545. "โลกภายในของผู้นำ" (Theory U ตอนที่ 4)


ผมอยากต่อเรื่อง Theroy U อีก... ก่อนอื่นอยากเริ่มด้วยคำคมของศาสตราจารย์สตีเฟ่น ฮอว์กิ้น นักฟิสิกส์ที่มีความฉลาดที่สุดคนหนึ่งของโลก

<img src="http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/909/237/default_h2.jpg?1368694196" "="">

แปลว่า “ศัตรูสำคัญของความรู้ ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่เป็นการหลงในความรู้

เอาหล่ะเรามาต่อเรื่อง Theory U ศาสตราจารย์อ๊อตโต้ ชามเมอร์ เคยสัมภาษณ์กับ CEO บริษัทระดับโลกท่านหนึ่ง ที่ทำเรื่ององค์กรแห่งการเรียนรู้มานาน... CEO ท่านนี้ตั้งข้อสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงองค์กรนั้น ขึ้นกับองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญมากๆ นั่นคือ “โลกภายในของนักพัฒนาองค์กร” นั่นเอง โลกภายในที่ว่าก็คือทัศนคติ ความเชื่อ ที่เป็นแรงผลักให้เกิดพฤติกรรม ทำให้นักพัฒนาองค์กร มีขีดความสามารถและแนวทางในการออกแบบโครงการพัฒนาองค์กร แตกต่างกันออกไป จนส่งผลให้โครงการประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว โลกภายในมักเป็นอะไรที่คนๆนั้นมองไม่เห็น เราอาจเห็น “ผลิตผล” ของการกระทำของเรา เราอาจเห็นวิธีการ กระบวนการในการสร้างผลิตผลของเรา คนเรามักเห็นเท่านี้ แต่ที่มักมองไม่เห็นคือ อะไรที่ทำให้เราต้องทำสิ่งที่เราทำอยู่ อะไรเป็นแรงผลัก ...

เรื่องนี้หากขาดการมองอย่างลึกซึ้งก็ไม่อาจมองเห็นได้ เราจะทำอะไรตามความเคยชิน ทำไปวันๆ เราอาจคิดว่ามันดี แต่จริงๆ แล้วเราอาจอยู่ในมุมมืดที่สุด โดยที่เราคิดว่าเราอยู่ในที่สว่าง ผมตระหนักถึงเรื่องนี้ชัดเจนมากๆ ผมเจอเรื่องนี้กับตัว มีครั้งหนึ่งผมสอน Theory U โดยผ่านการทำ Dialogue กับผู้บริหารองค์กรระดับสูงคนหนึ่ง ตอนนั้นผมไปสอน Appreciative Inquiry (AI) ก็จริง แต่ผมมักจะสอน Theory U โดยผ่านกระบวนการ Dialogue ก่อน ... ก่อนที่จะถึง Dialogue ผมสังเกต เห็นสุภาพสตรีนักบริหารท่านหนึ่ง ดูกวนๆ ถามอะไรก็ตอบแปลก .... ตอนนั้นในใจผมโกรธแล้ว คุณช่างเป็นคนที่ขาดมารยาทอะไรเช่นนี้ ... ครับ... ตัดสินง่ายๆ ตามประสบการณ์เดิม คนเรียนไม่ตั้งใจ ดูลอยๆ ข้อมูลเดิมมันบอก ว่า “เขาเป็นคนไม่ดี” ถ้ามีโอกาสเราต้อง “ลงโทษ”



ถ้าดูตามหลักคิดของ Theory U จะเห็นว่า.. เราเพียงแค่เห็นผู้หญิงคนนี้ คือ “ผลิตผล” ของความแย่ ผมพยายามใช้กระบวนการที่ผมคิดว่าดีที่สุดแล้ว สอนเธอ...

จะว่าไปผมยังไม่ทันดูเลยด้วยซ้ำว่า... อะไรผลักดันให้ผมคิดอย่างนั้น ไม่เคยจริงๆ ง่ายที่สุด ตรรกะเดิม เรียบง่ายมาก... พยายามใช้กระบวนการดีๆ เพื่อพัฒนาเขาแล้ว ผลลัพธ์ ออกมาไม่ดี แสดงว่าเขาแย่ เฮงซวย...

ที่สุดบังเอิญวันนั้น เกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น คือ ผมทำ Dialogue โดยให้มีการจับคู่ แต่มีคนขาดคู่หนึ่งคน ผมเลยต้องเข้าไปนั่งแทน เธอคนนี้เลย ตามประสบการณ์ผม เธอคือคนนิสัยแย่ จอมป่วนคนหนึ่ง... ผมนั่งฟังเธอพูดอยู่ครึ่งชั่วโมง ...เนื่องจากเป็นการคุยแบบ Dialogue เราเน้นที่ความไม่พยายามเปลี่ยนอะไรในตัวคู่สนทนา เราจึงฟัง ฟัง ฟัง ... เธอพูดถึงงานสักพัก... ก็หมดเรื่องคุย 20 นาทีต่อมา เธอ็เริ่มบ่น บ่นถึงชีวิตการทำงาน ที่ต้องกลับบ้านดึก สามีกลับดึกว่า มีลูกชายสองคน โชคดีที่เขาดูแลตัวเองได้ ตัวเองทำงานหนักไม่พอ ยังต้องไปดูแลพ่อแม่สามี ที่แสนจะขี้บ่นจุกจิก...

ที่สุด ผมฟังก็เริ่มเห็น “ความจริง” ... ผมเริ่มเห็น “ความเป็นมนุษย์” ของคนที่ผมเคยมองว่าป่วน... จริงๆแล้วเธอกต้องดิ้นรนมากๆ นะ ...ผมเริ่มกลับมามองความเป็น “มนุษย์”ของผมเอง... ผมเห็นความหยาบ การตัดสินที่มันมาจากอะไรก็ไม่ทราบ ทำไมผมถึงตัดสินคนอย่างนี้ ที่สุดผม “ปลดปล่อย” อคติ ความเชื่อ ความรู้สึกไม่ดี ที่มีต่องลูกศิษย์ไป... เออ เข้าใจ ปัญหาหนักอก ขนาดนี้ ถ้าเป็นเรา ใครมาสอนอะไรก็คงรับไม่ไหวแล้ว มันจะสติแตกอยู่แล้ว...

ผมเห็นทันทีว่าต้องทำอะไรกับหลักสูตรของผม ผมไม่ควรยัดเยียดความเป็นนักวิชาการจ๋า บ้า AI ให้เขาอีกต่อไป... เขาไม่พร้อม.. เรามาเริ่มใหม่ในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันไหม ...พอดีตอนท้ายๆ เธอบ่นเรื่องเธออยากไปวัด แต่ไปไม่ได้อยากไป 10 วัน ซึ่งไม่มีทางไปได้... เลยแนะนำเขาที่หลังว่า ทำไมต้องสิบวัน..ไปหาหลวงพ่อกล้วยสิ จังหวัดขอนแก่น... บางที 10 นาทีก็สงบไปเป็นเดือน ไม่ต้องสิบวันก็ได้.. ที่สุดเพื่อนๆ เธอก็พากันเหมารถตู้ มาค้างวัดหลวงพ่อกล้วย กันสองคืน..

กลับไปผมไปเจอเธออย่างมีความสุข แทนที่จะเริ่มจาก AI ก็ถามก่อนเป็นไง ไปวัดมาเป็นไงบ้าง... แล้วพวกเราก็สามารถเรียนรู้ร่วมกันในหัวข้ออื่นๆได้ ... จะหลับบ้างก็ได้ ไม่มีใครว่า.. แต่ภายหลังกลับได้รับความร่วมมือจากลูกศิษย์คนนี้ และเพื่อนๆของเธอ งานออกมาราบรื่น และที่สำคัญรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็น “ครู” ที่ไม่ได้ทอดทิ้งลูกศิษย์ ผมเชื่อว่าถ้าผมไม่รู้เรื่อง Theory U และ Dialogue งานนั้นคงกล่อย เธอก็คงเสียเวลา ผมก็คงเสียเวลา ที่สำคัญเสียใจอีก

ผมค้นพบว่า “ถ้าเราไม่ฟัง รีบตัดสินคนอื่นๆ เราจะไม่รู้อะไรเลย หากเราฟัง ฟังนานพอ... เราจะเห็นเลยว่า เหตุการณ์ที่เกิดนั่นคืออะไร กระบวนการที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นคืออะไร และที่สำคัญที่สุด เราจะพบว่า อะไรผลักดัน อยู่เบื้องหลังการกระทำของเรา...

ในที่นี้ผมค้นพบว่า... ความไม่รู้ อยู่เบื้องหลังการกระทำในตอนแรก ... เพราะฉะนั้นการสอนจึงออกมาในทางยัดเยียด...ใส่เข้าไป AI มันดีนะ ไม่ดีได้ไง ลึกๆ ก็มีความรู้สึกว่าคนไม่สนใจคือพวกงี่เง่า...

ที่สุดพอฟัง แบบ Dialogue ฟังนานๆ ไม่ตัดสิน ไม่ตัดบท ไม่พยายามเปลี่ยนใคร กลับทำให้เราค้นพบตัวเอง เริ่มจากการค้นพบอคติ จนค้นพบความเชื่อใหม่ที่สร้างสรรค์กว่าเดิม ที่สุดนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ร่วมกัน นำไปสู่การสอนที่เน้นความเป็นมนุษย์เป็นตัวตั้งต้น ไม่ใช่วิชาการที่เต็มไปด้วยอคติ ...

ชีวิตเบากว่าเดิม... งานได้ผลกว่าเดิม... ได้กระบวนการสอนใหม่ๆ ได้ผลผลิตใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม

<img src="http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/909/240/default_h3.JPG?1368694690" "="">

ตอนนี้ผมเห็นแล้ว ตามที่ศาสตราจารย์อ๊อตโต้เคยวิจัยไว้ว่า “ความสำเร็จของความพยายามในการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นกับโลกภายในของนักพัฒนาองค์กรนั่นเอง” ผมว่าจริง.. ในฐานะคนทำ OD หรือที่เขาเรียกว่า OD Consultant ผมว่า คนที่เป็นนักพัฒนาองค์กร ควรหาเวลานั่ง “ฟัง” ฟังคนอื่นมากๆ ฟังนานๆ แล้วห้อยแขวน เดือนละครั้งก็ยังดี เราจะปรับปรุงตัวเองได้ดีขึ้น เราจะพัฒนาตัวเองไปได้ไกลมากขึ้น ตอนนี้ไม่ว่าผมจะสอนอะไร ผมจะสอนเรื่อง Theory U และ Dialogue ก่อน ... ก่อนที่ผมจะสอนอะไรทั้งสิ้น ผมเห็นอะไรดีๆ แล้วเกิดไอเดียอะไรดีๆ มากขึ้น ที่สำคัญความสัมพันธ์ของผมกับนักศึกษา หรือลูกค้า มีความราบรื่น เข้าใจกันมากขึ้น เป็นอะไรที่ขาดไม่ได้จริงๆ ครับ แต่อย่าลืมครับ เราควรทำกับตัวเองมากๆ ก่อนไปทำกับคนอื่น

ถ้าคนทำ OD นักพัฒนาองค์กร ผู้นำขาดการฟัง ขาดการมองตัวเอง ก็ไม่ต้องคิดครับ เรามีสิทธิติดกับกับความรู้เดิม ความเชื่อ อคติเดิมๆ แล้วเราจะไปเปลี่ยนอะไรได้ ถ้าจะเปลี่ยนโลกภายนอกได้ เราจะต้องเปลี่ยนโลกภายในของตัวเองให้ได้เสียก่อน

และผมขอยืนยันตามคำพูดขอศาสตราจารย์สตีเฟ่น ฮอว์กิ้น นักฟิสิกส์ที่มีความฉลาดที่สุดคนหนึ่งของโลก ที่ “ศัตรูสำคัญของความรู้ ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่เป็นการหลงในความรู้” ศัตรูตัวนี้มีอยู่ตัวเราทุกคน มันคือความหลง ที่ทำให้เราหลงทาง และเราจะเอาชนะมันได้ก็ด้วยการรับรู้ถึงตัวตนของมัน ผ่านกระบวนการฟัง การสนทนาแบบไม่ตัดสิน ฟังมากๆ เท่านั้น จึงจะค้นพบ .. ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายนัก ฝึกกันได้ครับ ...

ผมเองก็ฝึกอยู่ ฝึกกับพ่อแม่ ลูกกับเมีย กับลูกศิษย์ นายของเรา เพื่อนของเรา ฝึกกับคนที่เราไม่ชอบหน้า สนุกมากครับ..เห็นแง่มุม ความสุข ความหวัง การสร้างสรรค์มากจริงๆ มันจะเปลี่ยนแปลงไปเองครับ

สำหรับผู้นำ ก่อนจะนำใคร จะนำโลกทั้งใบ เริ่มจากนำโลกภายในเราก่อน ดีกว่าไหมครับ

ชีวิตตื่นเต้น และดีกว่าเดิมมากๆจริงๆ

คุณว่าจริงไหม

วันนี้เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ


อ้างอิง

หนังสือ Theory U

Credit ภาพ

รูปแรก http://jgsf451.edublogs.org/2013/02/25/ignorance-is-merely-the-gateway-to-knowledge-ignorance-vs-knowledge/

รูปที่สอง http://fineartamerica.com/featured/inner-world-photodream-art.html

รูปที่สาม http://beebeetree08.blogspot.com/





หมายเลขบันทึก: 536157เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2017 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

" “ศัตรูสำคัญของความรู้ ไม่ใช่ความไม่รู้ แต่เป็นการหลงในความรู้”  "ขอบคุณอาจารย์อย่างยิ่งที่นำสิ่งสะกิดเตือน และทฤษฎี ตัว U ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจอีกหลายตอน

ชอบมากเลยค่ะ ฟังให้มากแล้วเราจะเข้าใจคนอื่นขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท