งานประชุมวิชาการ ThaiPod เมื่อคนหัวอกเดียวกันรวมตัว


 

วันนี้ ผมได้ไปเข้าร่วม ประชุมวิชาการ ครั้งที่ 8 สมาคมเครือข่ายพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท.) ได้ทราบข่าวของสมาคมผ่านทางฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัย และก็เพิ่มจะได้มีโอกาสเข้าร่วมงานก็ครั้งนี้เป็นครั้งแรก

เพื่อนๆ อาจารย์ นักวิชาการ ก็คงคุ้นเคยกับรูปแบบของงานประชุมวิชาการกันนะครับ จะมี Keynote Speakers มาพูดบ้าง มีแบ่งห้องย่อยนำเสนองานบ้าง งานนี้ก็ไม่ต่างจากงานประชุมวิชาการที่เราคุ้นเคยกันหรอกครับ แต่ที่ผมคิดว่าต่างคืออารมณ์ของงาน คนที่เคยไปงานประชุมวิชาการหลายๆ ระดับ ไม่ว่าจะระดับนานาชาติ (ทั้งแบบจริงๆ และแกล้งนานาชาติ) จะมีบรรยากาศแตกต่างกันไป บางทีเป็นงานใหญ่คนร่วมประชุมเป็นพัน หรือเป็นหมื่นคน วุ่นวาย และสับสน บางทีเป็นงานเล็กๆ คนในสายอาชีพคล้ายๆ กัน ตั้งใจมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

แต่ผมว่างานของ ควอท. นี้ มีบรรยากาศที่ผมไม่ค่อยได้เห็นนักในงานประชุมวิชาการ นั้นคือความจริงใจ และความเห็นอกเห็นใจ

ความจริงใจนั้นหมายถึงการเสวนากันแบบตรงไปตรงมา ไม่มีอ้อมค้อม ไม่ใช้ถ้อยคำสละสลวย หรือแอ๊บโลกสวยกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมรู้สึกได้จาก Keynote และ Symposium ในช่วงเช้าของงานวันแรก

ท่านแรกที่เป็น Keynote Speaker คือดร.สุนทร พิบูลย์เจริญสินธิ์ จากสถาบันเดียวกับผม ที่ให้ข้อสังเกตจากมุมมองของนักบริหารอย่างน่าสนใจหลายประการ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยไทย ไม่ค่อยได้พัฒนาสื่อการสอนเอง หวังแต่จะรอหนังสือเรียน (พร้อม PowerPoint) จากสำนักพิมพ์ ซึ่งต่างจากครูที่ต้องมีหน้าที่ผลิตสื่อ ฟังแล้วก็น่าคิดนะครับว่าสัดส่วนระหว่างอาจารย์ไทยที่ผลิตสื่อกับกลุ่มที่เอาความรู้ที่ฝรั่งเขาย่อยจนเหลือแต่กากมาย่อยต่อให้เด็กมันมีมากน้อยกว่ากันแค่ไหน?  อีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือท่านบอกว่าเด็กไทย ยังไงๆ ก็ไม่สามารถเรียนเองได้ ตรงนี้ผมมาคิดต่อถึงประเด็นที่ชุมชนครูและอาจารย์บ้านเรากำลังเห่อเรื่อง Flipped Classroom (หรือห้องเรียนกลับทาง) กันมาก และ Keynote Speaker ของวันพรุ่งนี้ก็จะมีเรื่อง Flipped Classroom เช่นกัน ผมสงสัยว่ามันจะใช้ได้กับเด็กไทยจริงๆ หรือ? ถ้าใช้ได้แล้วมันจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ส่วนตัวผมเอง เคยผสมผสานเข้าไปในการเรียนการสอนบ้าง แต่ก็พบว่าเด็กส่วนมากก็ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้ศึกษาทฤษฏีมาก่อน ที่จะมาทำกิจกรรมในชั้นเรียน ที่ฮากว่านั้นคือ Stanford เพิ่งเสนองานวิจัยว่า Flipped Class ที่เราเห่อกันนั้น ยังไม่เจ๋งเท่าการ Flip the Flipped Class คือแทนที่จะให้เด็กไปเรียนทฤษฏี และเนื้อหาด้วยตัวเอง แล้วมาปฏิบัติในห้อง ก็ให้เด็กกระโจนเข้าไปทำกิจกรรมแบบไม่เคยรู้เนื้อหาเลย แล้วค่อยเอาเนื้อหามาเสริมที่หลัง ยิ่งสับสนเข้าไปใหญ่ ส่วนตัวผมเองคิดว่าถ้าเราไปเห่อตามฝรั่งกัน ก็คงไม่ได้คิดอะไรกันเองพอดี สุดท้ายแล้วเราไม่ควรบ้าคลั่งกับ student-centered หรือ flipped classroom อะไรกับจนเกินเหตุ เพราะมันขึ้นกับบริบท สังคมและวัฒนธรรมด้วย

ประการสุดท้ายที่ท่าน ดร.สุนทร พูดได้ตรงใจผมมากคือท่านถามผู้ฟังว่า ถ้าครูอาจารย์อยากได้ feedback จริงๆ จากนักเรียน ควรทำอย่างไร? จะใช้แบบสอบถามหรือสัมภาษณ์ดี? ท่านบอกว่าวิธีที่ดีที่สุดคือแอบไปนั่งในห้องน้ำครับ โห โดนใจผมมาก เคยเจอกับตัวเองด้วย (ทั้ง feedback อาจารย์ และ feedback ผู้บริหาร ฮา!) คือถ้าเราเอาเครื่องดักฟังไปติดในห้องน้ำ เราน่าจะได้เสียงตอบรับที่ไม่ดัดจริต ไม่เสแสร้งจากนิสิตนักศึกษานะครับ ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมไหมที่จะฟัง? ส่วนตัวผมเองใช้วิธีที่ไม่ลึกลับเท่านี้ ก็แบบสอบถาม ออนไลน์ธรรมดาๆ นี่แหละและพบว่าได้ผลดีพอสมควรด้วยปัจจัยสำคัญที่สองประการคือ ต้องไม่เก็บชื่อผู้ตอบแบบสอบถามเด็ดขาด และต้องให้เป็นไปโดยสมัครใจ คือไม่บังคับให้ทุกคนทำ

หลังจากท่าน ดร. สุนทร พูดจบก็เป็นคิวของ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิสามท่านคือ ผศ.ดร. บัณฑิต ทิพากร จากมจธ. ผศ.ดร.มรว. กัลยา ติงศภัทิย์ จากจุฬาฯ และ รศ.ดร. ถนอมพร เลาหจรัสแสง ผอ. สำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งมชซึ่งมาสะท้อนปัญหาที่มีอยู่จริงในวงการอุดมศึกษาไทย ผศ.ดร.มรว. กัลยา บอกว่าเรายังไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กไทยมากพอ เราได้ยินแต่ Digital Native หรือ Gen Y ของเมืองนอก แต่เด็กบ้านเราเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ถ้าเป็นแล้วเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน อย่างไร? ด้าน ผศ.ดร. บัณฑิต ก็เล่าถึงกลยุทธ์การพัฒนาอาจารย์ที่ มจธ. ซึ่งเขาอบรมกันครึ่งปี และติดตามผลอีกปีครึ่งครับ เรียกว่าเข้มข้นสุดๆ กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากความเห็นชอบของผู้บริหาร และแรงกำลังของเหล่าอาจารย์ที่ช่วยกัน แต่ที่สำคัญคือผมคิดว่าท่านอาจารย์ตีโจทย์ได้ถูกคือเริ่มฝึกการเรียนรู้การสอนหลากหลายรูปแบบให้กับอาจารย์ใหม่ เพราะคนใหม่ไม่มีความคาดหวัง ไม่มีนิสัยเก่าติดตัว ปรับตัวได้ง่ายกว่า นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะทิ้งอาจารย์รุ่นก่อนๆ นะครับ ท่าน รศ.ดร. ถนอมพร ใช้ยุทธวิธีที่แตกต่างกัน คือเข้าไปนำเสนอแนวคิดให้กับแต่ละคณะ แต่ละภาควิชา ค่อยๆ สร้างฐานลูกค้า ซึ่งหมายถึงการดึงอาจารย์ทุกรุ่นเข้ามามีส่วนรวม ถามว่าประสบผลสำเร็จไหม ท่านก็ยอมรับว่ายังไม่น่าพอใจ ปัญหาที่พบคือถึงแม้อาจารย์จะมีองค์ความรู้ในสาขาวิชา แต่ท่านไม่มีความรู้ด้านวิธีการสอนและท่านไม่มีความรู้ด้านการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยสอนหรือช่วยผู้เรียน ซึ่งท่านอาจารย์ รศ.ดร. ถนอมพรกล่าวถึง TPACK นั่นเองครับ

ที่เล่ามาก็คงสะท้อนอะไรได้หลายๆ อย่างนะครับ สิ่งหนึ่งที่หลายคนรู้ และคนที่ยังไม่รู้ ผมก็อยากให้ตระหนักไว้ว่าในกระบวนการปฏิรูปการศึกษานั้น กลุ่มที่เปลี่ยนยากที่สุดคือครูและอาจารย์ ซึ่งต้องขอชื่นชมการทำงานของท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่มาแลกเปลี่ยนและพูดกันตรงๆ ถึงสถานการณ์ที่เป็นอยู่ เมื่อเรายอมรับว่าเรามีปัญหา เราก็พร้อมที่จะแก้ อย่างน้อยผมว่ามันก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี

ส่วนในเรื่องการเห็นอกเห็นใจกันนั้น ผมว่าคนที่มาเป็นทำอาชีพอาจารย์ด้วยความรักในวิชาชีพ มีความเข้าใจ ผ่านประสบการณ์คล้ายๆ กันมา จะหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในสถาบันประเภทไหน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยในเมือง มีความเจริญ มีทรัพยากรพร้อมก็ไม่ลำบากมาก ถ้าห่างไกลหน่อยก็ลำบากหน่อย ถ้าต้องรับมือกับนักศึกษาที่มีความพร้อมในการเรียนอุดมศึกษาต่ำ คือมีพื้นความรู้ระดับมัธยมมาไม่แน่น ก็ยิ่งลำบากมาก ช่วงบ่ายที่มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Large Classroom โดยท่านอาจารย์ รศ.ดร.สุมาลี ชิโนกุล จากครุศาสตร์ จุฬาฯ ก็ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเอกชนอย่างผมพบว่าผมโชคดีเหลือเกินที่สอนเด็กชั้นหนึ่งไม่เคยเกิน 60 คน เพราะหลายๆ แห่งเขาสอนกัน 80 คน หรือ 200 ถึง 500 คนก็มี แต่ก็มีอารมณ์ของการให้กำลังใจกันตลอดงานครับ ซึ่งผมว่าแม้คนที่เข้าร่วมงานจะไม่เยอะนัก แต่บรรยากาศที่ดีแบบนี้ เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมรักในอาชีพนี้เหลือเกิน และถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ก็อยากจะมาร่วมงานกับ ควอท. เรื่อยๆ

สำหรับเพื่อนๆ อาจารย์ นักวิชาการด้านการศึกษา ถ้ายังไม่เคยมาร่วมงานกับ ควอท. ก็ขอเชิญนะครับ เขาจัดทุกปี เพื่อเราจะได้เจอกัน และมาแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน ตามประสาคนดำรงชีวิตด้วยการสร้างโลกสร้างคนด้วยกัน

 

หมายเลขบันทึก: 542803เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2013 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มางานเดียวกันเลยค่ะอาจารย์ เรียนเชิญห้อง ClassStart หน่อยนะคะอาจารย์ มีดิฉัน อ.หมอ JJ อ.ขจิต และ อ.ปอนด์ มาเป็นวิทยากรร่วมกันค่ะ อบอุ่นค่ะ :) 

อาจารย์ครับ ผมจะหาอาจารย์ได้อย่างไร เราอยู่กันที่ classstart ครับ  ตอนบ่าย

มีอาจารย์หมอ JJ ด้วยอยากพบอาจารย์แงๆ

เช้านี้เห็นท่านวิทยากร มานั่งรอผู้เข้าร่วมเรียนรู้แล้วครับ

วิทยากรคับคั่งแบบนี้ต้องแวะไปฟังแล้วครับ :-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท