ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_06 : คำตอบของคำถามใหม่ สู่การพัฒนานักเรียน


วันที่ 14-16 มิถุนายน 2556 ทีมขับเคลื่อน PLC มหาสารคาม ร่วมกับ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1  จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์  บันทึกนี้เขียนต่อจากบันทึกแรก อ่านได้ที่นี่ครับ บันทึกที่สองที่นี่ครับ บันทึกที่สามที่นี่ครับ บันทึกที่สี่ ที่นี่ครับ และบันทึกที่ห้าที่นี่ครับ 

เมื่อเปลี่ยนคำถามว่า "ทำไมนักเรียนถึงอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น"   มาเป็น "ทำไมเด็กถึงไม่อยากอ่านออก ไม่อยากเขียนได้ ไม่อยากคิดเป็น"  คำตอบประเภท "โทษเด็ก" จะหายไปทันที คำถามจะพุ่งไปที่ใครหรืออะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับนักเรียน นั่นคือ ครู ผู้ปกครอง เพื่อน โรงเรียน เป็นต้น.....  ผมเสนอต่อที่คุณครูดังสไลด์ด้านล่างครับ



  •  มีโรงเรียนหนึ่ง สรุปว่า ปัญหาที่สำคัญคือ นักเรียนไม่สนใจเรียน แต่นักเรียนอยากมาโรงเรียน  ผมวิเคราะห์ทันทีว่า เด็กชอบมา "เล่น" หรือ "Play" มากกว่าการ "เรียน" หรือ "Learn" ในห้องเรียน ดังนั้น หากครูสามารถทำให้นักเรียน สามารถ "เล่นแบบได้เรียน" หรือ "เพลิน" หรือ "Plearn" (มาจาก Play + Learn)  หรือถ้าครูสามารถทำให้ได้  เรียนแบบได้เล่นกับเพื่อน หรือ Plearn Community (อาจเรียก PLC นักเรียน)  ก็น่าจะเป็นคำตอบหนึ่งของคำถามของเรา
  • ผมเสนอว่า นักเรียนทุกคนชอบครู "ใจดี" ก็คือ หวังดี ใช้วิถีเชิงบวกย่อมทำให้เขารู้สึกว่า "ฉันทำได้" หากครู "เห็นใจ" เข้าใจนักเรียนเป็นรายบุคคล ย่อมทำให้นักเรียนรู้สึกว่า "ฉันมีความสำคัญ" ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้นักเรียนรู้สึกแบบนี้ได้จริงๆ คือ ความจริงใจของครูเท่านั้น
  • หากอ่านเรื่อง "ลิง" กับ "เด็ก ป.1" ในช่วงท้ายของบันทึกที่ห้า ท่านจะเข้าใจทันทีว่าผมเน้นเรื่องอะไรในบรรทัดนี้
  • ผมสรุปว่า ครูควรทำหน้าที่ 3ช. คือ ชม เชียร์ ช่วย เพื่อช่วยหนุนให้เด็กรู้สึกว่า "ฉันทำได้" "ฉันคิดได้เอง" และ "ฉันมีความสำคัญ" ตามลำดับ กล่าวคือ ชมเมื่อเขาลงมือทำ เชียร์เมื่อเขาคิดเอง และคอยช่วยหากสังเกตว่าจำเป็น ......

สรุปแล้ว ครูควรทำ 3 อย่าง ทันที คือ

  • ใช้จิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน ทำให้เขารู้สึกว่า "ฉันทำได้"
  • หันมาเน้น "กระบวนการ" คือเน้นออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนได้ "ฝึก" คือ "ฝึกคิด" "ฝึกทำ"  มากกว่าได้ ฝึกจำฝึกท่องในแบบเดิมที่เน้น "เนื้อหา" "วิชา"  การเรียนรู้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ การเรียนรู้บนฐานปัญหา หรือ PBL (Problem-based Learning) หรือการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project-based Learning)
  • หันว่าทำงานเป็นทีม เป็นชุมชนนักปฏิบัติ ที่เราเรียกว่า ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ (Professional Learning Community) หรือ "PLC ครู" เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาครูจากการทำงานของครูเอง (ไม่ใช่พัฒนาครูจากการบอกครู)  เมื่อครูทำงานเป็นทีม นักเรียนๆ เป็นทีมหรือ ชุมชนเพลินรู้ (Plearn Community) หรือ "PLC นักเรียน" 

สไลด์ข้างบนนี้ ผมเน้นกับครูที่สุดคือ  ทักษะการชวนศิษย์ทำการสะท้อน (reflection) การเรียนรู้  หรือการทำ สะท้อนผลการเรียนรู้หลังทำ (AAR: After Action Review) หรือที่คุ้นชินกันว่า ถอดบทเรียน หรือถอดประสบการณ์ ....จะเรียกอะไรก็สุดแท้แต่ ..... แต่หลักการตรงกันคือ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ "มองผลงาน มองตนเอง และมุ่งพัฒนาทั้งตนและงานในคราต่อไป" นั่นเองครับ

  • ความกังวลที่สุดของครูอย่างหนึ่งคือ กังวลว่าจะสอนไม่ครบตามที่หลักสูตรกำหนด  คำถามไม่ใช่ ทำอย่างไรจะ "สอน" ได้ครบ แต่คำถามคือ ทำอย่างไรนักเรียนจะ "เรียนได้ครบ" ต่างหาก  หากพิจารณามาถึงตรงนี้ คำถามของครูจะผุดขึ้นมาว่า
    1. เนื้อหาหรือตัวชี้วัดใดในหลักสูตร ที่ไม่จำเป็นต้องสอน นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้เอง จากกระบวนการที่เราออกแบบ
    2. เราจะออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาและทักษะตามตัวชี้วัดเหล่านั้น อย่างไร
    3. เด็กเกิดความรู้และทักษะที่เราต้องการหรือไม่
    4. หากเกิดกับนัเรียนส่วนหนึ่งจะทำอย่างไร
    5. หากไม่เกิดกับนักเรียนส่วนหนึ่งจะทำอย่างไร
  • หลักสำคัญที่ทั่วโลกยอมรับกันแล้ว คือ การเรียนแบบรู้จริง (Mastery Learning) เกิดจากการเรียนด้วยการลงมือทำ (Active Learning)
  • อย่าเรียนเพื่อสอบ แต่เรียนเพื่อพัฒนานักเรียนให้เต็มศักยภาพ หรือกล่าวใหม่ให้เข้าใจง่ายคือ ไม่ใช่ "เรียนวิชา" แต่ "เรียนชีวิต"
  • การประเมินผล เน้นการสะท้อนความจริงเด็กรายบุคคลและรอบด้าน และเน้นการประเมินเพื่อพัฒนา (Formative Assesment) ไม่ใช่ ประเมินเพื่อประกาศว่าตรีตรา ชูหน้าเพื่อแข็งขัน
  • สุดท้ายของสไลด์นี้ คือ เรียนรู้ร่วมกัน (รรรก.) จากการปฏิบัติ .... ผมเล่าเรื่องที่ครั้งหนึ่งผมฟังจากอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพท่านหนึ่งว่า.... มีคนเดินเข้าไปถาม รีชาร์ด ฟาร์ยแมนน์  นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล ชาวอเริกันว่า วิธีการทางวิทยาศาสตร์มีกี่ขั้นตอน  เขาตอบว่า มีขั้นตอนเดียวคือ Doing คือลงมือทำ เดี๋ยวทุกอย่างมันจะตามมาเอง ......


สำหรับบทบาทผู้อำนวยการโรงเรียน ผมจับเอาคำของ ผอ.แสน แหวนวงศ์ ที่ผมเขียนไว้ที่นี่  มาอธิบายอีกครั้งครับ  โดย 3ช. หมายถึง ชม เชียร์ ช่วย (อันนี้ ผมได้มาจาก ผอ.พชรวิทย์ ผอ.สำนักศึกษาทั่วไป มมส.)


สรุปสุดท้ายด้วยสไลด์ด้านล่างนี้ครับ


ผมขอจบการ "บรรยาย" ไว้เท่านี้ครับ  บันทึกต่อไปเรามาดูผล AAR กิจกรรมกันครับ

หมายเลขบันทึก: 539902เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2013 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2013 04:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบการเรียนรู้แบบปนเล่น  นักเรียนจะมีความสุขครับ

ขอบคุณท่าน อาจารย์ขจิตครับ  มี ศน. ชื่อ ศน.ทิพวรรณ และ ศน.กิตติพงศ์ กล่าวถึงท่าน เรื่อง KM  ด้วยความประทับใจจริงๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท