BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๖ (คาถาที่สาม)


เล่าเรื่องธนิยสูตร ๖ (คาถาที่สาม)

มีคำพังเพยว่า "อยู่เดียวเปลี่ยวกายแสนสบายแต่ไม่สนุก อยู่สองครองทุกข์แสนสนุกแต่ไม่สบาย" ซึ่งชี้ถึงจุดเด่นและจุดด้อยของความแตกต่างระหว่างนักบวชที่ต้องอยู่คนเดียวกับชาวบ้านซึ่งใช้ชีวิตครองคู่สามีภรรยา นายธนิยะนำเอาจุดเด่นนี้ขึ้นมาโต้พระพุทธเจ้า

จากการกล่าวแก้ในคาถาที่สองทำให้นายธนิยะมั่นใจว่า กวีลึกลับบนหลังคาต้องเป็นนักบวชแน่นอน จึงเอาจุดเด่นของตนเองในฐานะชาวบ้าน โดยอ้างถึงความเป็นผู้มีภรรยาที่ดีด้วยคาถาว่า...

ภริยาเชื่อฟังเรา ไม่โลเล
เป็นที่พอใจ อยู่ร่วมกันสิ้นกาลนาน
เราไม่ได้ยินความชั่วอะไรของภริยานั้น
แน่ะฝน หากท่านปรารถนา ก็เชิญตกลงมาเถิด ฯ

ด้วยบทกลอนนี้ นายธนิยะยกภรรยาขึ้นมาสนับสนุนตนเอง ประการแรกคือ ตนเองมีภริยาที่ดี ดังนั้น หน้าที่การงานของตนเองนั้น แม้จะมีปัญหาหรืออุปสรรคน้อยใหญ่ก็ไม่จำเป็นจะต้องกังวล เพราะมีภรรยาเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่บ้านอยู่ ภรรยาย่อมจะคอยช่วยเหลือและเติมเต็มในส่วนที่อาจบกพร่องยุ่งยากซึ่งตนเองมองไม่เห็นหรือเผอเรอได้

ประการที่สอง เมื่ออ้างถึงความมีภรรยา เป็นการยืนยันว่าตนเองนั้นมิใช่นักบวช เป็นชาวบ้าน และเมื่อมีภรรยาที่ดี ก็ย่อมมีความสุขสบายตามประสาชาวบ้าน ไม่ต้องอยู่เดียวเปลี่ยวกายเหมือนนักบวช นั่นคือ นายธนิยะยกภรรยาขึ้นมาอ้างเพื่อให้มีผลกระทบต่อนักบวชลึกลับบนหลังคา เพราะนักบวชย่อมไม่มีความสุขสบายด้วยการครองชีวิตคู่ตามประสาชาวบ้าน

และขณะนั้น เขาก็นอนอยู่ในกระท่อมกับภรรยาคนดังกล่าว (สงสัยว่าทั้งสองอาจลุกขึ้นจากที่นอนแล้ว) การยกย่องชมเชยภรรยาของตนให้ใครฟังต่อหน้าภรรยา ย่อมทำให้ภรรยายินดีเป็นอย่างยิ่ง นั่นแสดงว่านายธนิยะมีไหวพริบไม่ธรรมดาเช่นกัน การยกย่องภรรยาของเขามีผลถึง ๓ ประการ คือ แสดงให้เห็นว่าตนเองมีคนรู้ใจที่จะช่วยบั่นเทาความยุ่งยากในหน้าที่การงาน ข่มนักบวชลึกลับว่าอยู่คนเดียวย่อมไม่ได้ความสุขแบบชาวบ้าน และทำให้ตนเองเป็นที่รักใคร่ของภรรยายิ่งขึ้น

พระบรมศาสดาจะแก้อย่างไร มาดูคาถาประพันธ์ของพระองค์...

จิตเชื่อฟังเรา หลุดพ้นแล้ว
เราอบรมแล้ว
ฝึกหัดดีแล้วสิ้นกาลนาน
และความชั่วของเราย่อมไม่มี
แน่ะฝน หากว่าท่านปรารถนา ก็เชิญตกลงมาเถิดฯ

นายธนิยะยก "ภรรยา" ขึ้นมาโต้ ฝ่ายพระพุทธเจ้าทรงยก "จิต" ขึ้นมาแก้ ประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ซึ่งประเด็นนี้ จับความตามนัยพระอรรถกถาจารย์ได้ว่า ธรรมดาสตรีนั้นย่อมมีความโลเลอยู่ ๕ ประการ กล่าวคือ มีความโลเลในอาหาร เครื่องประดับ บุรุษ ทรัพย์  และการเดินทาง สำหรับสตรีแล้วไม่อาจแสวงหามั่นคงจริงใจในสิ่งเหล่านี้ได้ แต่นายธนิยะยกย่องภรรรยาของตนว่าไม่มีความโลเลในสิ่งเหล่านี้เลย เขายืนยันได้อย่างมั่นใจเพราะอยู่ด้วยกันมานาน

จิตใจคนเรานั้นเป็นอย่างไร ทุกคนตอบคำถามตัวเองได้ดี ไม่อาจปิดบังตัวเองได้ นั่นคือ จิตใจนี้จะมีแต่ความโลเล ดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก บางครั้งบางคราวเราก็ไม่ไว้ใจ ไม่มั่นใจ แม้กับตัวเราเอง จะป่วยกล่าวไปใยถึงจิตใจคนอื่น ดังนั้น การที่นายธนิยะบอกว่าภรรยาของเขาไม่มีความโลเลนั้น จึงถูกพระพุทธเจ้าหักล้างอย่างสิ้นเชิงเมื่อยกคำว่า "จิต" นั่นคือ เมื่อจิตใจตัวเราเองยังไว้ใจไม่ได้ จิตใจของภรรยาซึ่งเป็นคนอื่นจะไว้ใจได้อย่างไร

แต่จิตของพระพุทธองค์นั้น มิใช่จิตของคนทั่วไป เพราะเป็นจิตที่เชื่อฟังแล้ว หลุดพ้นแล้ว อบรมแล้ว ฝึกหัดดีแล้ว และเป็นอย่างนี้มานานแล้ว...

นายธนิยะ จะโต้กลับอย่างไร ก็ต้องไปดูคาถาต่อไป...

คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539655เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 08:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 08:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กราบนมัสการพระคุณเจ้า
จะขอเฝ้า(อ่าน)อย่างใกล้ชิด
ขออนุญาตเป็นลูกศิษย์
เพื่อตามติดผลงานที่ขานไข
ขยายความตามอรรถขจัดภัย
กิเลสในสันดานก่อนนอนเนื่องมา
อ่านแล้วยิ่งฉลาดปราดเปรื่องขึ้น
เหมือนพลิกฟื้นกะลาคว่ำทำหันหน้า
หงายแล้วใส่ธรรมะพระคุณพา
โปรดเจ้าข้าผู้โง่งมจมวารี
ยังตกอยู่ในห้วงน้ำตามกระแส
ประเดี๋ยวแย่ประเดี๋ยวโศกวิโยคที่
แต่ธรรมะช่วยรักษาพาจิตดี
ทุกข์ที่มีพอสาคลายสบายครัน!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท