อาจารย์คณะเกษตรฯ มข.เน้นเกษตรกรจังหวัดน่าน วางแผนผลิตพริกปลอดภัย


ใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มา และเชื้อราบิวเวอร์เรีย ป้องกันกำจัดศัตรูพริก รวมทั้งทำกับดักล่อผีเสื้อกลางคืน เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี เป็นการจัดการแปลงพริกให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานพริกปลอดภัย(GAP)


       เกษตรกรมีส่วนร่วมในการขยายเชื้อราไตรโครเดอร์มาและเชื้อราบิวเวอร์เรีย

        อาจารย์วีระ ภาคอุทัย และอาจารย์ ดร.เยาวรัตน์ ศรีวรานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้รับทุนการวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ให้ทำวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบการตัดสินใจและการจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัยจังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ” ได้จัดประชุมอบรมเชิงปฏิบัติการ ให้แก่เกษตรกรในอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน 2 รุ่น มีเกษตรกรเข้าอบรม 154 คน และเจ้าหน้าที่เกษตรประจำตำบล 5 คน ได้รับเกียรติจากนายสนิท ปัญญาวงค์ เกษตรอำเภอท่าวังผา เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ทั้ง 2 รุ่น พร้อมให้ความคิดเห็นต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนในอำเภอท่าวังผา ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจาก นายจำเนียร ตาลาว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคา นายแหลมทอง สุทธไชย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลริม สำนักงานเกษตรอำเภอท่าวังผา และผู้นำกลุ่มท้องถิ่นในแต่ละตำบลที่ได้เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนความรู้
        การจัดประชุมอบรมในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในโครงการ “การพัฒนาระบบการตัดสินใจและการจัดการโซ่อุปทานพริกปลอดภัยจังหวัดแพร่ น่านและชัยภูมิ” เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ในการทำงานวิจัยให้แก่เกษตรกร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้รับทราบและสร้างความเข้าใจร่วมกัน เสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการเกษตรแบบปลอดภัย การจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกปลอดภัย สร้างระบบทางเลือกในการตัดสินใจการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกร โดย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2556 จัดประชุมอบรม รุ่นที่ 1 ณ หอประชุมบ้านฝายมูล ตำบลป่าคา มีเกษตรกรเข้าร่วม 65 คน จาก 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลป่าคา ตำบลตาลชุม และตำบลยม และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2556 จัดประชุมอบรม รุ่นที่ 2 ณ หอประชุมบ้านเชียงแล(วัดเชียงแล) ตำบลริม มีเกษตรกรเข้าร่วม 89 คน จาก 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลริม ตำบลแสนทอง และตำบลท่าวังผา
        จังหวัดน่านเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีพื้นที่ในการเพาะปลูกพริกกันมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำ พื้นที่ดอน หรือพื้นที่นา โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอท่าวังผา เกษตรกรส่วนใหญ่มักปลูกพริกพันธุ์พื้นเมืองเนื่องจากมีความต้านทานโรค แต่พริกใหญ่พันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดน่านมีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ผลพริกขนาดใหญ่ มีทั้งชนิดผลสั้นและชนิดผลยาว ผิวไม่วาว ซึ่งตลาดพริกบริโภคผลสดมีความต้องการไม่มาก ส่วนใหญ่จะเข้าโรงงานซอสพริก เพราะขนาดของผลใหญ่ เนื้อพริกหนา มีน้ำน้อย ต้นทุนการผลิตต่ำเพราะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม ที่ปลูกพริกหลังฤดูกาลทำนาปี หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ตัดตอซัง แล้วใช้ฟางข้าวคลุมแปลงนา ปล่อยน้ำเข้าไม่ต้องไถเตรียมดิน เมื่อความชื้นในดินเหมาะสมก็ทำการปลูกพริก ต้นทุนการผลิตต่ำเพราะไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการไถและยกแปลงปลูกพริก ไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเพราะใช้ฟางข้าวคลุมแปลงหนา หญ้าหรือวัชพืชอื่นขึ้นยาก ปลูกพริกในช่วงฤดูหนาว ฝนตกน้อยมาก การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจึงใช้น้อย อีกทั้งมีโรงงานรับซื้อพริกเข้าโรงงานแปรรูปในพื้นที่ จึงช่วยให้เกษตรกรขายได้ในราคาสูงขึ้น แต่ถ้าเป็นพริกใหญ่พันธุ์ลูกผสมที่เข้าสู่ตลาดพริกบริโภคสด พริกจังหวัดน่านจะขายได้ราคาต่ำกว่าจังหวัดอื่นเพราะอยู่ไกลตลาดกลาง ค่าขนส่งจึงสูง แต่ขณะเดียวกันหากผลผลิตพริกทางจังหวัดอื่น เช่น จังหวัดแพร่เสียหาย ผลผลิตมีน้อย เช่นในปี2555/56 จึงทำให้ราคาพริกของจังหวัดน่านสูงขึ้น
        อาจารย์วีระ ภาคอุทัย กล่าวว่า ทางโครงการวิจัยฯได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ และสร้างระบบทางเลือกในการตัดสินใจการผลิตพริกปลอดภัย โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรจำเป็นต้องมีการวางแผนการผลิต มีการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกพริกปลอดภัยเพื่อรวบรวมผลผลิตให้มีปริมาณมากเป็นการลดต้นทุนในส่วนของค่าขนส่ง เป็นแรงจูงใจในการรับซื้อผลผลิตของผู้รับซื้อ เกษตรกรต้องเน้นระบบป้องกัน การปรึกษาหารือการทำความเข้าใจร่วมกันกับเกษตรกรที่ปลูกอยู่ใกล้กันหรืออยู่ติดกัน ต้องช่วยกันป้องกันโรคและแมลง เพื่อประโยชน์ของตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เน้นการจัดการการดูแลรักษา ปลูกพริกพื้นที่ต่อครัวเรือนน้อย เพื่อจะได้ดูแลทั่วถึง โดยจำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการระหว่างเกษตรกร ชุมชน และหน่วยงานราชการต่างๆเพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมในอำเภอ ซึ่งมีความจำเป็นมากในการรับรู้ข่าวสารของเกษตรกร สถานการณ์ต่างๆ ทั้งราคาตลาด ปริมาณน้ำฝน การระบาดของโรคและแมลง รวมไปถึงระบบการเข้าถึงระบบเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP) เกษตรกรได้ใบรับรองคุณภาพหรือใบคิวการผลิตพริกปลอดภัยเพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ
        “ในการจัดประชุมอบรมครั้งนี้ทางโครงการวิจัยได้ฝึกปฏิบัติการขยายเชื้อราไตรโครเดอร์มา และเชื้อราบิวเวอร์เรีย เพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพริก รวมถึงการทำกับดักล่อผีเสื้อกลางคืน เป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี เป็นการจัดการแปลงพริกให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานพริกปลอดภัย(GAP) จากกรมวิชาการเกษตร และโครงการวิจัยได้มอบหนังสือคู่มือการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัย(ฉบับ พ.ศ.2555) ให้แก่เกษตรกรผู้เข้าอบรมทุกคน” อาจารย์วีระ กล่าวในที่สุด

        อาจารย์วีระ ภาคอุทัย ข้อมูลข่าว/ภาพ
        กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่


            สาธิตการขยายเชื้อราไตรโครเดอร์มาและเชื้อราบิวเวอร์เรีย


                จัดประชุมและฝึกอบรม ณ หอประชุมบ้านเชียงแล ตำบลริม


       จัดประชุมและฝึกอบรมเกษตรกร ณ หอประชุมบ้านฝายมูล ตำบลท่าวังผา


อาจารย์วีระ ภาคอุทัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และนายสนิท ปัญญาวงศ์ เกษตรอำเภอท่าวังผา


             เข้าตรวจเยี่ยมแปลงเกษตรกรที่บ้านก๋ง ตำบลยม อำเภอท่าวังผา


ขนาดพริกใหญ่พันธุ์พื้นเมืองของบ้านก๋ง ต.ยม อ.ท่าวังผา จ.น่าน เปรียบเทียบกับกล้วยน้ำว้า

หมายเลขบันทึก: 532268เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2013 00:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 เมษายน 2013 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท