การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑. ปณิธาน



          บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmerและ Arthur Zajoncซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มีพลังสามเข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning)

          แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

          ที่จริงหลักการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ก็ได้เสนอทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ที่รวมทักษะด้านใน  และทักษะการทบทวนตรวจสอบทำความรู้จักตัวเอง  แต่เนื่องจากคิดมาจากมุมของวัฒนธรรมตะวันตก  จึงไม่ได้เสนอเรื่องการเรียนด้วยการปฏิบัติภาวนา 

          ในเรื่องนี้โรงเรียนผู้นำการปฏิรูปการเรียนรู้ในสังคมไทย  ได้นำสังคมฝรั่งไปแล้ว  โดยเราได้นำ “จิตศึกษา” มาใช้ในโรงเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลขึ้นมา  ดังผมได้เล่าไว้กรณีโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่ ,   โดยโรงเรียนกระแสทางเลือก และโรงเรียนวิถีพุทธทั้งหมด ได้จัดให้นักเรียนฝึกจิตศึกษาทั้งสิ้น

          แต่เราก็ยังน่าศึกษาความคิดของสองผู้ยิ่งใหญ่ที่เขียนหนังสือเล่มนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองท่านนี้เขียนจาก ๒ ขั้วตรงกันข้ามของวิชาการ  คือ Parker J. Palmer เป็นนักสังคมศาสตร์ และศาสนา   ในขณะที่ Arthur Zajonc เป็นนักฟิสิกส์   แต่ ศ. ซาย้องค์ ข้ามมาศึกษาศาสนาและเทคโนโลยีด้านในของตะวันออกมาก

          ศ. ซาย้องค์ เพิ่งมาปาฐกถาเปิดตัวหนังสือแปล ภาวนาในกระบวนการสืบค้นเชิงจิตตปัญญา เมื่อความรู้แปรเป็นความรัก  ซึ่งแปลจากหนังสือที่ท่านเขียน ชื่อ Meditation as Contemplative Inquiry : When Knowing Becomes Love หัวข้อของปาฐกถาชื่อ The Transformation of Science and the Emergence of a New Paradigm : Contemplative Practices and Their Implicationa for West and Eastและหลังการปาฐกถา ท่านก็ได้เสวนากับผู้ฟัง โดยมีนักคิดไทย ๕ ท่าน และฝรั่งในเมืองไทย ๑ท่านร่วมตั้งคำถามหรือนำเสวนา  ผมโชคดี ได้ไปนั่งซึมซับบรรยากาศของงานโดยตลอด งานนี้จัดที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๒ ม.ค. ๕๖

          ผมสะกิดใจจากคำเสวนาของ ศ. ซาย้องค์ ว่าสังคมไทยเราโชคดี ที่เรามีคำสอนและยึดถือธรรมะ พรหมวิหาร  ท่านเอ่ยถึงเมตตา กรุณา มุทิตา ว่านี่คือยอดธรรมะในใจคน  โดยที่ข้อมุทิตา ยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี นั้น ไม่มีสอนในคติฝรั่ง

          ทำให้ผมคิดว่า ที่จริงสิ่งดีๆ ที่เป็นการพัฒนาด้านหัวใจ และวิญญาณ นั้น  สังคมไทยเรามีอยู่  แต่เราตีความให้เป็นของสูง ของศักดิ์สิทธิ์  ยกไปไว้ไกลเกินเอื้อม  ไม่จัดไว้ในทักษะเพื่อการดำรงชีวิตของปุถุชน  เราจึงแยกการฝึกฝนด้านในออกไปจากการศึกษาปกติ  บัดนี้ ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะนำสิ่งดีๆ เหล่านี้กลับมา  และบูรณาการเข้ากับการศึกษากระแสหลัก ตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กขึ้นมาจนตลอดชีวิต

          ที่จริง มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้งศูนย์จิตตปัญญาศึกษา  เผยแพร่ทั้งวิชาการและวิธีปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตตปัญญา มาเป็นเวลานานกว่า ๑๐ ปี  และกระแสจิตตปัญญา ได้เผยแพร่ออกไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทยมิใช่น้อย  แต่ก็ยังไม่บูรณาการเข้าเป็นเนื้อเดียวกันกับการศึกษากระแสหลัก 

          ผมจึงตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษาเข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

          สังคมไทยมีแนวโน้มจะเอาเรื่องจิตตปัญญา จิตตภาวนา เข้าวัด หรือชีวิตทางธรรม และสร้างรั้วกั้นให้อยู่เฉพาะในวัดหรือชาววัด   เป้าหมายของบันทึกชุดนี้ ก็เพื่อเอาจิตตภาวนา จิตตปัญญา เข้าบ้าน หรือชีวิตทางโลก ให้ชาวบ้านได้เข้าถึงโดยง่าย   ให้เห็นว่าการฝึกฝนทางจิตวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าจะดำรงตนอยู่ในสถานะใด  จิตตปัญญาศึกษาจึงเป็นเรื่องสำหรับทุกคน 


วิจารณ์ พานิช

๑๔ ม.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 533235เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2013 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2013 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท