กฎหมายเกี่ยวกับโรงเรียนกวดวิชา


ระเบียบว่าด้วยเรื่อง การกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา

สิ่งที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา คือ  

1. ต้องดำเนินการขออนุญาตต่อกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา พ.ศ. 2534 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน

2. พระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองเด็ก  3.กฎหมายแรงงานและสวัสดิการ

 ตัวอย่าง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา

                    โรงเรียนกวดวิชา 

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา
พ.ศ. ๒๕๔๕
---------------------------

                     ด้วยกระทรวงศึกษาธิการ เห็นสมควรปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้เหมาะสมและเอื้อประโยชน์แก่ผู้เรียนและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน
                     ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๖ มาตรา ๑๗ และมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๒๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
                     ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา พ.ศ. ๒๕๔๕
                     ข้อ ๒ ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
                     ข้อ ๓ ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชน ประเภทกวดวิชา พ.ศ. ๒๕๔๔ บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
                     ข้อ ๔ ในระเบียบนี้โรงเรียนหมายความว่า โรงเรียนกวดวิชาที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกวดวิชา บางวิชาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการในระดับประถมศึกษาปีที่ ๕ ถึงระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ และระดับมัธยมศึกษาสื่อหมายความว่า เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน เช่น เครื่องวีดีทัศน์ ระบบโทรทัศน์วงจรปิด เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่สามารถถ่ายทอดสัญญาณภาพ และเสียงจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งได้เจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียนหมายความว่า บุคลากรทางการศึกษาหรือครูผู้ช่วย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความประพฤติของนักเรียนและรักษาระเบียบแบบแผนของห้องเรียน ดูแลการใช้สื่อและสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนการสอน
                     ข้อ ๕ ลักษณะการจัดการเรียนการสอน
                               ๕.๑ จัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูเป็นผู้สอน
                               ๕.๒ จัดการเรียนการสอนในลักษณะผสม โดยมีทั้งครูผู้สอนและสื่อ
                               ๕.๓ จัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อ
                     ข้อ ๖ สถานที่ตั้งโรงเรียนและอาคาร
                          ๖.๑ สถานที่และบริเวณที่ตั้งโรงเรียนต้องมีลักษณะกว้างขวางและเหมาะสม พอแก่กิจการของโรงเรียน โดยต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ตารางเมตร ไม่ขัดต่อสุขลักษณะหรืออนามัยของนักเรียน การคมนาคมสะดวก ตั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรม ที่อาจเกิดภัยอันตรายใด ๆ หรืออยู่ใกล้สถานที่อื่นที่ไม่เหมาะสมแก่กิจการของโรงเรียน
                            ๖.๒ ต้องมีกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือกรณีเช่าต้องมีสัญญาเช่าอาคาร จากผู้มีสิทธิในการให้เช่า มีกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๓ ปี โดยระบุวัตถุประสงค์การเช่า เพื่อใช้จัดตั้งโรงเรียน ยกเว้นกรณีการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ราชพัสดุ ที่ศาสนสมบัติกลาง ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ
                            ๖.๓ อาคารต้องเป็นเอกเทศ หรืออาคารร่วมต้องแยกเป็นสัดส่วน ไม่ปะปน
กับกิจการอื่น และเป็นอาคารที่มีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะใช้จัดการเรียนการสอน
                             ๖.๔ ต้องเป็นอาคารที่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหรือใบอนุญาตต่อเติมอาคารจากทางราชการ ให้ใช้เป็นอาคารเรียนเพื่อการศึกษา เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถหาเอกสารจากทางราชการได้ ให้วิศวกรที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมาย ว่าด้วยวิชาชีพวิศวกรรม เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร
                     ข้อ ๗ ห้องเรียน
                           ๗.๑ ห้องเรียนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้ครูเป็นผู้สอน ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ ๑ ตารางเมตรต่อนักเรียน ๑ คน จำนวนนักเรียนไม่เกินห้องละ ๔๕ คน
                           ๗.๒ ห้องเรียนที่จัดการเรียนการสอนลักษณะผสม โดยมีทั้งครูผู้สอนและสื่อ ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ ๑ ตารางเมตร ต่อนักเรียน ๑ คน จำนวนนักเรียนไม่เกินห้องละ ๙๐ คน
                           ๗.๓ ห้องเรียนที่จัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อ ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ ๑ ตารางเมตร ต่อนักเรียน ๑ คน จำนวนนักเรียนไม่เกินห้องละ ๙๐ คน
                           ๗.๔ ห้องเรียนที่จัดแบบห้องบรรยายขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นครูผู้สอน อาจมีนักเรียนเกินห้องละ ๙๐ คน ใช้เกณฑ์คำนวณความจุ ๑ ตารางเมตรต่อนักเรียน ๑ คน และจะต้องเพิ่มสื่อ และเจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียนตามสัดส่วนนักเรียน
                     ข้อ ๘ การจัดอาคารสถานที่และความปลอดภัย
                           ๘.๑ ห้องเรียน ห้องประกอบ ต้องมีแสงสว่างพอเพียงและมีระบบถ่ายเทอากาศที่ถูกสุขลักษณะ
                           ๘.๒ มีห้องธุรการและหรือห้องพักครูแยกต่างหากจากห้องเรียน
                           ๘.๓ จัดให้มีพื้นที่หรือห้องสำหรับพักผ่อนให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียนที่มีอยู่ตามสมควร
                           ๘.๔ จัดให้มีน้ำดื่ม น้ำใช้ที่สะอาดถูกสุขลักษณะให้เพียงพอตามจำนวนนักเรียนที่มีอยู่
                           ๘.๕ มีห้องส้วมแยกชาย-หญิง โดยถืออัตราส่วนจำนวนนักเรียน ๓๕ คน ต่อ ๑ ที่ สำหรับการเปิดสอนในแต่ละรอบเกิน ๒๐ คนขึ้นไปให้เพิ่มอีก ๑ ที่
                           ๘.๖ ต้องจัดให้มีทางหนีไฟตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๗ (พ.ศ. ๒๕๔๐) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ ในเรื่องการป้องกันอัคคีภัย
                     ข้อ ๙ เจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียน และการใช้สื่อ
                           ๙.๑ ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียนตลอดเวลา ที่มีการจัดการเรียนการสอนในอัตราส่วน ๑ คน ต่อนักเรียน ๑ ห้อง
                           ๙.๒ สื่อโทรทัศน์หรือฉากรับภาพ ต้องมีขนาดใหญ่เพียงพอให้นักเรียน สามารถมองเห็นและเข้าใจเรื่องราวที่สื่อนำเสนอได้อย่างชัดเจน โดยจะต้องให้มีสื่ออย่างน้อย ๑ เครื่องต่อนักเรียน ๑๕ คน
                     ข้อ ๑๐ คุณสมบัติของครู และเจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียน
                           ๑๐.๑ ครูจะต้องมีความรู้ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนด ความรู้และประสบการณ์ของผู้ขอรับใบอนุญาตให้เป็นครูใหญ่ และความรู้ของผู้ขอรับใบอนุญาต ให้เป็นครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.๒๕๒๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
                           ๑๐.๒ เจ้าหน้าที่ประจำห้องเรียนต้องมีความรู้ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และมีทักษะในการใช้สื่อ
                     ข้อ ๑๑ ค่าธรรมเนียมการเรียน
                           ๑๑.๑ การเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาเอกชน โดยให้เก็บได้ในอัตรา ดังนี้ การเรียนการสอนโดยใช้ครูผู้สอน ให้เก็บในอัตราที่สูงกว่าการเรียนการสอนโดยใช้สื่อผสมครู ส่วนการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือจะต้องเก็บในราคาต่ำสุด
                           ๑๑.๒ กรณีที่นักเรียนได้ชำระค่าธรรมเนียมการเรียนแล้ว มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถเข้าเรียนตามหลักสูตรที่สมัครเรียน ให้ผู้รับใบอนุญาตคืนเงินค่าธรรมเนียมการเรียนให้แก่นักเรียนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในระเบียบการของโรงเรียน ส่วนอัตราการคืนเงินให้เป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนกำหนด
                     ข้อ ๑๒ ให้ผู้รับใบอนุญาตติดประกาศให้เห็นได้ชัดเจนในเรื่องต่อไปนี้ คือ
                           ๑๒.๑ ใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการโรงเรียน
                           ๑๒.๒ ใบอนุญาตให้เก็บค่าธรรมเนียมการเรียน
                           ๑๒.๓ เกณฑ์มาตรฐานการจัดตั้งโรงเรียน
                           ๑๒.๔ ข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น รายชื่อครูอาจารย์ และหลักสูตรการเรียน
                     ข้อ ๑๓ โรงเรียนจะต้องจัดทำรายงานการดำเนินกิจการเสนอต่อผู้อนุญาตทุกปี และจะต้องมายื่นขอต่อใบอนุญาตทุก ๆ ๓ ปี ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนกำหนด
                     ข้อ ๑๔ ให้เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาเอกชน รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตามระเบียบนี้

                                               ประกาศ ณ วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕

                                                              ปองพล อดิเรกสาร
                                                        (นายปองพล อดิเรกสาร)
                                               รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

หมายเลขบันทึก: 54240เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2006 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ทำให้รู้ข้อมูลที่ดีมากเลย

ได้ความรู้มากค๊ะแต่อยากรู้ว่ามีระเบียบปี2549ออกมาใหม่อยากให้ส่งมาให้ดูด้วยค๊ะขอขอบคุณล่วงหน้านะคะ สวัดดี

ถ้าไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงเรียนกวดวิชา เเต่ เป็นประเภทแฟรนไชส์ เเล้วขึ้นป้ายว่าโรงเรียนจะผิดใหมครับ ช้วยต่อบที

ถ้าเปิดคอสการบ้านสอนบางวิชาในระดับประถมต้องตั้งเป็นโรงเรียนหรือไม่คะ

อยากเรียนเกี่ยวกับกฎหมายเรียนที่ใหนคะ

อากีละห์ สวามิภักดิ์

กรณีเป็นครูสาขาการศึกษาพิเศษ ต้องการเปิดบ้านเพื่อให้บริการด้านการช่วยเหลือ แก้ไข และส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสอดคล้องกับกำหนดที่กล่าวมา แต่ไม่อยู่ในระดับ โรงเรียนหรือสถานศึกษา ต้องดำเนินการ อย่างไรบ้างขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท