร่ำรวยขึ้น เพราะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Business for Society) เป็นความโชคร้ายที่นักนิติศาสตร์สายเหยี่ยวของประเทศไทยคิดไม่ออกในการจัดการสิทธิในสุขภาพดี จึงยังคงพยายามที่จะตีความให้สิทธิในสุขภาพดีเป็นของ “คนสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) เท่านั้น”  เลยไม่เคยคิดปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส แม้สังคมไทยจะมีภูมิปัญญาด้านสาธารณสุขมากมาย แต่เมื่อลัทธิแคบนิยมหรือลัทธิแบ่งแยกนิยมครอบงำ ผลผลิตทางความคิดจึงแคบ เป็นส่วนๆ และตื้น  ก็เลยรับใช้ประชาชนไม่ได้เต็มที่และก็หาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากโลกทั้งใบก็ไม่ได้ เพราะสร้างมายาคติที่ผิดจากความเป็นจริงขึ้นมาบริหารความมั่นคงทางสาธารณสุขให้แก่ประเทศไทย

แม้ในประชาคมอาเซียนก็ตาม เราก็คงคาดเดาได้ว่า ผู้นำหลายคนในหลายประเทศอาเซียนก็มีความเชื่อแบบลัทธิแบ่งแยกนิยม (Particularism) แบบชาตินิยม (Nationalism) จะสร้างความเชื่อแบบลัทธิเหยี่ยวนิยม กล่าวคือ การปฏิเสธสิทธิมนุษยชนอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม  ก็น่าจะมีความเชื่อในสิทธิมนุษยชนนิยมในผู้นำหลายคนในหลายประเทศอาเซียน ดังนั้น เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุขของอาเซียน ทั้งนักนิติศาสตร์และนักสาธารณสุขศาสตร์ในประเทศอาเซียน ก็คงจะได้เผชิญกับการต่อสู้ทางความคิดระหว่างผู้นำอาเซียนจากสายเหยี่ยวและผู้นำอาเซียนจากสายพิราบอย่างแน่นอน ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นประจำในเวทีขององค์การอนามัยโลก

ประเด็นสัมพันธภาพระหว่างรัฐเจ้าของดินแดนและมนุษย์ที่ปรากฏตัวบนดินแดนของรัฐ จึงปรากฏเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในแวดวงสาธารณสุขศาสตร์ ความมั่นคงทางสุขภาพของมนุษย์อาจใช้แนวคิดสัญชาตินิยม หรือทะเบียนราษฎรนิยมได้จริงหรือ แม้จะไม่คำนึงถึงสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องของโรคติดต่อก็ชี้ว่า การสาธารณสุขมีลักษณะสากล ลัทธิแบ่งแยกนิยม (Particularism) ไม่อาจนำไปสู่การสาธารณสุขที่ดีที่สุดในประเทศใดประเทศหนึ่งได้ ประเด็นดังนี้ต้องการนักรัฐศาสตร์ หรือนักปรัชญา มาช่วยคิด ช่วยตอบ มิใช่หรือ ?

ตั้งแต่งานวิจัยใน พ.ศ.๒๕๓๕ เราจึงเริ่มตระหนักว่า นอกจากนิติศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์แล้ว ก็ยังต้องมีศาสตร์อื่นที่มีบทบาทในการจัดการประชากรทางสาธารณสุขอีกด้วย

เพื่อที่จะแสวงหาทุกศาสตร์ที่จำเป็นในการแสวงหากฎหมายเพื่อจัดการสิทธิในสุขภาพดีของประชากรไทย/อาเซียน/โลกทั้งใบ นอกจากนิติศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์แล้ว เราจะต้องมีความร่วมมือของนักวิชาการจากศาสตร์ใดอีก ? และในบริบทใด ? อันนี้เป็นโจทย์ความคิดทางวิธีวิทยาของคนทำงานเพื่อพัฒนาสิทธิในสุขภาพดีของมนุษย์มิใช่หรือ ?

[1] ซึ่งบัญญัติว่า

“(๑)

บุคคลมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและครอบครัว, รวมทั้งอาหาร, เสื้อผ้า, ที่อยู่อาศัย, การรักษาพยาบาลและบริการสังคมที่จำเป็น, และสิทธิในความมั่นคงในกรณีว่างงานเจ็บป่วยทุพพลภาพเป็นหม้ายวัยชราหรือการขาดปัจจัยในการเลี้ยงชีพอื่นใดในพฤติการณ์อันเกิดจากที่ตนจะควบคุมได้ (Everyone has the right to a standard of living adequate for the health and well-being of himself and of his family, including food, clothing, housing and medical care and necessary social services, and the right to security in the event of unemployment, sickness, disability, widowhood, old age or other lack of livelihood in circumstances beyond his control.)

(๒)

มารดาและบุตรชอบที่จะได้รับการดูแลและความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เด็กทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นบุตรในหรือนอกสมรสย่อมได้รับความคุ้มครองทางสังคมเช่นเดียวกัน (Motherhood and childhood are entitled to special care and assistance. All children, whether born in or out of wedlock, shall enjoy the same social protection.)”


หมายเลขบันทึก: 542897เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2013 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2013 05:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนอาจารย์ แวะเข้ามาอ่านตามคำชวน  เข้ามาแล้วไม่ผิดหวัง แต่ต้องอ่านทบทวนตั้งสองครั้ง เพราะ......

เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับนิติศาสตร์ ที่เรียนมาทางนี้

เพราะเป็นเรื่องทางสาธารณสุข ที่เป็นคนทำงานในกระทรวงสาธารณสุข แม้จะเป็นระดับล่างกว่ารากหญ้า

เพราะตัวหนังสือเล็ก อ่านแล้วต้องเพ่ง

เพราะคิดว่า บทความนี้ สามารถนำไปคุยเปิดประเด็นในงานชุมชน และตั้งใจว่าขออนุญาติก็อปถ่ายมาอ่านเพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้นในสิทธิ์สุขภาพของบุคคล

ด้วยความขอบคุณครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท