การปฏิรูปการเรียนรู้ ความเห็นของคุณสุภาวดี หาญเมธี


เปลี่ยนพื้นฐานปรัชญาการศึกษาไทย จาก “ไม่ไว้ใจคน” ไปสู่ความเชื่อมั่นว่า “ทุกคนพัฒนาสังคมให้ดีได้” จากระบบปิดความคิดเป็นระบบเปิด ยอมรับความแตกต่าง ท้าทายให้ครูกล้าคิด ให้คนกล้าคิด

การปฏิรูปการเรียนรู้ ความเห็นของคุณสุภาวดี หาญเมธี

วันที่ ๑ เม.ย. ๕๖ มีการประชุมเรื่อง กระบวนทรรศน์ใหม่ทางการศึกษา ที่ สสค.   ผู้เชิญหารือคือ ศ. นพ. ประเวศ วะสี และคุณเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ แห่ง สสส.  เป้าหมายใหญ่ เพื่อเปลี่ยนสังคมไทยจากสังคมอำนาจ เป็นสังคมเรียนรู้   ผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมหารือ ที่สามารถมาร่วมได้ท่านหนึ่งคือ คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานกลุ่มบริษัทรักลูก และประธานโรงเรียนเพลินพัฒนา

ท่านได้เขียนเอกสารให้ความเห็นมา ๖ ข้อ และนำเสนอต่อที่ประชุมจับใจผมมาก  ท่านบอกว่าจะเขียนบทความทำหนังสือ กระบวนทรรศน์ใหม่ทางการศึกษา ที่ ศ. นพ. ประเวศ แนะนำให้ สสส. และ สสค. จัดพิมพ์เผยแพร่  แต่ผมเห็นว่า สาระที่ท่านเขียนและอธิบายน่าจะมีการเผยแพร่ให้กว้างขวางหลายทาง  จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ทาง บล็อก นี้

๖ ข้อสำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้ ได้แก่

1.  กระจายอำนาจ

2.  ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้

3.  เนื้อหาความรู้ เรียนรู้โดยบูรณาการกับทักษะ

4.  เปลี่ยนแปลงครู

5.  ระบบ

6.  ทรัพยากร

กระจายอำนาจ

·  เปลี่ยนพื้นฐานปรัชญาการศึกษาไทย จาก “ไม่ไว้ใจคน” ไปสู่ความเชื่อมั่นว่า “ทุกคนพัฒนาสังคมให้ดีได้”  จากระบบปิดความคิดเป็นระบบเปิด  ยอมรับความแตกต่าง  ท้าทายให้ครูกล้าคิด ให้คนกล้าคิด

·  ส่วนกลางกำหนดแกนความรู้หลักเท่านั้น  และกำหนดแนวทางการประเมิน  เปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่กำหยดแนวทางของตนเองได้ 

·  เปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาการศึกษาหลากหลายแนวทาง  ไม่รวบอำนาจไว้ที่แนวทางเดียว  รวมทั้งเปิดทางแก่การศึกษาทางเลือก 

ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้

·  ส่งเสริมศักยภาพที่มีตามธรรมชาติ (Natural Potentials) 8ส อันได้แก่ สงสัย  สังเกต  สัมผัส  สืบค้น  สังเคราะห์  สร้างสรรค์  สรุปผล  และนำเสนอ  เด็กทุกคนมีศักยภาพทั้ง ๘  เมื่อกระตุ้นจะงอกงาม  ต้องมีวิธีกระตุ้นตามระดับพัฒนาการ

·  พัฒนาการเด็ก  ไม่สอนอ่านเขียนเรียนหนักในระดับอนุบาล (ซึ่งเป็นการบั่นทอนสมอง)  ให้เรียนรู้อย่างมีความสุข  ระดับประถมเน้นการค้นหาความสนใจของตนเอง

·  Learning by doing & participating  ได้ทดลองเห็นจริงที่พิพิธภัณฑ์เด็ก  เห็นการเปลี่ยนแปลงของลักษณะนิสัย และทักษะต่างๆ 

·  Project-Based Learning

·  เป็นการเรียนที่นักเรียนต้องได้อ่านมาก และเขียนมาก  ลดการสอบปรนัย ลดการเรียนแบบท่องจำ  ลดจำนวนวิชาเรียน 

·  การวัดผลไม่อยู่ที่การสอบปลายภาคเป็นสำคัญ  ต้องเป็นการสะสมผลการเรียนรู้ระหว่างภาคอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งครูต้องใส่ใจเด็กเป็นรายบุคคล

เนื้อหาความรู้ เรียนรู้โดยการบูรณาการกับทักษะ

·  7 วิชา (IB) ได้แก่ ภาษาแม่  ภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  มนุษย์และสังคม (ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์  เศรษฐศาสตร์)  ศิลปะ  กีฬา  + Theory of Knowledge  เด็ก ม. ปลาย ต้องเรียนเรื่องความรู้  เข้าใจว่าความรู้สำคัญต่อชีวิตตนอย่างไร  รู้วิธี organize ความรู้

ท่านเล่าการเรียน (เข้าใจว่าระดับ ป. ตรี) ในต่างประเทศของลูกสาว  ว่าการเรียนภาษาครูสามารถสอนได้โดยครูไม่รู้ภาษานั้น  โดยครูกำหนดให้เด็กอ่านเลือกหนังสือในประเทศ ที่เขียนในภาษาแม่ของตน ประเภทละ ๔ เล่ม  ได้แก่ กวีนิพนธ์ ๔ เล่ม จากรายการที่มีให้, นวนิยาย ๔ เล่ม, เรื่องสั้น ๔ เล่ม, วรรณกรรมคลาสสิค ๔ เล่ม  และหากชอบหนังสือประเภทใดเป็นพิเศษ ใน ๔ ประเภท ต้องไปหามาอ่านเองอีก ๔ เล่ม

ในนวนิยาย ให้เลือกบุคลิกของตัวบุคคลในเรื่องที่ชอบ  แล้วไปหาตัวบุคคลในนวนิยายเรื่องอื่นที่ตนชอบ นำมาเปรียบเทียบ  และอธิบายว่าทำไมตัวบุคคลนั้นจึงมีบุคลิกเช่นนั้น 

ในมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีครูที่อ่านภาษาไทยออก และไม่มีคนสอน  แต่เมื่อ นศ. ส่งรายงานการอ่านและตอบโจทย์ ก็ส่งไปใให้นักเขียนตรวจสอบวิธีคิดของ นศ. ว่ามีเหตุผลหรือไม่  โดยไม่สนใจถูกผิดแต่ดูที่เหตุผล  ทำให้การเรียนสนุก  ได้เรียนภาษาแม่ของตนทั้งๆ ที่อยู่ในต่างประเทศ

ผมนำเรื่องที่ท่านเล่าตอนนี้มาลงไว้อย่างละเอียดโดยถอดจากที่ผมบันทุกเสียงไว้  เพราะต้องการให้ครูอาจารย์เห็นวิธีออกแบบการเรียนรู้ที่ถูกต้อง สำหรับยุคปัจจุบัน

·  ชุดความรู้สำคัญ

-  ความรู้เกี่ยวกับโลก

-  ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

-  ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม  : ประชาธิปไตย  สันติภาพ  การยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ฯลฯ

-  ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ เศรษฐกิจ การเป็นผู้ประกอบการ

-  ความรู้เกี่ยวกับตนเอง (กาย  ใจ  สังคม  ปัญญา  รากเหง้า)

·  ทักษะสำคัญ

-  ทักษะการคิด  : คิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  คิดสร้างสรรค์  คิดตัดสินใจ

-  ทักษะชีวิต  : การสร้างความสุข  การอยู่ร่วมกับผู้อื่น  การจัดการความขัดแย้ง

-  ทักษะการเรียนรู้  : การอ่าน  ICT + Media Literacy

-  ทักษะการงาน

เปลี่ยนแปลงครู

·  ที่มาของครู  ให้จังหวัดคัดกรองครูใหม่ตามมาตรฐานกลาง  และตามแนวทางที่จังหวัดต้องการ

·  สาขาความรู้ใดๆ สนใจมาเป็นครูได้ถ้ามีใจอยากเป็นครู  โดยมาสอบคัดเลือกและเรียนวิชาครูเพิ่มเติม

·  อบรมครูเก่าที่มีอยู่แล้วให้เป็น facilitator  ซึ่งทำได้ไม่ยาก

·  ครูมีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้  ไม่ทำหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนรู้

·  import  : ครูภาษาอังกฤษสำหรับทุกระดับเข้ามาโดยให้สิทธิประโยชน์จูงใจ

ระบบ

·  ยกเลิกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบ “ต้อนควายเข้าคอก”

·  ทุกห้องเรียนทั้งประเทศต้องมีนักเรียนไม่เกิน ๒๕ คนต่อห้อง

ทรัพยากร

·  ส่งเสริมให้ทุกองค์กร ทั้งธุรกิจ รัฐ ฯลฯ ใส่ข้อมูลความรู้จากการทำงานของตนลงในเว็บไซต์  โดยไม่ต้องใส่ส่วนที่เป็นความลับ ใส่เฉพาะส่วนที่เป็นความรู้พื้นฐาน   และจัดประกวดเว็บไซต์ความรู้ต่อเนื่อง  เป็นการสะสมองค์ความรู้ของสังคม เพื่อการค้นคว้าสำหรับทุกคน

·  จัดระบบส่งเสริม ให้ภาคการผลิตและบริการของสังคม ร่วมจัดการเรียนรู้นอกระบบในสาขาต่างๆ  ยกตัวอย่างอู่ซ่อมรถของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ร่วมมือกับ กศน. ในการจัดการเรียนรู้  โดย กศน. ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ 

·  ใช้สื่อโทรทัศน์ในการรณรงค์ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างจริงจัง

·  ขอความร่วมมือสื่อโทรทัศน์ให้ทำ subtitle ภาษาอังกฤษในรายการต่างๆ เท่าที่จะทำได้  

ฟังคุณสุภาวดีแล้ว ผมคิดว่าท่านเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ลึกซึ้งกว่าผมมากมายนัก

วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 532273เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2013 03:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2013 03:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผมชอบ ตรงที่ท่าน บอกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครู ว่า  "อบรมครูเก่าที่มีอยู่แล้วให้เป็น facilitator  ซึ่งทำได้ไม่ยาก" หากไม่ใช่ท่านซึ่งมีประสบการณ์และผลงานอย่างโรงเรียนเพลินพัฒนาแล้ว  ยากนักที่จะทำได้ภายในใต้ข้อจำกัดของครูในระบบ...

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

ขอบคุณอาจารย์วิจารณ์ และคุณสุภาวดี สำหรับการเผยแพร่ความคิดเห็นดีๆให้สังคมครับ ผมขออนุญาตนำไปเผยแพร่ต่อด้วยครับ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท