จิตตปัญญาบนฐานภูมิปัญญาชุมชน: หรืออิสรภาพจะยอมรับการถูกคุมขัง ?


นิสิตในชั้นเรียนวิชาวรรณกรรมทางการศึกษา ได้ตั้งประเด็นวิพากษ์ที่น่าสนใจ การถามตอบในครั้งที่ ๒ ทำให้ผมกลับมาย้อนคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ใครหลายคนพยายามนำเสนอให้การศึกษา

ผมมีความเห็นโดยสุจริตใจว่า เราเองมิได้เข้าใจถึงแก่นแท้อันเป็นราก เป็นฐานของสิ่งที่เรารู้ 

เราอยู่ในสังคมที่รู้กันอย่างผิวเผิน ผมเองก็รู้อย่างผิวเผินเต็มที ความผิวเผินนี้ ทำให้เราเห็นความจริงบิดเบี้ยว

หลายคนพยายามพูดถึงการพัฒนาจิตบนพื้นฐานของโลกจริง
ฐานนี้บิดเบี้ยว

และการศึกษาไม่น่าจะอยู่บนฐานที่บิดเบี้ยวได้ 





คำบรรยายครั้งที่ ๒

จิตตปัญญาบนฐานภูมิปัญญาชุมชน: หรืออิสรภาพจะยอมรับการถูกคุมขัง ?


เฉลิมลาภ ทองอาจ[*]


             เมื่อกระแสโลกาวิวัตน์ (globalization) ขยายอิทธิพลครอบคลุมการศึกษา ประเทศน้อยใหญ่  ในโลก จึงมีแนวโน้มที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายใต้แนวคิดเดียว หรือหลักการเดียวกันไปเสียหมด  ทุกประเทศต่างมุ่งจัดการศึกษา  ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีปัญญาความรู้ และมีสมรรถนะอันสูง ที่จะปฏิบัติวิชาชีพต่าง ๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญชำนาญ การจัดการศึกษาของทุกสถาบันการศึกษากระแสหลัก  จึงหมายถึงการให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ และพัฒนาเพิ่มพูนทักษะที่สำคัญ  สำหรับการประกอบอาชีพ


              อย่างไรก็ตาม การศึกษาแบบ “หนึ่งเดียว” นั้น แม้จะก่อให้เกิดคุณูปการเพียงใดก็ตาม  แต่ก็มีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่า วิกฤติการณ์ต่าง ๆ ในโลก มีสาเหตุเกิดแต่การศึกษาลักษณะนี้ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ตอบสนองต่อระบบทุนนิยม  ที่สุดแล้ว จึงกลายเป็นความทุกข์ยากของแผ่นดิน และควรเสียเหลือเกินแล้ว ที่จะหันกลับไปสู่วิถีท้องถิ่น อันมีชุมชนเป็นฐานที่ตั้ง แล้วใช้ชุมชนนั้นเอง เป็นฐานของ  การจัดการศึกษา  โดยหวังว่าการเรียนรู้วิถีชีวิตหรือภูมิปัญญานั้น  จะนำไปสู่ปัญญาระดับสูง  อันประกอบด้วย  จิตสำนึกใหม่  วิถีคิดใหม่ และการพัฒนาอย่างใหม่ (ประเวศ วะสี, ๒๕๕๔: ๓๓) 


               เมื่อวาระท้องถิ่นนิยม (localism) ได้รับการเชิดชูขึ้น เพื่อเผชิญกับโลกาวิวัตน์ โดยมีการศึกษาเป็นเครื่องมือดังที่กล่าวมา  คำถามที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ การศึกษาที่ใช้แนวคิดท้องถิ่นนิยมหรือวิถีชีวิตชุมชนเป็นฐาน จะทำให้ผู้เรียนหลุดพ้นไปจากแนวคิดวัตถุนิยมได้จริงหรือ  หรือโดยเนื้อแท้แล้ว  เป็นแต่เพียงการลวงให้หลงไปติดกับกรอบความคิดอีกอย่างหนึ่ง คล้ายกับการเปลี่ยนกรอบที่คลุมอยู่เสียใหม่  แทนที่จะปลดกรอบเหล่านั้นออก และนำตนเองไปสู่อิสรภาพโดยแท้ 


                นักการศึกษาแนวคิดท้องถิ่นนิยม ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นความรู้ที่ผูกติดกับพื้นที่หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งมานาน แบบแผนที่สร้างความเจริญให้กับกลุ่มชนเหล่านี้  ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ ลองผิด ลองถูก และสร้างเป็นองค์ความรู้ขึ้นในที่สุด ด้วยเหตุนี้  พวกเขาจึงมีแนวคิดว่า  การศึกษาจึงควรเริ่มต้นจากการหันกลับมาให้ความสำคัญกับความรู้เหล่านี้ อันความรู้ภายนอกท้องถิ่น ได้แก่ ความรู้ในสรรพวิทยาการจากต่างประเทศ ที่หาได้จากตำรับตำรา  ทั่วไปนั้น  นักการศึกษาท้องถิ่นนิยมกลับเห็นว่า  มิได้เป็นสิ่งที่ก่อประโยชน์แท้จริงต่อชีวิต ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากเป็นการเรียนรู้นอกฐานวัฒนธรรม  หาใช่เป็นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติไม่  เมื่อเรียนแล้วจึงปฏิบัติไม่เป็น ขาดความฉลาดหรือปัญญาในการปฏิบัติ  (practical intelligence)  เยาวชนหรือผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาจึงดำรงชีวิตอยู่ในสังคมจริงมิได้  ที่สุดก็จักกลายเป็นความสูญเปล่ามหาศาล  และก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาต่าง ๆ ตามมา (ประเวศ วะสี, ๒๕๕๔: ๑๘)  การเรียนแบบ  ท่องตำรานั้น จึงก่อให้เกิดความทุกข์เดือนร้อนไปทั่ว  ทั้งต่อตัวผู้เรียนคือเยาวชน รวมถึงทุกฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง  แนวคิดดังกล่าวนี้ ได้เน้นย้ำให้เห็นภาวะการปะทะที่ชัดเจนที่สุด  ระหว่างฝ่ายโลกกับ  ฝ่ายท้องถิ่น  ซึ่งฝ่ายหลังนั้น  มีอุปมาดังนำเม็ดทรายเล็กน้อย  ไปวางขวางเพื่อต้านทานคลื่นน้ำทะเลอันโหมซัดด้วยความรุนแรง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม  นักท้องถิ่นนิยมก็ยังคงเชื่อว่า นี่คือการศึกษาที่ควรจะเป็นและจะต้องเป็น  หากเราประสงค์ที่จะฝันฝ่าวิกฤติทุนนิยมไปได้ 


              ท้องถิ่นนิยมหรือภูมิปัญญานิยม คือ สิ่งที่จะทำให้ผู้เรียนหรือเยาวชนหลุดพ้นไปจากพันธนาการของสังคมทุนนิยมหรือไม่นั้น คำตอบย่อมชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นไปไม่ได้ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ  เมื่อใดก็ตาม ที่เกิด  คำว่า “ท้องถิ่นของเรา” หรือ  “ชุมชนของเรา” สิ่งที่ตามมา คือการค้นหาอัตลักษณ์ ความเป็นตัวตน หรือการแต่งเติมอะไรอย่างอื่น เพื่อปรุงให้ความรู้พื้นถิ่น  หรือวิถีชีวิตของชุมชนนั้นเกิดขึ้นมา จากที่เดิมหาได้มีผู้สังเกตไม่ เมื่อเกิดคำว่า “ของเรา” ขึ้น  ความรักและความหวงแหนก็จะมีตามมา  ภาวะเช่นนี้  ย่อมเป็นบ่อเพาะให้เกิดความรักปิตุภูมิ (patriotism) ขึ้นมาในที่สุด  บรรดาสิ่งที่หวงแหน อันได้แก่ วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งรวมเข้าเป็นวิถีคน วิถีชุมชนนี้ หากมองในทัศนะหนึ่ง ก็คือกรอบหรือพันธนาการอะไรบางอย่าง  ที่ผู้มีอำนาจในชุมชนนั้น เป็นผู้คิดขึ้น เพื่อที่จะกุมพลังการผลิตทั้งหมด  และผลักให้คนส่วนใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งด้อยกว่าในแรงทุนนั้น ให้กลายเป็นผู้ปฏิบัติรับใช้  การจัดการศึกษา  ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนกลับไปเรียนรู้ภูมิปัญญา  และวิถีชีวิตท้องถิ่น จึงไม่ต่างจากการเชิญชวนให้ผู้เรียนกลับไปยอมรับอำนาจ  หรือกรอบบางอย่างที่มีอยู่เดิม  และที่สำคัญ  วัฒนธรรมทั้งที่เป็นวัตถุ  วิถี  วิธี  ระบอบ หรือไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม ในที่สุด  ย่อมกลายมาเป็นเงื่อนไข  บีบบังคับ  ให้ผู้คนในวัฒนธรรมนั้น จะต้องกระทำ  หรือเป็นไปตามแบบแผนอย่างหนึ่งทั้งสิ้น สิ่งที่พวกเขาดำเนินตามครรลองไปนั้น จึงหาได้เป็นตัวตนของเขาแต่แท้จริงไม่  เพราะในความเป็นจริงแล้ว  เขาได้ถูกสิ่งที่เขาผลิตหรือสร้างขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี  ภูมิปัญญา ฯลฯ มามีอิทธิพลเหนือเขา  เป็นนายและบังคับ  ทำให้เขาต้องคิดเช่นนั้น ทำเช่นนั้น และเป็นเช่นนั้น อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  (Marx, ๑๘๕๙ อ้างถึงใน Levene, ๒๐๑๓: ๑๔๑)


              ดังที่ได้กล่าวมา  จึงเป็นความจริงที่ว่า  การศึกษาบนฐานวิถีชีวิต  หรือการศึกษาแนวท้องถิ่นนิยม ที่พยายามจะเชิดชูขึ้นนั้น  มิอาจทำให้ผู้เรียนเป็นอิสรภาพใน  ทางใด ๆ ได้อย่างแท้จริง พวกเขายังตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของวัตถุ ทุน ปัจจัยต่าง ๆ ในชุมชน  เมื่อขาดอิสรภาพเป็นเบื้องต้นเสียแล้ว  จะหาแรงขับเคลื่อนใดเล่า  ที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติภายใน  เพื่อสร้างความคิดใหม่ หรือค่านิยมใหม่ขึ้นมาได้ เพราะตัวพวกเขาเอง  ก็ยังมิสามารถปลดแอกพันธนาการท้องถิ่นเหล่านี้ได้แม้แต่น้อย  ท้องถิ่นนิยมจึงอาจจะไม่ใช่คำตอบของการเข้าถึงอิสรภาพ  อันเป็นสาระสำคัญของชีวิตและของการศึกษาก็เป็นได้ 

 

_________________________________________

รายการอ้างอิง

ภาษาไทย

ประเวศ วะสี. ๒๕๕๔. ระบบการศึกษาที่แก้ความทุกข์ยากของแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. นครปฐม:   ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล.

ภาษาอังกฤษ   

Levene, L. 2013. I think, therefore I am. London:   Michael O'Mara Books.


 


[*] ค.บ. (เกียรตินิยมอันดับ ๑)  ภาษาไทย จุฬา ฯ, ค.ม. การสอนภาษาไทย (จุฬา ฯ)

    อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

    คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


หมายเลขบันทึก: 540220เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2013 21:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2013 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณครับอาจารย์ได้ความรู้มากจริงๆจากบทความนี้ครับ ...


ผมอ่านบันทึกนี้ อย่างผ่านๆ ด้วยความเร็ว จนสะดุดกับคำว่า "ท้องถิ่นนิยม" จึงเริ่มตั้งใจอ่านอย่างละเอียด อีกครั้ง สังเกตใจตนเอง เห็นความ "ห่อเหี่ยว" ลงอย่างรู้สึกได้ชัด เพราะผมรู้สึกว่า

  1. ท่านผู้เขียน ไม่น่าจะเข้าใจ แนวทางของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี  สำหรับความเข้าใจของผม  แนวนั้นไม่ใช่ "ท้องถิ่นนิยม" หรือ .....อะไร....นิยม ทั้งนั้น   แนวทางของ ศ.นพ. ประเวศ วะสี   เป็นการศึกษาเพื่อเรียนรู้ความจริง ความจริงของธรรมชาติ ปลายทางคือความรู้แจ้งอริยสัจจะ  ซึ่งเป็นสิ่งที่เหนือไปกว่าวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมทุกวันนี้ ...... ความจริงเรื่องนี้ไม่ต้องโต้เถียงกันมาก หากพิจารณาศึกษาตามหลักพุทธ ที่ ศ.นพ.ประเวศ ท่านถือเป็นฐาน
  2. ประเด็นหลักสำคัญของการเรียนรู้ คือ "รู้ตนเอง" แบบตื่นรู้ตัวเอง ซึ่งจำเป็นต้อง รู้ "เรา" เช่น ครอบครัวของเรา ชุมชนของเรา สังคมของเรา ประเทศของเรา  ซึ่งหลักพุทธท่านกล่าวไว้ในหมวด หลักสัปปริสธรรม ๗ รู้เหตุ  รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้ชุมชน และรู้จักบุคคล  ก่อนที่จะพัฒนาตนเอง จนมี "ปัญญา" ต่อไป เช่น โลกของเรา จักรวาลของเรา..... เป็นตน    คำว่า..... "นิยม".... เป็นคำที่สะท้อนถึง กรอบและพันธนาการในใจของเราเอง  เพราะหาก "ตื่นรู้" มี "ปัญญา" เห็นตามจริง จะไม่ใช้คำนี้ในใจตนเอง ...

สิ่งที่ผมพบบ่อยในการลงภาคสนามกับการศึกษาในพื้นที่ คือ ผู้บริหารหรือนักวิชาการที่ ติดหล่ม คิดให้ครู ไม่เน้นเรียนรู้ แต่ตัดสิทธิ์ครูด้วยการ "สั่ง" หรือ "บอก"

อ่านแล้วขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตามประสาเด็กเลี้ยงควายกับอาจารย์สักเล็กน้อย
เท่าที่ได้มีโอกาสศึกษาชีวิตผู้คนและแนวคิดของนักการศึกษานักพัฒนาบางท่าน ศึกษาแบบคนไม่มีความรู้อะไรเลยนะ
 ไม่กล้าออกชื่อท่านเหล่านั้น จะเห็นว่าทุกๆท่านนั้น จะมีพื้นฐานความรู้ดีเกี่ยวกับสิ่งใกล้ๆตัว คือครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เช่นปัญญาชนสยามหลายท่าน มีแก่นแกนชีิวิตติดดิน รู้จักตัวเองดี ขณะเดียวกันท่านก็รู้ทะลุถึงแก่นสังคมรอบตัวรอบโลกดีมากเช่นกัน เหมือนท่านเหล่านั้นมีภูมิคุ้มกันดีด้วย จะถูกสิ่งภายนอกจะครอบงำเป็นไปได้ยาก

ความเป็นตัวของตัวเอง แต่ละท่านโดดเด่นจนเราจำได้ติดตา เช่นนักคิดท่านหนึ่งชอบแต่งกายด้วยผ้าแพร ผ้าม่วงออกงาน ในยุคสมัยที่คนในสังคมลืมไปหมดแล้ว อย่างนี้ถือว่าเข้มแข็งในรากเหง้าตัวเอง อาตมาเข้าใจอย่างนั้น ถามว่าดีหรือไม่ดีนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

สตรีเหล็กของประเทศเพื่อนบ้านเรา ที่ได้รางวัลโนเบล เธอโด่งดังไปทั่วโลก เราจะเห็นและสัมผัสได้ถึงความเป็นตัวของตัวเองที่น่าชื่นชมนั้น คือเธอแต่งตัวแบบชาวบ้านเลย ใครเห็นก็รู้ว่าเธอเป็นคนประเทศใด เช่นนี้ก็คือคนไม่ลืมตัวนั่นเอง

อาตมาเข้าใจผิดหรือเปล่าไม่แน่ใจ เหมือนกับอาจราย์กำลังมองว่าคนที่นิยมท้องถิ่น จะเป็นคนใจแคบ ปฏิเสธความเป็นจริงของสังคม ปิดกั้นตัวเอง

เท่าที่รู้จักคนประเภทนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นคนจิตใจกว้างขวาง ชอบช่วยเหลือมุ่งมั่นพัฒนาสังคม ทำงานหนัก ห่วงใยสังคม อุทิศเวลาให้กับชุมชน(ก็คือสังคมหรือโลกโดยรวมนั่นเอง)

ที่พบเห็นและเป็นไปในตอนนี้ คือส่วนมากไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักรากเหง้า ดูถูกตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย เมื่อเข้าใจตัวเองอย่างนี้ ทำให้คนส่วนใหญ่ กลับบ้านไม่ถูก อยู่ในชุมชนตัวเองไม่ได้ กลายเป็นคนแปลกแยก

เมื่อปีที่แล้วเจอพระบวชใหม่ ท่านจบปริญญาโท สึกแล้วจะไปต่อป.เอก ท่านเล่าว่าอายุจะสามสิบปีแล้ว ไม่เคยเข้าไปในชุมชนเลย ไม่เคยได้สัมผัสผู้คนในท้องถิ่นบ้านเกิดของตัวเอง ออกจากบ้านไปโรงเรียน ไปเรียนในจังหวัด ไปต่อที่กทม.ได้กลับบ้านเมื่ออายุเลยเบญจเพศ

เมื่อทางวัดจะจัดงาน พระอาวุโสชวนท่านไปเยี่ยมชาวบ้านในชุมชน ท่านกลับมาเล่าให้ฟังด้วยความตื่นเต้นว่า โอ้โฮ บ้านเรา มีอะไรดีๆเยอะขนาดนี้เลยหรือ ในวัดที่ท่านอยู่จำพรรษา เป็นวัดที่มีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ท่านก็นึกว่าจะมีแต่ของโบราณที่อยู่ในวัดเท่านั้น ไม่นึกว่านอกวัดจะมีอะไรดีกว่านี้อีก
ตัวอย่างที่ยกมานี้ อาตมาว่าเป็นความอ่อนแออย่างหนึ่งของสังคมปัจจุบันเลยหละ คนอ่อนแอก็จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย สังคมอ่อนแอก็คงเช่นกัน

ขอบคุณอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไม่ทราบว่าตรงปรเด็นไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท