การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม :หัวใจอุดมศึกษา : ๑๒. เรียนเพื่อชีวิตที่มีเป้าหมายและมีความหมาย



          บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmerและ Arthur Zajoncซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี“พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน(Transformative Learning)

          แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา   แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

          ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่การศึกษากระแสหลักเพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

          การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

          ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง 

          บันทึกตอนที่ ๑๒ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของAppendix A : In the Classroom  เรื่อง Putting Students First : Promoting Lives of Purpose and Meaning เขียนโดย Larry A. Braskamp, Loyola University Chicago, Lois Trautvetter, Northwestern University, and Kelly Ward, Washington State University  เล่าเรื่องการพัฒนา นศ. ให้เกิด Transformative Learning โดยการดำเนินการทั่วทั้งมหาวิทยาลัยหรือวิทยาเขต  โดยสรุปมาจากหนังสือที่ทั้ง ๓ ท่านร่วมกันเขียนคือ Putting Students First : How Colleges Develop Students Purposefully

          คำตอบอย่างสั้นที่สุดคือ เปลี่ยนเป้าหมายการเรียนรู้ วัฒนธรรม บรรยากาศ ความสัมพันธ์  และระบบการทำงาน การนับผลงาน การให้คุณให้โทษแก่อาจารย์  คือต้องเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน  โดยต้องเริ่มจากอาจารย์  อาจารย์ต้องมี Transformative Learning Skills

          เป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัย ที่ดำเนินการตามแนวนี้ คือดำเนินการเพื่อช่วยส่งเสริมให้ นศ. เป็นคนที่มีเป้าหมายในชีวิต และเป้าหมายหนึ่งคือ การมีชีวิตที่มีความหมาย หรือชีวิตที่เกิดมาเพื่อทำประโยชน์ให้แก่โลกคือไม่ใช่แค่มีเป้าหมายให้เก่งวิชาเท่านั้น  แต่เพื่อพัฒนาไปเป็นพลเมืองที่มีสุขภาวะครบด้าน  รวมทั้งเพื่อเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ มุ่งทำประโยชน์แก่ผู้อื่น และแก่สังคม รวมทั้งแก่โลก 

          ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า เมื่อ นศ. บรรลุสภาพนี้ (ในระดับหนึ่ง) ก็จะมีความมุมานะในการเรียน   รวมทั้งช่วยสร้างบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัย ให้เป็น “ชุมชนเรียนรู้”  และเรียนรู้แบบบูรณาการครบทั้ง ๓ ด้านคือสมองใจและวิญญาณบรรลุพัฒนาการในตนครบทั้ง ๔ ด้านคือปัญญาสังคมอารมณ์และจิตวิญญาณตัวอย่างที่ผมเคยไปสัมผัสด้วยตนเองคือที่โรงเรียนแพทย์ของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่ไต้หวัน

          หลักการคือ “ต้องการ องค์รวม ของทั้งวิทยาเขต (Whole campus)  ที่มีบุคคลที่มีความเป็นองค์รวม (whole persons) เพื่อพัฒนา นศ. ให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม (whole student)”ซึ่งผมอยากเสนอชื่อว่า HBE (Holistic-Based Education) โดยหัวใจอยู่ที่การจัดกิจกรรม หลักสูตร บรรยากาศ และความสัมพันธ์ ภายในวิทยาเขต ให้ นศ. มีจุดมุ่งหมายที่มีคุณค่าในชีวิต (purpose)  และส่วนหนึ่งของจุดมุ่งหมายเป็นสิ่งที่มีความหมายสูงส่ง (meaningful) ด้านจิตใจ  จะเห็นว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เพื่อบรรลุการงอกงาม Head, Heart และ Spirit ทั้งสามด้านไปพร้อมๆกัน

          บรรยากาศที่สำคัญคือบรรยากาศของความร่วมมือ (collaboration)  ร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติทั้งระหว่างนศ. ด้วยกันนศ. กับอาจารย์ระหว่างอาจารย์ด้วยกันและกับบุคลากรอื่นๆในมหาวิทยาลัยและกับคนนอกมหาวิทยาลัย

          หัวใจอยู่ที่การจัดอำนวยสิ่งต่างๆ “เพื่อนักศึกษา” เป็นอันดับแรกจัดสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่นศ.  สิ่งแรกที่ให้คือความเคารพตัวตนของนศ.  เคารพเป้าหมายในชีวิตของนศ.  และเห็นคุณค่าของนศ.  มองว่านศ. เป็นคนที่มีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์ในมหาวิทยาลัยและต่อสังคมในอนาคตจุดสำคัญคือชีวิตด้านในของนศ.มีความสำคัญไม่น้อยกว่าชีวิตด้านนอกทั้งสภาพความเป็นจริงของนศ.ในปัจจุบันและเป้าหมายในอนาคตต่างก็ได้รับความเคารพ  และได้รับการส่งเสริมให้เสริมพลังกันทำหน้าที่เป็นรากฐานของชีวิตที่ดีในอนาคต

          Provost ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กล่าวว่า “เราส่งเสริมให้หัวใจเป็นผู้ชี้นำชีวิตทางปัญญาของ นศ.”หัวใจต้องเหนือสมองเพื่อพัฒนาไปสู่ความเป็นคนที่มีเป้าหมายสูงส่งในชีวิตคือเกิดมาเพื่อรับใช้โลก

          ใน ๑๐ มหาวิทยาลัยที่คณะผู้เขียนไปศึกษาคณาจารย์ได้รับการส่งเสริมให้แสดงบทบาทเป็น “บุคคลองค์รวม” (whole person) ในความสัมพันธ์ต่อนศ.  คือแสดงทั้งความสัมพันธ์เชิงปัญญา (cognitive), และมิติด้านภายใน (intrapersonal)  และมิติด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล(interpersonal)

          เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวมของนศ. ความสัมพันธ์บนฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันรวมทั้งความเคารพความเปิดเผยทั้งในห้องเรียนและในปฏิสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการเช่นในห้องอาหารที่หอพักที่บ้านของอาจารย์

          การพัฒนานศ. อย่างเป็นองค์รวมต้องการการพัฒนาอาจารย์อย่างเป็นองค์รวมอาจารย์ต้องได้รับการประเมินและส่งเสริมให้ทำหน้าที่พัฒนานศ.อย่างเป็นองค์รวมโดยคำนึงถึงการที่อาจารย์ทำหน้าที่สนองความต้องการในการเรียนรู้แบบ holistic ของ นศ.ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงสอนหรือฝึกวิชาชีพ หรือวิชาความรู้สำหรับไปทำงาน

          วงการอุดมศึกษาไทย เอียงไปทางให้ความสนใจเพียงด้านความรู้เพื่อการทำงาน  ไม่สนใจการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ  บัดนี้ถึงเวลาแล้ว ที่จะปฏิรูปเสียใหม่  การประเมินสถาบันการศึกษาทุกระดับ ไม่ว่าจะโดย สมศ. หรือหน่วยงานอื่น เช่น EdPExของ สกอ. ควรได้เอาใจใส่ประเด็นนี้ด้วย

          การศึกษาไทยในปัจจุบัน หลงเน้นการเรียนวิชา  ไม่ได้เน้นการเรียนรู้ครบทุกด้านของ นศ.   การประเมินผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ (Learning Outcome) ก็ยังประเมินเฉพาะด้าน Intellectual Outcome  ไม่ได้วัดอีก ๓ ด้าน คือ Social, Emotional, และ Spiritual Outcome 

          การประเมินผลงาน และภาระงานของอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยไทย ก็ยังประเมินเฉพาะผลงานและภาระงานด้าน Intellectual Learning ของ นศ. เท่านั้น   นี่คือสิ่งสำคัญที่จะต้องแก้ไข  คือต้องนับเวลาทำงานเข้าร่วมกิจกรรม campus activities ซึ่งมีการออกแบบและจัดเพื่อช่วยให้ นศ. (และอาจารย์) เกิดการเรียนรู้ครบทั้ง ๔ ด้าน  รวมทั้งเพื่อให้ นศ. พัฒนาชีวิตที่มีเป้าหมายของตนเอง และมีความหมายต่อสังคม  หากจะพัฒนาระบบอุดมศึกษาไทย ให้เน้นการเรียนรู้บูรณาการ

          ทั้ง นศ. และอาจารย์ ต้องเรียนรู้ร่วมกันใน campus life / activities เพื่อพัฒนา “ความเป็นมืออาชีพ” (vocation / professionalism)  และความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ (identity) ของตนเอง  โดยที่กิจกรรมภายในวิทยาเขตควรได้ปลูกฝังพัฒนาความภาคภูมิใจในความเป็นมืออาชีพในการทำงานเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น และแก่สังคม   จิตวิญญาณนี้ของอาจารย์ และบรรยากาศในวิทยาเขตที่อบอวลไปด้วยคุณค่าของการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น และแก่ส่วนรวม จะช่วยปลูกฝังกล่อมเกลาหัวใจ และจิตวิญญาณของ นศ.  ซึ่งจะยิ่งดี หากจะขยายไปสู่หัวใจที่รักเพื่อนมนุษย์ ทุกชาติ ทุกศาสนา  และให้คุณค่าแก่ชีวิตที่ทำประโยชน์ให้แก่โลก 


          ผู้เขียนได้แนะนำตัวอย่างคำถาม สำหรับเสวนากัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนา นศ. และอาจารย์อย่างรอบด้าน


·  สถาบันของท่านมีพันธกิจ และเอกลักษณ์ อย่างไร ในด้านการส่งเสริมพัฒนาการองค์รวม หรือรอบด้าน (holistic development)

·  ใครคือผู้นำในสถาบันของท่าน ในการชี้ทางแก่ นศ. เพื่อค้นหาเป้าหมายและความหมายในชีวิตของตน

·  อาจารย์ในสถาบันของท่านมีความคาดหวังหรือท่าทีอย่างไร ต่อการชี้ทางแก่ นศ. ในการพัฒนาด้านปัญญา สังคม ความเป็นพลเมือง กายภาพ ศาสนา จิตวิญญาณ และศีลธรรม

·  มีความท้าทาย อุปสรรค และโอกาส ที่สำคัญอะไรบ้าง ที่สถาบันของท่านจะต้องจัดการเพื่อสร้างบรรยากาศภายในวิทยาเขต ให้เกิดพัฒนาการองค์รวม ที่คำนึงถึงการเป็นส่วนหนึ่งของโลก

·  ท่านส่งเสริมและเตรียมความพร้อมแก่อาจารย์อย่างไร  เพื่อให้ทำงานร่วมกับ นศ. ในการเชื่อมโยงหลักสูตร ภายในสถาบันของท่าน

·  สถาบันของท่านนิยามคำว่าความเป็นชุมชน (community) อย่างไร  ท่านและเพื่อนอาจารย์จะช่วยกันสร้างความเข้มแข็งของความเป็นชุมชน ในวิทยาเขต อย่างไร

·  วิทยาเขตของท่านดำเนินการเกี่ยวกับ “ชีวิตที่ดี” อย่างไร


          เราสามารถตั้งคำถามที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในแต่ละมหาวิทยาลัยได้  โดยมีหลักว่า ให้เป็นคำถามไปสู่การสร้างสรรค์ (ซึ่งในที่นี้คือการสร้างสรรค์บรรยากาศที่กล่อมเกลา นศ. ให้มีเป้าหมายและความหมายในชีวิต)  ไม่ใช่ไปสู่ปัญหาและการแก้ปัญหา



วิจารณ์  พานิช

๘ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 541283เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท