วิพากษ์ "ข่าวโครงร่างหลักสูตรใหม่ 2556"


ผมได้รับลิงค์ข่าวการเรียกประชุมคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำรา รอบที่ 2 จากห้อง facebook ชื่อ ครูเพื่อศิษย์อีสาน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 20-21 เมษายน 2556 นี้

สาระของข่าวที่สำคัญคือจะคุยกันเกี่ยวกับ กลุ่มสาระการเรียนรู้ในหลักสูตรใหม่ ที่ปรับจาก 8 กลุ่มสาระมาเป็น 6 กลุ่มสาระ ได้แก่

1.ภาษาและวัฒนธรรม (Language and Culture)
2.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM)
3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน (Work Life)
4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร (Media Skill and Communication)
5.สังคมและมนุษยศาสตร์ (Society and Humanity) และ
6.อาเซียน ภูมิภาคและโลก (Asean Region and World)
 

ซึ่งขอบเขตการประชุมดังกล่าว ได้แก่ การออกแบบภาพกว้างการเรียนตลอดระยะเวลา 12 ปี ที่จะแบ่งเป็น 6 กลุ่มสาระ จะมีรายละเอียดอะไรบ้าง ทั้งกำหนดน้ำหนักกลุ่มต้องมีสัดส่วนเท่าไหร่ แล้วกำหนดเป็นรายชั่วโมงเรียน เป็นต้น ทั้งนี้ จะ มีบางกลุ่มสาระเมื่อถึงระดับชั้น ม.ปลาย ก็ต้องแตกเป็นรายวิชา อย่างกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ ช่วงประถมศึกษากับ ม.ต้น หรือ 9 ปีแรกอาจเรียกอย่างนี้ แต่เมื่อถึง ม.ปลาย หรือ 3 ปีหลังก็ต้องแตกเป็นรายวิชา เช่น วิชาฟิสิกส์ วิชาเคมี เป็นต้น

ผมตั้งคำถามกับตนเองว่า  3 คำถามดังนี้ครับว่า
  • อะไรเปลี่ยนไป หรือ เปลี่ยนอย่างไร
  • ทำไมต้องเปลี่ยนไปเป็นอย่างนั้น
  • เมื่อเปลี่ยนแบบนี้จะแก้ปัญหาได้ครอบคลุมและยั่งยืนหรือไม่
เพื่อวิพากษ์แนวความคิดนี้อย่างตรงไปตรงมา ผมลองนำมาเปรียบเทียบกันดู ได้ดังตารางครับ

กลุ่มสาระใหม่
กลุ่มสาระเก่า



ภาษาและวัฒนธรรม
ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ วัฒนธรรม ศิลปะ



STEM
คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์



การดำรงชีวิตและโลกของงาน
การงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพลศึกษา



ทักษะสื่อและการสื่อสาร
เทคโนโลยี



สังคมและมนุษยศาสตร์
สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒธรรม ศิลปะ



ภูมิภาคอาเซียนและโลก
สังคมศึกษา









ตีความก่อนวิพากษ์ 
  1. ผมเห็นความเป็น "องค์รวม" มากขึ้น เช่น
    • การนำภาษาและวัฒนธรรมมาไว้ด้วยกัน หมายถึง ภาษาคือส่วนหนึ่งของวัฒธรรม วัฒนธรรมอย่างหนึ่งคือภาษา ภาษาสื่อสารสืบทอดวัฒนธรรม วัฒนธรรมเปลี่ยนภาษาเปลี่ยน......สุดแล้วแต่จะเขียน.... แยกยังไงก็แยกไม่ออก เหมือน สมถะกับวิปัสนา หลวงปู่ชาท่านว่า เหมือนมะม่วงใบเดียวกันที่ดิบกลับเป็นสุก
    • การนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ มาไว้ด้วยกัน เพราะ
      • วิทยาศาสตร์คือ องค์ความรู้ ความจริง คือธรรมชาติ
      • เทคโนโลยี คือ การนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์
      • วิศวกรรมศาสตร์ คือ การออกแบบและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ปัญหาต่างๆ ถูกแก้และเป้าหมายเป็นจริง โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
      • คณิตศาสตร์คือภาษาของวิทยาศาสตร์ คือสิ่งที่รอยรัดเชื่อมโยง เป็นเครื่องมือ ในการเรียนรู้และพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ให้ดีขึ้น
    • การดำรงชีวิตและโลกของงาน แสดงว่า คณะกรรมการร่างฯ ได้พิจารณาเห็นว่า
      • เราเรียนรู้ชีวิต เรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิต เรียนเพื่อดำรงชีวิตให้มีความสุข  คือเชื่อมโยง โรงเรียนกับชีวิตนั่นเอง
      • การดำรงชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศนั้น ต้องรู้เรื่องงาน สามารถทำงานได้ และต้องทำงาน
      • การทำงานคือการดำเนินชีวิต ...... ผมนึกถึงคำที่่ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ว่า การทำงานคือการปฏิบัติธรรม แต่ก็ไม่แน่ใจว่า เราจะไปถึงจุดนั้นหรือไม่
      • หากวิเคราะห์รวมหลักสูตรเก่า ข้อนี้หมายถึง การนำกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี กลุ่มสาระฯสุขศึกษาและพลศึกษา มารวมไว้
  2. ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงตามโลกาภิวัฒน์สู่ศตวรรษใหม่ ศตวรรษที่ 21
    • เพิ่มกลุ่มสาระสื่อและการสื่อสาร แสดงให้เห็นว่า ให้ความสำคัญกับการสื่อสาร  ผมจึงนำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารสนเทศ หรือ ICT มาเทียบไว้
    • เพิ่มการศึกษาเรื่องโลกและภูมิภาคอาเซียนเข้ามา แสดงว่า กำลังจะเตรียมตัวอยู่ในอาเซียน และดำรงอยู่ในโลกไร้พรมแดนให้ได้
  3. ผมไม่เห็น มิติของการศึกษาเรียนรู้ตนเอง  เรียนรู้บริบทของตนเอง ผมคาดว่า คกก. คงจะคิดถึงหลักสูตรสถานศึกษา หรือหลักสูตรท้องถิ่น หรือ การนำสาระวิชาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ไปไว้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาสังคมศึกษา และที่สำคัญ หลักสูตรนี้ดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญกับ "ศาสนา"  ...... นาเสียดายมาก ถ้าคณะกรรมการไม่เห็นจุดแข็งและประโยชน์จากหลักคำสอนทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาที่คนไทยรู้จักอยู่ถึง 62 ล้านคน...
  4. เช่นเดียวกับข้อ 3. น่าเสียดายหาก คกก. ปฏิรูปหลักสูตรฯ ไม่เห็น ความสำคัญและจุดเด่นของไทย ที่มี หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษา.....
  5. แม้ผมจะเห็น "องค์รวม" ตามข้อ 1. แต่ผมก็ยังเห็นความ "แยกส่วน" เช่น
    • แยกวัฒนธรรมออกจากสังคมและมนุษยศาสตร์ 
    • แยกสื่อและเทคโนโลยีออกจาก STEM ในความเห็นผมนั้น สื่อและเทคโนโลยีหลายอย่าง ไม่ต้องสอนในห้องเรียน เรียนได้เองจากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
    • แยกภูมิภาคอาเซียน และโลก ออกมาจาก สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และแยกออกจาก ภาษาและวัฒนธรรม..... หากมองในมุมแยกมาเรียนภูมิศาสตร์หรือเรียนทางกายภาพต่างหาก ยิ่งต้องบอกว่ายิ่งแยกส่วนมากขึ้น
    • แยกศิลปะออกจากวัฒนธรรม......และดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญกับ "วิชาศิลปะ"
    • แยกการเรียนรู้ตนเอง หรือเรียนรู้บริบทของตนเอง ออกจากการเรียนรู้ผู้อื่นและสิ่งอื่น
  6. ผมคิดว่าหลักสูตรถอยห่างจากการ "เน้นเนื้อหา" หรือ "เน้นวิชาน้อยลง" แต่หันกลับไป "เน้นทักษะ"  ซึ่งความจริงทักษะส่วนใหญ่จัดหมวดหมู่ได้ยากมาก และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และขึ้นอยู่กับศักยภาพความถนัดรายบุคคลของนักเรียน ลองพิจารณาแต่ละกลุ่มสาระฯ
    • ภาษาและวัฒนธรรม คือ "ทักษะ" แต่ที่ผ่านมา เน้นเนื้อหา เน้นวิชา
    • STEM เน้นทั้ง เนื้อหาและทักษะ แต่ที่ผ่านมา เน้นวิชา และแยกส่วน
    • การดำรงชีวิตและโลกของงาน ต้องบูรณาการเชื่อมโยงเพื่อนำ เนื้อหาและทักษะ ไปใช้
    • ทักษะสื่อและการสื่อสาร คือเน้น "ทักษะ"
    • สังคมและมนุษยศาสตร์ เป็นทักษะความเข้าใจ
    • ภูมิภาคอาเซียนและโลก ดูเหมือนจะเน้น "เนื้อหา" 
  7. ฯลฯ

ข้อความสะท้อนความกังวล

  • กังวลว่า คกก.ปฏิรูปหลักสูตร จะลืม พิจารณา "บริบท" ของเราในปัจจุบัน เช่น เราแยกส่วนมานาน เรามีครูที่ประจำรายวิชาเป็นเวลานาน เรามีแนวทางของชีวิตแบบนี้มานาน การปรับเปลี่ยนจากข้างบน แบบ top-down ไม่ได้ผล....... การระเบิดจากภายในครู ภายในโรงเรียน คือวิธีที่ดีที่สุดตอนนี้  ........... หากท่านยังทำแบบเดิมคือ "สั่งลงมา" เหมือนเดิม "ผล" ก็คงเป็นเหมือนเดิม
  • กังวลว่า คกก. ปฏิรูปหลักสูตร จะลืม จุดเด่น และสัมมาทิฏฐิ ของเราที่มีอยู่ คือ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการศึกษา
  • กังวลว่าครูจะกังวล 
  • ฯลฯ

เขียนไปเขียนมา ผมเปลี่ยนใจ ไม่ตอบคำถามของตนเองดีกว่าครับ....

ท่านผู้อ่านอาจรองตอบดูก็ได้ครับ

อ.ต๋อย มหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 533084เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2013 11:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 04:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

หันกลับไป เลข คัด เลิกและเล่น ดีกว่าไหม เด็กได้อะไรเยอะเลย

ขอบคุณท่าน ผอ.ชยันต์ ที่ให้กำลังใจ ครับ ส่วนเรื่องหลักสูตร ผมมีความเห็นดังนี้ครับ

  1. กลุ่มสาระการเรียนรู้ทักษะวิชาหลัก  เช่น การอ่าน การเขียน การคิดอย่างมีวิจารณญาณ การคิดเลข การสื่อสาร ภาษา ศิลปะ ฯลฯ
  2. กลุ่มสาระการเรียนรู้ตนเอง เช่น ศีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา ฯลฯ
  3. กลุ่มสาระการเรียนรู้ครอบครัว ชุมชน ผู้อื่น สังคม และสังคมโลก เช่น สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม สุขศึกษา พลศึกษา ฯลฯ
  4. กลุ่มสาระการเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เช่น สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของโลก ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ
  5. กลุ่มสาระการเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น กระบวนการเรียนรู้แบบต่างๆ เรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ เรียนรู้จากการปฏิบัติ PBL ฯลฯ


การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จเสมอไป  การพัฒนาน่าจะมีความสำคัญมากกว่าแต่ให้เข้ากับบริบทรากเหง้าตนเองและสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง  


การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จเสมอไป  การพัฒนาน่าจะมีความสำคัญมากกว่าแต่ให้เข้ากับบริบทรากเหง้าตนเองและสภาพแวดล้อมที่เป็นจริง  


หลักสูตรเก่าใหม่จะดีหรือไม่ อยู่ที่โอกาสนำไปปฏิบัติ แต่ปัญหาปัจจุบันคือ สภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวเด็กที่สุดแล้วครับท่าน อบายมุข ร้านเกม สารพัดอย่าง นโบายการกำหนดกฏเกณฑ์ โอเค แต่ในทางปฏิบัติยังห่างไกลมาก อย่าลืมนะครับ ทรัพยากรณ์มนุษย์ ความเป็นอยู่ต่างกัน ฉนั้นการสร้างคนสอนคนต้องคำนึง ต้องคำนึง ภาคบังคับ ให้มากๆด้วยเถอะ แก้ปัญหาส่วนนี้ก่อนเถอะท่าน เมื่อเขาพร้อมหมายถึง  การมีวินัย  มีระเบียบ  โดยเฉพาะความอดทน เขาจะมีภูมิป้องกันได้เป็นอย่างดีบ้าง เพราะทุกวันนี้การศึกษาเรา ระบบปฏิบัติ ทำแบบเอาใจเด็ก เอาใจผู้ปกครอง  แต่สุดท้ายส่วนมาก จะจบ ด้วยคำที่ว่า พ่อแม่รังแกฉัน ครูอาจารย์ทำร้ายฉัน วิบากกรรมจริง ช่วยทีเถอะ

ก็ต้องรอดูกันไปครับ...ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง  คงต้องลองผิดลองถูกกันต่อไป  ผมก็เป็นครูคนหนึ่ง...บางครั้งก็รับได้ต่อการเปลี่ยนแปลง  บางครั้งก็รับไม่ได้  แต่การเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิดขึ้นอยู่ดี  เราชาวครูก็ต้องปรับเปลี่ยนกันไป  ในความรู้สึกของผม...สมัยที่ผมเรียนประถมฯ มัธยมฯ ผมว่ามันดีอยู่แล้ว  ครูรักเด็ก  เด็กเคารพครู ผู้ปกครองให้เกียรติครู จนถึงปัจจุบัน  ผมยังจำความรู้สึกสมัยนั้นได้เลย  แต่ทุกวันนี้ดูทั้งเด็ก  และผู้ปกครอง มันต่างจากเดิมมาก..ผมเองก็ไม่รู้ว่าเป็นที่ตัวครู  ตัวเด็ก ผู้ปกครอง สังคม  หรือหลักสูตร...ในใจลึก ๆ อยากให้เด็กมีความรู้สึกเหมือนเราตอนที่เราเป็นเด็กบ้าง...โดนไม้เรียวบ้าง  วิ่งเล่นในสนามบอลตอนบ่าย ฯลฯ ...แต่ก็คงได้แค่อยากให้เป็น....เฮ้อ...

..... และที่สำคัญ หลักสูตรนี้ดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญกับ "ศาสนา"  ...... นาเสียดายมาก ถ้าคณะกรรมการไม่เห็นจุดแข็งและประโยชน์จากหลักคำสอนทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาที่คนไทยรู้จักอยู่ถึง 62 ล้านคน...

ในฐานะที่เป็นครูสังคมศึกษา ซึ่งสอนวิชาพระพุทธศาสนาที่บูรณาการกับกลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มานาน มีความรู้สึกน้อยใจ ที่หลักสูตรใหม่ ไม่เห็นความสำคัญ 

"พระพุทธศาสนา เป็นฐานรากของการดำเนินชีวิตค่ะ  ถ้าฐานไม่ดี ชีวิตคงง่อนแง่นน่าดู"


ขอแจมนิดนะคะอาจารย์ ดิฉันว่าในสาระการดำรงชีวิตและโลกของงาน น่าจะมีกิจกรรมแนะแนวนะค่ะ นอกจากว่าการแนะแนวไม่จำเป็นแล้วในยุคนี้


 

When does a New curriculum go for public hearing?We hope the new curriculum up side down again,because there are lack of all academics and people.

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท