หลักสูตรอบรมนานาชาติ (2) : รุ่นที่ 1ชื่อรุ่นลองของ (ใหม่)


น้ำตามีวันหยุดไหล แต่มิตรภาพและน้ำใจไม่มีวันหมด"

มาว่ากันต่อจากบันทึกที่ชื่อ หลักสูตรอบรมที่มีชื่อย้าว...ยาว ที่ดิฉันได้เล่าถึงที่มาของหลักสูตรว่าเกิดจากความร่วมมือของสถาบัน 4 แห่ง คือร.พ.ศิริราช สถาบันบำราศฯ ร.พ.รามาธิบดี และ ม.เชียงใหม่ ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอนามัยโลก

ผู้ที่จะเข้าโครงการอบรมจะได้รับการคัดเลือกจาก WHO/SEARO โดยจะคัดเลือกพยาบาลที่อยู่ในแถบประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ = South East Asia Region นอกจากนี้ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. จบการศึกษาพยาบาลจากสถาบันที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะ
  2. ได้รับใบอนุญาติประกอบวิชาชีพการพยาบาลในประเทศของตน
  3. มีประสบการณ์ ด้านวิชาชีพในการพยาบาลและผดุงครรภ์และ/หรือมีประสบการณ์ด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน ดูแล และสนับสนุนช่วยเหลือผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ไม่ต่ำกว่า 2 ปี
  4.  กำลังปฏิบัติงานหรือเตรียมจะปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ในระดับประเทศ ภูมิภาค หรือในระดับท้องถิ่น
  5.  และที่สำคัญมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษในระดับดี เพราะตลอดการอบรมใช้ภาษาอังกฤษตลอดเวลา ไม่มีภาษาลาวมาปะปนเด็ดขาด ...

วิธีดำเนินการอบรม

  1. บรรยาย
  2. กรณีศึกษา
  3. ฝึกปฏิบัติทางคลินิค
  4. ประชุมกลุ่มย่อย
  5. สัมมนา
  6. ศึกษาดูงานนอกสถานที่ (วิธีนี้ผู้เข้าอบรมชอบที่ซู้ด...)

เมื่อทราบถึงหลักการเหตุผลคร่าว ๆ แล้วก็มาดูถึงของจริงดีกว่านะคะ

กว่าจะมาเป็นหลักสูตร 3 เดือน หรือ 12 สัปดาห์นั้นได้มีการเตรียมจัดทำเนื้อหาและปรับหลักสูตรฝึกอบรมนานาชาติ ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2546 - เดือนเมษายน 2548 รวมเวลาถึง 22 เดือน หรือเท่ากับ 1 ปี 10 เดือน

และในที่สุดก็มีการเปิดอบรมหลักสูตร Regional Training of Trainers on Nursing and Midwifery Management in HIV / AIDS Prevention,Care, and Support (A 12-week Program)

รุ่นที่ 1 ระหว่าง 21 กุมภาพันธ์ 2548 - 13 พฤษภาคม 2548 จนได้ ผู้เข้าอบรมพยาบาล 10 คน จากประเทศอินโดนีเชีย 5 คน  อินเดีย 2 คน บังคลาเทศ 3 คน

 

 

Line1  

ช่วงเวลาที่บำราศ ฯ ต้องรับไม้ต่อจากศิริราชคือระหว่างวันที่ 1  -29  มีนาคม 2548

ทีมวิทยากรโดยเฉพาะกลุ่มการพยาบาลของบำราศฯ ยอมรับว่าตื่นเต้นมากเพราะเราต้องรับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการให้ความรู้ การนำฝึกขึ้นตึก การสอนให้ดูแลผู้ป่วยคนไทยแต่ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทำให้ครั้งนี้หลายคนเริ่มมีภาวะเครียดในการสื่อภาษาปะกิดที่น่าเวียนหัว เพราะครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่เราต้องใช้ภาษาอังกฤษบรรยายตลอด เนื่องจากที่เคยผ่านมาซึ่งไม่ใช่หลักสูตรนี้ เราเคยใช้ล่ามทำให้เราไม่ต้องพะวงหรือต้องเตรียมตัวเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษนัก จะว่าไปก็คือเราเคยสบายมาก่อน  จึงมีการเกี่ยงและมีเสียงบ่นตามมานิด ๆ หน่อย ๆ พอให้เป็นปัญหาบ้างแต่ไม่ซีเรียสรุนแรงเท่าไหร่

หัวหน้าทีมในกลุ่มพยาบาลที่เป็นวิทยากร คือพี่เยาวรัตน์ (สวมชุดสีแดงในรูป) ได้จัดการแก้ไขภาวะตื่นตระหนกโดยก่อนที่จะเริ่มหลักสูตรก็ให้อาจารย์แต่ละคนนำซ้อมการสอนให้ทุกคนได้ช่วยกันฟังและ Comment  สำหรับคนที่ภาษาอังกฤษยังไม่ค่อยแข็งแรงก็จะไม่ต้องห่วงเพราะจะมีทีมนั่งให้กำลังและคอยช่วยเหลือกันเป็นหมู่ไม่มีการทิ้งกันเด็ดขาด เพราะเราถือคติ "หนึ่งคนหัวหาย สองคนเพื่อนตาย" ดังนั้นเวลาสอนก็จะใช้เทคนิคสอนเป็นคู่หูดูโอ

 ทีมวิทยากรที่เป็นพยาบาลของสถาบันเรียงจากซ้ายไปขวา

อ.กรุณา, อ. ถนอมจิตต์, อ.เยาวรัตน์, ดิฉันเอง, อ.พันธ์ทิพย์

 

ดังนั้นดิฉันจึงถือว่ารุ่นนี้เป็น รุ่นลองของ (ใหม่) ของทุกคนแต่แฝงความสนุกสนานในระหว่างการเรียนการสอนตลอดเพราะเหตุผลต่อไปนี้

  1. ทีมวิทยากรผู้สอน (ก็) เป็นมือใหม่ทดลองสอน
  2. ทีมวิทยากรผู้สอนทดลองสอนหลักสูตรอบรมที่ใหม๊...ใหม่..ซิง ๆ สด ๆ ยังไม่ได้ทดลองที่ไหนมาก่อน
  3. ทีมวิทยากรผู้สอน ถ่ายทอดประสบการณ์เก๋าจากการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ให้กับผู้เข้าอบรมมือใหม่ที่ไม่เคยได้เห็นผู้ป่วยดังกล่าวในประเทศตนเอง
  4. วิทยากรและผู้เข้าอบรมต่างก็รู้สึกใหม่ต่อกันและกัน ได้มาเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ ของกันและกัน

และเมื่อเวลาของการอบรมผ่านไปจนครบ 12 สัปดาห์ และมาถึงวันก่อนพิธิปิดการอบรม 1 วัน ความรู้สึกของทั้งวิทยากรและผู้เข้าอบรมก็ไม่ใหม่ต่อกันและกันอีกต่อไปแล้ว เรามีการจัดงาน Farewell Party ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2548 บรรยากาศในงานมีการแสดงความยินดี ความสนุกสนาน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการมอบบทเพลงให้กันและกัน ไม่มีคำว่าอาจารย์และผู้เข้าอบรม จะมีก็แต่คำว่าเพื่อนในวิชาชีพเดียวกัน

 ทีมจากบังคลาเทศร่วมกันร้องเพลงในวัน Farewell Party

  โชว์ลีลาน่าดู๊....จากบังคลาเทศ

 

วิทยากรบำราศและศิริราชร่วมกันร้องเพลงกับทีมจากอินโดนีเชีย

 สนุกกันจนไม่รู้ใครเป็นใคร ลองทายซิว่าคนไหนเป็นคนไทย คนไหนเป็นชาวอินโดนีเชีย

และในวันพิธีปิดวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 ก็มาถึง...เมื่อมีการพบก็ต้องมีการจากลา ในความรู้ที่มีและถ่ายทอดไปให้กับและกันแฝงด้วยความประทับใจที่มีในกันและกัน ขอบอกว่าวันอำลาถึงแม้จะต่างเชื้อชาติกันแต่ความผูกพันที่มีในระยะ 12 สัปดาห์ถึงกับทำให้หลายต่อหลายคนน้ำตาซึมในความรัก ความมีน้ำใจให้กันและกัน และคำสัญญาว่าเราจะไม่ลืมกัน

"น้ำตามีวันหยุดไหล แต่มิตรภาพและน้ำใจไม่มีวันหมด"

 

 

หมายเลขบันทึก: 54254เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2006 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
ขอบคุณหนูเล็ก  และทีมงานของกลุ่มการพยาบาลทุกคนที่พยายามสร้างชื่อเสียงให้องค์กรของเราค่ะ     เล็กเล่าทำให้เห็นบรรยากาศจริงๆของงานที่ผ่านทั้งความทุกข์  ความกังวล  รวมทั้งความสุขของความสำเร็จค่ะ       

อ่านแล้วประทับใจในทีมงานมาก ๆ ค่ะ

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ...กว่างานชิ้นหนึ่งสำเร็จลงได้ต้องใช้ความอดทน ความร่วมมือของทุก ๆ ฝ่าย

รู้สึกชื่นชมและยินดีกับความสำเร็จขององค์กรคุณภาพเช่นบำราศจริง ๆ

  • ท่านผ.อ.คะ
  • เล็กอยากถ่ายทอดให้รู้ว่าการจะนำความรู้ฝังลึกจากคนไปสู่ผู้อื่นนั้นก็ยากอยู่แล้ว แต่นี่ยังต้องถ่ายทอดโดยต้องใช้ภาษาอังกฤษอีกมันยากยิ่งกว่านะคะ แต่สิ่งที่ตอบรับกลับมาก็คุ้มค่าค่ะ เพราะทำให้ผู้รับการอบรมเกิดความพึงพอใจ และชื่นชมทีมบำราศเป็นอย่างมาก
  • "ชื่นชมด้วยวาจาดีกว่ามอบสิ่งของมีค่าให้"
  • คุณ Mind
  • คำชื่นชมที่มีให้ดิฉันถือว่ามีค่ายิ่งสำหรับคนทำงานค่ะ
  • จะขอนำคำชมของคุณไปฝากให้กับทีมงานเพื่อให้เกิดพลังใจต่อไปค่ะ
  • รู้สึกว่าดีเยี่ยมเลยครับ ถ้ามีชาวลาว กัมพูชา พม่ามาร่วมด้วยคงสนุกและหลากหลายมากกว่านี้
  • ดีใจด้วยครับที่บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ
  • รู้สึกอย่างไรบ้างครับ
  • ขอบคุณมากครับที่แวะไปเยี่ยม
  • มีผู้เข้าอบรมจากประเทศศรีลังกาและพม่าในรุ่นที่ 2 และ 3 ค่ะ
  • สำหรับลาวมีทุกรุ่นค่ะ...ก็ทีมวิทยากรไงคะมาจากโคราชและชัยภูมิค่ะ...อิอิอิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท