ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_04 : "มองนักเรียน" ย้อน "มองตนเอง" สู่การตั้งคำถามใหม่


วันที่ 14-16 มิถุนายน 2556 ทีมขับเคลื่อน PLC มหาสารคาม ร่วมกับ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1  จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์  บันทึกนี้เขียนต่อจากบันทึกแรก อ่านได้ที่นี่ครับ บันทึกที่สองที่นี่ครับ และบันทึกที่สามที่นี่ครับ  

สิ่งที่ทำร้าย ทำลาย ความภูมิใจ และพลังใจของครู คือ ความรูสึกของครูว่า "ฉันทำไม่ได้" ซึ่งจะพบบ่อยมาก เมื่อเริ่มคุยถึงเรื่องปัญหาของนักเรียน แล้วตั้งคำถามว่า "ทำอย่างไรจะทำให้นักเรียนไม่เป็นอย่างนั้น ทำอย่างไรจะทำให้นักเรียนเป็นอย่างนี้"  ผมคิดว่า การตั้งคำถามแบบนี้ ทำให้ปัญหายากขึ้นอีก ยิ่งถกกันจะยิ่งไกลตัวออกไป....จนเลยไปถึง "ข้อจำกัด" ซึ่งก็คือ ปัญหาที่ครูไม่สามารถแก้ได้ 

ทักษะอย่างหนึ่งที่ครูต้องฝึกคือ วิเคราะห์ว่า ปัญหานั้น พอประมาณกับตนเองหรือไม่  โดยแยกแยะออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. ปัญหาที่ฉันแก้ไม่ได้ คือครูแก้ปัญหานั้นไม่ได้ ปัญหาแบบนี้เราเรียกว่า "ข้อจำกัด"
  2. ปัญหา ที่ฉันแก้ได้ เป็นหน้าที่ของฉัน คนที่อยู่ใกล้นักเรียนที่สุดเท่านั้นจะแก้ได้ เราเรียกสิ่งนี้ว่า "ปัญหา" ....  "ปัญหาของฉัน ฉันเท่านั้นที่จะแก้ได้" 
  3. ปัญหาที่ฉันและเพื่อนหรือกัลยาณมิตรที่ดีมาร่วม แก้ได้แน่  กัลยาณมิตรที่ดีนี้ก็คือ "PLC" ปัญหาแบบนี้จะเรียกว่า "อุปสรรค"

ครูต้องรู้จักใช้ "จิตวิทยาเชิงบวก" และปล่อยวาง "ข้อจำกัด" ไว้ก่อน แล้วหันมา "มองตนเอง" และ "มองหากัลยาณมิตร" ซึ่งในที่นี้ใกล้ตัวที่สุดก็คือ ผู้อำนวยการโรงเรียน และศึกษานิเทศก์  ซึ่ง ผอ. และ ศน.ก็ต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ของตนเองเช่นกัน

ผมเสนอในการขับเคลื่อน PLC มหาสารคาม ว่า เราต้องเปลี่ยนคำถามใหม่ ดังนี้

  • เปลี่ยนจาก  ทำอย่างไรจะทำให้นักเรียนไม่เป็นอย่างนั้น  มาเป็น ทำอย่างไรจะทำให้นักเรียนไม่อยากเป็นอย่างนั้น
  • เปลี่ยนจาก ทำอย่างไรจะทำให้นักเรียนเป็นอย่างนั้น มาเป็น ทำอย่างไรจะทำให้นักเรียนอยากเป็นอย่างนั้น 

ยกตัวอย่าง บทบาทของ สพป. มมส.  ศน. และครู ดังสไลด์ด้านล่าง


คำถามแรก ทำอย่างไรให้นักเรียนอยากเรียนรู้ 

ผมสรุปและเสนอต่อที่ประชุมดังสไลด์ด้านล่างครับ

  • สังเกตที่ความสุข ความสนุกของนักเรียนก่อนครับ ในชั้นเรียนของเรา นักเรียนกี่คนที่เรียนอย่างมีความสุข สนุกที่ได้เรียนกับเรา หากสังเกตง่ายๆ ที่ความชอบของนักเรียน ผมแนะนำให้ใช้กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนกระดาษคลิปชาร์ท แล้วนำเสนอ เพราะนอกจากจะตรวจสอบนักเรียนรายบุคคลและการมีส่วนร่วมกับกลุ่มแล้ว ยังสามารถ ยังเป็นการพัฒนาการคิด เพราะได้ "ฝึกคิด" อย่างที่เยี่ยม
  • จากนั้น ให้ดูที่ความถนัด  ความชอบกับความถนัดไม่เหมือนกัน นิสิตในสาขาที่ผมสอนส่วนใหญ่ มาเรียนฟิสิกส์เพราะประทับใจครูฟิสิกส์ตอนสมัยมัธยม จึงสามารถทำคะแนนได้ดี แต่พอมาเรียนจริงจังปรากฎว่าไม่ใช่ วิธีการสังเกตความถนัด อาจสังเกตว่า เขาเก่งวิชาอะไร ทำคะแนนอะไรได้ดี เขาทำอะไรได้ดีกว่าเพื่อนๆ ซึ่งต้องค่อยพิจารณาจากหลายๆ มิติ และใช้ระยะเวลาพอควร ไม่ควรด่วนตัดสิน... อย่างไรก็แล้วแต่ ครูควรออกแบบการเรียนการสอนของตนให้สอดคล้องกับความถนัดของนักเรียน อาจใช้ทฤษฎีที่กำลังเป็นกระแสอย่าง ทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligent) ที่เสนอโดยศาสตราจารย์ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์

  • ผมยกตัวอย่างเกี่ยวกับ ความเข้าใจเด็กของครู ที่ต้องดูว่า ทำไมนักเรียนคนนี้ "ถึงเป็นอย่างนั้น" โดยใช้คำสอนของ หลวงปู่ชา สุภัทโท เกี่ยวกับเด็กดับลิง ..... หากเอาเด็นคนหนึ่งมา เดี๋ยวก็เดินไปโน่น เดี๋ยวก็วิ่งไปนี่ เราก็จะมีความรู้สึกขึ้นมากว่า ทำไมเด็กคนนี้มันซนจังเลยเนี้ย......   แต่ถ้าเอาลิงตัวหนึ่งมา ถึงมันจะวิ่งไปโน่นมานี่บ่อยอย่างไร เราก็จะไม่รู้สึกว่ามันซน เพราะเราเข้าใจว่า มันคือลิง.... ใช่ครับ เราเข้าใจเด็กแต่ละคน เป็นรายบุคคล เราจะสามารถเปิดใจเขาได้ไม่ยากแน่
  • ขั้นต่อมา ควรต้องนำข้อมูลรายบุคคลทั้งหมด มาวิเคราะห์และสังเคราะห์ในภาพรวม ใช้การวิเคราะห์เชิงสถิติด้วย ซึ่งจะสามารถนำมากำหนดแนวทางดำเนินงานให้ "พอเพียง" คือมีเหตุผล ถูกต้อง พอดี คุ้มค่า ทั้งเงิน คน และเวลา ที่ใช้ไปในการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา 

เมื่อ "มองนักเรียน" แล้ว ต่อไป ย้อนใจมาก "มองตนเอง"

บรรทัดสุดท้ายของการ "ถามตนเอง" ที่เกี่ยวข้องกับ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติกับตนเอง ... คือ "ข้อตกผลึกปลายทาง" ที่ครูจะเข้าใจในที่สุดครับ ว่าทุกอย่างที่ทำกำลังทำอยู่ และกำลังจะทำต่อไป หากน้อมนำหลักปรัชญาไปใช้กับตนเองอย่างถูกวิธี  จะมีแต่ความสุข สนุกที่ได้ทำงาน ทำประโยชน์ให้ผู้อื่นครับ


หมายเลขบันทึก: 539639เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 00:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 00:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท