กฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยสัญชาติ (ตอนที่ 1) Droit de la nationalité


สรุปสาระสำคัญของกฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยสัญชาติ ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงสมัยใหม่ เพื่อให้ทราบความเป็นมาตลอดจนวิวัฒนาการกว่าที่จะมาเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

กฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยสัญชาติ

(Droit de la nationalité)

 

ความนำ 

ฝรั่งเศสเป็นประเทศแรกในยุโรปที่นำหลัก ius sanguinis มาใช้ในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติที่ร่างขึ้นในประมวลกฎหมายแพ่งปีค.ศ. 1804 นอกจากนี้ยังเป็นชาติแรกอีกเช่นกันที่นำแนวคิดเรื่อง ius soli républicanisé มาใช้ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยมิได้ยึดติดอยู่กับระบบฟิวดัลอย่างที่เคยเป็นมาในสมัยโบราณอีก แต่แนวคิดใหม่นี้หันมาให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางสังคมหรือการขัดเกลาทางสังคม (la socialisation) แทน  พัฒนาการของกฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยสัญชาตินั้นเป็นไปอย่างช้าๆ แต่ก็มีบางช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากการตรากฎหมายขึ้นตามอำเภอใจของผู้กุมอำนาจรัฐในยุคสงครามโลกที่วางอยู่บนพื้นฐานของการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว แม้เมื่อหมดยุคสงครามโลกไปแล้ว ฝรั่งเศสเองก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาอาณานิคมต่างๆที่เรียกร้องเอกราช สิ่งที่ตามมาคือประชากรจำนวนหนึ่งเกิดความไม่แน่ใจว่าตนถือสัญชาติใด และเหตุใดจึงต้องอยู่ในสถานการณ์ที่เสมือนถูกบังคับให้ใช้สัญชาติฝรั่งเศสต่อไปทั้งๆที่ประเทศของตนได้รับเอกราชแล้ว เมื่อผ่านพ้นยุคเช่นว่านี้มาได้ ฝรั่งเศสก็ยังคงต้องปรับแก้กฎหมายว่าด้วยสัญชาติอีกหลายครั้ง เนื่องจากบทบาทของความร่วมมือในประชาคมยุโรปซึ่งต่อมากลายเป็นสหภาพยุโรป (European Union) ได้เพิ่มมากขึ้นทุกวันๆ ด้วยเหตุนี้การศึกษากฎหมายว่าด้วยสัญชาติในประเทศฝรั่งเศสนั้นจึงไม่อาจจำกัดอยู่เพียงแค่การศึกษากฎหมายภายในได้อีกต่อไป หากแต่ต้องให้ความสำคัญแก่กฎหมายสหภาพยุโรปและคำพิพากษาศาลของสหภาพ (la CJUE) ด้วยในขณะเดียวกัน

เนื่องจากกฎหมายฝรั่งเศสว่าด้วยสัญชาตินั้นแม้ว่าจะถูกบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรมานาน สามารถย้อนไปได้ถึงช่วงศตวรรษที่ 16 แต่ก็เป็นกฎหมายที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่บ่อยครั้ง หากถามว่าในปัจจุบันนี้เราจะพบกฎหมายว่าด้วยสัญชาติได้ที่ใด คงตอบได้ว่าในประมวลกฎหมายแพ่ง[1]นั่นเอง     

 

นิยามของสัญชาติ 

มีผู้พยายามให้คำจำกัดความแก่คำว่า “สัญชาติ” ไว้ ว่า “สัญชาติเป็นสิ่งซึ่งแสดงออกถึงความเป็นส่วนหนึ่งตามกฎหมายและทางการเมืองของบุคคลหนึ่งว่าเป็นประชากรของรัฐหนึ่ง”[2] หากจะกล่าวว่า “สัญชาติ” เป็นทั้งเรื่องของกฎหมายและเรื่องของการเมืองก็คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปแต่ประการใด เนื่องจากเงื่อนไขของการได้มาซึ่งสัญชาติที่รัฐหนึ่งเป็นผู้กำหนดนั้นล้วนแต่ต้องพิจารณาแนวนโยบายทางการเมืองในแต่ละขณะเป็นหลัก เรียกได้ว่าแตกต่างกันไปแต่ละยุคแต่ละสมัย 

 

วิวัฒนาการของกฎหมายว่าด้วยสัญชาติในประเทศฝรั่งเศส  

จากการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์กฎหมายฝรั่งเศสจะสังเกตได้ว่า แนวคิดในเรื่อง “สัญชาติ” นั้น มิได้มีมาแต่เดิม ดังนั้นคำว่าสัญชาติหรือ la nationalité จึงไม่เป็นที่รู้จักแต่อย่างใด แต่ใช้คำว่า qualité de Français เพื่ออธิบายความเป็นคนฝรั่งเศสแทนคำว่าสัญชาติ หรือแม้แต่คำว่า “คนฝรั่งเศส” (le Français) ก็ได้รับคำนิยามเป็นครั้งแรกภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789[3] อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุครัฐชาติ Nation State   เนื่องจากในยุคฟิวดัลนั้นจะมีคำหนึ่งที่ใช้เรียกคนต่างถิ่นที่อพยพมาอยู่ในฝรั่งเศสคือคำว่า l’aubain คือคนที่มิได้ถือกำเนิดในท้องถิ่นที่ตนอยู่ ดังนั้นจึงเป็นการแบ่งระหว่าง le Français และ l’aubain (มิใช่คำว่าคนต่างด้าวหรือ l’étranger ที่ใช้ในปัจจุบัน)

ต่อมาในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษที่ 19 จึงได้บัญญัติคำว่า “สัญชาติ” เพื่อเป็นการให้ความหมายและคำจำกัดความของความสัมพันธ์ระหว่างดินแดนและประชากร ขอให้สังเกตว่าเมื่อเริ่มมีการก่อตั้ง “รัฐสมัยใหม่” ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งของรัฐได้แก่ ประชากร รัฐหนึ่งจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดการประชากรที่เป็นของตนเพื่อให้คงความเป็นรัฐอยู่ได้ โดยการแสดงความผูกพัน ความเป็นเจ้าของประชาชนของตน ซึ่งก็แสดงออกโดยการให้สัญชาติแก่บุคคล และที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ “ความสัมพันธ์” ดังกล่าวคงอยู่และสืบทอดไปเรื่อยๆเพื่อให้ความเป็นรัฐคงอยู่ต่อไปได้โดยต่อเนื่อง ในช่วงแรกรัฐจึงกำหนด “จุดเกาะเกี่ยว” อย่างคร่าวๆ เพื่อเป็นหลักในการพิจารณาให้สัญชาติถ่ายทอดไปจากประชากรรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง กล่าวคือ ๑) สถานที่เกิด (ius soli) คือเกิดในรัฐใด ย่อมได้สัญชาติของรัฐนั้นตามหลักดินแดน ซึ่งแนวคิดนี้สืบทอดมาจากระบบเก่าแก่คือ ระบบฟิวดัล (féodale)[4]

๒) ความสัมพันธ์ทางสายโลหิต (ius sanguinis) คือ สัญชาติจะถ่ายทอดไปจากบิดาสู่บุตร

๓) ถิ่นที่อยู่ กล่าวคือการมีถิ่นที่อยู่ตั้งแต่อดีต ปัจจุบันและในอนาคตภายในดินแดนของรัฐใดย่อมทำให้ได้สัญชาตินั้นด้วยเช่นกัน

๔) ความสัมพันธ์อันเกิดจากการสมรส เช่น กรณีคนต่างชาติสมรสกับคนฝรั่งเศส ทำให้คนต่างชาตินั้นสามารถได้สัญชาติฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน พัฒนาการที่เห็นได้ชัดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสถานะของสัญชาติ ก็คือ จากเดิมที่เป็นระบบฟิวดัล บุคคลจะเป็นของเจ้าของที่ดินใดก็หมายความว่าบุคคลนั้นต้องอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวเท่านั้น ในขณะที่เมื่อเริ่มใช้สัญชาติมาแสดงความผูกพันระหว่างรัฐกับบุคคล สัญชาติจะติดตามบุคคลนั้นไปตลอด ไม่ว่าจะเดินทาง ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่ใด สมรสกับใคร (จนกว่าจะเข้าเงื่อนไขของการเสียไปซึ่งสัญชาติ)

ในช่วงปี 1790-1794 การได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศสจะเป็นไปโดยอัตมัติ กล่าวคือ คนต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยในฝรั่งเศส ก็จะได้แปลงสัญชาติเป็นฝรั่งเศส (Naturalisation) เข้าใจว่าเป็นยุคเริ่มแรกในการนำ “สัญชาติ” มาใช้ และฝรั่งเศสเองเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งใหญ่ ยังต้องมีการจัดสรรประชากรอีกมาก โดยกฎหมายที่ตราขึ้นในปี ค.ศ. 1790 (loi du 30 avril 1790) บัญญัติไว้ว่า “บุคคลที่เกิดนอกราชอาณาจักร จากบิดามารดาต่างชาติ เมื่อได้อาศัยอยู่ในฝรั่งเศส บุคคลนั้นย่อมมีสัญชาติฝรั่งเศส ภายหลังจากที่มีภูมิลำเนาในฝรั่งเศสโดยต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี หรือบุคคลนั้นมีหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสมรสกับหญิงฝรั่งเศส หรือมีสถานประกอบการค้า หรือได้รับหนังสือรับรองความเป็นพลเมืองจากเมืองใดเมืองหนึ่ง” ขอให้สังเกตคำที่กฎหมายฉบับนี้ใช้ เช่น “มีอสังหาริมทรัพย์” s’ils ont des immeubles ความหมายควรเป็นว่ามีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ หรือเพียงแค่เช่าก็ถือว่า “มี” แล้ว เห็นว่าน่าจะเป็นประการหลัง เนื่องจากคำถัดมาที่กฎหมายใช้คือ “ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์” หรือ ont acquis des immeubles ซึ่งแสดงถึงการมีกรรมสิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่ากฎหมายใช้คำว่า “épousé une Française” ซึ่งหมายความว่าเฉพาะเพศชายเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้มาซึ่งสัญชาติฝรั่งเศสตามกฎหมายนี้  

ต่อมาก็เป็นยุคแห่งการขยายจักรวรรดิของนโปเลียน โบนาปาร์ต (ค.ศ. 1801) ซึ่งต้องอาศัยกำลังทหารจำนวนมาก จึงต้องหาทางที่จะเพิ่มจำนวนประชาการให้เร็วที่สุด ประกอบกับเป็นช่วงของการร่างประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส จึงได้บรรจุกฎหมายว่าด้วยสัญชาติเอาไว้ในประมวลเสียด้วย หากไปดูประมวลกฎหมายแพ่งจะพบว่ากฎหมายว่าด้วยสัญชาติจะอยู่ในหมวดของ “บุคคล” (Livre 1er/Titre 1er bis) ในการยกร่างนี้ผู้ร่างต้องการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่มีแนวคิดเรื่องสัญชาติที่ยึดอยู่กับ ius soli มาเป็น ius sanguinis แทน ที่น่าสนใจคือ นโปเลียน โบนาปาร์ตต้องการให้บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในฝรั่งเศสนั้นได้สัญชาติฝรั่งเศสทุกคน เพราะหากไม่ใช่คนฝรั่งเศส รัฐคงไม่สามารถกำหนดหน้าที่ในเข้ารับการการเกณฑ์ทหารให้แก่คนเหล่านั้นได้ กล่าวคือ โบนาปาร์ตนึกถึงแต่เรื่องการใช้ประโยชน์จากคนเหล่านั้นเป็นหลัก จึงยืนยันว่าควรจะคงหลัก ius soli ไว้ ถึงขนาดต้องการให้บัญญัติว่า “บุคคลที่เกิดในฝรั่งเศสเป็นคนฝรั่งเศส” (Tout individu né en France est français) เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามผู้ที่ทำความเห็นคัดค้านคือ Tronchet มีความเห็นว่าประชากรเกิดใหม่เหล่านั้นอยู่ในสถานะผู้เยาว์ซึ่งไม่อาจตัดสินใจได้เองว่าต้องการมีสัญชาติฝรั่งเศสหรือไม่ จึงควรให้บิดามารดาของเด็กเป็นผู้ตัดสินใจไปก่อน และควรให้โอกาสเขาตัดสินใจเลือกเมื่อบรรลุนิติภาวะว่าต้องการมีสัญชาติฝรั่งเศสหรือสัญชาติอื่น ในที่ข้อเสนอของ Tronchet ก็ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ค.ศ. 1804

 

ปี 1851 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ความสำคัญต่อปัญหาการได้มาซึ่งสัญชาติของเด็กที่เกิดในดินแดนฝรั่งเศสจากบิดามารดาต่างด้าว และต่อมาเด็กเหล่านี้ได้กลายเป็นคนต่างด้าวไปเสีย ทั้งๆที่เกิดและอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสมาโดยตลอด เนื่องจากมิได้มาใช้สิทธิตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง เพื่อแสดงเจตจำนงว่าต้องการถือ สัญชาติฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้กฎหมายใหม่ลงวันที่ 22 และ 29 มกราคม ค.ศ. 1851 จึงได้ยอมรับหลักการที่เรียกว่า Double jus soli (la double naissance) มาใช้ กล่าวคือ เด็กทุกคนที่เกิดในฝรั่งเศสจากบิดาหรือมารดาต่างด้าวซึ่งเกิดในฝรั่งเศสเช่นกันนั้น จะได้รับสัญชาติฝรั่งเศสโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามกฎหมายปี 1851 นี้ได้เปิดโอกาสให้เด็กที่ได้สัญชาติฝรั่งเศสไปแล้วนี้สามารถปฏิเสธสัญชาติได้ทันทีที่บรรลุนิติภาวะ และจากโอกาสที่กฎหมายให้เลือกปฏิเสธได้นี้เอง ทำให้เยาวชนจำนวนมากถือโอกาสหนีการเกณฑ์ทหารด้วยวิธีนี้ 

 

ปี 1889

เมื่อเห็นจุดบกพร่องดังกล่าว กฎหมายใหม่นี้จึงได้ยกเลิกบทบัญญัติที่ให้เยาวชนที่เกิดในฝรั่งเศสจากบิดาหรือมารดาต่างด้าวซึ่งเกิดในฝรั่งเศส (Double ius soli) สามารถแสดงเจตจำนงไม่ถือสัญชาติฝรั่งเศสเมื่อบรรลุนิติภาวะได้ หมายความว่า เด็กทุกคนที่เกิดในฝรั่งเศสตามเงื่อนไขนี้จะไม่มีสิทธิปฏิเสธความเป็นคนฝรั่งเศสได้อีก

นอกจากนี้กฎหมายใหม่ยังให้โอกาสเด็กที่เกิดในฝรั่งเศสจากบิดามารดาต่างด้าวที่เกิดในต่างประเทศทั้งคู่ สามารถถือสัญชาติฝรั่งเศสได้เช่นกัน หากเด็กนั้นยังคงอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสตลอดมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ ตามมาตรา 8, 4° ประมวลกฎหมายแพ่ง อย่างไรก็ตามสำหรับเด็กตามกรณีที่สองนี้ กฎหมายให้โอกาสที่จะปฏิเสธสัญชาติฝรั่งเศสได้หลังจากบรรลุนิติภาวะ 

แนวคิดนี้เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อฝรั่งเศสเริ่มกลายเป็นประเทศในฝันของเหล่าผู้อพยพ ในปลายศตวรรษที่ 19 เด็กจำนวนมากเกิดในฝรั่งเศสจากบิดาหรือมารดาต่างด้าวและได้สัญชาติฝรั่งเศส รวมไปถึงคนต่างด้าวที่ได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยง่ายเพียงการอพยพมาตั้งถิ่นฐานและต่อมาสัญชาติฝรั่งเศสจากบุคคลเหล่านี้ก็ถ่ายทอดไปยังบุตรหลานแม้จะเกิดนอกดินแดนฝรั่งเศสก็ตาม ด้วยปรากฏการณ์เช่นนี้เอง ทำให้รัฐเริ่มตระหนักว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องชำระกฎหมายว่าด้วยสัญชาติเสียใหม่ เพื่อแบ่งแยกระหว่างคนฝรั่งเศสและคนต่างด้าวให้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ดี เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุโรปในช่วงนั้นก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสร่างกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์บางประการ

ด้วยเหตุนี้เองกฎหมายที่ร่างขึ้นใหม่ในปี 1889  จึงได้หันกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งกับจุดเกาะเกี่ยวกับหลักดินแดน ius soli แต่เป็นหลักดินแดนที่ต่างไปจากกฎหมายเก่า กล่าวคือ กฎหมายใหม่จะเน้นความสัมพันธ์หรือการมีส่วนร่วมทางสังคมมากกว่าแค่การเกิดในดินแดนฝรั่งเศสเพียงอย่างเดียว

 

ปี 1927    

“กฎหมายว่าด้วยสัญชาติ” ในยุคสงครามโลก  

ยุคที่น่าสนใจต่อมาเห็นจะเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (World War I) ผลจากสงครามทำให้มีผู้คนล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรีบผลิตประชากรฝรั่งเศสให้ได้โดยเร็วเพื่อมาทดแทนกับที่สูญเสียไป ต้องไม่ลืมว่าประชากรลดจำนวนลงหมายถึงแรงงานจำนวนหนึ่งหายไปจากระบบด้วย ภาคการผลิตย่อมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้รัฐจึงตรากฎหมายปี 1927 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการอพยพมาตั้งรกรากในฝรั่งเศสสามารถทำได้โดยง่าย และสำคัญคือมีนโยบายให้แปลงสัญชาติเป็นฝรั่งเศสได้ง่ายขึ้นหรือคงไม่เกินความจริงไปนักหากจะกล่าวว่า ง่ายที่สุดนับแต่มีการปฏิวัติเป็นต้นมา กล่าวคือ ในเรื่องการแปลงสัญชาตินั้น เงื่อนไขเรื่องระยะเวลาในการพำนักอาศัยในฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่องก่อนยื่นคำร้องนั้นได้ลดจาก 10 ปี เหลือเพียงแค่ 3 ปี และการมีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมฝรั่งเศสก็มิได้ถูกนำมาพิจารณาแต่อย่างใด เพราะผู้ร่างกฎหมายคาดว่าการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมฝรั่งเศสอย่างกลมกลืนนั้นคงจะเกิดขึ้นได้เองในอนาคต[5] ดังนั้นหากจะเรียกว่าบุคคลเหล่านี้เป็นคนฝรั่งเศสแต่เพียงในบัตรประชาชนก็คงจะไม่ผิดนัก     

           ข้อสังเกตประการสำคัญคือ คนต่างชาติที่ได้รับการแปลงสัญชาติเป็นฝรั่งเศสโดยกฎหมาย 1927 นี้ จะยังคงถูกจำกัดสิทธิทางการเมืองรวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพบางประเภทที่รัฐบาลสงวนไว้ และจะต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นนี้เป็นเวลาห้าถึงสิบปีเลยทีเดียว ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าคงเป็นวิธีการเพื่อความมั่นคงของรัฐ หากจะเทียบกับปัจจุบันที่บุคคลต่างด้าวจะแปลงสัญชาติเป็นฝรั่งเศสได้นั้น เงื่อนไขประการหนึ่งคือต้องอยู่อาศัยในฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี และยังมีเงื่อนไขเรื่องความรู้ภาษาฝรั่งเศส สังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย การที่ยอมให้คนต่างด้าวที่เพิ่งเข้ามาในฝรั่งเศสโดยปราศจากความรู้ใดๆเกี่ยวกับประเทศฝรั่งเศสตามที่กล่าวมา ได้สัญชาติฝรั่งเศส และมีสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิทางการเมืองอื่นๆในทันทีหลังจากได้สัญชาติ ย่อมเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศอย่างแน่นอน

นอกจากนี้สถานการณ์ในขณะนั้นทำให้ผู้ร่างกฎหมายต้องบัญญัติไว้ด้วยว่า การสมรสของหญิงฝรั่งเศสกับคนต่างด้าวนั้น ไม่ทำให้หญิงนั้นเสียสัญชาติฝรั่งเศสไปแต่อย่างใด เนื่องจากในช่วงสงครามโลกมีคนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก ทั้งแรงงานต่างด้าว ทั้งผู้ลี้ภัย โอกาสที่หญิงฝรั่งเศสจะสมรสกับคนต่างด้าวย่อมมีสูงมาก ดังนั้นผู้ร่างฯจึงต้องป้องกันมิให้เสียประชากรจำนวนมากไปในยามจำเป็น เพราะลำพังการสูญเสียชีวิตของทหารฝรั่งเศสก็มีจำนวนมากพออยู่แล้ว  กฎหมายยังบัญญัติให้บุตรที่เกิดในฝรั่งเศสจากมารดาฝรั่งเศสในกรณีนี้ ได้รับสัญชาติฝรั่งเศสด้วย[6]

เนื่องจากการแก้ไขกฎหมายแต่ละครั้งนั้น เป็นการแก้เพียงบางมาตรา ดังนั้นในส่วนของกฎหมายที่ไม่ได้รับการแก้ไขจึงยังคงบังคับใช้อยู่เช่นเดิม ซึ่งก็ทำให้เป็นผลดีต่อจำนวนประชากรของรัฐในยามสงคราม เช่น กรณีที่บุตรเกิดในฝรั่งเศสจากบิดาและมารดาต่างด้าวที่เกิดในต่างประเทศทั้งคู่ ก็ยังคงมีสิทธิได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยการแสดงเจตจำนงเมื่อบรรลุนิติภาวะอยู่เช่นเดิม

…………………………………

ปี 1940  

หากสังเกตให้ดีจะพบว่าแนวคิดทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งสำคัญอีกประการอันจะส่งผลอย่างชัดเจนต่อคนต่างด้าว ซึ่งมักจะสะท้อนออกมาในรูปของนโยบายและการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (World War II) ที่แนวคิดเหยียดผิวหรือเหยียดเชื้อชาติได้เริ่มเผยตัวเองออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้ระบอบ Vichy (le régime de Vichy) ประมาณปี 1940 รัฐตรากฎหมาย “ถอนสัญชาติ” ฝรั่งเศสจากคนฝรั่งเศสเชื้อสายยิว ซึ่งได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยการแปลงสัญชาติ[7] และกฎหมาย Loi du 23 juillet 1940 ที่มีผลย้อนหลังเพื่อถอนสัญชาติและยึดทรัพย์คนสัญชาติฝรั่งเศสที่เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม และ 30 มิถุนายน 1940 หนึ่งในคนฝรั่งเศสที่ต้องเสียสัญชาติไปเพราะกฎหมายฉบับนี้คือ นายพล Charles de Gaulle[8]     

แนวความคิดเหยียดเชื้อชาตินี้ยังคงสืบทอดต่อมาจนถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ว่าได้ เนื่องจากประเทศฝรั่งเศสได้กำหนดโควตาจำนวนผู้มีสิทธิในการแปลงสัญชาติให้แก่ผู้อพยพจากบางประเทศ เช่น ประเทศในแอฟริกา เป็นต้น

นอกจากนโยบายเหยียดเชื้อชาติ (les racistes) เราคงต้องกล่าวถึงแนวคิดอีกประการหนึ่งที่ออกมาในรูปของความเข้มงวดหรือการจำกัดการได้มาซึ่งสัญชาติไว้ภายใต้เงื่อนไขต่างๆมากมายเรียกว่า les restrictionnistes จะเห็นได้ว่านโยบายทั้งสองนี้มีความแตกต่างกัน เนื่องจากการเหยียดเชื้อชาติจะเน้นไปที่กลุ่มชนบางกลุ่มเป็นการเฉพาะ โดยมุ่งหมายเพื่อปรับโครงสร้างทางสังคมเสียใหม่และใช้ข้ออ้างทางสีผิว เชื้อชาติ หรือศาสนาเป็นเกณฑ์ เช่น ถอนสัญชาติชาวยิวตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นต้น ในขณะที่นโยบายเข้มงวดหรือค่อนข้างจำกัดการได้มาซึ่งสัญชาตินั้นจะเน้นไปที่การตั้งเงื่อนไขให้เข้มงวดตั้งแต่การเข้าเมือง ไปจนถึงการแปลงสัญชาติ ตลอดจนการถอนสัญชาติเหล่าอาชญากร หรือผู้กระทำความผิดร้ายแรง เช่นนี้เป็นต้น[9]

กฎหมายว่าด้วยสัญชาติของประเทศฝรั่งเศสนั้นได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมหลายต่อหลายครั้ง แต่ในบรรดาครั้งที่น่าสนใจ คือ ร่างแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งปี 1940 ซึ่งให้ความสำคัญต่อการแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการแปลงสัญชาติเป็นฝรั่งเศส โดยมีสาระสำคัญที่สรุปได้คือ

                - การเสนอให้เพิ่มระยะเวลาของ “การพำนักอาศัยในดินแดนอย่างต่อเนื่อง” ที่ใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาในการแปลงสัญชาติจากเดิม 3 ปี เป็น 8 ปี ซึ่งนักกฎหมายบางท่านยังเสนอให้เพิ่มเป็น 10 ปี เห็นได้จากร่างกฎหมายฉบับสุดท้ายที่ส่งมาให้ Conseil d’État พิจารณา

                - การเสนอให้เพิ่มกฎเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ สำหรับคนต่างด้าว เป็นต้นว่า ต้องเป็นบุคคลผู้มีสภาพการดำเนินชีวิตที่ดี มีสุขภาพจิตดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง

                - ต้องไม่เคยถูกกล่าวหาในคดีที่เกี่ยวข้องกับความประพฤติและศีลธรรม (สังเกตว่า เพียงแค่ “ถูกกล่าวหา” หรือ « reproché » ก็เพียงพอแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาก็ตาม)

                - ต้องไม่เคยถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดและต้องโทษตามกฎหมายทั้งในฝรั่งเศสและในต่างประเทศ (ขอให้สังเกตว่า ผู้เสนอร่างฯ ไม่ได้ใช้คำว่ากฎหมายอาญา แต่ใช้คำว่า droit commun อีกทั้งไม่ได้ระบุว่าโทษที่ได้รับนั้น ต้องเป็นโทษถึงขั้นจำคุกหรือไม่ หากเป็นโทษสถานเบาจะยังคงได้รับพิจารณาให้แปลงสัญชาติได้หรือไม่)

                - นอกจากนี้ผู้ขอแปลงสัญชาติจะต้องมีสินทรัพย์เพียงพอและมั่นคงในระดับหนึ่ง (เป็นเพราะว่าจะได้ดำรงชีวิตอยู่ในฝรั่งเศสได้อย่างปกติและไม่เป็นภาระทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง) 

                - ส่วนในเรื่องทางสังคมนั้น ผู้เสนอร่างฯ เสนอว่าคนต่างด้าวนั้นจะต้องสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมฝรั่งเศสได้อย่างกลมกลืน ต้องพูดและเข้าใจภาษาฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี

จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขบางประการดูเหมือนจะถูกเสนอขึ้นมาเพื่อกีดกันคนต่างชาติมิให้ขอแปลงสัญชาติได้โดยง่าย เพราะเป็นเงื่อนไขที่กว้างมากเหลือเกิน

ในส่วนที่เกี่ยวกับเด็กที่เกิดในฝรั่งเศสนั้น ผู้ร่างฯ ได้เสนอให้ยกเลิกกฎหมายจากเดิมที่ให้บุคคลที่เกิดในดินแดนฝรั่งเศสได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยอัตโนมัติ โดยวางหลักเกณฑ์ใหม่ว่าเด็กที่เกิดในฝรั่งเศสจากบิดามารดาต่างด้าวจะไม่ได้สัญชาติฝรั่งเศสตั้งแต่แรกเกิด และบิดามารดาก็ไม่สามารถเลือกสัญชาติฝรั่งเศสให้บุตรได้ แต่เมื่อเด็กนั้นมีอายุ 16 ปี ถึง 21 ปีให้สามารถแจ้งความประสงค์ขอจดทะเบียนเป็นคนฝรั่งเศสได้ด้วยตนเอง หรือจะรอจนกระทั่งอายุครบ 21 ปี บรรลุนิติภาวะและได้สัญชาติฝรั่งเศสโดยอัตโนมัติก็ได้เช่นกัน ทั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า การขอจดทะเบียนนี้ต้องไม่มีการคัดค้านหรือปฏิเสธจากกระทรวงยุติธรรม รวมไปถึง Conseil d’État ด้วย[10]

ในส่วนของหญิงต่างชาติที่สมรสกับชายฝรั่งเศสนั้น     Conseil d’État เห็นด้วยกับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยที่เสนอให้จำกัดสิทธิของหญิงนั้นในการได้สัญชาติฝรั่งเศส กล่าวคือ แม้จะสมรสถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆให้ครบ ก่อนที่จะยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติต่อไป อันที่จริงแล้วกฎหมายที่ออกมาเพื่อจำกัดสิทธิของหญิงต่างชาติที่เพิ่งสมรสกับชายฝรั่งเศสในเรื่องนี้นั้นเริ่มเข้มงวดตั้งแต่ปี 1934 เป็นต้นมา ซึ่งกำหนดเงื่อนไขเบื้องต้นว่าหญิงต่างด้าวนั้นจะสามารถสมรสกับชายสัญชาติฝรั่งเศสได้ต่อเมื่อหญิงนั้นได้รับวีซ่าพำนักอาศัย หรือ titre de séjour ชนิดที่มีอายุ 1 ปีเสียก่อน[11] ผู้เขียนเข้าใจว่าการกำหนดเงื่อนไขเช่นนี้เป็นเพื่อเป็นการคัดกรองคนต่างด้าวเสียชั้นหนึ่งก่อนที่จะให้มีเสรีภาพในการสมรส เนื่องจากการยื่นขอวีซ่าระยะยาวแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เอกสารหลักฐานรับรองมากมาย รวมถึงต้องมีทรัพย์สินหรือบัญชีเงินฝากจำนวนหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นหลักประกันว่าคนต่างด้าวนั้นเลี้ยงตัวเองได้แม้ไม่ได้สมรสกับชาวฝรั่งเศส และไม่ได้มาเพิ่มภาระให้แก่ประเทศฝรั่งเศสแต่อย่างใด ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกอยู่เสมอคือ เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส เขาสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการ เช่น ประกันสุขภาพหรือประกันสังคม เงินช่วยเหลือต่างๆ ทำให้รัฐต้องมีภาระเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาให้ความช่วยเหลือมิได้ขึ้นอยู่กับสัญชาติแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับรายได้ที่คนต่างด้าวนั้นได้รับในฝรั่งเศส และจำนวนบุตรผู้เยาว์ในครอบครัว 

เมื่อได้ศึกษาความเป็นมาของร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งแล้วนั้น จะพบว่ายังคงมีปัญหาความไม่ลงรอยกันระหว่างฝ่ายที่ต้องการให้ควบคุมการขอแปลงสัญชาติอย่างเคร่งครัด ในขณะที่มีนักกฎหมายบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดเช่นนี้ ในบรรดาความเห็นของฝ่ายที่ต้องการให้การแปลงสัญชาติอยู่ภายใต้การควบคุมโดยเคร่งครัดนี้ แนวคิดที่ยังคงยึดเผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ และสีผิวเป็นหลักในการพิจารณานั้นยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดที่มีการเสนอให้กำหนดโควตาให้ผู้อพยพมาจากแต่ละประเทศขอแปลงสัญชาติได้ไม่เกินปีละกี่คน อย่างไรก็ดีปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้ร่างฯกังวลมักจะเกี่ยวกับบุตรที่เกิดจากบิดามารดาชาวยิวที่อพยพเข้ามาในฝรั่งเศส ประกอบกับเป็นช่วงที่ประเทศฝรั่งเศสถูกยึดโดยรัฐบาลนาซี ทำให้กฎหมายใหม่ต้องได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลเบอร์ลินด้วยเสมอก่อนจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา (Journal officiel)[12]  แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มีขอโต้แย้งที่น่าสนใจ ซึ่งได้มาจากการขอความเห็นปรึกษาไปยังสภานทูตอเมริกันในฝรั่งเศส ที่ตอบมาว่าแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาเองที่ว่ามีการกำหนดโควตาแก่คนต่างชาติในแต่ละปีนั้น เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่าทางสหรัฐอเมริกาใช้วิธีการดังกล่าวเฉพาะแต่กรณี “การอนุญาตให้เข้าเมือง” เท่านั้น มิได้นำมาใช้กับการแปลงสัญชาติแต่อย่างใด[13]

                ข้อสังเกต

1. แม้ว่าคนต่างด้าวจะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆที่กฎหมายกำหนดไว้ได้อย่างครบถ้วนแล้วก็ตาม แต่รัฐฝรั่งเศสมีอำนาจใช้ดุลพินิจในการปฏิเสธและไม่อนุมัติแปลงสัญชาติให้ได้เช่นกัน

2. เมื่อได้ผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างๆตามกฎหมายครบถ้วน และได้รับการอนุมัติคำขอแปลงสัญชาติแล้ว ก็ยังคงต้องได้รับความเห็นชอบจาก Conseil d’État อีกชั้นหนึ่งด้วย

 

[1] เดิมทีบทบัญญัติเกี่ยวด้วยกฎหมายว่าด้วยสัญชาตินั้นถูกตราไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1803 (Livre préliminaire du Code civil) ต่อมาในปี 1927 ได้มีการแยกกฎหมายว่าด้วยสัญชาติออกมาไว้ต่างหาก และในปี 1945 รัฐจึงได้จัดบทบัญญัติเหล่านี้ไว้เป็นประมวลกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ เรื่อยมาจนกระทั่งปี 1993 จึงได้ตรากฎหมายขึ้น Loi du 22 juillet 1993 เพื่อผนวกตัวบทเหล่านี้กลับคืนสู่ประมวลกฎหมายแพ่ง โดยอยู่ภายใต้หมวด “บุคคล” (Code civil, Livre 1er « Des personnes »).

[2] P. Lagarde, La nationalité française, 3e éd., Paris : Dalloz, 1997, n° 1.

[3] Patrick Weil, « Qu’est-ce qu’un Français ? », Histoire de la nationalité française depuis la Révolution, Paris : Gallimard, 2002 et 2004, p. 53.

[4] หลักดินแดนนี้ได้รับการยอมรับอย่างชัดเจนในคำพิพากษา ค.ศ. 1515 แม้ว่าสมัยนั้นแนวคิดเกี่ยวกับสัญชาติจะยังไม่เกิดขึ้น แต่หลักการสืบทอดความเป็นคนฝรั่งเศส ซึ่งรวมไปถึงสิทธิในการรับทรัพย์มรดกเริ่มเป็นที่ถกเถียงมากขึ้น เนื่องจากในคดีนี้บุตรของคนฝรั่งเศสที่เกิดนอกดินแดนฝรั่งเศส ถือว่าเป็น l’aubain และทำให้เขาไม่มีสิทธิรับมรดกจากบิดาฝรั่งเศส ศาลจึงได้วางหลักว่าบุตรของคนฝรั่งเศส แม้ว่าจะเกิดนอกประเทศ หากภายหลังการเกิดเขาได้กลับมาอาศัยอยู่ในดินแดนฝรั่งเศส ย่อมเป็นคนฝรั่งเศสและมีสิทธิรับมรดก

[5] Patrick Weil, « L’histoire de la nationalité française : une leçon pour l’Europe », in Nationalité et citoyenneté en Europe, sous la direction de P. Weil et R. Hansen, Paris : La Découverte, 1999, p. 62.   

[6] M.-L. Niboyet et G. de Geouffre de La Pradelle, « Droit international privé », Paris : LGDJ, 2007, n° 742. 

[7] ขอยกตัวอย่างจดหมายที่มีเนื้อความแสดงถึงแนวนโยบายกีดกันคนต่างชาติโดยเฉพะชาวยิวและผู้สืบสันดานมิให้ได้รับสัญชาติฝรั่งเศสจาก M. Charles Rochat เลขานุการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสที่มีถึง le garde des Sceaux ในปี 1942 ความว่า « Notre Gouvernement a, depuis l’armistice, une politique raciale. D’une part, une commission relevant de votre Chancellerie procède à la révision des naturalisations trop facilement accordées ; d’autre part une législation récente élimine très largement les israélites de l’économie française. Il paraît anormal de maintenir ouverte, sans contrôle, une voie d’accès à notre nationalité aux descendants d’éléments que nous excluons, d’autre part, de notre nationalité ou de notre économie parce qu’ils sont considérés comme ina

หมายเลขบันทึก: 468662เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2011 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เก่งอ่ะ อ้อม ถือเล่มนี้ไปมหาลัยทั่วประเทศเลยยยย ดูซิใครจะไม่รับ แต่ต้องเลือกให้ดี เด๋วเจอที่ไม่ยอมขึ้นเดือนตามคำสั่งกพ.จะเสียอารมณ์ซะ

หมายถึงเงินเดือนจ้า

๑. อ.ตุ๊กจ๋า ไม่ได้เก่งไรหรอกอาจารย์ มันเป็นแค่งานสรุปเองค่ะ ไม่ใช่บทความ ^^

อยากทำบทความเหมือนกันค่ะ แต่ต้องคิดเค้าโครงใหม่หมด


๒. มีเรื่องไม่ขึ้นเงินเดือนด้วยเหรอคะ O_O' น่ากลัวมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท