525. AI กับการวางแผนกลยุทธ์


มีคนถามครับ ว่า Appreciative Inquiry (AI) กับการวางแผนกลยุทธ์เหมือนกันต่างกันอย่างไร ขอตอบโดยการยกนิยามของ AI และหลักการพื้นฐาน 5 ข้อของ AI มาตอบครับ เริ่มจากนิยามก่อน

Appreciative Inquiry (Cooperrider, Whitney and Stavros, 2003) คือกระบวนการศึกษาค้นหาร่วมกันเพื่อค้นหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวคนในองค์กรหรือของโลกที่อยู่รอบตัวของเขา  AI คือกระบวนการค้นหาอย่างเป็นระบบว่าอะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบดำเนินไปอย่างดีที่สุด AI เป็นศิลปะของการถามคำถามที่นำไปสู่การส่งเสริมให้ระบบมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาไปสู่ศักยภาพสูงสุด 

เราสามารถเชื่อมโยงการค้นพบด้านบวกนี้เข้ากับเรื่องใดก็ได้  วงจร AI สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการสนทนาแบบเร็วๆสั้นๆกับเพื่อนหรือนำมาใช้เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงในระดับองค์กรก็ได้วงจร AI จะเริ่มจากการค้นหาประสบการณ์ที่ดีที่สุด (Peak Experience) จากนั้นเอาประสบการณ์ที่ได้ไปสานต่อเป็นความฝันหรือวิสัยทัศน์ (Dream) วางแผนทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริง (Design) และเริ่มต้นทำ (Destiny)

ในมุมมองของผม การวางแผนกลยุทธ์ กับ AI  เป็นเรื่องคล้ายๆกันครับ ไม่เหมือนกันทีเดียว  เรียกว่าดูเหมือน แต่ จริงๆแล้ว ต่างกันสุดขั้ว ด้วย AI มีขั้นตอนที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวมันเอง ตั้งแต่ดึงการมีส่วนร่วมจาก “ทุกคน” ครับ  (Discovery) ตรงนี้ก็เริ่มต่างจากการวางแผนกลยุทธ์ทั่วไป ที่พูดตรงๆ ว่า “ไม่ทุกคน” ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมครับ AI นี่ยิ่งมากยิ่งดี ทุกคน ยิ่งดี ลูกค้าก็มาแจมด้วย เรียกว่ามาร่วมตั้งแต่แม่บ้านกวาดพื้นยัน CEO  

                  

             Cr: http://www.christian-faure.net/2008/05/09/introduction-a-lentreprise-20/


ซึ่งในไทยเครือข่ายเราก็ทำอย่างนี้ครับ มีธนาคารหนึ่งเราดึงแม่บ้านมามีส่วนร่วมด้วย คุณป้านี่เธอสร้างยอดขายประกันภัยให้สาขานั้นกว่า 32 % จนน้องๆ ต้องช่วยกันทำเรื่องขอให้ธนาคารให้ข้อยกเว้น ที่สุดก็เลยได้พากันไปเที่ยวเกาหลี ครับ เรียกว่า ที่ผมเห็น “ประเพณี” การวางแผนกลยุทธ์แบบทั่วไป ที่เราเห็นนี่คือกำหนดขึ้นโดยฝ่ายบริหารไม่กี่คนครับ ของฝั่ง AI นี้ทุกคนมีส่วนร่วมตั้งแต่ค้นหาข้อมูล จนวาดวิสัยทัศน์ แลวเอาไปทำจริงครับ 

AI เราเก็บข้อมูลด้วยคำถามเชิงบวก ด้วยมีความเชื่อว่า จะนำคำตอบดีๆ ที่ได้มาร่วมสร้างภาพอนาคตได้ แล้วภาพอนาคตที่สดใส ดีงาม จะเหนี่ยวนำให้เกิดเรื่องดีๆ อย่างเป็นโมเมนตั้มขึ้นมาอย่างไม่สิ้นสุด  นี่ไงครับ ความต่างอย่างที่สอง  เพราะรับรองการวางแผนกลยุทธ์ทั่วไปจะไม่ขนาดนี้ครับ เคยอยู่ในบรรยากาศของการวางแผนกลยุทธ์โดยใช้ Balanced Scorecard ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ นั่นมาเลยครับ ประกาศ ปีหน้าจะโต 300% เอาเลยที่เหลือก็มานั่งละเลงกันว่าจะทำอะไร ไม่ได้มองว่าปีหน้า ปีไกลๆ ภาพจะเป็นอย่างไร เน้นการฟาดฟันคู่แข่ง  บรรยากาศกดดันมาก ไม่มีคำว่า ภาพดีๆ เป็นอย่างไร ซึ่งต่างครับ AI เน้นเลย ถือเป็นภาพนำทาง เราไม่นำด้วยคำว่า “โตเป็นที่หนึ่ง” หากแต่เราเน้นเราจะเดินตามภาพฝันดีๆ มากกว่า เราจะมีแนวทางให้คนคิดว่าอีกห้าปีข้างหน้า 10 ปีข้างหน้า ไหนมาเล่ากันสิ จากที่เราเจอเรื่องดีๆ มา ถ้าต่อยอดต่อไป ในห้าปีข้างหน้า ตั้งแต่เช้าเดินมาที่ทำาน คุณเห็น “ภาพดีๆ” อะไรบ้าง นี่ก็ต่างแล้วครับ

ส่วนการวางแผนกลยุทธ์จริงๆ จะเข้ามาหลังจากทุกคน “เห็นภาพ” ชัดแล้ว ตรงนี้แหละเรามาทำให้เกิดจริง ซึ่งต้องวางแผนกัน ซึ่งจะใช้เครื่องมืออะไรก็ได้ที่คุณถนัด เพียงแต่อย่าลืม “ดึงการมีส่วมร่วม” จากทุกคน เพราะ AI เชื่อว่า “ทุกคน ทุกองค์กร ทุกสิ่งแวดล้อมมีเรื่องดีๆ ซ่อนเร้นอยู่”  เพราะฉะนั้น อย่างผมเอง ผมเอา Balanced Scorecard มาวางเป็นกรอบการสร้างคำถามดีๆ ครับ  พอค้นพบเรื่องดีๆ ก็เอามาเป็นกลยุทธ์ กลวิธีต่อได้  ทำเป็นแผนงานออกมาได้ แต่ต้องอย่าลืมภาพใหญ่

แล้วพอจะทำจริง ตรงนี้แหละที่ถือเป็นจุดเด่นของ AI ครับ ที่เน้นให้ถามเพิ่มเติมว่า แล้วจะเปลี่ยนอย่างไร ไม่ให้เจอแรงต้าน  นี่แหละที่ AI ต่างจากกลยุทธ์ที่พอวางแผนกันจบ ไม่คิดถึงเรื่องนี้กันต่อ แล้วจะให้ใครทำ นี่ก็อีกส่วนใหญ่ตามตำแหน่ง AI เราเอาตามทฤษฎี The Tipping Point ครับ คือเอาผู้เชื่อมต่อ นักขายและผู้รู้มาช่วย  แล้วจะเรียนรู้อย่างไร นี่แหละที่ก็ต่างอีก เพราะผสมผสานแนวคิด Learning Organization เข้ามา เพราะอะไร ขั้นตอนนี้จึงสำคัญ มันคือการ “มอง” ตัวเองครับ เป็นการมองระหว่างทาง ไม่งั้น คิดเหรือครับ ว่าสิ่งที่คิดไว้ครั้งแรก มันจะเป็นไปตามนั้น มันต้องมีอะไร Work  ไม่ work บ้าง จริงไหม อะไรที่เป็นกระบวนการที่ทำแล้วเข้าท่าก็ทำต่อ ไม่เข้าท่าก็ปรับปลี่ยนใหม่  และสุดท้าย เราจะถามว่า แล้วจะรู้ได้ไงว่าสำเร็จแล้ว คำถามหลังนี่ก็สำคัญครับ ทำให้เรากำหนด KPI ที่ถูกต้องได้ ไม่งั้นมักไปลอกตามตำรามาครับ 

ดูแล้วเห็นความต่างไหมครับ

       

Cr: http://wallpapers.free-review.net/54Chess-strategic_board_game_for_two_players.htm 


ต่อไปเป็น ความต่างเรื่องพื้นฐานความเชื่อครับ การทำAppreciative Inquiry เกี่ยวข้องกับคนทุกคนครับ  การที่จะหลอมรวมความเชื่อมได้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ด้วยการวางแผนกลยุทธ์เพียงสามวัน ที่ห้อง Executive Suite หรู ชั้น 21 ของอาคารชื่อดังแห่งหนึ่งในถนนสุขุมวิทย์แล้วจบครับ  เรายังมีพื้นฐานที่ทำให้ AI เป็น AI ครับ มัคือพื้นฐานทางความเชื่อมที่คุณต้องบ่มเพาะขึ้นในองค์กรของคุณ มีอยู่ห้าข้อครับ

The Constructionist Principle เป็นหลักการพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังแนวคิด Appreciative Inquiry ทั้งหมดหลักการคือเรากำหนดชะตากรรมเราเองได้เราสร้างและร่วมสร้างหนทางใหม่ให้ตนเองได้

คนจำนวนมากก็มีความคิดนี้อยู่แล้ว คุณจะเห็นการมีส่วนร่วม ความกระตือรือร้น อยากสร้างอนาคตตนเอง และบริษัท (จริงๆ ตอนนี้ที่เห็นนี้มีน้อยครับ) แต่ทุกวันนี้ที่ผมสัมผัสมา คนที่อยู่ในภาวะที่รู้สึกว่าตนเองกำนดชะตาชีวิตไม่ได้นี่ดูเหมือนจะมากกว่า ตรงนี้แหละเป็นหน้าที่ของผู้รู้ ในบริษัทที่ต้องบ่มเพาะ พูดย้ำๆ เรื่อยๆ ด้วยการตั้งคำถามดีๆ บ่อยๆ กับทุกเรื่อง แล้วลองขยายผลเรื่องดีๆ คนในองค์กรจะเห็นความเป็นไปได้เองครับ

The Poetic Principle อดีตปัจจุบันอนาคตของเราเปิดกว้างต่อการตีความและความเป็นไปได้ที่ไม่มีขีดจำกัดอะไรทั้งสิ้นเราสามารถพบสิ่งดีๆในตัวบุคคลในตัวองค์กรใดๆก็ตามในใครก็ตามสิ่งที่เราเลือกที่จะสนใจจะสร้างสิ่งที่เป็นจริงขึ้นมาถ้าเราให้ความสนใจอะไรเป็นพิเศษมันจะเติบโตเป็นประสบการณ์จริงๆของเรามากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

นี่สนุก ครับ อะไรที่เคยคิดเป็นจุดแข็ง จุดอ่อน ภัยคุกคาม เหตุการณ์ในอนาคต เอามาตั้งคำถามดีๆ ได้หมด ตีความได้หมด สร้างภาพดีๆ ได้หมดครับ ถ้าขายไม่ได้ เอ๊าตอนที่ขายได้ล่ะทำไง… พนักงานออกเยอะ… แล้วที่อยู่น่ะ เกิดอะไรขึ้นถึงอยู่นาน แค่นี้ก็ได้ข้อมูลมาทำอะไรต่อได้เยอะครับ   แต่ก็ต้องทำบ่อยๆ ทำเยอะมากพอ 

The Simulteneity Principle การเปลี่ยนแปลงใดๆเริ่มต้นเมื่อเราถาม

นี่เลย มันเปลี่ยนตั้งแต่คุณไปคุยดีๆ ถามดีๆ เริ่มจากตรงนั้น ลูกศิษย์ผมไปถามดีๆ กับคนส่งเมล็ดกาแฟ ว่า ชอบร้านพี่ตรงไน เขาก็บอกครับ “พี่ให้เกียรติผม มาที่ร้านนี่ให้น้ำเย็นกินด้วย อีกร้านหนึ่งไม่เคยทำอะไรอย่างนี้เลย แถมชอบพูดไม่ดีด้วย” ต่อมาเด็กคนนี้มาบอกข้อมูลลูกศิษย์ครับ ว่าเข้าส่งเมล็ดกาแฟให้ร้านไหนบ้างเท่าไร… รู้การเคลื่อนไหวของคู่แข่งหมดครับ…”

               

            Cr: http://www.ntucacafth.com/2012/08/participation-ensures-buy-in-2/


The Anticipatory Principle ภาพในอนาคตที่เราสร้างขึ้นในใจจะเป็นสิ่งนำทางเราในการแก้ปัญหาของเราในปัจจุบันและสร้างสรรอนาคตแก่เราภาพมีความหมายมากกว่าคำพูดยิ่งภาพท้าทายและชัดเพียงใดเราก็มีแนวโน้มจะเติบโตไปเส้นทางนั้นมากยิ่งขึ้น

นี่ชัดเจนครับ มันต้องชัดจริง ตรงนี้มันเกิดขึ้นจริง มีงานวิจัยทั้งทางด้านกีฬา และจิตวิทยา ยืนยันเรื่องนี้ น่าซ่าฝึกนักบินอวกาศก็ใช้เทคนิคนี้ครับ พวกนักกอร์ฟไทเกอร์ วู๊ดก็ใช้จินตนาการ ยิ่งดี

ตรงนี้ผู้รู้ในองค์กร ต้องมั่นสร้างบรรยากาศ เน้นให้ทุกคนเห็นภาพชัดๆ และเรียกว่าต้องทำงานหนัก ตั้งแต่คัดคนเลย ด้วยสังคมไทยเป็นอะไรระบบการศึกษา เน้น "กระบวนการ" มากว่า "จินตนาการ" มาตลอด การมองเห็นภาพดีๆ เป็นอะไรที่ยากที่สุด ที่ผมทำมาครับ  

The Positive Principle การที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืนได้นั้นมีเงื่อนไขว่าต้องอยู่บนพื้นฐานของการคิดบวกอารมณ์ดีมีความสัมพันธ์ที่ดีมีความรู้สึกว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วนขณะเดียวกันก็มีความสนุกสนานอยู่ในตัวการมีอารมณ์ที่ดีมีส่วนสำคัญต่อการทำงานและการเติบโตกล่าวคือหากเรามีความสุขเราจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์

นี่ก็ยุ่งเหมือนกัน ต้องทำให้บรรยากาศเป็นบวก คนทำหรือ OD Consutlant หรือ Facilitator ต้องรังสรรค์บรรยากาศนี้ตลอด แต่จริงๆ แล้ว ต้องช่วยกันตั้งแต่ผู้บริหาร และทุกคนในองค์กรครับ จึงอาจต้องใช้เวลาหลายๆปีหน่อย ด้วยว่าสังคมไทยนี่มัน "ลบ" ไปหมด เหมือนสะกดจิตประเทศครับ คนจำนวนมาก คิดลบเป็นนิสัย จับผืิด เรียกว่ากลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว มีแต่ข้อมูลแย่ๆ สิ้นหวังครับ พอถามข้อมูลดีๆ งงครับ เป็นงงจริง นี่ต้องฝึกทำบ่อยๆ เช่นกัน 

              

              Cr: http://www.balancetree.com/5-reasons-to-tackle-workplace-stress/

ดูหลักการพื้นฐานห้าข้อ แล้วจะเห็นครับ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราต้องทำอะไรเกี่ยวข้องกันคนมากๆ เรียกว่าหลักการพื้นฐานห้าข้อนี้คือ “วัฒนธรรมองค์กร” นั่นเอง เสริมเข้าไปกับการทำ ซึ่งไม่จบในสามวันครับ  มันเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะมันคือการเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนวิธีการทำงาน ทุกอย่างครับ  ที่สุดคือ “ชะตากรรม” ของบริษัทไปเลย  ที่จะเป็นชะตากรรมดีๆ ด้วย เพราะดีมาแต่พื้นฐานครับ

AI จึงต่างกับการวางแผนกลยุทธ์ที่เราเห็นๆ กันทั่วไปมากมายครับ มากอย่างสุดขั้วจริงๆ จนแยกจากกันออกมาชัดเจน AI คือ AI การวางแผนกลยุทธ์ คือการวางแผนกลยุทธ์ครับ  ในทางปฏิบัติเราเอา AI ไปแทน Strategic Management เลย เพราะคนละแนวคนละความเชื่อพื้นฐาน คนละวิธีปฏิบัติ คนละวัฒนธรรมเลยครับ 


วันนี้พอเท่านี้ครับ เพียงเล่าให้ฟัง ลองพิจารณาดูนะครับ


อ้างอิง:

Cooperrider D. L., Whitney D., & Stavros, J. (2003). Appreciative inquiry handbook: The first in a series of AI workbooks for leaders of change. San Francisco: Berrett-Koehler Publisher







หมายเลขบันทึก: 533225เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2013 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 เมษายน 2013 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท