บทความตีพิมพ์ในวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 29 ฉบับ 3 ก.ย.-ธ.ค. 2555


คุณลักษณะของผู้นำสังคมในอุดมคติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

The Characteristic of  Social Leader in The Ideal of Buddhist’s doctrine

ไกรฤกษ์  ศิลาคม[1]

Krairoek  Silakom

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่อง “ผู้นำสังคมในอุดมคติ” ในคำสอนเชิงปรัชญาของพระพุทธศาสนา โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาคือ เอกสารคำสอนของพุทธปรัชญาในคัมภีร์พระไตรปิฎก รวมถึงอรรถาธิบายและทัศนะของนักคิดนักวิชาการยุคหลังที่เกี่ยวข้อง  

ผลการศึกษาพบว่า   ผู้นำสังคมในอุดมคติเชิงพุทธที่จะสามารถแก้ปัญหาวิกฤติสังคมได้นั้น ต้องมีคุณลักษณะของความเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ประกอบด้วยปัญญาและคุณธรรมอย่างสูง  สามารถแสวงหาทีมงานที่ดีมีประสิทธิภาพได้ เมื่อผู้นำระดับสูงมีความเข้มแข็งในความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ผู้นำระดับกลางและผู้นำระดับล่างก็จะเข้มแข็งตามไป  เมื่อผู้นำเข้มแข็ง ชุมชนก็เข้มแข็ง และความเข้มแข็งในทางคุณธรรมจริยธรรมนี้ก็จะกลายเป็นกระแสหลักของสังคมตั้งแต่ ระดับบุคคล  ระดับครอบครัว  ระดับชุมชน ระดับสังคม  และระดับประเทศชาติ อันจะเป็นการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน

คำสำคัญ : ผู้นำสังคม, พระพุทธศาสนา, อุดมคติ, ปัญหาสังคม

Abstract

This research aims to study the concept of “Ideal social leader” in Buddhist philosophy. This is a qualitative research. The data which are used in this research were gathered from numerous doctrines of Buddhist philosophy which appeared in the Tripitaka, its commentaries and the related thoughts of Buddhist scholars in modern age.

The result shows that the “Ideal social leader”, according to Buddhism, who will be able to solve the social crisis shall have a strong characteristic which composed of high standard of intellectual and morality and also able to form a good an effective teamwork. The strength and honesty of the top leader will affect the character of the middle and lower level leader which will leads to an ethical strengthened community. This ethical strengthening will turn to be the social mainstream which will be used as a tool for a sustainable problem solving and development starting from the level of individual, family, community, social and, finally, to the national level.



[1]อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาจริยธรรมกับชีวิต  สาขาวิชามนุษยศาสตร์  หมวดวิชาศึกษาทั่วไป  มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี  E-mail : [email protected]


บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

  ในระบบการปกครองทุกระบบ ผู้นำสังคมเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกๆ ด้าน เพราะผู้นำสังคมเป็นผู้ที่กำหนดแนวนโยบายในการบริหารประเทศ อาทิ ด้านการปกครอง  การศึกษา  การสาธารณสุข วัฒนธรรมประเพณี  การทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ฉะนั้น ผู้นำจึงมีส่วนสำคัญในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่  เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมประเพณี สุขภาพอนามัยชุมชน การหล่อหลอมคนในสังคมด้วยระบบการศึกษา  การคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดถึงการคุ้มครองความปลอดภัยจากการรุกรานของต่างชาติด้วย

  เพราะผู้นำมีบทบาทสำคัญเช่นนี้นี่เอง ทุกสังคมจึงใฝ่ฝันที่จะได้ผู้ปกครองที่ดีและมีความสามารถมาปกครอง หากได้ผู้ปกครองที่ไม่ดีมาปกครองย่อมจะส่งผลกระทบเป็นความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นอันมากด้วยยิ่งประเทศใดปกครองโดยระบอบราชาธิปไตยซึ่งมีบุคคลคนเดียวเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดยิ่งต้องการผู้นำที่ดีมีความสามารถมากกว่าระบอบใดๆ เพราะหากได้ผู้นำที่ไม่ดีมาปกครองย่อมเกิดโทษมหาศาลแก่ประชาชนเป็นอันมาก เนื่องจากผู้นำใช้อำนาจตามอำเภอใจตนโดยไม่คำนึงถึงชีวิตจิตของประชาชน ส่วนในระบอบประชาธิปไตยเช่นในประเทศไทย ปกครองโดยคณะบุคคลซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะรัฐมนตรีเป็นคณะทำงาน ก็ปรากฏว่ามีการตัดสินใจในรูปแบบคณะรัฐมนตรีร่วมกันตัดสินใจในการบริหารประเทศผ่านกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ

ถึงกระนั้นก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้น การเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยในไทยก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าใดนัก เพราะอำนาจปกครองยังอยู่ในมือของกลุ่มของนายทหารและข้าราชการระดับสูงเท่านั้น และมีการทุจริตคอร์รัปชั่นจำนวนมากและมีการรัฐประหารยึดอำนาจกันเองอยู่บ่อยครั้งในหมู่ของนายทหารและข้าราชการระดับสูง จนกระทั่งถึงสมัยปัจจุบันนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีรัฐบาลไหนที่ไม่มีข่าวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นออกมาเลย แม้กระทั่งการทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย  ชุณหวัณ หรือ รัฐบาลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็ด้วยข้อหาในเรื่องของทุจริตคอร์รัปชั่น หรือแม้แต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัยก็ต้องยุบสภาเพราะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น กรณี สป.ก.4-01ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ก็ต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรีหลายครั้ง เพราะเหตุเรื่องมีข่าวการทุจริตเกิดขึ้น อาทิ โครงการชุมชนพอเพียงของสำนักนายกรัฐมนตรี  กรณีการแจกปลากระป๋องเน่าเสียของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น แต่มีน้อยครั้งนักที่นักการเมืองจะถูกจับดำเนินคดี แต่เกือบทุกคดีที่จับทุจริตได้ในภายหลังนักการเมืองจะหลบหนีออกนอกประเทศแล้วไม่สามารถจับกุมมาดำเนินคดีได้

ดังนั้น ในสังคมไทยผู้นำสังคมทุกระดับโดยเฉพาะนักการเมือง จึงเป็นบุคคลที่มีบทบาทต่อประเทศทั้งในเชิงสร้างสรรค์และในเชิงทำลายความก้าวหน้าของประเทศ  นอกจากนี้ผู้นำในระดับหัวหน้าองค์กรทั้งราชการและเอกชน ตั้งแต่กระทรวง ทบวง กรม กอง ฝ่าย  งาน ผู้นำเป็นผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบายในการบริหารองค์กร เพื่อความสำเร็จขององค์กรที่ตนรับผิดชอบ รวมถึงการเกี่ยวข้องกับผู้คนและชุมชนในองค์กร  นอกจากนี้ผู้นำยังเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อสังคม และมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทางในทางการคิดและการดำเนินชีวิตของผู้คนในองค์กรและชุมชนอีกด้วย  เพราะฉะนั้น ผู้นำจึงเป็นผู้ที่จะนำพาสังคมไปสู่ความสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน  หรือนำไปสู่ความทุกข์เกิดเป็นปัญหาชีวิตและปัญหาสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้นได้  ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ในอธัมมิกสูตร ซึ่งว่าด้วยพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมและผู้ตั้งอยู่ในธรรม ว่า 

“...เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป  ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว   โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว, ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกันผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม   ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย  หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม  ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์  

เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป   ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง   โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกันในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง, ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกันผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม  ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วยหากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม  ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข...”(องฺ. จตุกฺก. 21/70/114-116)

จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนามีความเห็นว่า ผู้นำเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อความสุขและความทุกข์ของราษฎรเป็นอย่างมาก จากอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน  ผู้นำของสังคมไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ล้วนแต่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศทั้งสิ้น  แต่บางครั้งสังคมของไทยได้รับความเสียหาย  ไม่สงบสุข  หรือไม่พัฒนาเท่าที่ควรจะเป็น  เป็นเพราะสาเหตุมาจากการขาดคุณธรรมจริยธรรมของผู้นำนั่นเอง

พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของผู้นำ ตลอดถึงเป็นหลักการในการพิจารณาเลือกผู้นำสังคมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งขณะนี้ประเทศไทยเองก็ได้มีคณะกรรมการเพื่อการปฏิรูปประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนหลายคณะ

ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเห็นว่า สมควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาคุณลักษณะของผู้นำสังคมในอุดมคติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา เพื่อจะได้ทราบคุณลักษณะที่แท้จริงของบุคคลที่ควรจะเป็นผู้นำสังคมที่จะสามารถขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมอุดมติตามหลักพระพุทธศาสนาได้ และเพื่อที่จะเป็นหลักเกณฑ์ให้สังคมไทยได้ใช้ในการปฏิรูปการเมืองไทยเพื่อให้ได้ผู้นำที่เป็นคนดีมีคุณธรรมจริยธรรม และประกอบด้วยคุณลักษณะผู้นำสังคมตามอุดมคติของพระพุทธศาสนา อันจะนำพาความสุขความเจริญที่ยั่งยืนให้กับสังคมไทยต่อไป

คุณลักษณะของผู้นำสังคมในอุดมคติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

  ความเป็นมาของผู้นำสังคมตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา 

  ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในอัคคัญญสูตร ได้กล่าวถึงสารัตถะเกี่ยวกับการกำเนิดรัฐไว้ว่า เดิมทีเดียวมนุษย์ยังไม่มีสังคม ยังไม่มีระบบการปกครอง มนุษย์อยู่กันตามธรรมชาติ มนุษย์อยู่กันแบบปกติสุข มีอาหารอุดมสมบูรณ์ดี ไม่มีกฎหมาย  ไม่มีบ้านเรือน มนุษย์อาศัยดำรงชีพ อยู่โดยอาศัยอาหารจากดิน เช่น ง้วนดิน กระบิดิน และเครือดิน เป็นต้น ไม่มีการยึดครองที่ดิน ไม่มีการสะสมกักตุนสิ่งต่างๆ เช่น อาหารไว้ในครอบครอง ทุกคนอยู่อย่างสันติ และยึดมั่นในความดีงาม ต่อมาเมื่อมนุษย์มีจำนวนมากขึ้น สังคมขยายมากขึ้น มนุษย์ที่ดีและชั่วก็ปรากฏขึ้น ปัญหาต่างๆได้เริ่มตามมา โดยเริ่มจากมีมนุษย์มีความคิดว่า เป็นการลำบากที่จะต้องไปหาอาหารและข้าวสาลีทั้งเวลาเช้า กลางวัน และตอนเย็น จึงได้เก็บข้าวสาลีมากักตุนไว้เฉพาะตน เพื่อที่จะสามารถบริโภคได้หลายเวลา  ต่อมามีคนเอาอย่างทำตาม จึงเป็นเหตุให้ข้าวสาลีในท้องทุ่งหมดไป (ที.ปา. 11/127/97-98) และเนื่องมาจากอาหารตามธรรมชาติค่อยๆ หมดไปและประชากรเพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงมีการจับจองพื้นที่อันเป็นแหล่งอาหารเพื่อเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว ต่อมามนุษย์มีความเห็นแก่ตัว มีความโลภมากขึ้น มีความเกียจคร้าน จึงไปขโมยอาหารของผู้อื่น และเมื่อถูกจับได้ก็ได้นำมาว่ากล่าวตักเตือน ลงโทษ  (นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำผิดศีลข้อว่า อทินนาทานา เวรมณี) บางคนเมื่อถูกจับได้ก็โกหกว่า ไม่ได้ขโมยเพื่อปกป้องตนเองจากความผิด (นี่คือ จุดเริ่มต้นของการทำผิดศีลข้อมุสาวาทา เวรมณี) และเมื่อมีการขโมยเกิดขึ้นก็มีการรักษาป้องกันเกิดขึ้นด้วยศาสตราอาวุธเกิดขึ้น และผลที่สุดเกิดเป็นความวุ่นวายในสังคม เกิดการทะเลาะวิวาทกัน (ที.ปา. 11/129/100) ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงผลักดันให้คนในสังคมต้องหาผู้ที่จะมาช่วยระงับความวุ่นวายในสังคม โดยผู้นำไม่ต้องหาอาหาร แต่ประชาชนจะแบ่งอาหารในส่วนของตนรวมกันให้  ให้ผู้นำมีหน้าที่อย่างเดียวคือ ระงับข้อพิพาทและตัดสินอย่างเป็นธรรม แล้วประชาชนก็ได้เลือกบุคคลที่มีลักษณะพิเศษทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และบุญบารมีขึ้นเป็นผู้นำครั้งแรก เรียกว่า มหาสมมติ  เพราะมหาชนสมมติขึ้น ต่อมาจึงเรียกว่า กษัตริย์

จะเห็นได้ว่า ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา ในสภาวะธรรมชาติมนุษย์อยู่กันอย่างสงบสุข ไม่มีทรัพย์สินส่วนบุคคล เมื่อมนุษย์มีทั้งคนดีและคนชั่ว กลุ่มคนชั่วสร้างปัญหาสังคมจนไม่สามารถจัดการกันเองได้แล้ว มนุษย์จึงร่วมใจกันหาหนทางแก้ไขโดยการสร้างรัฐขึ้นมาเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบแบบแผนร่วมกันภายในรัฐ รัฐจึงเกิดขึ้นตามสัญญาประชาคม และองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของรัฐก็คือ การคัดเลือกผู้นำที่มีความสามารถ เข้มแข็ง มีคุณธรรม มาเป็นผู้แก้ปัญหาสังคม โดยมีอำนาจลงโทษผู้กระทำผิด  เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สิน และตัดสินในกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม

  เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว ความจำเป็นที่ต้องมีการจัดระเบียบการเมืองการปกครองนั้น เนื่องมาจากความบกพร่องของสังคมที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ผู้มีกิเลส และอีกส่วนหนึ่งนั้นก็เกิดจากสังคมที่ขยายใหญ่ขึ้นจึงจำเป็นต้องมีระเบียบและผู้นำคอยควบคุมผู้ใต้ปกครองให้ปฏิบัติตามระเบียบ

 

ประเภทของผู้นำสังคมตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

สำหรับประเภทของผู้นำ พระพุทธศาสนามีกล่าวไว้ในคำสอนเรื่อง อธิปไตย 3 ในสังคีติสูตร โดยจัดแบ่งประเภทของผู้นำเป็น 3 ประเภทตามหลักที่ผู้นำยึดถือในการปกครอง ดังนี้ 1. อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่  2. โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ 3. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่

คำว่า อธิปไตย ในพระไตรปิฎกนี้ไม่ได้มีความหมายเหมือนกับคำว่าอธิปไตยในปัจจุบัน เช่น ประชาธิปไตย อภิชนาธิปไตย หรือ คณาธิปไตย  เพราะอธิปไตยในพระไตรปิฎกนั้น หมายถึง หลักที่ผู้ปกครองพึงยึดถือ กล่าวคือ เมื่อเป็นผู้ปกครองแล้วจะยึดถืออะไรเป็นใหญ่ ตนเอง ประชาชน หรือ ธรรม ฉะนั้น ธรรมาธิปไตยจึงไม่ใช่ระบอบการปกครองแต่เป็นหลักในการปกครองของผู้ปกครองที่ยึดถือเอาธรรมเป็นหลักใหญ่ในการปกครอง

พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงเน้นว่า ระบอบการปกครองใดดีที่สุด ไม่ได้เสนอว่า จะเลือกผู้ปกครองด้วยวิธีใด หรือมีระบบในการจัดสรรอำนาจอธิปไตยอย่างไร เป็นแต่เน้นว่า ถ้าเป็นผู้ปกครองแล้วควรยึดถืออะไรในการปกครอง (ปรีชา  ช้างขวัญยืน, 2540) ซึ่งสิ่งที่พระพุทธศาสนาสรรเสริญก็คือ ธรรมาธิปไตย คือ การยึดถือธรรมหรือความถูกต้องดีงามเป็นใหญ่

ธรรมาธิปไตย หมายถึง มีธรรมเป็นใหญ่ มีธรรมเป็นอธิบดี กระทำกิริยาคือ ราชกิจทุกอย่างด้วยอำนาจธรรมเท่านั้น (ที.ปา.อ. 15/131) กล่าวคือ การตัดสินใจในการปกครองทุกอย่าง จะต้องยึดหลักธรรมเป็นเกณฑ์เท่านั้น ธรรมาธิปไตยจึงถือว่า เป็นหัวใจสำคัญของการปกครอง หรือเป็นหัวใจสำคัญของรัฐศาสตร์ในพระไตรปิฎก เรื่องธรรมาธิปไตยนี้ มีปรากฏในราชสูตรซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสถึงการปกครองทวีปทั้ง 4 ของพระเจ้าจักรพรรดิ และตรัสถึงการปกครองพุทธบริษัทของพระองค์ว่าใช้หลักการเดียวกัน คือ ธรรมาธิปไตย ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  พระเจ้าจักรพรรดิพระองค์ใดแลผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม  เป็นพระธรรมราชา  พระเจ้าจักรพรรดิแม้พระองค์นั้น  ย่อมไม่ทรงยังจักรให้เป็นไป  ณ  ประเทศที่ไม่มีพระราชา  เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว  ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามว่า  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ก็ใครเป็นพระราชาของพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ ในธรรม  เป็นพระธรรมราชา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า  ธรรมซิ  ภิกษุ  แล้วจึงตรัสต่อไปว่า  ดูก่อนภิกษุ  พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชาในโลกนี้  ทรงอาศัยธรรมนั่นแหละ  ทรงสักการะ  เคารพนอบน้อมธรรม  ทรงมีธรรมเป็นธง  มีธรรมเป็นยอด  มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา  ป้องกัน  คุ้มครองที่เป็นธรรมในชนภายใน

อีกประการหนึ่ง  พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม  เป็นพระธรรมราชา ฯลฯ  มีธรรมเป็นใหญ่  ย่อมทรงจัดแจงการรักษา  ป้องกันคุ้มครองที่เป็นธรรม  ในกษัตริย์เหล่าอนุยนต์  [พระราชวงศานุวงศ์]  ในหมู่ทหาร  พราหมณ์  คฤหบดี  ชาวนิคมชนบท  สมณพราหมณ์  เนื้อและนกทั้งหลาย ... อีกประการหนึ่ง  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม  เป็นพระธรรมราชา  ฯลฯ  มีธรรมเป็นใหญ่  ย่อมทรงจัดแจงการรักษา  ป้องกัน  คุ้มครองที่เป็นธรรมในพวกภิกษุ...ในพวกภิกษุณี. . .ในพวกอุบาสก. . .ในพวกอุบาสิกาว่า  กายกรรมเช่นนี้ควรเสพ  กายกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ บ้านนิคมเช่นนี้ควรเสพ  บ้านนิคมเช่นนี้ไม่ควรเสพ  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม  เป็นพระธรรมราชาพระองค์นั้น  ฯลฯ  มีธรรมเป็นใหญ่  ครั้นทรงจัดแจง  การรักษา  ป้องกัน  คุ้มครองที่เป็นธรรม... ย่อมทรงยังธรรมจักรชั้นเยี่ยมให้เป็นไปโดยธรรมเทียว  ธรรมจักรนั้นย่อมเป็นจักร อันสมณะ  พราหมณ์  เทวดา  มาร  พรหม  หรือใคร ๆ  ในโลก  จะคัดค้านไม่ได้” (36/133/276-278)

  ฉะนั้น จากเนื้อหาในราชสูตร จะเห็นได้ว่า หลักธรรมาธิปไตยนี้เป็นหลักการที่สามารถใช้ในการปกครองได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

คุณลักษณะของผู้นำสังคมตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา

  ตามทัศนะของพระพุทธศาสนา ความเป็นผู้นำจะเน้นที่การปกครองตนเองให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากการจะเป็นผู้นำคนอื่นได้นั้นต้องสามารถปกครองตนเองให้ได้เสียก่อน ดังพุทธพจน์ว่า  “บุคคลพึงยังตนให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แล้วพึงพร่ำสอนผู้อื่นในภายหลัง บัณฑิตประพฤติตนอย่างนี้จึงไม่เศร้าหมอง”  (ขุ.ธ. 25/158/52) ทั้งนี้เป็นเพราะการจะเป็นผู้นำให้บุคคลอื่นทำตามหรือมีความเชื่อมั่น ผู้นำต้องสามารถนำการกระทำได้ จะได้ไม่ถูกตำหนิในภายหลัง หลักการดังกล่าวจึงเป็นการสอนให้คนมีภาวะผู้นำในตนเอง หรือ พัฒนาตนเองให้มีภาวะผู้นำก่อนที่จะก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำ การพัฒนาตนเองดังกล่าวต้องพัฒนาทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ คือ ไม่ให้คิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่วซึ่งเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนของตนเองและสังคม แต่เพียงเท่านั้นยังไม่พอแต่ยังต้องมีควารมสามารถในการทำสิ่งที่ถูกต้องเป็นธรรมและเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ตนและส่วนรวมได้ และการพัฒนาตนเองดังกล่าวจะต้องมุ่งเน้นที่การพัฒนาจิตใจเป็นสำคัญ ด้วยการปลูกฝังคุณธรรมให้มีในตนจนสามารถควบคุมจิตใจตนเองได้ พระพุทธศาสนาถือว่า ผู้นำต้องเอาชนะใจของตนเองให้ได้ก่อน เพราะเมื่อสามารถชนะตนเองได้ ก็ชื่อว่า สามารถเอาชนะคนอื่นได้ทั้งหมด ดังพุทธพจน์ว่า    “บุคคลชนะหมู่มนุษย์ตั้ง 1,000,000 คนในสมรภูมิยังไม่ชื่อว่า เป็นผู้ชนะสงครามอย่างเด็ดขาด คนที่ชนะตนเองได้เพียงคนเดียวนี่สิ จึงชื่อว่า เป็นผู้ที่ชนะสงครามได้เด็ดขาด” (ขุ.ธ. 25/103/40)

  จากคำสอนของพระพุทธศาสนาดังกล่าว แสดงถึงการสร้างคุณลักษณะความเป็นผู้นำให้กับตนเองเป็นเบื้องต้นก่อนเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากผู้นำเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมและความสามารถแล้ว การจะปกครองผู้อื่นก็จะเป็นเรื่องง่าย เพราะจะไม่ถูกติเตียนในคุณสมบัติความเหมาะสม อีกทั้งยังจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาชนให้ตั้งอยู่ในธรรมได้ง่ายด้วย  นอกจากนี้เมื่อผู้นำกอปรด้วยคุณธรรมสัมมาปฏิบัติแล้ว ย่อมจะเอื้อประโยชน์ให้การบริหารบ้านเมืองเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยฝ่ายเดียว  ในทางตรงกันข้ามหากผู้นำซึ่งเป็นผู้มีสิทธิ์ใช้อำนาจให้คุณให้โทษแก่ประชาชน ตลอดจนการนำพาสังคมไปสู่เป้าหมาย เป็นผู้ที่ขาดคุณธรรมในตนเอง แม้จะเก่งกาจสามารถในเชิงบริหารเพียงใด ก็คงไม่สามารถที่จะเอาชนะใจตนเองในเรื่องของความโลภ ความโกรธ ความหลงได้ ย่อมจะสามารถใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และมีความเห็นแก่ตัวจนทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อหวังความสุขส่วนตัว เห็นแก่พวกพ้องและเครือญาติมากกว่าความถูกต้องเป็นธรรม แล้วผลสุดท้ายเกิดเป็นความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างมหาศาล

ฉะนั้น ในเบื้องต้นพระพุทธศาสนาจึงกำหนดคุณลักษณะผู้นำสังคมให้เป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรมในตนเองเสียก่อน และหลักธรรมที่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพทางจริยธรรมของผู้นำได้นั้น มีอยู่หลายหมวดดังจะได้กล่าวต่อไป

   

ดัชนีชี้วัดคุณภาพทางจริยธรรมของผู้นำสังคม

สำหรับคุณธรรมที่เป็นคุณสมบัติของผู้นำสังคมที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ หลักธรรมในการปกครองตน และหลักธรรมในการปกครองคน ดังต่อไปนี้

1. หลักธรรมที่ใช้ในการปกครองตน หมายถึง หลักธรรมที่ผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติเพื่อปกครองตนเองให้ตั้งอยู่ในธรรมอันดีงามเพื่อเป็นต้นแบบที่ดีและยังความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้อยู่ใต้ปกครอง ประกอบด้วย หลักทศพิธราชธรรม (ธรรมของพระราชาหรือผู้นำ 10 ประการ ได้แก่ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง  ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ  ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความเที่ยงธรรม)  , หลักสัปปุริสธรรม 7 (หลักธรรมของสัตบุรุษ คือ รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาล รู้บุคคล  รู้ชุมชน) และจักรวรรดิวัตร 5 (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ ได้แก่ ถือธรรมเป็นใหญ่, จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันเป็นธรรม,  ห้ามมิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต, ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์, ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง) หากผู้นำเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองโดยคณะบุคคล ก็จำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามหลักอปริหานิยธรรม 7 ด้วย (หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์, พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจที่พึงทำ, ไม่บัญญัติสิ่งที่มิได้บัญญัติไว้  ไม่ล้มล้างสิ่งที่บัญญัติไว้, ท่านเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ในชนชาววัชชี เคารพนับถือท่านเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง, บรรดากุลสตรีกุลกุมารีทั้งหลาย ให้อยู่ดีโดยมิถูกข่มเหง, เคารพสักการบูชาเจดีย์, จัดให้ความอารักขา คุ้มครอง ป้องกัน อันชอบธรรมแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย)

2. หลักธรรมที่ใช้ในการปกครองคน หมายถึง หลักธรรมที่ผู้ปกครองจะต้องนำไปใช้ในการปกครองผู้ใต้การปกครองและบริหารงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประกอบด้วย หลักพรหมวิหารธรรม 4 (เมตตา กรุณา  มุทิตา อุเบกขา) หลักสังคหวัตถุ 4 (ทาน  ปิยวาจา  อัตถจริยา  สมานัตตตา) หลักราชสังคหวัตถุ 4 (ธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนของพระราชา ได้แก่  สัสสเมธะ ความฉลาดในการบำรุงพืชพันธ์ธัญญาหาร  ส่งเสริมการเกษตร, ปุริสเมธะ  ความฉลาดในการบำรุงข้าราชการ  รู้จักส่งเสริมคนดีมีความสามารถ,  สัมมาปาสะ ความรู้จักผูกผสานรวมใจประชาชนด้วยการส่งเสริมอาชีพ, วาจาเปยยะ รู้จักพูด  รู้จักปราศรัย  พูดจาไพเราะ  สุภาพนุ่มนวล  ประกอบด้วยเหตุผล) และหลักการละเว้นอคติ 4 (เว้นจากความลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง  เพราะหลง และเพราะกลัว)

ธรรมราชา : ผู้นำสังคมในอุดมคติของพระพุทธศาสนา

  ธรรมราชา เป็นคำที่พระพุทธองค์ทรงใช้เรียกพระองค์เองด้วยส่วนหนึ่ง ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า

...อีกประการหนึ่ง  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม  เป็นพระธรรมราชา  ฯลฯ  มีธรรมเป็นใหญ่  ย่อมทรงจัดแจงการรักษา  ป้องกัน  คุ้มครองที่เป็นธรรมในพวกภิกษุณี. . .ในพวกอุบาสก. . . ในพวกอุบาสิกาว่า  กายกรรมเช่นนี้ควรเสพ  กายกรรมเช่นนี้ไม่ควรเสพ ฯลฯ  บ้านนิคมเช่นนี้ควรเสพ  บ้านนิคมเช่นนี้ไม่ควรเสพ  พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม  เป็นพระธรรมราชาพระองค์นั้น...”  (องฺ. ปัญจก-ฉักก. 36/133/276-278)

และในอีกกรณีหนึ่งพระพุทธองค์ทรงใช้เรียกพระราชาผู้ทรงธรรมในอดีตซึ่งพระพุทธศาสนา เรียกว่า พระเจ้าจักรพรรดิ ดังพุทธพจน์ว่า

...ดูก่อนภิกษุ  พระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงดำรงอยู่ในธรรม เป็นพระธรรมราชาในโลกนี้  ทรงอาศัยธรรมนั่นแหละ  ทรงสักการะ เคารพนอบน้อมธรรม  ทรงมีธรรมเป็นธง  มีธรรมเป็นยอด  มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงจัดแจงการรักษา  ป้องกัน  คุ้มครองที่เป็นธรรมในชนภายใน...”

(องฺ. ปัญจก-ฉักก. 36/133/276-278)

  ความหมายของคำว่า พระเจ้าจักรพรรดิ”

  พระเจ้าจักรพรรดิในพระพุทธศาสนาไม่ได้มีความหมายเช่นเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยทั่วไป เช่น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิในสมัยอยุธยา หรือ สมเด็จพระจักรพรรดิและสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของจักรพรรดิว่า  พระราชาธิราช, ประมุขของจักรวรรดิ, สมัยโบราณเขียนเป็นจักรพัตราธิราช (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542) ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ครองโลกโดยธรรม กล่าวคือทรงมีขอบเขตพระราชอำนาจกว้างใหญ่ไพศาลมีมหาสมุทรทั้งสี่เป็นขอบเขต พระองค์ทรงมีธรรมเป็นพลังอำนาจพิเศษที่ทำให้แคว้นหรือประเทศใหญ่น้อยทั้งหลายมาสวามิภักดิ์อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ โดยเรียกการปกครองของพระองค์ว่า จักรวรรดิ (พระครูโสภณปริยัติสุธี, 2552)

 

  องค์ประกอบของพระเจ้าจักรพรรดิ

  ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ทรงตรัสเล่าถึงพระเจ้าจักรพรรดิในอดีตหลายพระองค์ อาทิพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า ทัฬหเนมิ (ที.ปา. 15/33-38/98-124) เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่  ทรงมีคุณลักษณะหรือเครื่องหมายของความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1.ทรงธรรม 2. ครองราชย์โดยธรรม  3. มีมหาสมุทรทั้ง 4 เป็นขอบเขต  4. ราชอาณาจักรมั่นคงโดยมีรัตนะ 7 ประการเป็นเครื่องหมาย อันได้แก่  จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว  แก้วมณี นางแก้ว คหบดีแก้ว หรือ ขุนคลังแก้ว และปริณายกแก้ว หรือ ขุนพลแก้ว (ทวี  ผลสมภพ, 2534)

 

ระบอบจักรพรรดิ : อุตมรัฐในพระพุทธศาสนา

  ในจักกวัตติสูตร (ที. ปา. 15/33-38/98-124)ได้อธิบายลักษณะของบ้านเมืองที่มีความสมบูรณ์แบบในยุคสมัยที่มีพระเจ้าจักรพรรดิปกครองไว้อย่างละเอียด อาทิข้อความบางส่วนในพระสูตรว่า
  “...เมื่อท้าวเธอทรงประพฤติจักกวัตติวัตรอันประเสริฐอยู่  จักรแก้วอันเป็นทิพย์ซึ่งมีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง ปรากฏมีแก่ท้าวเธอผู้สระพระเศียร ทรงรักษาอุโบสถอยู่ ณ ปราสาทอันประเสริฐชั้นบน ในวันอุโบสถ 15 ค่ำ...พระราชาพระองค์นั้น เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ... มีพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า ทัฬหเนมิ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร 4  เป็นขอบเขต ทรงชำนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ ด้วยแก้ว 7 ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ 7  พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีเสนาของข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศัสตราครอบครองแผ่นดิน มีสาครเป็นขอบเขต...” (ที. ปา. 15/34-35/100-101) ซึ่งจะขออธิบายรายละเอียดไปตามลำดับดังต่อไปนี้

1. การเกิดขึ้นของพระเจ้าจักรพรรดิ์เกิดขึ้นจากการทรงธรรมของพระราชา กล่าวคือ พระราชาทรงครองราชย์โดยธรรมและทรงบำเพ็ญวัตรปฏิบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ เช่น ในวัน 15 ค่ำ ทรงรักษาอุโบสถศีล อยู่ในปราสาทชั้นยอด เป็นต้น

2. เมื่อถึงภาวะที่เหมาะสมของการสร้างบารมีธรรมของพระราชา จักรแก้วก็จักปรากฏขึ้นในอากาศเปล่งแสงสว่างประหนึ่งพระจันทร์ดวงที่ 2 แล้วลอยมาอยู่เบื้องพระพักตร์พระราชาผู้ที่จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

3. พระราชาผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงเปล่งวาจาให้จักรแก้วนำพาไปสู่ความชนะในโลก จักรแก้วได้ลอยไปในอากาศ พร้อมกับพระเจ้าจักรพรรดิ และเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ไปยังเมืองต่างๆ จนถึงขอบฝั่งมหาสมุทร ทุกเมืองพระราชาพร้อมประชาชนพากันมาเข้าเฝ้าและถวายเมืองให้แก่พระองค์ปกครอง พระองค์ทรงสอนให้พระราชาทั้งหลายตั้งมั่นอยู่ในศีล 5 ประการ และทรงคืนเมืองให้ปกครองต่อไป จากนั้นจักรแก้วก็พาพระเจ้าจักรพรรดิและเสนาอำมาตย์ข้ามไปยังอีกฝั่งมหาสมุทรและทรงชนะไปทั่วโลกดินแดนโดยไม่ต้องใช้ศาสตราอาวุธใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทรงชนะโดยธรรม

4. เมื่อทรงชนะโลกทั้งหมดแล้วก็ทรงกลับมายังพระราชวังและทรงบริหารประเทศผ่านทางคหบดีแก้วและปริณายกแก้วซึ่งเป็นดุจรัฐมนตรีทางเศรษฐกิจและรัฐมนตรีทางความมั่นคงในปัจจุบัน จนทำให้ประเทศมีทั้งความมั่นคงและมีความมั่งคั่งพร้อมๆ กัน

5. เมื่อประชาชนไม่มีความขัดสน มีความกินดีอยู่ดีอย่างถ้วนหน้า จึงไม่มีเหตุใดๆ ให้ประชาชนเบียดเบียนกัน ไม่มีโจรขโมย ไม่มีการลงโทษ  ประชาชนอยู่กันอย่างผาสุก

6. การสืบทอดตำแหน่งพระราชาสืบทอดโดยพระราชโอรสองค์ใหญ่ แต่ตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิเป็นตำแหน่งเฉพาะบุคคลไม่สามารถสืบทอดได้ ผู้ประสงค์ต้องบำเพ็ญเอง ปรากฏว่า พระราชโอรสได้บำเพ็ญจักรวรรดิวัตรของพระเจ้าจักรพรรดิและได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิสืบต่อลงมาหลายพระองค์ จนถึงรุ่นหลังๆ ที่พระราชามิได้บำเพ็ญจักรวรรดิวัตรครบถ้วน แต่ปกครองตามความเห็นส่วนตัว จึงมิได้เป

หมายเลขบันทึก: 539897เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท