เพกาสมุนไพรเป็นยาเพื่อสุขภาพ


คั่วมะลิดไม้ใส่แหนม

 

เพกากำลังโตหลังห้องเก็บของบ้านสวนแม่ริมเชียงใหม่

 

เพกา หลายๆคนคงไม่คุ้นกับชื่อนี้นะคะ มารู้จักที่เชียงใหม่ด้วยชื่อ มะลิ้นไม้ อาหารที่ได้ชิมครั้งแรก ก็คือ คั่วมะลิ้นไม้ใส่่แหนม  ชอบและอร่อย เพกานั้นมีชื่อเรียกตามท้องถิ่นหรือแต่ละภาคของไทยไม่เหมือนกัน สรรพคุณประโยชน์ของเพกาจากทั้งต้นนั้นส่วนที่เป็นเปลือกมีประโยชน์มากที่สุด แต่การทำอาหารจะใช้ส่วนของฝักอ่อนมากที่สุด ทางเชียงใหม่จะนำมาเผาทั้งฝัก จิ้มน้ำพริกหรือกินกับลาบ เมื่อเผารสที่ขมจะออกหวาน อร่อย บางบ้านชอบที่จะเผาก่อนแล้วถึงนำมาทำอาหารอื่นๆที่ไม่ใช้จิ้มน้ำพริก เพราะเนื้อของฝักเพกาจะิ่ิอ่อน นิ่มมากกว่าทำอาหารแบบสด แต่ถ้าหั่นบางๆทำสดก็นิ่มได้ ก่อนจะคั่วมะลิดไม้ใส่แหนมเรามาทราบสรรพคุณสมุนไพรเป็นยากันก่อนนะคะ

 

 

เพกา    มะลิดไม้ ,มะลิ้นไม้(เหนือ), ลิ้นฟ้า(อีสาน),เนโก (มลายู)

 

ฝักอ่อน   รสขมร้อน  ขับผายลม

ฝักแก่  รสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ

เมล็ดแก่   รสขม   ระบายท้อง แก้ไอ ขับเสมหะ

เปลือกต้น   รสฝาดขมเย็น   

สมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง ทำให้น้ำเหลืองเป็นปกติ ดับพิษโลหิต

ตำผสมสุรา  พ่นตามตัวสตรีที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ให้ผิวหนังชา

ตำผสมกับน้ำส้มมดแดงกับเกลือสินเธาว์ รับประทานขับลมในลำไส้ แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด

ต้ม รับประทาน แก้เสมหะจุกคอ ขับเสมหะ ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต แก้บิด แก้จุกเสียด

ฝนกับสุรา  กวาดปากแก้พิษซาง เม็ดสีเหลือง แก้ละออง แก้ซางเด็ก ทาแก้ปวดฝี แก้ฟกบวม

ราก   รสฝาดขม   บำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร แก้ไข้สันติบาต แก้ท้องร่วง

ฝนกินกับน้ำปูนใส  ทาแก้อักเสบช้ำบวม

ทั้ง ๕   รสฝาดขมเย็น  สมานแผล แก้อักเสบฟกบวม แก้ท้องร่วง แก้ไข้เพื่อลมและโลหิต แก้น้ำเหลืองเสีย 

 

( ขอบคุณ สรรพคุณเพกา จากหนังสือ เภสัชกรรมไทย ร่วมอนุรักษ์มรดกไทย โดย วุฒิ วุฒิธรรมเวช )

 

เพกาผัดใส่แหนม

 

 

คั่วเพกาใส่แหนม

วิธีทำ

1. เพกาล้างน้ำให้สะอาด หั่นชิ้นบางตลอดแนวฝักตามขวาง

  จะแช่น้ำเกลือ หรือจะเผาก่อน แล้วแต่ผู้ทำ (พอดีเป็นชอบขมและกรอบมากกว่าจึงไม่แช่เกลือหรือเผา )

2. แหนมนำมายีให้กระจายหรือจะหั่นเป็นชิ้นๆก็แล้วแต่ชอบ

3. กระทะตั้งไฟให้ร้อนใส่กระเทียมพอกระเทียมเหลืองใส่เพกาคั้วให้สุกใส่แหนมหากชอบเผ็ดใส่พริกขึ้หนู ปรุงรสด้วยน้ำปลา ชอบหวานเติมน้ำตาลทราย ทุกอย่างให้พอเหมาะกับเพกาและแหนมที่ใส่ในกระทะ อร่อยแล้วตักใส่จาน ควรกินตอนที่ยังอุ่นๆอยู่

 

เพกาอ่อนหั่นชิ้นบางๆ

 

หั่นแหนมผัดเป็นชิ้น

 

เพกาผัดแหนมราดข้าว

 

เพกาเผาจิ้มน้ำพริกหรือกินกับลาบ ฯ

 

อาหารเมนูนี้เหมาะมากกับผู้ที่ไม่คุมอาหารไขมันนะคะ เพราะมีทุกรสในจานเดียว ทั้งเปรี้ยวจากแหนม ขมจากเพกา เผ็ดจากพริกขึ้หนู  หวาน เค็ม ได้โปรตีนและไขมันจากแหนม สมุนไพร มีกระเทียม เพกา พริก หากชอบพริกไทยก็โรยหรือตำใส่ไปกับกระทียมตอนผัดก็ได้จะเผ็ดมากขึ้น หากไม่ชอบเผ็ดก็ไม่ต้องใส่  เพกา หากจะให้นิ่มต้องผัดนานหน่อย หรือเผาให้สุกก่อน หรือหั่นบางๆขย้ำกับน้ำเกลือ ก็ทำให้นิ่มได้ดีต่อผู้สูงวัย หากฟันดีก็หั่นเสร็จผัดได้เลย เพราะฝักอ่อนๆนั้น ผัดแค่พอสุก เนื้อเพกาจะกรอบ และไม่ขมมาก 

ด้วยความปรารถนาดี   กานดา แสนมณี

 

 

ต้นเพกาสูงโปร่งอยู่หลังบ้านที่สุพรรณ (ในภาพอยู่ตรงกลางนะคะ )

 

หมายเลขบันทึก: 541286เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 16:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ผมเก็บดอกเพการ่วงตอนเช้าวันละ 3-4 ดอก จ้ิมน้ำพริกกินทุกวัน ดอกมีสรรพคุณอะไร ขอขอบคุณครับ

เคยกินฝักเพกาเผาไฟ แล้วจิ้มน้ำพริก อร่อยดีจ้ะ

แถวบ้านดิฉันเรียก หมาก "ลิ้นไม้" ค่ะ อร่อยมาก หากใครชอบรสขม สมุนไพรที่ดีมากๆ เลยนะคะ

-สวัสดีครับ..

-บะลิดไม้....ขมหน่อย ๆ.

-นำมาหั่นแช่น้ำปลาหน่อย ๆ 

-อร่อยพร้อมกับน้ำพริกซักถ้วยครับพี่กานดา..

-ขอบคุณครับ..


มีประโยชน์ แต่หนู ขอเลือกเมนู แหนมไข่เจียวน๊า

ตอนหัดปลูกต้นไม้..เห็น..ต้นเพกาเป็น..ครั้งแรก..ในชีวิต..ต้นไม้นี้..เติบโต..สูงใหญ่..รวดเร็วมาก..ภายในหนึ่งปีจะมีความสูงที่สองเมตรขึ้นไป..เมื่อมีฝัก..ชาวบ้านเก็บไม่ถึง..จะ..โค่นต้น..เพื่อเก็บฝัก...(ไม้ลิ้นฟ้า..เป็นไม้..มีน้ำหนักเบา..ใช้ทำบานเฟี้ยม..สมัยก่อน...น่าเสียดาย..ที่เราไม่เห็น..ความสำคัญ..ของต้นไม้..ที่เรามีอยู่ใน..ธรรมชาติ...นะเจ้าคะ...(ยายธี)

...เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก...เคยได้ยินแต่ชื่อค่ะ...ขอบคุณค่ะ

  เคยเห็นเมนูเผาครับ 

แต่ไม่เคยชิมสักเมนู 

เพราะไปเจอในต่างจังหวัด 

เลยไม่ค่อยกล้าลองชิมอะไรนัก

ขอบคุณสำหรับข้อมูลความรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท