เทคนิควิธีที่ทำให้รักการเรียนรู้ตลอดเวลา


ชอบชื่อหัวข้อนี้มากๆจนต้องหาโอกาสเขียนด้วยค่ะ ต้องมาทบทวนตัวเองหลายเรื่องทีเดียว เริ่มจากมองตัวเองก่อนว่า จัดได้ว่าเป็นคนที่รักการเรียนรู้ตลอดเวลาหรือไม่ ตอบได้เต็มปากเต็มคำแน่นอนเลยค่ะว่า "ใช่แน่นอน" เพราะเหตุผลว่า รู้สึกสนุกกับการได้รู้เรื่องใหม่ๆทุกๆเรื่อง ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการงานโดยตรง 

ทีนี้ก็ต้องมานึกทบทวนว่า เรามีเทคนิคอะไรที่ทำให้เราเป็นคนแบบนี้ 

อย่างแรกที่คิดว่าเป็นคุณสมบัติหลักของตัวเองคือ รักการอ่าน เริ่มจากตั้งแต่เด็กๆเล็กๆที่บ้านจะแวดล้อมไปด้วยหนังสือ มีความสุขกับการอ่านหนังสือทุกชนิดทุกเรื่อง อ่านตั้งแต่เล่มบางๆไปจนถึงอิเหนาเล่มหนา แถมด้วย Encyclopedia ที่คุณพ่อสะสม จำได้ว่าอ่านตั้งแต่ยังไม่รู้เลยว่า คำนั้นๆในภาษาอังกฤษแปลว่าอะไร เจอบ่อยๆค่อยหาความหมาย สมัยนั้นไม่มี Google ก็ต้องใช้วิธีเปิดพจนานุกรม ที่มีให้เลือกใช้หลากหลายอีกเช่นกัน ทำให้เป็นคนชอบเปิดอ่านพจนานุกรมอีกด้วย ถ้าไม่มีอะไรทำก็เปิดอ่านหน้าโน้นหน้านี้ในพจนานุกรมได้เสมอไม่เคยเบื่อ 

จากการอ่าน เราก็จะอยากเล่าเพราะบางครั้งการอ่านทำให้เราเกิดจินตนาการ แต่เพราะเป็นคนไม่ชอบอยู่ในหมุ่คนมากๆ ก็จะเล่าด้วยการเขียน ตั้งแต่เด็กๆก็จะเขียนไดอารี่ บันทึกสิ่งที่ได้ทำได้อ่านในแต่ละวัน ดังนั้นการเขียนก็เป็นอีกเทคนิคที่ทำให้เรารักที่เรียนรู้ เพราะเมื่อเขียนเราต้องใช้ความคิดของตัวเอง พอสงสัยอะไรก็ต้องค้นคว้าหาเพิ่มเติมเพื่อให้เขียนได้อย่างใจ

เทคนิคอีกอย่างที่คิดว่าช่วยให้ตัวเองรักการเรียนรู้ก็คือ การลงมือทำจริงๆ เวลาอ่านวิธีการต่างๆเช่น การประดิษฐ์โน่นนี่ด้วยเทคนิคต่างๆ เช่นการฝีมือ เย็บปักถักร้อย แกะสลัก พับกระดาษ ตัดแต่งกระดาษ ทำมาแทบทุกอย่างอย่างสนุกสนาน การที่เราได้ลงมือทำจริง รู้ว่าตัวเองทำได้แล้ว ก็จะยิ่งทำให้อยากลองเรื่องใหม่ๆสิ่งใหม่ๆอื่นๆเพิ่มขึ้น 

นอกจากนั้นคือความพร้อมที่จะรู้จักเทคโนโลยีทั้งหลาย จำได้ว่าตั้งแต่ยุคคอมพิวเตอร์ตัวอ้วนๆหนาๆเริ่มมีใช้ในที่ทำงาน ก็จะเกาะติดผู้ติดตั้งกันเลยว่า ใช้ยังไงสั่งการเครื่องได้แบบไหน การรักการอ่านทำให้เราเข้าใจหลักการได้ง่าย คู่มือทั้งหลายไม่มีรอดสายตา เมื่อมีคนสาธิตให้ดูด้วยเราก็จะยิ่งตามได้ง่าย ไม่เคยเรียนความรู้พื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ใดๆในระบบ แต่จากการอ่านทำให้เราสามารถใช้ระบบปฏิบัติการเบื้องต้นอย่าง DOS ได้สบายๆ พอมีการปรับเปลี่ยนทันสมัยขึ้น เราก็เลยได้ขยับการเรียนรู้ตามมาเรื่อยๆ ใช้คอมพิวเตอร์มาแล้วหลากหลายแบบ สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ทั้ง hardware และ software ก็จากการอ่านคู่มือ พออ่านมากเราก็จะเลือกได้ง่ายขึ้นว่าแหล่งไหนเชื่อถือได้ แหล่งไหนไม่ควรเสียเวลาอ่าน 

ปัจจุบันนี้ก็ใช้เทคโนโลยีในการรับข่าวสารจากแหล่งที่เราเลือกแล้วว่าเราจะติดตามเรื่องต่างๆได้ง่าย ทั้งทางเมลและทางเว็บไซต์ต่างๆ การที่เราเปิดรับรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆทำให้เราสนุกที่จะได้เห็นพัฒนาการในด้านต่างๆของโลก ซึ่งทำให้การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆเป็นเรื่องสนุกเสมอ เรื่องบางเรื่องแม้ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับเราโดยตรง แต่การที่เรารู้จักคนมากขึ้น มีเครือข่ายหลายๆวงการทำให้ความรู้ใหม่ๆเหล่านั้น กระตุ้นให้เราอยากส่งต่อไปยังผู้ที่จะได้ใช้ประโยชน์ ก็ถือว่าการได้รู้จักคนในหลายๆวงการนอกวงการทำงานของเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เรารักที่จะเรียนรู้แม้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับงานของเรา 

สรุปโดยรวมแล้ว น่าจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการอ่านนั่นเองค่ะ ปัจจุบันก็ยังคงอ่านหนังสือใหม่ๆในห้องสมุดอยู่เสมอ รับหนังสือ Reader's Digest พกติดกระเป๋า อ่านจบแล้วก็แจกจ่ายให้คนอื่นและแนะนำเรื่องที่คนรับน่าจะสนใจในแต่ละเล่มให้ด้วย และที่แน่ๆอีกอย่างคือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตรใน GotoKnow เป็นเทคนิคที่ทำให้เราได้รับรู้สิ่งใหม่ๆในแวดวงต่างๆหลากหลาย ทั้งรับและให้ในสิ่งที่เราเก็บเกี่ยวมา ทำให้การเรียนรู้เรื่องต่างๆเป็นความสนุกที่มีวงจรขับเคลื่อนหมุนวนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจริงๆค่ะ

หมายเลขบันทึก: 532976เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 01:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 01:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ชอบมาที่นี่ค่ะ 

เพราะมีอะไรดีๆ ให้เราได้เรียนรู้ ผ่านการอ่านค่ะ

อยากเขียนเรื่องราวที่เป็นสาระบ้างเหมือนกันค่ะ ชีวิตแต่ละวันผ่านบททดสอบเยอะมาก

แต่อาจจะติดเรื่องเงื่อนเวลา.. ก็พยายามจะเป็นสมาชิกที่ดีค่ะ

สวัสดีครับ

               มาเยี่ยมกันเพราะรักการอ่านครับ   อ่านมากจะนำไปเขียนครับ

การอ่านยากมาก     (ถ้าอ่านแบบวิเคราะห์ ) 

การฟังง่ายที่สุด และฉ้อฉลได้ง่าย (ไม่มีเวลาคิด)  

การดู  ก็สร้างภาพกันได้มาก   เช่นในทอทัดวันนี้   (ยัดเยียดความตจริงแบบเร็วๆ )  



การเขียนยากที่สุด  

การอ่าน  เป็นการทำความเข้าใจในความคิดของคนเขียน มาจูนกับประสบการณ์ของตัวเอง หรือ ใส่ความจำแบบเชื่อไว้ก่อน

การเขียน  เป็นการเขียนจากสิ่งที่ตัวเองรู้และเข้าใจ  ถ้าเขียนแบบไม่รู้ก็จะกลายเป็นลอกความรู้ของคนอื่น 

สิ่งหนึ่งที่สังเกตจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพี่โอ๋คือ "ความมีเมตตา" คะ
ดูจากการใช้คำในการแสดงความเห็นอย่างระมัดระวัง ขณะเดียวกันก็เสริมสาระ กระตุ้นความคิดไปด้วย
คิดว่าการแสดงความเห็นที่ทั้งอบอุ่นและเป็นประโยชน์  
เป็นศิลปะขั้นสูงของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เลยนะคะ
จะค่อยๆ ถอดบทเรียนจากปฎิสัมพันธ์ใน gotoknow แห่งนี้

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตรใน GotoKnow   ประโยคนี้ตรงใจผมมากที่สุดครับ และที่นี่เรามาเล่าและแลเปลี่ยนร่วมกันได้พลังมันพรั่งพรูออกมา และเหมือนแลกเปลี่ยนประสบการณ์จาการทำจริง...และเอามาเล่าให้คนอื่นๆได้ฟังครับ 




ชอบอ่านจ้ะ  การอ่านคือ เปิดโลกให้กว้างขึ้น  ขอบคุณจ้ะ

ดร."โอ๋-อโณ" บอกว่า "ชอบชื่อหัวข้อนี้มากๆจนต้องหาโอกาสเขียน..." ตรงกันเลยค่ะ แต่ "ไอดิน-กลิ่นไม้" เตรียมหาข้อมูลไว้แล้ว แต่มีเหตุต่างๆ ทำให้ไม่ได้ลงบันทึก เห็นหน้าแรกเปลี่ยนเป็นประชาสัมพันธ์ให้เขียนเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เลยเปลี่ยนเป็นเขียนเรื่องหลังแทนค่ะ

ดร."โอ๋-อโณ" ชอบชื่อนี้ เพราะตรงกับอุปนิสัยของตนเอง และการเขียนก็เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ตรงของตนเอง ซึ่งเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนมากค่ะ ว่า พัฒนาการของการเป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ซึ่งมีพฤติกรรมการเรียนรู้ตลอดเวลาเป็นอย่างไร

"ไอดิน-กลิ่นไม้" เคยทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเสริมสร้าง "สมรรถภาพในการเรียนรู้ตลอดชีวิต" ให้กับนักศึกษา ถ้ายังอยู่ในวงการศึกษา คงจะทำวิจัยเชิงคุณภาพนำกรณีศึกษาผู้เรียนรู้ตลอดเวลาจำนวนหนึ่ง มาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้มีอุปนิสัยเช่นนั้น ซึ่งคงจะต้องขอให้ ดร."โอ๋-อโณ" เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาค่ะ 

ขอบคุณดร."โอ๋-อโณ" มากนะคะ ที่นอกจากจะเป็นผู้เรียนรู้ตลอดเวลาแล้ว ยังแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ และชี้แนะแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้อ่าน ซึ่ง "ไอดิน-กลิ่นไม้" และลูกศิษย์ได้รับอานิสงส์จากการแบ่งปันของดร."โอ๋-อโณ" เสมอมา    

 

ขอบคุณบทความดีๆ ค่ะอาจารย์

ชอบอ่านมากๆ  แต่ตอนนี้อ่านมากก็ไม่ได้ ทำให้มึนหัวตาลาย  ยังพยายามอ่านอยู่ครับ

สวัสดีค่ะ ดร.โอ๋-อโณ...เป็นคนที่มีกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่เป็นระบบ...เริ่มต้นจากต้องเกิดความสนใจก่อนคือการดู-การเห็นจริงๆ หากสนใจก็จะถ่ายภาพไว้ เป็นคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ นั่งดูหนัง ฟังเพลง นานๆ...ถ้าหากมีความสงสัยก็จะถาม เป็นการพูดคุยสนทนาเพื่อให้ได้คำตอบ ก็คือการฟัง ...ฟังแล้วไม่เข้าใจจึงจุะไปสืบค้น/ค้นหา สมัยก่อนก็ต้องหาในหนังสือ  แต่ปัจจุบันก็หาใน internet หาหลายๆเล่ม หลายๆwww. แล้วจึงเอามาสังเคราะห์และสรุปเป็นความรู้ที่ต้องการ จากนั้นจึงจะเขียน เขียนเป็นลำดับขั้นตอนได้ดังนี้ค่ะ 1) มีความสนใจ ใคร่รู้ อยากจะรู้ 2) เกิดความสงสัยในเรื่องที่สนใจ 3) สนทนาพูดคุย/สอบถาม 4) สืบค้นเมื่อฟังแล้วไม่เข้าใจ การสืบค้นหาจากหนังสือ ตำรา www.ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราสนใจจะเรียนรู้ 5) รวบรวมความรู้/สังเคราะห์ความรู้ 6)สรุปด้วยการเขียน

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้เทคนิคในบันทึกนี้ค่ะ

หนูจะนำไปปฏิบัติค่ะ

เป็นวิธีที่ดีและน่าสนใจมากๆ ค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้นะคะ^^

รักการอ่าน 

เล่าด้วยการเขียน 

การลงมือทำจริงๆ 

พร้อมที่จะรู้จักเทคโนโลยี 

เปิดรับรู้ความเคลื่อนไหวต่างๆ

มีเครือข่ายหลายๆวงการ 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกัลยาณมิตรใน GotoKnow

เทคนิคที่เป็นแบบอย่างให้กับทุกคนได้อย่างดีมากค่ะ

คงต้องนำบางเทคนิคจากน้องโอ่ไปปรับเปลี่ยนตัวเองบ้าง ขอบคุณมากนะคะ


สวัสดีค่ะรักการอ่านค่ะได้เทคนิคมาใช้กับเด็กๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท