พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

กรณีครอบครัวยอดขาว อดีตคนหนีภัยความตายเชื้อชาติไทใหญ่จากประเทศพม่า ซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย


การสรุปข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหาและประเด็นที่ต้องพิจารณา

กรณีครอบครัวยอดขาว อดีตคนหนีภัยความตายเชื้อชาติไทใหญ่จากประเทศพม่า ซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติ รอการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย[1]

โดย นางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์[2]

--------------

ข้อเท็จจริง 

--------------

  เนื่องจากโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษาสิทธิและสถานะบุคคลฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ นักกฎหมายและนักวิจัยประจำโครงการฯได้รับข้อหารือเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายผ่านอีเมลเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2556 จากนางสาวเดือน ยอดขาว และนางสาวดาว ยอดขาว เรื่อง การประสบปัญหาความไร้สัญชาติ และปัญหาสิทธิในการรับวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรที่สำเร็จการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิทางการศึกษาประเภทหนึ่ง

  โดยนางสาวเดือน ยอดขาว ได้ให้ข้อเท็จจริงของตนเองและครอบครัวต่อนางสาวพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ ดังต่อไปนี้

  นางสาวเดือน ยอดขาวเป็นบุตรคนที่หนึ่งของนายทุน และนางยอด ยอดขาว โดยมีน้องอีกสองคน คือ นางสาวดาว ยอดขาว เป็นน้องสาวร่วมบิดามารดา ส่วนน้องชายคือนายสาม ยอดขาว นั้นเป็นน้องชายร่วมมารดาเท่านั้น ทั้งหมดเป็นครอบครัวเชื้อชาติไทใหญ่ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า

  นายทุน เป็นคนเชื้อชาติไทใหญ่ เกิดและเติบโตในประเทศพม่า ได้เข้าร่วมเป็นกองกำลังชนกลุ่มน้อยไทใหญ่เพื่อสู้รบกับรัฐบาลพม่าขณะนั้น

  ส่วนนางยอด ยอดขาว (มีชื่อเดิมตามภาษาไทใหญ่ คือ นางจอ) เกิดประมาณ พ.ศ.2504 ณ ประเทศพม่า เติบโตในประเทศพม่า โดยมีมารดาชื่อนางนวล ทั้งนี้นางยอด มีพี่น้องนับรวมตนเองด้วยเป็น 5 คน ทั้งหมดเกิดที่ประเทศพม่า และเมื่อประมาณอายุได้ 15-16 ปี หรือประมาณ พ.ศ.2519 นางยอดได้เดินทางจาก เขตอำเภอเมืองปั่น รัฐฉานตอนใต้ มาร่วมเป็นกองกำลังของชนกลุ่มน้อยไทใหญ่ที่สู้รบกับรัฐบาลพม่า และได้พบกับนายทุน ยอดขาว

การทำสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยไทใหญ่ กับรัฐบาลพม่ามีเรื่อยมาจนประมาณ พ.ศ.2529 ทั้งนายทุน และนางยอด ยอดขาวก็จำต้องอพยพหนีการสู้รบเพื่อเอาชีวิตรอดเข้ามายังฝั่งประเทศไทยโดยที่ไม่มีเอกสารแสดงตนในการเดินทางเข้ามาแต่อย่างใด เมื่อเข้ามาถึงประเทศไทยก็ได้ไปอาศัยอยู่บริเวณเปียงหลวง กิ่งอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนประเทศไทยและประเทศพม่า ทั้งคู่อยู่กินฉันสามีภรรยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และประกอบอาชีพรับจ้างทำนาบริเวณเปียงหลวง

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2531 นางยอด ได้ให้กำเนิดนางสาวเดือน ยอดขาว ณ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหมอตำแย ช่วยทำคลอด แต่ด้วยความไม่รู้กฎหมาย นางยอด และนายทุน ก็ไม่เคยแจ้งการเกิดของนางสาวเดือน ยอดขาว ต่อสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหงเลย

ส่วนนางสาวดาว ยอดขาวเกิดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ.2533 ณ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหมอตำแยช่วยทำคลอดเช่นเดียวกัน และด้วยความไม่รู้กฎหมาย ทำให้นางยอด และนายทุนไม่เคยแจ้งการเกิดของนางสาวดาว ยอดขาวอีกเช่นกัน นางสาวเดือนเล่าว่าขณะที่นางสาวดาวอายุยังไม่ถึงหนึ่งปี (ระหว่างปี พ.ศ.2533 -2534) บิดาคือนายทุนก็ได้เสียชีวิตลงเพราะเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองกำลังไทใหญ่และรัฐบาลพม่าในแถบพื้นที่ชายแดน

เมื่อ พ.ศ.2534 ได้มีการเปิดสำรวจแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง นางยอด ซึ่งไม่มีหลักฐานแสดงตนใดๆ เมื่อได้รับคำแนะนำจากเพื่อนบ้านจึงไปเข้ารับการสำรวจ ณ สำนักทะเบียนอำเภอกิ่งอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็เป็นการไปเข้ารับการสำรวจลำพังคนเดียวไม่ได้พาบุตรสาว คือนางสาวเดือน ยอดขาว และนางสาวดาว ยอดขาว ไปรับการสำรวจด้วย และไม่ได้แจ้งชื่อของบุตรทั้งสองต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ทำให้นางยอด ยอดขาวได้รับการขจัดความไร้รัฐด้วยการถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยประเภททะเบียนประวัติ กำหนดเลขประจำตัวคือ 650205002xxxx และได้รับบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง ส่วนบุตรทั้งสองคนก็ยังคงประสบปัญหาความไร้รัฐ และในคราวเข้ารับการสำรวจจัดทำแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงนี่เอง เป็นที่มาของการเริ่มต้นใช้นามสกุลยอดขาว เพราะจำเป็นต้องแจ้งทั้งชื่อและนามสกุลต่อเจ้าหน้าที่

ต่อมาประมาณ พ.ศ.2535 นางยอด ยอดขาวได้รับคำแนะนำจากเพื่อนจึงพานางสาวเดือน และนางสาวดาวย้ายมาอยู่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำงานรับจ้างในสวนส้ม และระหว่างนี้เองได้พบรักกับสามีใหม่ คือบิดาของนายสาม ยอดขาว ซึ่งสามีใหม่นี้ก็เป็นคนไร้สัญชาติ เชื้อชาติไทใหญ่เช่นกัน ทั้งคู่อยู่กินฉันสามีภรรยาได้ประมาณ 2 ปีจึงเลิกรากันเมื่อประมาณ พ.ศ.2537

ปี พ.ศ.2537 เมื่อเลิกรากับสามีใหม่นางยอด ซึ่งขณะตั้งครรภ์นายสาม จึงได้ตัดสินใจพานางสาวเดือน และนางสาวดาว ย้ายกลับมาอยู่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และให้กำเนิดนายสาม ยอดขาวเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2537 ณ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาประมาณ พ.ศ.2540 ด้วยปัญหาฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว รายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย นางยอด ซึ่งได้รับคำแนะนำจากน้องสาว จึงได้พาบุตรทั้งสามคนเดินทางมาทำงานในสวนส้ม จังหวัดสระบุรี

นางสาวเดือน และนางสาวดาว ด้วยความที่เริ่มอ่านภาษาไทยได้ ด้วยการสอนของนางยอด ยอดขาว จึงได้เข้าเรียนครั้งแรกในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดคลองใหม่ จังหวัดสระบุรี และย้ายไปเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ที่ 2 โรงเรียนวัดหมู่ใต้ จังหวัดสระบุรี

ต่อมาประมาณ พ.ศ.2545 เมื่อนางสาวเดือนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 นางยอดมารดาได้พานายสามกลับไปอยู่ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ แต่นางสาวเดือน และนางสาวดาว จำเป็นต้องช่วยมารดาทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ จึงได้ตามคุณครูอัสนีซึ่งรู้จักในสมัยที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เข้ามาทำงานรับจ้างทำงานบ้าน และรับจ้างขายอาหารสัตว์ในกรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ.2547 ทั้งนางสาวเดือน และนางสาวดาว ต้องการเข้าศึกษาต่อในระบบการศึกษานอกโรงเรียน แต่ด้วยขณะนั้นทั้งสองคนอยู่ในสถานะคนไร้รัฐ ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ ในเบื้องต้นจึงไม่สามารถสมัครเข้าเรียนได้ แต่ก็ได้รับคำปรึกษาจากเพื่อนของมารดาที่อาศัยอยู่ในอำเภอเวียงแหง ว่าทั้งนางสาวเดือน นางสาวดาว และนายสาม เกิดในประเทศไทยก็ควรดำเนินการแจ้งเกิด เพื่อออกสูติบัตร และรับการสำรวจเพื่อรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรเช่นเดียวกับมารดา

ดังนั้นนางยอด จึงได้รวบรวมพยานบุคคลผู้รู้เห็นการเกิดของบุตรทั้งสามได้แก่หมอตำแย และเพื่อนบ้าน แล้วดำเนินการแจ้งเกิดย้อนหลังให้กับนางสาวเดือน นางสาวดาว และนายสามเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2547 ต่อสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ และนางสาวเดือน นางสาวดาว นายสามก็ได้รับเอกสารรับรองการเกิดในประเทศไทย คือ สูติบัตร ท.ร.3 ประเภทบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือลักษณะชั่วคราว ถัดจากนั้นสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหงก็ได้รับรองสถานะบุคคลของนางสาวเดือน นางสาวดาว และนายสามในทะเบียนราษฎร ประเภททะเบียนคนอยู่ คือ แบบพิมพ์ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง และได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก กล่าวคือ นางสาวเดือน ยอดขาวได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 750200104xxxx นางสาวดาว ยอดขาว ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 750200104xxxx ส่วนนายสาม ยอดขาว ได้รับการกำหนดเลขประจำตัว 750200104xxxx การกระทำของรัฐไทยดังกล่าวเป็นไปเพื่อขจัดความไร้รัฐให้กับบุคคลทั้งสามอันเนื่องจากมีบุพการีเป็นคนไร้รัฐซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติไทใหญ่ที่ทำการสู้รบกับรัฐบาลพม่า จึงทำให้ไม่อาจถูกส่งกลับไปประเทศพม่าได้

และในโอกาสนี้ เมื่อนางสาวเดือน นางสาวดาว และนายสาม แม้จะอยู่ในสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายแต่ประเทศไทยก็ยอมรับการให้สิทธิอาศัยชั่วคราว ทำให้สำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหงได้เพิ่มชื่อของนางยอด นางสาวเดือน นางสาวดาว และนายสาม ในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว ท.ร.13 ณ บ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 1 ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2547

ระหว่างนี้นางสาวเดือน นางสาวดาว เข้ารับการศึกษาต่อระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตามระบบการศึกษานอกโรงเรียน ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ส่วนนายสามก็ได้บวชเรียนในโรงเรียนวัดกลองโรม

ต่อมาในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2550 สำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหงได้ออกบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ประเภทบุคคลบนพื้นที่สูง ให้แก่นางยอด นางสาวเดือน นางสาวดาว และนายสาม

โดยในปี พ.ศ.2550 นางสาวเดือนเล่าว่า ตนเองและครอบครัวได้รับคำแนะนำจากคุณอาภรณ์ ให้ตนเองและน้องทั้งสองคนยื่นคำขอสัญชาติไทย ตามมาตรา 7 ทวิวรรคสอง พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ดังนั้นตนเอง นางสาวดาว นายสาม จึงรวบรวมเอกสารและยื่นคำขอสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ แต่ขณะยื่นคำร้องก็ไม่ได้มีหลักฐานการยื่นคำร้อง หรือใบรับคำร้องใดๆ กลับมา นางสาวเดือนพยายามติดตามความคืบหน้าการยื่นคำร้องดังกล่าว จนกระทั่งปี พ.ศ.2554 ได้ติดต่อไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และพบว่าไม่มีคำร้องขอสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิวรรคสองของตนเองและน้องทั้งสองคน

เดือนมีนาคม พ.ศ.2555 ทั้งนางสาวเดือน และนางสาวดาว หลังสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการสยาม กรุงเทพฯ แต่ประสบปัญหาเรื่องสิทธิในการรับวุฒิการศึกษาตามหลักสูตร เพราะทางวิทยาลัยฯ เข้าใจผิดในเบื้องต้นว่าหากนางสาวเดือน และนางสาวดาว ไม่ได้ขออนุญาตเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อมาศึกษา ย่อมจะไม่มีสิทธิรับวุฒิการศึกษาตามหลักสูตรที่สำเร็จ แต่เมื่อทางโครงการบางกอกคลินิกฯ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และกระทรวงศึกษา ได้ทำความเข้าใจข้อกฎหมายกับทางวิทยาลัยฯ ก็ยอมออกวุฒิการศึกษาให้ตามสิทธิทางการศึกษาของนางสาวเดือน และนางสาวดาว และทั้งสองคนก็ได้ทำเรื่องขออนุญาตออกนอกพื้นที่เพื่อศึกษาตลอดหลักสูตร โดยสมัครเข้ารับการศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีพณิชยการสยาม

ต่อมาเมื่อเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2555นางสางเดือนและนางสาวดาว ยอดขาว ได้ยื่นคำร้องขอลงรายการสัญชาติไทย ตาม มาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 อย่างถูกต้องต่อสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหง พร้อมพยานเอกสาร คือ สูติบัตร ท.ร.3 ประเภทบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือลักษณะชั่วคราว แบบพิมพ์ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว ท.ร.13 บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หลักฐานทางการศึกษา และได้สอบปากคำพยานบุคคลจำนวน 3 คน โดยทั้งสองคนมีใบรับคำร้องจากทางสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหง

จากการสอบถามเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่สำนักทะเบียน ไม่ปรากฏว่าขาดพยานเอกสาร หรือพยานบุคคลในส่วนใด แต่เมื่อครบกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาของสำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหง ทางโครงการบางกอกคลินิกฯ ในฐานะผู้ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือ จากนางสาวเดือน และนางสาวดาว ยอดขาว ได้มีจดหมายติดตามความคืบหน้า ถึงนายอำเภอเวียงแหง ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2555 แต่ทางอำเภอเวียงแหงไม่ได้ตอบกลับ

ช่วงต้นเดือนกันยายน นางสาวเดือนเล่าว่า เจ้าหน้าที่สำนักทะเบียนอำเภอเวียงแหงแจ้งว่า ยังไม่สามารถดำเนินการเรื่องคำร้องของทั้งสองรายต่อได้ เพราะปลัดอาวุโส และเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาเรื่อง ลงมาศึกษาต่อที่โรงเรียนนายอำเภอ ในกรุงเทพฯ

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2555 นางสาวเดือน ยอดขาว และนางสาวดาว ยอดขาว ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อติดตามและคุ้มครองสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักดินแดน ตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551

ปัจจุบัน ครอบครัวยอดขาว คือ นางยอด ยอดขาว นางสาวเดือน ยอดขาว นางสาวดาว ยอดขาว และนายสาม ยอดขาว ยังคงประสบปัญหาความไร้สัญชาติ

-------------------------------------------------------------------------------------------

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลของสมาชิกครอบครัวยอดขาว

-------------------------------------------------------------------------------------------

1.  นางยอด ยอดขาว และบุตรทั้งสามคนมีข้อเท็จจริงเป็นผู้หนีภัยความตายจากประเทศพม่า ที่

ประเทศไทยไม่อาจส่งกลับได้ใช่หรือไม่ ?

2.  กรณีของนางยอด ยอดขาว แม้ว่าภัยความตายในประเทศต้นทางอาจจะยุติลง แต่รัฐไทยก็มีข้อ

กฎหมายและนโยบายที่จะไม่ส่งกลับผู้หนีภัยความตายซึ่งมีความผสมกลมกลืนกับประเทศไทยใช่หรือไม่ ? และอาศัยข้อกฎหมายและนโยบายใด ?

3.  กรณีนางสาวเดือน ยอดขาว และนางสาวดาว ยอดขาว เป็นบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย

และทรงสิทธิในสัญชาติไทยตามหลักดินแดนตามมาตรา 23 พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 ใช่หรือไม่? การพิสูจน์สิทธิดังกล่าวต้องอาศัยพยานหลักฐานใด?

4.  กรณีนายสาม ยอดขาว เป็นบุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทยและทรงสิทธิในสัญชาติไทยตาม

หลักดินแดนหรือไม่ ? โดยข้อกฎหมายใด ?

5.  นางสาวเดือน ยอดขาว นางสาวดาว ยอดขาว และนายสาม ยอดขาว เป็นคนต่างด้าวซึ่งเกิดใน

ประเทศไทย แต่ถูกถือว่าเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคสาม พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 หรือไม่ ?? อย่างไร ??



[1]จัดทำเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2556

[2]นักกฎหมายประจำโครงการบางกอกคลินิกเพื่อให้คำปรึกษาสิทธิและสถานะบุคคลฯ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายระหว่างประเทศ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


หมายเลขบันทึก: 532265เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2013 23:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2013 01:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ให้กำลังใจในการพิสูจน์ครับ...

ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท