ชีวิตที่พอเพียง : ๑๔๐๓ก. เรียนรู้ 21st Century Learning ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา



          ผมติดตาม ดร. เจือจันทร์ จงสถิตย์อยู่ ผู้ประสานงานโครงการ LLEN ของ สกว. ไปเยี่ยมชื่นชมโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เมื่อเย็นวันที่ ๒๕ - เที่ยงวันที่๒๖ ก.ย. ๕๔   ไปแล้วจึงรู้ว่าโรงเรียนนี้ได้คิดค้นวิธีการเรียนรู้แห่งศตวรรษใหม่ (21st Century Learning) ขึ้นในบริบทไทย    โดยไม่ได้ลอกเลียนของใครมา    น่าทึ่งจริงๆ   เราไปเห็นทั้ง PBL และ PLC ในบริบทไทยและบริบทของโรงเรียนที่ไม่เลือกนักเรียนเก่งใช้วิธีคัดเลือกโดยจับฉลากเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ตามความเป็นจริงในสังคมเราไปเห็นโรงเรียนที่ไม่บ้าอวดความ “เก่งวิชา” ของนักเรียนทั้งๆที่จริงๆแล้วเขาเก่ง

          หัวใจสำคัญคือ เน้น “สอนคน” ไม่ใช่ “สอนวิชา”และในการ “สอนคน” นั้นเน้น “สอนแบบไม่สอน”    คือเน้นที่การเรียนรู้ของผู้เรียนเองจึงจัดบรรยากาศสถานที่และความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนและระหว่างนักเรียนด้วยกันเองให้กระตุ้นการเรียนรู้โดยที่การเรียนรู้นั้นเลยจากเรียนรู้วิชาการเพื่อสติปัญญาไปสู่การเรียนรู้ทักษะด้านจิตใจด้านสุนทรียภาพและด้านการคิดและจินตนาการ

          นักเรียนทุกชั้นจะใช้เวลา ๒๐ นาทีของทุกเช้าระหว่างเวลา ๘.๒๐ - ๘.๔๐ น. เรียน “จิตศึกษา”ถือเป็นการเตรียมพร้อมจิตใจหรือสมองต่อการเรียนในวันนั้นเป็นการฝึกเพื่อเพิ่มEQ (Emotional Quotient) & SQ (Spiritual Quotient)    และผมตีความว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนา EF (Executive Functions) ของสมอง  และผมตีความว่า การกล่าวคำขอบคุณพ่อแม่ ชาวนา ฯลฯ ก่อนรับประทานอาหารเที่ยงที่นักเรียนกล่าวดังๆ พร้อมกัน    และพิธีชักธงชาติ และสวดมนตร์ที่หน้าเสาธง ก็เป็นการฝึกฝนด้าน “จิตศึกษา” ด้วย

          วิธีเรียน “จิตศึกษา”ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามีความหลากหลายที่ผมไปเห็นมีการเดินจงกรมการนั่งสมาธิการใช้จินตนาการต่อ Lego    ชั้น ป. ๑ เอาคลิปหนีบกระดาษ ๔ อันมาต่อเลข 7    ในเอกสารบอกว่าอาจใช้เวลาทำประโยชน์แก่สังคม    ตามในบทความเรื่อง การเรียนรู้ในวัยเยาว์  : 3. พัฒนาการสมองด้าน Executive Functionที่ลงใน บล็อก council วันนี้ บอกว่าวิธีเพิ่ม EF ของสมองมี ๖ วิธี

          เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากตนเอง จากการคิด ไม่ใช่จากการเชื่อ   โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจึงไม่มีการสอบอย่างที่ใช้กันในกระทรวงศึกษา    คือไม่จัด Summative Evaluation เลย   แต่ผมกลับเห็นว่า นักเรียนถูก “สอบ” แบบไม่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลาแต่เป็นการสอบแบบ Formative Evaluation   คือสอบเพื่อทำความเข้าใจความก้าวหน้าในการเรียนของนักเรียนแต่ละคน   ผมคิดว่า นี่คือจุดแตกต่างที่สำคัญและกล้าหาญยิ่ง

          ครูของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จึงมีทักษะด้านการทดสอบนักเรียนที่ล้ำลึกมาก    และในการตีความของผม แทนที่ครูจะเน้น “สอน” แบบบอกข้อความรู้แก่เด็กครูกลับเน้นชักชวนให้เด็กคิดและแสวงหาความรู้ด้วยกระบวนการต่างๆนานาและคอยสังเกตเด็กว่ามีการเรียนรู้ก้าวหน้าไปอย่างไรสำหรับนำมาใช้ปรับบทบาทของครูเองและสำหรับนำมาใช้จัดกระบวนการเพื่อช่วยเด็กที่เรียนบางด้านได้ช้าข้อความในย่อหน้านี้ผมตีความเอาเองจากการไปเห็นเพียงครึ่งวันจึงต้องย้ำว่าไม่ทราบว่าตีความถูกต้องหรือไม่

          แทนที่ครูจะเน้น “บอก” เด็กครูกลับเน้น “ถาม”ตั้งคำถามง่ายๆเพื่อชวนเด็กคิดเองแล้วตามมาด้วยคำถามที่ยากขึ้นหรือค่อยๆนำไปสู่กระบวนการคิดหาคำตอบหรือข้อความรู้ด้วยตนเอง

          คำตอบของนักเรียนเท่ากับเป็น “ผลการสอบ” ทางอ้อมที่ครูใช้ประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายคนนอกจากนั้นนักเรียนแต่ละคนต้องเขียนรายงานว่าตนเรียนรู้อะไรโดยเน้นเขียนเป็นผังความคิด (mind mapping)   เขียนด้วยลายมือของตนเองต่อเติมศิลปะเข้าไปตามจินตนาการของตนดังนั้น ที่หน้าห้องและในห้องเรียนจึงมีรายงานของนักเรียนสำหรับแต่ละบทเรียนติดอยู่อย่างเป็นระเบียบ เต็มไปหมดนักเรียนจะได้เรียนรู้ว่าในเรื่องนั้นๆเพื่อนคนอื่นๆเข้าใจว่าอย่างไรและครูก็ได้ตรวจสอบว่านักเรียนแต่ละคนมีความเข้าใจหัวข้อนั้นและมีความก้าวหน้าของการเรียนรู้อย่างไรนี่คืออีกกิจกรรมหนึ่งของ formative evaluation หรือการ “สอบแบบไม่สอบ” หรือ “สอบเพื่อพัฒนา” 

          จึงเท่ากับนักเรียนเรียนรู้แบบทำโครงงาน(project) ที่เป็นการทำงานเป็นทีม (team learning) แล้วเขียนรายงานเป็นรายคน    เพื่อสรุปว่าตนเรียนรู้อะไร   ตอน เรียน/ทำงาน เป็นทีม ก็ได้ฝึกทักษะด้านความร่วมมือ (collaboration skills) หลากหลายด้าน   รวมทั้งทักษะด้านความแตกต่างหลากหลาย  และทักษะอื่นๆ ใน 21st Century Skills    แล้วได้สะท้อนการเรียนรู้ของตนออกมาเป็นรายงาน โดยการเขียนด้วยลายมือ ตกแต่งด้วยศิลปะตามจินตนาการของตน   ย้ำว่ารายงานต้องเขียนด้วยลายมือ ห้ามพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์   เพื่อป้องกันการคัดลอกกัน   นักเรียนจะได้รับการอบรมให้ซื่อสัตย์ ทำงานด้วยตนเอง ไม่คัดลอกกัน   และเนื่องจากไม่มีคะแนน ไม่มีดาว เด็กจึงไม่ลอกกัน

          การ“สอบแบบไม่สอบ” ครั้งใหญ่มีขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของ quarter โดยนักเรียนจะจัด การรายงานผลการเรียนรู้ในภาคเรียนนั้นของตนต่อทั้งโรงเรียน   และผู้ปกครองก็ได้รับเชิญ มาฟังด้วยการรายงานนี้อาจจัดเป็นละครหรือเป็นหนังสั้นจึงเท่ากับทั้งโรงเรียน (และผู้ปกครอง) ได้มีส่วนประเมินการเรียนรู้ในภาคเรียนนั้นของนักเรียนแต่ละชั้นด้วยวิธีการ  “สอบแบบไม่สอบ”

          การเรียนแบบนี้ นักเรียนจะค่อยๆ บ่มเพาะตัวตนของตน เกิดความมั่นใจตนเองไปพร้อมๆ กันกับความเคารพผู้อื่น   และเห็นข้อจำกัดของตนเอง   ครูจะแสดงตัวอย่างการเคารพตัวตนของนักเรียน โดยไม่มีการดุด่าว่ากล่าว    ไม่มีการขึ้นเสียง   ไม่มีการลงโทษ   เมื่อเด็กทำผิดวินัยครูก็จะถามว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น   คำถามที่ถามต่อๆ กันจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ และหาทางแก้ไขตนเอง   ดังนั้น การทำผิดวินัยจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้

          การเรียนรู้ที่นี่มีผู้ปกครองมาร่วมด้วย    มีโครงการผู้ปกครองอาสา    ในวันที่ผมไปชม ในชั้นอนุบาล ๑ มีคุณตา และคุณแม่ของเด็กเข้าไปนั่งสังเกตการณ์ในห้องด้วย    รวมทั้งจะมีคนหรือองค์กรในชุมชนเข้ามาร่วมบางโครงการ    ตรงกับหลักการที่ระบุใน พรบ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ระบุให้ใช้ทรัพยากรการเรียนรู้จากหลากหลายแหล่งในสังคม

          นักเรียนได้รับการฝึกให้เป็นคนตรงต่อเวลา (ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑) ผ่านกติกาต่างๆ    คนที่มาโรงเรียนสาย ไม่ทันเวลาเคารพธงชาติและสวดมนตร์ จะต้องมาทำกระบวนการดังกล่าวเอง ตามกติกาว่าทุกคนต้องเคารพธงชาติและสวดมนตร์ก่อนเข้าห้องเรียนทุกวัน  

          ผมสรุปว่าโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจัดการเรียนรู้แบบเน้น “เรียนความรู้มือหนึ่ง” ไม่ใช่เน้นเรียนแบบคัดลอกหรือแบบจดจำ “ความรู้มือสอง” จากครูหรือตำรา

          จะเขียนต่ออีก ๑ ตอน  หลังจากค่อยๆ เคี้ยวเอื้องความประทับใจ

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ ก.ย.๕๔
 

บรรยากาศที่ร่มรื่น เป็นธรรมชาติ ช่วยการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของการบ่มเพาะ


 

ทุกสถานที่ ทุกจุดในโรงเรียนคือเครื่องอำนวยให้เรียนรู้ ครูต๋อย พรรณทิพย์พา ทองมี กำลังแนะนำ ตารางร้อย สำหรับเรียนเลขด้วยการเล่น


 

ตารางเรียนชั้น ป. ๔ แสดงการเรียนเพื่อพัฒนา ๓ ด้านใหญ่ๆ คือ จิตศึกษา วิชาการ และพลศึกษา เน้นเรียนด้วยโครงงาน


 

ห้องเรียนเป็น studio ไม่ใช่ classroom


 

 ทุกสถานที่เป็นระเบียบเรียนร้อย นี่คือส่วนหนึ่งของการเรียน มีการจัดแสดงแผนและผลการเรียนหน้าห้อง

เพราะต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของคนในวงการศึกษา


 

ใกล้ ๘ น. นักเรียนมาเข้าแถวเคารพธงชาติกันเอง โดยไม่ต้องมีระฆังเตือน เป็นการฝึกสติ วินัย และการเป็นทีม


 

 เดินจงกรมในวิชาจิตศึกษา


 

ต่อ Lego ในวิชาจิตศึกษา


 

หลักการเรียนแบบ PBL ในชั้นอนุบาล


 

ความหมายของ Transformative Learning


 

ปณิธานครูโรงเรียนลำปลายมาศวิทยา


 

 ทางเดินฝึกสติ


 

สื่อสารกับผู้ปกครอง


 

กิจกรรมการเรียนรู้หลักเพื่อ ๔ เป้าหมาย สุนทรียะ จิตศึกษา สติปัญญา และการคิด-จินตนาการ


 

หมายเลขบันทึก: 463231เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2011 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนรู้แบบทำโครงงาน(project) ที่เป็นการทำงานเป็นทีม (team learning) แล้วเขียนรายงานเป็นรายคน    เพื่อสรุปว่าตนเรียนรู้อะไร

คุณครูโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เป็นตัวอย่างที่ดีจังเลยคะ ได้ทั้งเห็นคุณค่าคนอื่น โดยคงคุณค่าของตัวเอง..ขอบคุณมากคะ

มองย้อนไปที่การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา บางแห่งยังบรรยายในชั้นใหญ่ๆ แถมไม่มีการพัฒนาการเป็น Team Teaching สำหรับครู

เรียนท่าน อ.นพ.วิจารณ์

อ่านแล้วสงสัยค่ะว่า ทีมอาจารย์โรงเรียนลำปลายมาศ คิดและทำได้อย่างไร สงสัยน่าจะมี Personal Mastery และมี EF ที่ดีทั้งทีมใช่ไหมคะ กิจกรรมต่างๆจึงดูกล้าหาญ และบุกเบิกมาก

ขอบพระคุณอย่างสูงที่ให้เห็นภาพและแบบอย่างที่ดีค่ะ

ขอบคุณเสียงสะท้อนดีๆที่น่าประทับใจทุกๆเสียงครับ จากกัลยาณมิตรที่เข้ามาเยี่ยมชม โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา หรือ โรงเรียนนอกกะลา

จะคอยอ่านตอนที่ 2 ครับผม..

ติดคามความเคลื่อนไหวเล็กๆ ของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ได้ที่นี่ครับ http://www.facebook.com/lamplaimatpattanaschool

รออ่านตอนต่อไปด้วยใจจดจ่อค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท