ค่าใช้จ่ายแข่งขันกีฬา, ขีดจำกัดล่าง N-Net 2/55, ครูคนพิการป่วย, ครูผู้ช่วยขอย้าย, พนักงานราชการใสชุดขาวรับปริญญา, ประเมินพื้นที่ กศน.ตำบล, ดูแล 2 อำเภอ ใครบันทึกสมุดหมายเหตุ, “ประโยคประถมศึกษา” สมัคร ม.6-8 เดือน, นศ.ฝึกงานไปราชการ, ใบสมัครครูที่ปรึกษา



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  10  เรื่องดังนี้


         1. เย็นวันที่ 12 มิย. 56 คุณศิริวรรณ บรรณารักษ์ปฏิบัติการ หสม.อ.ราชสาส์น ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ครูผู้สอนคนพิการป่วย รักษาตัวที่โรงพยาบาลมา 1 เดือนแล้ว ใช้ศิษย์ลาป่วยได้ไหม ใช้ระเบียบการลายังไง และช่วงระยะเวลาที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลมีศิษย์เบิกค่าตอบแทนได้ไหม

            ผมตอบว่า   ครูสอนคนพิการ ก็ลักษณะเดียวกับครู ศรช.  ไม่มีระเบียบให้ลาโดยได้รับค่าตอบแทน  ( ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา )  แต่ถ้ามีความจำเป็นเพียงไม่กี่วันและไม่เสียหายแก่ราชการ ผู้บริหารบางท่านอาจจะอนุโลมให้หยุดงานเป็นการภายใน   แต่กรณีนี้หยุดตลอดทั้งเดือน ปกติต้องงดเบิกค่าตอบแทน  ( ผู้บริหารบางท่านอาจให้เขาหาคนมาทำงานแทน โดยอนุโลมเป็นการภายใน ถ้าไม่มีคนร้อง )


         2. คืนวันเดียวกัน ( 12 มิ.ย.) คุณ "มะขาม" ถามผมทางอีเมล์ผ่าน gotoknow.org ว่า  สมศ.จะเข้าประเมินต้นเดือน ก.ค. 56 นี้ อยากทราบว่าคะแนนในภาคเรียนที่ 2/55 ต้องนำมาคิดไหม  หรือว่าใช้แค่ของภาคเรียนที่ 2/54 และ 1/55  และถ้าใช้ 2/55 ด้วยนั้น เราจะหาค่าขีดจำกัดล่างระดับประเทศภาคเรียนที่ 2/2555  จากที่ไหนได้บ้าง

            ผมตอบว่า
            1)  การประเมินระยะที่ 2/56 สมศ.จะใช้คะแนน N-NET ของภาคเรียนที่ 2/54, 1/55 และ 2/55 ด้วย  โดย สมศ.จะรับข้อมูลตรงจาก สทศ.มาคำนวณเอง ไม่ได้ดูจากที่เราคำนวณ
            2)  เราไม่จำเป็นต้องคำนวณไว้  แต่ถ้าเราอยากรู้ผลล่วงหน้า ก็คำนวณเองได้  (ทราบแล้วใช่ไหมครับว่า ค่าขีดจำกัดล่างของคะแนน N-NET แตกต่างจากค่าขีดจำกัดล่างของคะแนนปลายภาค )  คำนวณโดยใช้โปรแกรมตามลิ้งค์ในข้อ 7  ที่ http://www.gotoknow.org/posts/512679 
                - ในโปรแกรมนี้ นอกจากจะมีตารางคำนวณผลตามตัวบ่งชี้ที่ 5.1 ของ สมศ.แล้ว  ยังมีตารางคำนวณค่าขีดจำกัดล่างด้วย  และได้คำนวณค่าขีดจำกัดล่างของคะแนน N-NET ภาค 2/54 และ 1/55 ไว้ให้แล้ว  ซึ่งใช้ตารางภาค 2/54 หรือ 1/55 คำนวณค่าขีดจำกัดล่างภาค 2/55 ได้ด้วย
                - การคำนวณค่าขีดจำกัดล่าง N-NET ภาค 2/55 ก็เพียงนำค่า 3 ค่า คือค่า N (จำนวนผู้เข้าสอบ), ค่าเฉลี่ย (ค่า X บาร์) และค่า SD  (ของภาพรวมคะแนน N-NET ระดับประเทศนะ ไม่ใช่ค่าของอำเภอเรา)  ทั้ง 5 สาระ มากรอกในตาราง ก็จะได้ค่าขีดจำกัดล่างออกมาแล้ว  ( ค่าทั้ง 3 นี้ ดูได้ในเว็บผลสอบ N-NET ของ สทศ. ที่ http://www.niets.or.th/NNET/AnnouncementWeb/Notice%5CFrBasicStat.aspx )

            ผมคำนวณค่าขีดจำกัดล่าง ภาค 2/55  ได้ตามลิ้งค์นี้ 
            - 
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/lowerlimit2-2555.docx  



         3. คืนวันเดียวกัน ( 12 มิ.ย.) คุณ “Kanitta Chuwcharoen” ถามในกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  พนักงานราชการที่จะเข้ารับปริญญาบัตร สามารถที่จะใส่ชุดขาวเข้ารับปริญญาบัตรได้หรือไม่

             มีผู้ตอบถูกต้อง ว่า  ได้  แต่ให้ใส่ให้ถูกต้อง  ( ใส่ไว้ใต้ชุดครุย ถึงแม้จะมองเห็นชุดขาวเพียงบางส่วน ก็ต้องแต่งเครื่องแบบปกติขาวให้ถูกต้อง ไม่ใช่ถูกต้องเฉพาะส่วนที่ยื่นออกมานอกชุดครุย  เคยมีการับปริญญาบัตรในช่วงที่รัฐบาลประกาศให้ไว้ทุกข์ ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้ผู้ใส่ชุดชาว สวมปลอกแขนดำด้วย ทั้ง ๆ ที่ เมื่อสวมชุดครุยทับแล้วก็ไม่มีใครมองเห็นปลอกแขนดำเลย )


         4. วันที่ 13 มิ.ย.56 คุณ “กานต์ นครสวรรค์ (นวพน)” กศน.พิจิตร  ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  จบ “ประโยคประถมศึกษา” เมื่อปี 2506  สมัครเทียบระดับฯแบบจบ ม.6 ใน 8 เดือน ได้หรือไม่

             มีผู้ตอบถูกต้อง ว่า  ให้ดูในคู่มือดำเนินงานการเทียบระดับการศึกษาในระดับสูงสุดของการศึกษาขั้นพื้นฐาน หน้า 3
             ซึ่งสรุปว่า  ไม่ได้
             ผู้สมัครต้องมีพื้นความรู้ไม่ต่ำกว่าการศึกษาระดับประถมศึกษา  โดยในคู่มือฯหน้า 3 ระบุว่า  ระดับประถมศึกษา หมายถึง มัธยมปีที่ 3, ประถมศึกษาปีที่ 7, ประถมศึกษาปีที่ 6, การศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับ 3   ( ไม่ใช่แค่ ป.4 )
             จบเมื่อปี 2506 แสดงว่าเรียนตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2494  ซึ่ง “ประโยคประถมศึกษา” ตามแผนการศึกษาชาติฉบับนี้ คือ ป.4  ( ดูในคู่มือหน้า 100 )


         5. วันเดียวกัน ( 13 มิ.ย.) คุณอาธิป นักวิชาการคอมพิวเตอร์ สนง.กศน.จ.ยะลา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  มีนักศึกษา ระดับ ป.ตรี มาฝึกงานด้านคอมพิวเตอร์  เราสามารถพานักศึกษาฝึกงานไปราชการได้มั้ย  ( กศน.ภูเก็ตเชิญคุณอาธิปไปเป็นวิทยากรอบรมเว็บไซต์  อยากจะพานักศึกษาฝึกงานไปเรียนรู้ด้วย )

             เรื่องนี้ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. บอกว่า  จะให้นักศึกษาฝึกงานไปราชการได้ในกรณีจำเป็น  แต่กรณีนี้เห็นว่าไม่จำเป็นเพราะ
             - ไม่มีข้อตกลงกับสถาบันการศึกษาที่ส่ง นศ.มาฝึกงาน ว่า จะมีการพานักศึกษาไปราชการหรือไปฝึกงานนอกสถานศึกษา
             - การไปเป็นวิทยากร ไม่มีความจำเป็นต้องพานักศึกษาฝึกงานไปเรียนรู้ด้วย

             ถ้าเป็นกรณีอื่น ที่ ผอ.สนง.กศน.จ. เห็นว่าจำเป็น จะให้ นศ.ฝึกงานไปราชการก็ได้ แต่ เนื่องจาก นศ.ฝึกงานไม่ได้เป็นบุคลากรในสังกัด  จึงต้องขออนุญาตผู้ปกครองและสถาบันการศึกษาที่ส่ง นศ.มาฝึกงาน ก่อน
             ( ถ้าจะพาไปเป็นการภายใน โดยผู้บริหารอนุญาตด้วยวาจา  หากเกิดอุบัติเหตุหรือเกิดเรื่องใดขึ้น ผู้พาไปต้องรับผิดชอบ )


         6. ดึกวันเดียวกัน ( 13 มิ.ย.) ท่าน ดร.ดิศกุล ผอ.สนง.กศน.จ.สมุทรสาคร โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการประเมินภายนอก ระยะที่ 2/56  ลงในเว็บบล็อก Gotoknow.org  ว่า

             “ การประเมินคุณภาพภายนอกชุดที่จะประเมิน กศน.อ.กระทุ่มแบน และ กศน.อ.เมืองสมุทรสาครคราวนี้ ที่จะลงประเมินที่กระทุ่มแบนในวันที่ 14-16 กรกฏาคม และ อ.เมืองสมุทรสาครในวันที่ 17-19 กรกฏาคมนั้น  จะขอประเมินในพื้นที่ กศน.ตำบล ร้อยละ 50 ของจำนวน กศน.ตำบลด้วย  จึงต้องไปเตรียม กศน.ตำบลให้ดี และจะดูการสอนของครู หากตรงกับวันธรรมดาก็ต้องหานักศึกษาและครูทำการสอนให้ดู  จึงขอแจ้งให้เตรียมความพร้อมซ้อมให้ดีด้วย  ช่วยกันจัดการระบบเอกสารของ กศน.อำเภอแล้วจะต้องไปเตรียมในพื้นที่ด้วย  ในช่วงนี้ต้องเหนื่อยหนักกันหน่อย จากการตามเก็บร่องรอยของการทำงาน การแสดงหลักฐานตามตัวบ่งชี้ที่มีมาตรฐานกำกับ  พวกเราร่วมแรงร่วมใจก็จะผ่านไปด้วยดี ด้วยศักดิ์ศรีและผลงานที่หมั่นทำ ”


         7. วันที่ 14 มิ.ย.56 คุณพิชญานิน ขรก.ครู กศน.อ.ระโนด โทร.มาถามผม ว่า  ค่าใช้จ่ายในการแข่งขันกีฬา  ยังใช้ระเบียบปี 44 อยู่หรือเปล่า

             เรื่องนี้เคยมีผู้อื่นถามผม 2 คนแล้วว่า ผมมีระเบียบไหม ผมจำได้ว่ามีระเบียบปี 44 อยู่ แต่ไม่มีเวลาค้นหา และไม่รู้ว่าล้าสมัยหรือยัง จึงตอบไปว่าผมไม่มี   ครั้งนี้ผมได้เรียนถามไปยัง หน่วยตรวจสอบภายใน และ อ.ปนัดดา ฝ่ายตรวจจ่าย กลุ่มงานคลัง  ได้รับคำตอบดังนี้
            1)  ระเบียบปี 44 ระบุว่า จ่ายเป็นค่าอะไรได้บ้าง ในอัตราเท่าไร  แต่ระเบียบนี้ล้าสมัยแล้ว  อัตราต่ำไปสำหรับภาวะปัจจุบันแล้ว  จึงไม่ต้องดูอัตราการจ่ายในระเบียบปี 44 นี้  ให้ดูเพียงเป็นแนวทางว่า จ่ายเป็นค่าอะไรได้บ้าง  ( ดูหนังสือกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0526.7/28899 ลงวันที่ 15 ต.ค.44 )






             2)  สำหรับอัตราในการจ่ายแต่ละรายการ  ถ้าอ้างอิง
ค่าใช้จ่ายในการจัดงาน ตาม “ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549”  จะต้องเป็นการจัดงานตามแผนงานโครงการตามภารกิจปกติ หรือตามนโยบายของทางราชการ  ซึ่งฝ่ายตรวจจ่าย กลุ่มงานคลัง บอกว่า ภารกิจปกติของ กศน. ไม่มีภารกิจในการแข่งขันกีฬา  แต่ถ้าเป็นกิจกรรมด้านกีฬา ใน “กรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ตามนโยบายการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงาน กศน.” ข้อ 2.8  ก็สามารถใช้ระเบียบนี้ได้  ซึ่งโดยปกติการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนสามารถเบิกจ่ายเงินอุดหนุนได้ตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว   อัตราในการเบิกจ่ายแต่ละรายการ ให้หัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณพิจารณาอนุมัติการเบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น เหมาะสมและประหยัด  ( หัวหน้าส่วนราชการ คือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มอบอำนาจให้ ผอ.สนง.กศน.จ./กทม. พิจารณาอนุมัติ ตามคำสั่งที่ 270/2551 ข้อ 16  และมอบอำนาจให้ ผอ.กศน.อ./ข. อนุมัติ ตามคำสั่งที่ 489/2551 ข้อ 8 )

            สรุป การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการแข่งขันกีฬา
            - ให้ทำเป็น โครงการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
            - จะจ่ายเป็นค่าอะไรบ้าง ให้ดูแนวทางจากหนังสือกรมบัญชีกลางปี 2544
            - แต่ละรายการจะจ่ายอัตราเท่าไร ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้อนุมัติและผู้เห็นชอบโครงการ  ( ถ้าเป็นโครงการภายในวงเงิน 100,000 บาท ผู้อนุมัติโครงการคือ ผอ.กศน.อ./ข. )  อาจใช้ดุลยพินิจด้วยการดูระเบียบของหน่วยงานอื่นเช่น อปท. (มท.)


         8. คืนวันเดียวกัน ( 14 มิ.ย.) คุณ “Kung Mu Thadinjan” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การย้ายข้าราชการ ถ้ายังอยู่ในช่วงเป็นครูผู้ช่วยจะย้ายสับเปลี่ยนภายในจังหวัดได้ไหม  

             ผมตอบว่า   ถ้าอยู่ในช่วงเวลาการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปี ก็ยังขอย้ายไม่ได้ แม้จะย้ายสับเปลี่ยนภายในจังหวัดก็ตาม 


         9. คืนวันอาทิตย์ที่ 16 มิ.ย.56 ผอ.ณัฐพงษ์ กศน.อำเภอเกาะสีชัง ส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊คผม ว่า  อยากให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับการเขียนสมุดหมายเหตุรายวัน  กรณี ผอ.ไปราชการ ใครเขียนหมายเหตุ  ทั้งอำเภอไม่มีข้าราชการมีแต่พนักงานราชการ กับลูกจ้าง

             ผมตอบว่า   ในกรณีที่ ผอ.กศน.อ./ข.ไปราชการหรือปฏิบัติงานไม่ได้ จะต้องแต่งตั้งผู้ “รักษาการในตำแหน่ง” ( การแต่งตั้ง ไม่ใช่อำนาจของ ผอ.กศน.อำเภอ แต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งผู้รักษาการฯก็คือผู้เดียวกับผู้แต่งตั้ง ผอ.ตัวจริง  โดยในส่วนของ กศน.เรา ปลัดกระทรวงฯมอบอำนาจให้ ผอ.สนง.กศน.จังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอ ซึ่งจะต้องแต่งตั้งจากข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษา  คำว่าบุคลากรทางการศึกษาในที่นี้หมายถึงศึกษานิเทศก์หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นตาม ม.38 ค.(2) เช่นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์  ถ้าในอำเภอไม่มี ก็แต่งตั้งจากอำเภออื่น )
             ผู้รักษาการในตำแหน่ง เป็นผู้เขียนสมุดหมายเหตุรายวัน

             ในกรณีที่แต่งตั้ง ผอ.กศน.อ./ข.อื่น เป็นผู้รักษาการในตำแหน่ง เมื่อ ผอ.ท่านนั้นดูแล 2 อำเภอ คืออำเภอที่ดำรงตำแหน่งกับอำเภอที่รักษาการฯ ก็ต้องบันทึกสมุดหมายเหตุรายวันทั้ง 2 อำเภอครับ

             ( ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 68  ระบุว่า  “ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการถ้าตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งใด ว่างลง หรือผู้ดำรงตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ ให้ผู้มีอำนาจตามมาตรา ๕๓ (ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้ง) สั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปรักษาการในตำแหน่งนั้นได้”
              ผู้รักษาการในตำแหน่งตามวรรคหนึ่งให้มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาการนั้น
              ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 270/2551 เรื่องมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทน ลงวันที่ 5 มีนาคม 2551 ในข้อ 1 การสั่งให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารักษาการในตำแหน่งตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากร ทางการศึกษา พ.ศ.2547 ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งหรือผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือรองผู้อำนวยการสถานศึกษาไม่อยู่หรืออยู่แต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้
              ตามมาตรา 4 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547  วรรค 1 ระบุว่า “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” หมายความว่าบุคคลซึ่งได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ให้รับราชการโดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดินงบบุคลากร ที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน ในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา   วรรค 4 ระบุว่า “บุคลากรทางการศึกษา” หมายความว่าผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา รวมทั้งผู้สนับสนุนการศึกษาซึ่งเป็นผู้ทำ
หน้าที่ให้บริการหรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศการบริหารการศึกษา และปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานการศึกษา” )


        10. วันที่ 17 มิ.ย.56 คุณ “Sarinee Nfe” ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  มีฟอร์มใบสมัครครูที่ปรึกษา จบ ม.6 ใน 8 เดือนไหม

             ดูแบบฟอร์มใบสมัครครูที่ปรึกษา จบ ม.6 ใน 8 เดือน ได้ที่
             - https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/ApplicationConsultTeacher.pdf
             - https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/ApplicationConsultTeacher.doc




หมายเลขบันทึก: 539646เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 05:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แวะมารับทราบค่ะ

ขอบคุณมากๆเลยนะค่ะ


ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

ได้ความรู้มาก ขอบคุณ จริงๆ ที่มีข้อแนะนำดีๆสู่ครูกศน.รุ่นจิ้มแป้นพิมพ์

นางเพ็ญพิศ หิงประโคน กศน.อำเภอเมืองนครราชสีมา

เรียน คุณเอกชัย ที่เคารพ

ได้ความรู้อย่างมาก  ข่าวสารรวดเร็วกว่าทางสำนักงาน กศน.  ขอบคุณจริงๆ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท