จิตวิญญาณของความเป็นหมอ


มีคำถามหนึ่งผุดขึ้นในใจ ว่าทุกวันนี้เราดูแลคนไข้ดีที่สุดแล้วหรือยัง เรารักและดูแลคนไข้เหมือนกับที่เรารักและดูแลญาติเราหรือยัง 


ทำไมจึงต้องเปรยเรื่องนี้ออกมา มันต้องมีที่มาสิ

จิตวิญญาณของความเป็นหมอและพยาบาลมันติดตัวเรามาตั้งแต่เมื่อไหร่ บางคนอาจจะตอบคำถามนี้ได้ตั้งแต่แรเงาตรงช่องที่เลือกคณะตอนสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัย บางคนเลือกมาตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ บางคนพ่อแม่เลือกให้ หลายๆคนมาเลือกเมื่อทราบผลคะแนนสอบแล้ว เอาเป็นว่าที่มาที่ไปของแต่ละคนล้วนหลากหลาย หลายคนมารู้จักตนเองเมื่อเรียนไประยะหนึ่งด้วยซ้ำ แต่จิตวิญญาณเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะการบ่มเพาะขัดเกลา ประสบการณ์ หรือการมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง 

จิตวิญญาณมักจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมหรือทัศนคติต่อหน้าที่การงานไปโดยปริยาย (อันนี้คิดเอาเองนะครับ ไม่ได้อ่านหรืออ้างอิงมาจากที่ไหนหรอก ดังนั้น อาจจะผิด ย้ำ อาจจะผิด)

นานมาแล้วผมเคยได้ยินเรื่องเล่าจากโรงพยาบาลเก่าแก่แห่งหนึ่ง ในวันทำบุญของโรงพยาบาล พระท่านบอกว่า ยังเห็นเหล่าบรรดาอาจารย์เก่าแก่เดินดูคนไข้ของท่านอยู่เลย นั่นหมายความว่า จิตวิญญาณของความเป็นหมอมันติดตัวหมอไปจนตาย แม้ตายไปแล้วก็ยังคงเป็นหมอ เรียกว่าเป็นหมอทั้งตอนเป็นและตอนตาย แหม..ฟังตอนนั้นก็รู้สึกเท่ห์ไม่หยอก คิดเล่นๆไปว่า ยมบาลคงให้สิทธิ์พิเศษของความเป็นหมอมากมาย คิดเล่น ไร้อารมณ์ร่วม เพราะนักศึกษาแพทย์สมองกลวงๆเยี่ยงผมคงคิดอะไรไปได้ไม่มากนัก แม้ว่าจะแอบทึ่งๆ แต่ก็ยังเป็นเพียงแค่ "แอบทึ่งๆ"

ครั้งหนึ่ง จำได้ว่าผมเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ เช้าวันนั้นผมเดินขึ้นวอร์ดอายุรกรรมหญิงราว ๖ โมงเศษๆ ได้เห็นการปั๊มหัวใจช่วยชีวิตผู้ป่วยสูงอายุรายหนึ่ง เธอเป็นโรคหัวใจ และคนที่มาอำนวยการช่วยกู้ชีพในวันนั้นคือ ท่านอาจารย์ธาดา ทราบมาว่าการปั๊มหัวใจเกิดขึ้นมานานราวชั่วโมงเศษ และเมื่อผมขึ้นมาเขาก็ตัดสินใจยุติการช่วยชีวิต อาจารย์ธาดายืนนิ่งๆอยู่ข้างๆร่างที่ไร้ลมหายใจ เพียงครู่หนึ่งท่านก็ได้ปรารภกับร่างที่นอนอยู่บนเตียงว่า "พักผ่อนเถอะนะ เหนื่อยมามากแล้วนี่เรา" 

สิ่งที่นักศึกษาแพทย์ธนพันธ์รับรู้ได้ในตอนนั้นก็คือ อาจารย์ได้แสดงความเคารพต่อร่างกายผู้เสียชีวิตด้วยใจ เขาจะได้ยินหรือไม่ได้ยินเราก็ไม่รู้ แต่อาจารย์แสดงออกอย่างนั้น ผมไม่ทราบหรอก ว่านี่จะเรียกว่าจิตวิญญาณของคนเป็นหมอใช่ไหม นั่นอาจจะส่วนหนึ่ง เพราะสำหรับอาจารย์ธาดาแล้ว นั่นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งจริงๆ เพราะวัตรปฏิบัติของท่านก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไข้และเพื่อนมนุษย์มากมายนัก ท่านไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ ท่านไม่มีพรมแดนของเขตจังหวัดการรักษา ท่านไม่ได้สนว่าหนทางที่ท่านเดินทางไปวางรากฐานสุขภาพประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่เสี่ยง หรืออะไรต่ออะไรอีกมากมายนับไม่ถ้วนถูก

ผ่านมากว่า ๒๐ ปี ผมได้เรียนรู้อะไรจากการเห็นจิตวิญญาณของครูแพทย์บ้าง

ราว ๕ ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสเป็นรองหัวหน้าภาควิชาสูติฯ ขณะนั้นอาจารย์สุธรรมเป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ท่านอาจารย์ธาดาได้เรียกไปนั่งคุยด้วยที่อาคารบริหารคณะแพทย์ ในห้องทำงานของท่าน ท่านถามว่า "คนท้องในภาคใต้ของเราตายไป เรา หมายถึงม.อ. ต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วยไหม" 

โอ้โฮ เพียงคำถามเดียวมันทะลุยอดอกคนถูกถามไปเลย 

ลองคิดตามผมดูนะครับ 
คนท้องคนหนึ่ง เป็นครรภ์เป็นพิษรุนแรง โรคเป็นมากขนาดที่ตับวาย ไตวาย เกร็ดเลือดต่ำ โรคแบบนี้ต้องส่งต่อเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมอย่างมาก หากเราไม่รับการส่งต่อแล้วเขาเสียชีวิตไป ถามว่า เราต้องรับผิดชอบไหม อาจจะมีคนตอบว่า ไม่ เพราะไม่ได้มาตายที่เรา 
คนท้องคนหนึ่ง ตกเลือดหลังคลอดรุนแรง หมอที่ต่างจังหวัดไม่กล้าดูแลต่อเพราะความไม่พร้อม ไอ้เราก็บอกว่า ทำไมไม่พร้อม ในเมื่อมีหมอสูติเหมือนกัน ตัดมดลูกก็หาย ไม่รับส่งต่อ คนไข้ก็ตกเลือดตาย แบบนี้เราต้องรับผิดชอบไหม อาจจะมีคนตอบว่า ไม่ เพราะไม่ได้ตายที่เรา
วาทะเด็ดในการไม่รับส่งต่อ มักจะเป็น ที่นั่นก็มีหมอสูติ ที่นี่เตียงเต็ม หรืออะไรก็ตาม 
ผมก็ยังถามเหมือนเดิม ว่าเราต้องร่วมรับผิดชอบไหม ในเมื่อหมอในพื้นที่นี้ส่วนหนึ่งก็เป็นลูกศิษย์เรา เป็นพี่น้องเรา และที่สำคัญประชาชนก็คนของเรา

เอาเป็นว่า ครั้งนั้นภาควิชาผมก็เข้าใจไปในทางเดียวกันเลย ว่า "ใช่ มันเป็นความรับผิดชอบของเรา" เมื่อเห็นพ้องต้องกันตามนี้จึงร่วมแรงแข็งขัน จุดมุ่งหมายเดียวกันก็คือ ลดการตายของคนท้องในภาคใต้เรา

ตอนนั้นภาควิชาได้เข้าไปร่วมกับทางจังหวัด ผ่านกลุ่มคณะกรรมการแม่และเด็ก โดยมี สสจ.เป็นตัวประสาน โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลสงขลา และเหล่าบรรดาโรงพยาบาลชุมชนมาร่วมมือกัน บรรยากาศการทำงานสนุกสนานมาก เราสามพี่ใหญ่ร่วมกันดูแลคนท้องในสงขลาโดยแบ่งกันเป็นสามเขตดูแล ม.อ.รับดูคนไข้ส่งต่อจาก จะนะ เทพา สะบ้าย้อยและนาทวี (และรับส่งต่อจากโรงพยาบาลจากจังหวัดอื่นอีก) เราจัดอบรมหมอและพยาบาลด้วยกัน ผลัดกันเป็นเจ้าภาพ เราสอนพยาบาลทำ ultrasound level 1 เพื่อตรวจอายุครรภ์ ดูท่าของทารก ดูตำแหน่งรกคร่าวๆ เพื่อเพิ่มคุณภาพการฝากครรภ์ในพื้นที่ 

คนที่ได้รับผลดีจากเรื่องนี้น่าจะเป็นคนไข้ น่าจะเป็นความรู้สึกดีของพี่น้องในเครือข่าย แต่ลูกศิษย์แพทย์ใช้ทุนเหนื่อยกันถ้วนหน้า (แต่เรารับประกันว่าพวกเธอจะเก่งขึ้นอีกมาก) พยาบาลก็เหนื่อยจนหัวหมุน วอร์ดที่ไม่เคยเต็มก็เต็ม สลับสับเตียงกันแทบไม่หวาดไม่ไหว หมอเด็กก็รับผลกระทบไปเต็มๆ เพราะเมื่อแม่จะตาย เด็กในท้องก็จะตาย เมื่อเรารักษาแม่รอดเด็กในท้องก็มักจะรอด แต่นั่นก็เป็นภาระอันหนักอึ้งของหมอเด็กไปในทันที เพราะส่วนใหญ่เด็กในท้องมักจะต้องเกิดก่อนกำหนดและเกิดภาวะแทกซ้อนอื่ๆตามมาอีกอย่างมากมาย ไอซียูเด็กอ่อนแทบจะเป็นสลัม หมอเด็กไม่ต้องหลับนอน อาจารย์ก็มีงานมากขึ้นเป็นเท่าตัว หลายครั้งหมอสูติจัดการเสร็จจนแม่ปลอดภัย เรื่องก็จบ แต่หมอเด็กยังไม่จบอีกเป็นเดือน แต่นั่นแหละ ทุกคนเหนื่อยแต่คนไข้ปลอดภัย เขากลับไปอยู่บ้านได้ เขาได้เลี้ยงลูก เขาได้อยู่กับลูกกับสามีกับคนที่รักอีกมากมาย 

เชื่อไหม หลายๆครั้งเราสามารถผลักความตายออกไปได้อย่างเฉียดฉิว 

หลักประกันความปลอดภัยของคนใต้ในพื้นที่เราคือเรา เราหมายถึงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผมรู้สึกขอบคุณถึงจิตวิญญาณของทีมงานเรา หมอสูติ หมอเด็ก พยาบาลและทีมรักษาแบบหางว่าว เพื่อนๆพี่ๆน้องๆจากโรงพยาบาลในจังหวัดสงขลาถึงความร่วมใจนี้

ถ้าอาจารย์ยังคงอยู่ ท่านคงได้เห็นถึงสิ่งที่ท่านได้เคยถามเราในวันนั้น ว่าตอนนี้มันก่อเกิดผลเช่นไร จริงอยู่ ในทางปฏิบัติอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาได้บ้าง มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้มักจะคลี่คลายไปได้จากการพบปะพูดคุยปรับเปลี่ยนวิถีแนวคิดร่วมกัน ผมเชื่อว่าอาจารย์ยังไม่ได้ทิ้้งเราไปไหน ท่านอาจจะยังเฝ้ามองเราอยู่ คอยให้กำลังใจกับความเหนื่อยล้าของเราอยู่ คอยให้กำลังใจกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้บ้าง คอยให้กำลังใจกับผลการรักษาที่ไม่ได้ตามความคาดหวังบ้าง แต่นั่นก็เกิดจากความพยายาม ไม่ทอดทิ้งคนไข้ของพวกเรา 

ผมอาจจะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องเช่นนี้บ่อยนัก ถ้ามิใช่เป็นเพราะว่าสองสามวันที่ผ่านมานี้มีมิตรใกล้ชิดท่านหนึ่งมาเปรยว่า จิตวิญญาณของความเป็นหมอความเป็นครูแพทย์ของอาจารย์รุ่นเก่าๆนั้นมั่งคงมาก ชีวิตของท่านคือสงขลานครินทร์ ความเป็นสงขลานครินทร์ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของท่าน ท่านยังคงห่วงคณะแพทย์ของเรา ท่านยังคงห่วงคนไข้ของท่านอยู่ ท่านยังคงห่วงชาวบ้านของท่านอยู่ ท่านยังคงห่วงคนใต้ของท่านอยู่ ผมเองก็คิดไปว่า แล้วทำไมคนรุ่นเราๆจะมีจิตวิญญาณอย่างบูรพคณาจารย์ของเราบ้างไม่ได้

คิดได้เช่นนี้แล้ว ทำให้มีแรงทำงานขึ้นอีกมากเลยนะครับ
หมายเลขบันทึก: 538864เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2013 22:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณ คุณหมอครับ แม้วันนี้ แม่ผมจะไม่ได้ไปหาหมอที่ ม.อ. แล้ว (ย้ายมาอยู่ กทม.) แต่ความรุ้สึกผูกพันกับ จิตวิญญาณของความเป็นหมอของ ม.อ. ยังเต็มเปี่ยมอยู่ในหัวใจทั้งผู้ป่วยเอง และญาติผู้ป่วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท