บทสัมภาษณ์อาจารย์อ้อม : การพิจารณาการจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าว ตามกฎหมายของประเทศฝรั่งเศส


“การพิจารณาการจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าว[1] ตามกฎหมายของฝรั่งเศส”

บทสัมภาษณ์ ดร. รัชนีกร ลาภวนิชา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง จากการสัมภาษณ์ในวันที่ 3 และ 14 เมษายน 2556

โดยนางสาวศิวนุช สร้อยทอง นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

---------------------------------

ความเป็นมาของบทสัมภาษณ์

---------------------------------

เนื่องด้วยผู้สัมภาษณ์กำลังศึกษาวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ “บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทย แต่ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย : บุคคลภายใต้มาตรา 7 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508” เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดของรัฐไทยกับรัฐต่างประเทศ ในการจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในรัฐ ผู้สัมภาษณ์จึงศึกษากฎหมายของฝรั่งเศสในการจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นประเทศอันใช้ระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) เช่นเดียวกับประเทศไทย

ทั้งนี้ ผู้สัมภาษณ์ได้รับความอนุเคราะห์บทสัมภาษณ์จาก ดร. รัชนีกร ลาภวนิชา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลำปาง ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส และเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ฉบับนี้

---------------------------------

บทสัมภาษณ์ในหัวข้อการได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนของบุตรของคนต่างด้าว

---------------------------------

“กฎหมายของฝรั่งเศสบัญญัติรับรองการได้มาซึ่งสัญชาติตามหลักดินแดนหรือไม่?[2]

การได้มาซึ่งสัญชาติย่อมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของฝรั่งเศส ซึ่งกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของฝรั่งเศสนั้น ปรากฏบทบัญญัติในประมวลกฎหมาย 2 ฉบับด้วยกัน กล่าวคือ ประมวลกฎหมายสัญชาติของฝรั่งเศส และประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส ซึ่งมีเนื้อหาเสริมและสอดคล้องซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของฝรั่งเศสนั้น ยอมรับหลักการได้มาซึ่งสัญชาติโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิต และสัญชาติโดยการเกิดตามหลักดินแดน กล่าวคือ

การได้มาซึ่งสัญชาติตามหลักสืบสายโลหิต: ปรากฏการยอมรับการได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักสืบสายโลหิต ทั้งจากบิดา และมารดา ดังนั้น บุตรของบิดาซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศส หรือบุตรของมารดาซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศส ย่อมได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักสืบสายโลหิต ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายสัญชาติของฝรั่งเศส และมาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส

การได้มาซึ่งสัญชาติตามหลักดินแดน: ปรากฏการยอมรับการได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนอย่างไม่มีเงื่อนไขกับกรณีบุตรของคนสัญชาติฝรั่งเศส กล่าวคือ ผู้ซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส และมีบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนสัญชาติฝรั่งเศส ย่อมได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยการเกิดตามหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย แต่ในกรณีบุตรของคนต่างด้าวซึ่งบุพการีทั้งสองฝ่ายเป็นคนต่างด้าว กฎหมายยอมรับการได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยผลของกฎหมายสำหรับบุคคลเพียง 4 กลุ่มเท่านั้น ดังนั้น ตามกฎหมายของฝรั่งเศสจึงไม่ปรากฏการได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนโดยการร้องขอ

“บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศสกลุ่มใดบ้าง ที่มีสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสโดยการเกิดตามหลักดินแดน?[3]

กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของฝรั่งเศส บัญญัติรับรองสิทธิในสัญชาติโดยการเกิดตามหลักดินแดนของบุตรของคนต่างด้าวไว้ 4 กลุ่ม กล่าวคือ

กลุ่มแรก เด็กที่ถูกทอดทิ้ง กล่าวคือ เด็กซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส แต่ไม่ปรากฏบิดาและมารดา หากมีเอกสารยืนยันได้ว่าเกิดในประเทศฝรั่งเศส ย่อมได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดน ตามมาตรา 21 แห่งประมวลกฎหมายสัญชาติของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ดี หลักดังกล่าวมีข้อยกเว้น กรณีหากปรากฏภายหลังในระหว่างเด็กยังเป็นผู้เยาว์ว่า เด็กผู้นี้มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับบุพการีคนต่างด้าว และตามกฎหมายสัญชาติของบุพการีนั้น เด็กจะมีสัญชาติตามบุพการี ให้ถือว่าเด็กไม่ได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดน กล่าวคือ ในระหว่างที่เด็กยังเป็นผู้เยาว์ หากปรากฏตัวบิดาหรือมารดาในภายหลัง ซึ่งบิดามารดานั้นไม่ใช่คนซึ่งมีสัญชาติฝรั่งเศส และปรากฏว่าเด็กสามารถถือสัญชาติตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดามารดาได้ ให้ถือว่าเด็กไม่ได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดน

กลุ่มที่สอง เด็กไร้สัญชาติ กล่าวคือ เด็กซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส แต่ปรากฏว่าบิดาและมารดา (parents) เป็นคนไร้สัญชาติ ย่อมได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดน ตามมาตรา 21-1 แห่งประมวลกฎหมายสัญชาติของฝรั่งเศส

กลุ่มที่สาม บุตรคนต่างด้าว กล่าวคือ เด็กซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส จากบิดาและมารดาต่างด้าว หากปรากฏว่าเด็กไม่ได้รับสัญชาติของบิดาและมารดาตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของบิดาและมารดาต่างด้าวนั้น เด็กย่อมมีสิทธิร้องขอสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนได้ ตามมาตรา 21-1 แห่งประมวลกฎหมายสัญชาติของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ดี การร้องขอสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนข้างต้น ต้องปรากฏว่ามีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรของเด็กว่ามีถิ่นที่อยู่ประจำ (habitual residence) อยู่ในประเทศฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 5 ปีก่อนยื่นคำขอ และเมื่อยื่นคำขอแล้วเด็กต้องยังอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสต่อเนื่อง ทั้งนี้ การยื่นคำขอสามารถทำได้ระหว่างที่เด็กอายุ 16 – 20 ปีบริบูรณ์เท่านั้น ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 44 แห่งประมวลกฎหมายสัญชาติของฝรั่งเศส

กลุ่มที่สี่ เด็กที่บิดาหรือมารดาเกิดในประเทศฝรั่งเศส กล่าวคือ เด็กซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส และปรากฏว่าบิดาหรือมารดาของเด็กเกิดในประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ บิดา หมายถึง บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เด็กย่อมได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดน ตามมาตรา 23 แห่งประมวลกฎหมายสัญชาติของฝรั่งเศส

------------------------------------------------------------------

ข้อคิดเห็นของผู้สัมภาษณ์ : จากการพิจารณาการได้มาซึ่งสัญชาติตามหลักดินแดนของฝรั่งเศสข้างต้น พบว่า ประเทศฝรั่งเศสนั้น ให้ความสำคัญกับการป้องกันการตกอยู่ในสถานะไร้สัญชาติของบุคคลซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดตามหลักดินแดนในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งแนวคิดดังกล่าวปรากฏใน 2 ลักษณะ กล่าวคือ

(1) เมื่อบุตรของคนต่างด้าว ซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส หากปรากฏว่าถูกบุพการีทอดทิ้ง หรือมีบุพการีเป็นคนไร้สัญชาติ บุตรของคนต่างด้าวนั้น ย่อมได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย ดังเช่นปรากฏในบุคคลตามกลุ่มที่หนึ่ง และบุคคลตามกลุ่มที่สอง

 (2) เมื่อบุตรของคนต่างด้าว ซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส หากปรากฏว่าไม่ได้รับสัญชาติตามบุพการีคนต่างด้าว บุตรของคนต่างด้าวนั้น ย่อมมีสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนโดยการร้องขอ ดังเช่นปรากฏในบุคคลตามกลุ่มที่สาม

ดังนั้น กล่าวได้ว่าบุคคลซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส ย่อมไม่มีโอกาสตกอยู่ในสภาวะคนไร้สัญชาติได้เลย

ทั้งนี้ นอกจากแนวคิดเรื่องการป้องกันสถานะไร้สัญชาติของบุคคล ประเทศฝรั่งเศสยังให้ความสำคัญกับบุคคลซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดตามหลักดินแดนในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ชั้นบุพการี โดยเล็งเห็นว่า การที่บุพการีเกิดในประเทศฝรั่งเศส และบุตรเกิดในประเทศฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน ย่อมแสดงถึงความแน่นแฟ้นใน ความผูกพันทางดินแดนระหว่างรัฐกับบุคคล

ดังนั้น บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส หากปรากฏว่าบุพการีเกิดในประเทศฝรั่งเศสเช่นกัน ย่อมได้สัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย ดังเช่นปรากฏในบุคคลตามกลุ่มที่สี่

------------------------------------------------------------------

เมื่อพิจารณาสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนของบุตรของคนต่างด้าวข้างต้นแล้ว ย่อมปรากฏว่า ในประเทศฝรั่งเศสประกอบไปด้วย (1) บุตรของคนต่างด้าวซึ่งมีสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดน และ (2) บุตรของคนต่างด้าวซึ่งไม่มีสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดน และมีสถานะเป็น “คนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส” อย่างไรก็ดี กรณีบุคคลตามข้อ (1) นั้น อาจปรากฏว่าบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าว แม้มีสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสแต่อาจไม่พิสูจน์สิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสข้างต้น  จึงย่อมมีสถานะเป็น “คนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส” ดังนั้น จึงต้องพิจาณาต่อว่าประเทศฝรั่งเศสมีวิธีการตามกฎหมายในการจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าว ซึ่งมีสถานะ “คนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส” อย่างไร

---------------------------------

บทสัมภาษณ์ในหัวข้อการจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าว ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองฝรั่งเศส

---------------------------------

“กฎหมายของฝรั่งเศสพิจารณาจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าว ซึ่งมีสถานะเป็น คนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศสอย่างไร?[4]

การพิจารณาการจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าว ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองของฝรั่งเศส สามารถแยกพิจารณาตามสถานะการเข้าเมืองของบุพการี โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) บุตรของคนต่างด้าวซึ่งบุพการีมีสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมาย และ (2) บุตรของคนต่างด้าวซึ่งบุพการีมีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย

“กฎหมายของฝรั่งเศสพิจารณาจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าว ซึ่งบุพการีมีสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมายอย่างไร?[5]

บุตรของคนต่างด้าวซึ่งบุพการีมีสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมาย ซึ่งตามหลักสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองของบุตรผู้เยาว์ย่อมเป็นไปตามบุพการี ส่วนสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองของบุตรผู้บรรลุนิติภาวะนั้นย่อมเป็นไปตามสถานะของตน การพิจารณาจึงแบ่งเป็น 2 ประเภท กล่าวคือ

ประเภทแรก บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้เยาว์[6] สิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยของบุตรผู้เยาว์ย่อมเป็นไปตามบุพการี ทั้งนี้ สิทธิดังกล่าวแตกต่างกันตามจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสโดยการเกิดตามหลักดินแดน ดังนี้

(1) กรณีบุตรของคนต่างด้าวผู้เยาว์ซึ่งเกิดนอกประเทศฝรั่งเศส บุตรกลุ่มนี้จะถือบัตรประจำตัวคนต่างด้าวจนกว่าจะอายุ 18 ปี บัตรนี้ใช้เพื่อการเดินทางเข้าออกจากประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ บัตรดังกล่าวมีกำหนดอายุ 10 ปี ดังนั้น เมื่อใช้ครบระยะเวลา 10 ปีแล้วต้องไปดำเนินการต่ออายุบัตร

(2) กรณีบุตรของคนต่างด้าวผู้เยาว์ซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส บุตรกลุ่มนี้มีสิทธิแจ้งความจำนงขอถือวีซ่าอนุญาตให้พำนักอาศัยในฝรั่งเศสได้ ซึ่งจะเห็นว่า ประเทศฝรั่งเศสนั้นให้ความสำคัญกับบุคคลซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดตามหลักดินแดน โดยคนกลุ่มนี้จะได้รับการพิจารณาสิทธิอาศัยเป็นกรณีพิเศษ

ประเภทที่สอง บุตรของคนต่างด้าวซึ่งบรรลุนิติภาวะ[7] โดยหลักสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยของบุตรผู้บรรลุนิติภาวะย่อมเป็นไปตามสถานะของตนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง กล่าวคือ สามารถดำเนินการร้องขอวีซ่าได้เมื่ออายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป อย่างไรก็ดี กฎหมายได้กำหนดกรณียกเว้น กลุ่มคน 4 กลุ่มเป็นพิเศษ ให้มีสิทธิได้รับวีซ่าอนุญาตให้พำนักอาศัยในฝรั่งเศสได้ทันทีเมื่อบรรลุนิติภาวะ ดังนี้

(1) บุตรของคนต่างด้าวซึ่งมีบุพการีเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ ความรู้ความสามารถของบุพการี ปรากฏใน 3 ลักษณะ คือ

- บุพการีถือวีซ่าประเภทคนที่มีความสามารถพิเศษ หรือ

- บุพการีถือวีซ่าประเภทคนที่มีความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ หรือ

- บุพการีถือวีซ่าประเภทคนที่ทำงานในอาชีพที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

(2) บุตรของคนต่างด้าวซึ่งมีบุพการีเป็นคนไร้สัญชาติ

(3) บุตรของคนต่างด้าวซึ่งศึกษาในประเทศฝรั่งเศส กล่าวคือ ต้องปรากฏว่ามีหลักฐานว่าอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสต่อเนื่องกันอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 8 ปี และต้องปรากฏว่ามีหลักฐานว่าศึกษาในสถานศึกษาของประเทศฝรั่งเศสอย่างน้อย 5 ปี โดยเริ่มนับจากอายุได้ 10 ปี เป็นต้นไป

(4) บุตรของคนต่างด้าวซึ่งกลุ่มผู้ที่มีคุณสมบัติร้องขอสัญชาติฝรั่งเศส กล่าวคือ ต้องปรากฏว่าเกิดในประเทศฝรั่งเศส และต้องปรากฏว่าอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากเทียบกับกฎหมายของไทย บุคคลกลุ่มนี้ คือ บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทย และเป็นผู้ทรงสิทธิร้องขอสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แต่ปัจจุบันปรากฏว่ากฎหมายว่าสัญชาติของไทย บัญญัติให้คนกลุ่มนี้กลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508

“กฎหมายของฝรั่งเศสพิจารณาจัดการประชากรบุตรของคนต่างด้าว ซึ่งบุพการีมีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างไร?[8]

บุตรของคนต่างด้าวซึ่งบุพการีมีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย สถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายของบุพการีไม่ได้สืบต่อมายังบุตรแต่อย่างใด กล่าวคือ บุตรของคนต่างด้าวกลุ่มนี้อาจมีสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยตามกฎหมายการเข้าเมืองได้ ซึ่งสิทธิดังกล่าวพิจารณาแตกต่างกันตามจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสโดยการเกิดตามหลักดินแดน ดังนี้

ประเภทแรก บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดนอกประเทศฝรั่งเศส สมาชิกในครอบครัวย่อมอยู่ภายใต้มาตรการส่งออกคนต่างด้าว (OQTF)[9]

ประเภทที่สอง บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากบุตรมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดตามหลักดินแดนกับประเทศฝรั่งเศส(เกิดในประเทศฝรั่งเศส) จึงห้ามส่งออกบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส จึงกล่าวได้ว่า บุตรไม่อยู่ภายใต้มาตรการส่งออกคนต่างด้าว (OQTF) อย่างไรก็ดี การส่งออกบุพการี มีความเห็นทางกฎหมาย 2 ทาง

(1) กรณีบุตรเป็นผู้เยาว์ ย่อมไม่สามารถส่งกลับบุพการีได้ เนื่องจากจะเป็นการขัดต่อสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว และสิทธิในการอยู่ร่วมเป็นครอบครัว (family unity) ตามข้อ 8 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ค.ศ. 1950 ซึ่งประเทศฝรั่งเศสเข้าเป็นภาคี และมีพันธกรณีให้ต้องปฏิบัติตาม

(2) กรณีบุตรเป็นผู้เยาว์ สามารถส่งกลับบุพการีได้ ส่วนเด็กนั้นย่อมถูกส่งไปอยู่ภายใต้การดูแลของสถานสงเคราะห์

ดังนั้น จะเห็นว่า ประเทศฝรั่งเศสนั้นให้ความสำคัญกับบุคคลซึ่งมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดตามหลักดินแดน โดยคนกลุ่มนี้แม้เป็นคนต่างด้าวแต่ก็ไม่ได้พิจารณาว่ามีสถานะเป็นคนเข้าเมือง ดังนั้น สิทธิในการอยู่ประเทศฝรั่งเศสย่อมเกิดจากความสัมพันธ์โดยการเกิดในดินแดน จึงไม่อาจขับไล่คนกลุ่มนี้ออกนอกประเทศดังเช่นคนเดินทางเข้าเมืองมาได้ ซึ่งคล้ายกับประเทศไทยในยุคที่มีการบังคับใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337

“มาตรการส่งออกคนต่างด้าว (OQTF) ตามกฎหมายของฝรั่งเศสมีลักษณะอย่างไร?[10]

จากการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองของฝรั่งเศสข้างต้น พบว่า คนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ย่อมอยู่ภายใต้บังคับของมาตรการส่งออกคนต่างด้าว (OQTF) ซึ่งเป็นมาตรการลงโทษทางปกครอง จึงอาจเทียบได้กับกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของไทย ได้ในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อย่างไรก็ดี มาตรการส่งออกคนต่างด้าว (OQTF) นี้ ได้บัญญัติกระบวนการส่งออกคนต่างด้าวไว้อย่างครบขั้นตอน กล่าวคือ บัญญัติถึงกระบวนการอุทธรณ์คำสั่ง บัญญัติถึงบทลงโทษของคนต่างด้าว อาทิ กำหนดห้ามกลับเข้ามาในประเทศฝรั่งเศสเป็นระยะเวลา 5 ปี บัญญัติถึงมาตรการควบคุมตัวคนต่างด้าวโดยมีระยะเวลากำหนดตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้คนต่างด้าวอาจถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ควบคุมตัวทางปกครอง ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ต้องการขยายระยะเวลาการควบคุมตัว จะต้องร้องขอต่อศาลพิเศษเกี่ยวกับกฎหมายการเข้าเมือง รวมถึงบัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกควบคุมตัวตามมาตรการนี้ด้วย

นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองของฝรั่งเศส คำนึงถึงสิทธิของบุคคลผู้ควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ จึงบัญญัติกรณียกเว้น ห้ามส่งออกคนต่างด้าว ตามมาตรการส่งออกคนต่างด้าว (OQTF) ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ห้ามส่งออกผู้เยาว์ ตาม L 521-4

(2) ห้ามส่งออกคนต่างด้าวที่มีพยานหลักฐาน (พยานเอกสาร, พยานบุคคล) ว่ามีถิ่นที่อยู่ประจำในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไป

(3) ห้ามส่งออกคนซึ่งป่วยหนักถึงขนาด และคนป่วยกลุ่มนี้ประเทศฝรั่งเศสดูแลจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลให้ หากปรากฏพฤติการณ์ว่า

- ประเทศที่จะถูกส่งกลับไปอยู่นั้นไม่มีหนทางรักษาได้

- ปรากฏว่าประเทศที่จะถูกส่งกลับไปมีค่ารักษาพยาบาลสูงมากจนไม่อาจะจ่ายได้

(4) ห้ามส่งออกพลเมืองของประชาคมยุโรป ตาม L 511-1

ทั้งนี้ นอกจากคนต่างด้าว 4 กลุ่มดังกล่าวแล้ว ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองของประเทศฝรั่งเศส ได้บัญญัติห้ามส่งออกกลุ่มบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย ดังนั้น มาตรการส่งออกคนต่างด้าว (OQTF) จึงไม่สามารถบังคับใช้กับบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศสได้

“ประเทศฝรั่งเศสกำหนดมาตรการอื่นนอกจากการส่งออกคนต่างด้าว เพื่อจัดการประชากรคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่ อย่างไร?[11]

การจัดการประชากรคนต่างด้าวในประเทศฝรั่งเศส ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับหลักว่าด้วยการเข้าเมืองเพียงเท่านั้น แต่กระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสได้ออกกฎหมายลำดับรอง กล่าวคือ ประกาศใช้หนังสือเวียนกำหนดหลักเกณฑ์ให้คนต่างด้าวซึ่งเข้าเมืองผิดกฎหมายบางกลุ่ม สามารถขอปรับสถานะให้เป็นปกติ (regularization)[12] ซึ่งได้กำหนดกลุ่มคนต่างด้าวผู้ทรงสิทธิตามหนังสือเวียนดังกล่าวไว้ 2 กลุ่ม กล่าวคือ

(1) กลุ่มของคนต่างด้าวซึ่งมีบุตรคนใดคนหนึ่งเข้าศึกษาในประเทศฝรั่งเศส กล่าวคือ ต้องพิสูจน์ได้ว่ามีครอบครัวอยู่ในประเทศฝรั่งเศสแน่นอน ต้องพิสูจน์ได้ว่าตนได้พำนักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี และต้องพิสูจน์ได้ว่าบุตรคนใดคนหนึ่งได้รับการศึกษาในฝรั่งเศสอย่างน้อย 3 ปี อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิดังกล่าวไม่คำนึงว่าคู่สมรสอีกฝ่ายจะมีสถานะตามกฎหมายการเข้าเมืองอย่างไร รวมถึงสถานะการเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่เป็นอุปสรรคต่อการยื่นคำขอในกรณีนี้

(2) กลุ่มของคนต่างด้าวซึ่งมีงานทำในประเทศฝรั่งเศส กล่าวคือ ต้องพิสูจน์ได้ว่าตนได้พำนักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ต้องพิสูจน์ได้ว่าในระยะเวลา 2 ปีก่อนยื่นคำร้อง ได้ทำงานในฝรั่งเศสเป็นเวลาอย่างน้อย 8 เดือน และต้องพิสูจน์ได้ว่าได้รับคำเสนอ/มีคำรับรองจากนายจ้าง ว่าจะรับเข้าทำงาน

“ประเทศฝรั่งเศสมีบทบัญญัติตามกฎหมาย สันนิษฐานเด็ดขาดให้บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศไทย กลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือไม่?[13]

ประเทศฝรั่งเศสไม่มีกฎหมายใดบทบัญญัติให้คนต้องกลายเป็นคนผิดกฎหมายอันเนื่องมาจากการเกิดในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการบัญญัติเช่นนั้นย่อมส่งผลให้ประเทศฝรั่งเศสตกอยู่ในสถานะรัฐผู้กระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

------------------------------------------------------------------

ข้อคิดเห็นของผู้สัมภาษณ์ : จากการพิจารณาการจัดการประชากรคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมืองของฝรั่งเศส พบว่า บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส ได้รับการพิจารณาคุ้มครองสิทธิเป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ ไม่ว่าบุตรของคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะมีสิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนหรือไม่ หรือไม่ว่าจะใช้สิทธิในสัญชาติฝรั่งเศสตามหลักดินแดนหรือไม่ ประเทศเทศฝรั่งเศสพิจารณาบุตรของคนต่างด้าวกลุ่มนี้ว่ามีความสัมพันธ์โดยการเกิดในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการที่กฎหมายไม่ได้จำกัดสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยใด ๆ การผลักดันบุตรของคนต่างด้าวกลุ่มนี้ออกนอกประเทศเฉกเช่นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายย่อมไม่สามารถกระทำได้ ดังนั้น บุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส แม้จะเป็นคนต่างด้าว แต่ก็มีสถานะเป็นคนต่างด้าวซึ่งมีสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัยโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ ปัญหาบุตรของคนต่างด้าวซึ่งเกิดในประเทศฝรั่งเศส แต่ตกเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ย่อมไม่เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศส

---------------------------------

อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก

---------------------------------

ดร. รัชนีกร ลาภวนิชา, “กฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยสัญชาติ (ตอนที่ 1) Droit de la nationalité”, <http://www.gotoknow.org/posts/468662>.

Consulate General of France in New York, <http://www.consulfrance-newyork.org/Nationality>.



[1] คำว่า บุตรของค

หมายเลขบันทึก: 532973เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2013 00:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2013 01:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท