สมาธิเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต...



พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนพากันฝึกสมาธิ เพราะว่าสมาธิเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตของเราทุก ๆ คน ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่จิตใจต้องมีสมาธิ


สมาธิแปลว่าความสงบ แปลว่าความสมดุลทางร่างกายจิตใจ คนเราถ้าปราศจากสมาธิแล้ว ชีวิตนี้จะไม่มีความสุข

การทำสมาธินี้แหละทำได้ทุกอิริยาบถ... เราเดินอย่างนี้นะก็ให้ใจของเราอยู่กับการเดิน เรานั่งก็ให้ใจของเราอยู่กับการนั่ง

พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา... เรานั่งอยู่ให้เราหายใจเข้าสบาย เรานั่งอยู่ก็ให้เรา  หายใจออกให้สบาย

คำว่าสบายนี้ก็หมายถึง “มีความสุข ไม่อึดอัด” เรานั่งอยู่นี้เราไม่ต้องไปคิดอะไร  เรามีหน้าที่หายใจเข้าให้มันรู้สบาย หายใจออกให้มันรู้สบาย ทำอยู่อย่างนี้แหละ ให้มีความสุขมีความสงบอยู่กับการหายใจเข้าหายใจออก

คนเราที่มันยังไม่ตายมันย่อมคิดโน่นคิดนี่ มันคิดอะไรก็ช่างหัวมัน คนไม่ตายมันก็คิดอย่างนี้แหละ เมื่อเรารู้แล้วว่าเราหลงคิดไปเราก็กลับมาหายใจเข้าให้สบาย  หายใจออกให้สบาย

ใจของคนเรานี้มันชอบส่งออกไปข้างนอก มันชอบไปเที่ยวข้างนอก มันอยู่กับตัวเอง  ไม่เป็น มันอยู่กับความสงบไม่เป็น

พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึกสมาธิ ฝึกหายใจเข้าก็รู้สบาย หายใจออกก็รู้สบาย  ลมเข้ายาวก็รู้สบาย ลมออกยาวก็รู้สบาย ลมเข้าสั้นก็รู้สบาย ลมออกสั้นก็รู้สบาย  เราหายใจเข้าละเอียดเบา ๆ ก็รู้สบาย หายใจออกละเอียดเบา ๆ ก็รู้สบาย เรามีความสุขกับการหายใจเข้าสบายออกสบายอย่างนี้แหละ ทำไปเรื่อย ๆ ให้มันได้หลาย ๆ นาที ให้มันได้หลาย ๆ ชั่วโมง เราอย่าไปสงสัยอะไร เราอย่าไปสนใจอะไรนะ ใครจะไปจะมา เสียงอะไร  เราก็อย่าไปสนใจ “พระพุทธเจ้าท่านให้เราอยู่กับลมเข้าก็ให้รู้สบาย ลมออกก็ให้รู้สบาย...” ผู้ที่ยังทำสมาธิไม่ค่อยเป็น ยังไม่ชำนิชำนาญในเรื่องสมาธิ พระพุทธเจ้าท่านให้เราฝึก  อย่างนี้แหละ

บางทีเรามาอยู่วัดเราอาจจะฝึกหายใจเข้ารู้สบาย หายใจออกรู้สบายนี้หลายวันนะ ไม่ใช่ทำประเดี๋ยวเดียวนะ เราอยู่ในส่วนรวมเหมือนที่เรากำลังฟังเทศน์หรือว่านั่งสมาธิกับ  หมู่คณะอย่างนี้เราก็ทำสมาธิอย่างนี้ เมื่อเรากลับไปบ้านพัก กลับบ้านที่กุฏิเราก็ต้องฝึกอย่างนี้

พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราสนใจใครนะ คนอื่นก็เรื่องคนอื่น เสียงก็เรื่องของเสียง  เราไม่ต้องส่งใจไปรบกวนคนอื่น ไม่ต้องเอาใจไปว่าคนโน้นคนนี้ ว่าคนนี้รบกวนเรา คนนั้นรบกวนเรา ว่าเสียงนี้รบกวนเรา ที่แท้จริงนั่นน่ะ เสียงนั้นก็ไม่ได้รบกวนเราหรอก คนอื่นก็ไม่ได้รบกวนหรอก แต่เรานี้แหละชอบไปเอาสิ่งภายนอกมารบกวนใจของเราเอง

เรามันอยู่สงบไม่เป็นอยู่นิ่งไม่เป็น ทำไปเรื่อย ๆ มันจะสงบหรือไม่สงบก็ช่างหัวมัน  เรารู้ลมเข้าสบายลมออกสบายอย่างเดียว มันจะปวดแข้งปวดขาหรือคันตามเนื้อตามตัว  ก็ช่างหัวมัน อย่าไปสนใจ มันจะนั่งได้นานหรือไม่ได้นานก็อย่าไปคิดไปปรุงแต่ง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราฝึกเสียสละฝึกปล่อยฝึกวาง ไม่สนใจอะไร ให้อยู่กับลมหายใจเข้าสบาย  ลมหายใจออกสบายอย่างเดียว


เรารู้หลักประพฤติปฏิบัติแล้ว พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แหละ  เราเข้าใจแล้วเราก็ปฏิบัติเอาเอง เพราะการหายใจ การทำใจสบายเราต้องทำใจของเราเอง พระพุทธเจ้าท่านก็เป็นเพียงผู้บอก ครูบาอาจารย์ท่านก็เป็นเพียงผู้บอก  ไม่มีใครมาทำให้เราได้ มาปฏิบัติให้เราได้

เราทำไปทำไปน่ะ เดี๋ยวเรื่องเก่า ๆ หลัง ๆ มันผุดขึ้นมา เราก็อุเบกขาวางเฉย  ไม่ต้องไปคิดมัน เราคิดมันมามากแล้ว ใจของเรานี้มันทำไมทำไมอยู่อย่างนั้นแหละ

ทุกคนต้องฝึกอย่างนี้นะ ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แหละ เรามาอยู่วัดเราก็จะไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เพราะเราไม่ได้ทำสมาธิ เราไม่ได้ทำเรื่องจิตเรื่องใจของเรา

ครั้งพุทธกาลน่ะ เค้าไม่ได้มานั่งสมาธิเป็นหมู่เป็นคณะเหมือนเรา เค้าฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าแล้วเค้าก็ไปนั่งเองตามอัธยาศัย ที่กุฏิบ้าง โคนไม้บ้าง ป่าช้าบ้าง นี่เรายังโชคดีนะ เราพากันมานั่งเป็นหมู่เป็นคณะ มีครูบาอาจารย์คอยบอกคอยสอน

ฝึกปลงฝึกปล่อยฝึกวาง เรานั่งสมาธินี้เรานั่งเพื่อเสียสละ เพื่อปล่อยเพื่อวาง เพื่อไม่มี ไม่เอาไม่เป็น ถ้าเรา “อยาก” ให้มันเป็นสมาธิมันไม่เป็นสมาธิ เพราะว่าสมาธิแปลว่าไม่มีความโลภความโกรธความหลง ไม่มีความต้องการ มีแต่ความว่างเปล่ามีแต่ความเสียสละ

เราพากันแบกของหนักมานานแล้วพระพุทธเจ้าท่านให้เรามาฝึกปล่อยของหนักออกจากจิตใจ มาวางของหนักออกจากจิตจากใจ มาอยู่กับตัวเองมาอยู่กับหายใจเข้าก็รู้สบาย อยู่กับหายใจออกก็รู้สบาย


เรามานั่งสมาธิเราอาจจะอึดอัด เพราะว่ามันอยากคิดเราก็ไม่คิด ถ้าเราไม่อึดอัดเราก็  ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา เพราะความอึดอัดมันเป็น “เบรก” มันเป็นการทบทวนที่จิตใจของเราที่มันกำลังวิ่ง “เมื่อเรามาทำสมาธิ เราไม่ทำตามใจตัวเอง ไม่ทำตามอารมณ์ตัวเองมันเลยอึดมันเลยอัด

การทำสมาธิก็คือการมาหยุด มันอึดอัดก็ช่างหัวมัน มันอยากคิดก็ช่างหัวมัน  อากาศร้อนก็ช่างมัน มันไม่ได้ตามใจก็ช่างมัน

พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาฝึกปล่อยฝึกวาง มาฝึกเสียสละ ทำอย่างนี้นะ แล้วเรา  ก็ชอบพูดว่า “เรานั่งสมาธิเราจะได้อะไร...? ใช่มั๊ย

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเราเห็นแก่ตัว ทำอะไรก็จะเอา ทำอะไรก็มุ่งหวังผลประโยชน์ เรานั่งสมาธิ เราไม่ได้อะไรหรอกนะ เราก็ได้เสียสละ เพราะสุขไหนก็สู้ความสงบ  ความเยือกเย็นไม่ได้

เรามาอยู่ที่วัดเราก็ปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อเรากลับไปบ้านเราเราก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน  เราไปที่บ้านเราก็ไหว้พระสวดมนต์นั่งสมาธิเหมือนกัน

บางคนก็คิดนะคิดว่าถ้าเราไม่ทำวัตรสวดมนต์ได้มั๊ย...?

เรานั่งสมาธิเลยเราจะได้จิตใจสงบ เพราะเราเป็นญาติเป็นโยมเราไม่มีเวลาทำวัตร  สวดมนต์ เราน่าจะทำจิตใจให้สงบเลย ทำจิตใจให้ว่างเลย ความคิดอย่างนี้มันไม่ใช่นะ  มันไม่ถูกนะ ความคิดอย่างนี้มันของคนขี้เกียจขี้คร้าน เป็นความคิดของคนเห็นแก่ตัว  เป็นความคิดของคนที่มักง่าย

การทำวัตรสวดมนต์ก็คือการเสียสละ การไหว้พระก็คือการเสียสละ มันก็เป็นการสมาธิเหมือนกัน

คนเรามนุษย์เรานี้มันติดสุขติดสบายนะ เวลาดูหนังฟังเพลง ดูละคร เล่นมือถือ  เล่นอินเตอร์เนทนี้ตั้งหลายนาทีหลายชั่วโมงมันยังไม่มีปัญหา เวลาจะมาไหว้พระสวดมนต์  นั่งสมาธินิด ๆ หน่อย ๆ มันถึงมีปัญหา นี้แสดงว่าใจของเรามีปัญหานะ ใจของเราขี้เกียจ  ขี้คร้านนะ ใจของเราเห็นแก่ตัวนะ

ยิ่งเราเป็นคนอ้วน ๆ น่ะ คนอ้วน ๆ มันขี้เกียจนะ คนอ้วน ๆ มันกินเก่งนอนเก่ง  คนอ้วน ๆ นี้นะ มันชอบอยู่ดีกินดี มันเอาความสุขตั้งแต่การกินการนอน การบริโภควัตถุ  มันไม่เอาความสุขในการเสียสละ ไม่ความสุขในการไหว้พระ นั่งสมาธิ สวดมนต์  คนอ้วน ๆ น่ะมีปัญหานะ

เราไปเอาความสุขอย่างนั้นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าไม่ถูก ต้องเอาความสุข  จากการเสียสละ ต้องไหว้พระสวดมนต์ ต้องนั่งสมาธิ ต้องทบทวนจิตใจ อย่าไปทานมาก  อย่าไปอุ้ยอ้ายมาก อย่าไปนอนมาก ต้องฝืนต้องอดต้องทน ให้ร่างกายมันอด ๆ อยาก ๆ  บ้างนะ เดี๋ยวจะเป็นโรคหัวใจ จะเป็นโรคความดันเบาหวาน เป็นโรคโลหิตอุดตัน โรคอะไรต่าง ๆ นานา

ความสุขของคนมันไม่ได้อยู่ที่ร่างกายนะ มันไม่ได้อยู่ทางเนื้อทางหนังนะ มันอยู่ที่เราได้เสียสละ อยู่ที่เราได้รักษาศีล อยู่ที่เราได้ทำวัตรสวดมนต์ ทำสมาธิ เจริญปัญญา ไม่ตามอวิชชาไม่หลงความสุขความสนุกสนานในเนื้อในหนังซึ่งเป็นของไม่จีรังยั่งยืน มันขี้เกียจด้วยนะ  ขี้เกียจออกกำลังกาย ขี้เกียจทำงาน

เราดูน่ะพวกคุณหมอทั้งหลายทั้งปวงมันแข็งแรงสู้ชาวบ้านเค้าไม่ได้หรอก ทำงานเบาสะดวกสบาย อยู่ในห้องแอร์ ร่างกายอ่อนเปรี้ย ปวกเปียก เพราะว่าไม่ได้ตากแดดตากลมนะ ไม่ได้ออกกำลังกาย เป็นนักวิชาการ เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ว่าขาดการกระทำความดี  ทางจิตใจ ทำงานก็ไม่ได้ทำงานเพื่อเสียสละ ทำงานเพื่อเงินเพื่อสตางค์ เพื่อลาภยศสรรเสริญ

คนเรานี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า เรายังพากันหลงอยู่เยอะหลงอยู่มากทีเดียวนะ เห็นตัวเองผอมอย่างนี้ก็เป็นทุกข์ใจแล้ว เห็นตัวเองดำก็เป็นทุกข์ใจแล้ว เห็นตัวเองไม่สวย  ไม่หล่อก็ทุกข์ใจแล้วมันไปเน้นตั้งแต่ทางร่างกายทางวัตถุ มันไม่รู้จักความสงบทางจิตทางใจทางพระนิพพาน ทางเสียสละเลย

การมาทำสมาธิก็เพื่อเสียสละ ทำเพื่อปล่อยเพื่อวาง เพื่อเอาโลกธรรมทั้งหลายออกจากจิตจากใจ

คนเราเกิดมามันก็ไม่ได้เอาอะไรมา มาแต่ตัวเปล่าๆ  เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ไม่มี  เวลาละสังขารไปก็ไม่ได้เอาอะไรไป เราเกิดมาเราจะมาลุ่มหลงงมงาย เป็นคนติดสุขติดสบายเป็นคนบาปอย่างนี้คงไม่ได้คงไม่ดีแน่นะ

ทุกคนก็ขวนขวายไม่อยากแก่ไม่อยากเจ็บไม่อยากตาย มันจะเป็นไปได้อย่างไรล่ะ คนเรามันต้องแก่เจ็บตาย มันต้องพลัดพราก มันต้องจากไป

บางทีคนเรามันไม่ได้ตายเพราะความแก่ความเจ็บ มันตายเพราะคิดมาก เพราะโรค  ทางจิตทางใจมันหนักกว่าโรคทางกาย เป็นมะเร็งทางกายมันยังไม่เท่าไหร่ แต่เป็นมะเร็งทางใจนี้มันแย่นะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าท่านให้เราปล่อยให้เราวาง จะหนีไปไหนไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย “มันเป็นไปไม่ได้....” เราเป็นหนี้เป็นสินเค้าแล้วต้องยอมจ่าย ต้องยอมชำระหนี้เค้านะ ให้ใจของเรา  มันสงบ ใจเราอย่าเป็นนักรบนักต่อยนักตี นักเดินขบวน นักทำไม ๆ ถึงเป็นอย่างนั้น  ทำไมรัฐบาลถึงเป็นอย่างนี้ ทำไมมันถึงแล้งอย่างนี้ มันถึงร้อนอย่างนี้ ทำไมมันถึงไม่รวย  ทำไมมันอาภัพอับจนอย่างนี้ แล้วเรามันเกิดมาทำไม เราเกิดมาเพื่อมาสร้างบารมีสร้างคุณค่าสร้างคุณธรรม ไม่ใช่เราจะมาเป็นนักรบนักตบนักตีนักทำไม ๆ อยู่นั่นแหละ

เราต้องฝึกปล่อยฝึกวาง การทำสมาธินี้แปลว่าปล่อยวาง เสียสละ ไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ปัญญาของเราถึงจะเกิดได้ สติสัมปชัญญะของเราถึงจะสมบูรณ์

ศีลคือข้อวัตรปฏิบัติที่จะให้เราเป็นคนมีระเบียบมีวินัย เพื่อให้เป็นคนไม่มีความโลภความโกรธความหลง เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว

คนเรามันต้องมีระเบียบมีวินัยจิตใจถึงมีศักยภาพ จิตใจถึงหนักแน่นเข้มแข็ง จิตใจ  ถึงมีพลัง ถ้าคนไม่มีศีล ไม่มีระเบียบไม่มีวินัยเค้าเรียกว่าเป็นนักปรัชญา ไม่ใช่นักประพฤติปฏิบัติ เป็นพวกความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด


เราทำการทำงานอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านก็ให้เราทำสมาธินี้ มีสมาธิในการทำงาน  มีความสุขมีความพอใจในการเสียสละความขี้เกียจขี้คร้านออกจากใจของเรา ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจเสียสละเพื่องาน คนเราถ้าไม่ทำงานแล้วก็ไม่ได้เสียสละ ไม่ได้ละความเห็นแก่ตัว

ท่านเรียกว่าการทำงานคือการปฏิบัติธรรม คือการเสียสละ ละความโลภความโกรธความหลงนะ

คนเราทุก ๆ คนนี้มันไม่อยากทำงาน อยากทำงานก็อยากทำแต่งานที่ชอบ ๆ  อันไหนไม่ชอบมันก็ไม่อยากทำ ขึ้นชื่อว่างานทุกอย่างมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเสียสละทั้งนั้นนะ ชอบหรือไม่ชอบเราก็ต้องทำเพื่อให้สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในปัจจุบัน  เพราะปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าปัจจุบันเรามีความสุขมันก็เป็นปัจจุบันไปเรื่อย ๆ เพราะว่าพระอาทิตย์พระจันทร์มันกำหนดวันเวลาว่าเป็นกลางวันกลางคืน  เป็นอดีต เป็นอนาคต แต่ที่แท้จริงแล้วถ้าเราไม่ไปกำหนดเอาดวงอาทิตย์ดวงจันทร์มันก็เป็นปัจจุบันไปเรื่อย ๆ

ต้องเน้นทำงานให้มีความสุข... คนที่ไม่อยากทำงานไม่อยากเสียสละนี้แหละ  เค้าเรียกว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวมาก ๆ ความเห็นแก่ตัวนี้ทำให้ทุกคนเรียนหนังสือไม่เก่ง  ทำให้ทุกคนยากจน ไม่ร่ำไม่รวย ไม่มีคุณธรรม

โยมก็ทำงานโยม พระก็ทำงานพระ ทุกคนจะไม่ทำงานไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านทำงานเพื่อตัวเองจนหมดกิเลสสิ้นอาสวะ หมดกิเลสสิ้นอาวะแล้วก็ยังทำงานเพื่อคนอื่นอีกอย่างนี้นะ

เราอย่าพากันติดสุขติดสบายนะ ไม่ได้นะ มันบาปนะ...

เราเกิดมาเพื่อสร้างความดีสร้างบารมี เพื่อเสียสละ ละความเห็นแก่ตัวเพื่อทำงาน  เราอย่าว่าเราทำแต่งานเราไม่มีเวลาพักผ่อนเลย เราคิดอย่างนี้มันคนเห็นแก่ตัวนะ

คนเราน่ะถ้าเราไม่มีความเห็นแก่ตัวคือการพักผ่อนจิตใจ คือการไม่แบกของหนัก  เราอย่าไปคิดว่าพักผ่อนมันจะมีความสุขนะ มันอาจจะมีความสุขทางกายแต่ใจมันไม่มีความสุขนะ

พระพุทธเจ้าท่านพักผ่อนด้วยการทำงานด้วยการเสียสละ เวลาหยุดสั่งสอนคนอื่น  หยุดทำประโยชน์ส่วนรวมท่านก็เข้านิโรธสมาบัติ ปล่อยวางจิตปล่อยวางใจมันก็เป็นงาน  อย่างหนึ่ง เป็นงานไม่มีความโลภความโกรธความหลง งานเสียสละ งานปล่อยงานวาง

เราดูพระพุทธเจ้าน่ะ ทำไมพระพุทธเจ้าท่านถึงขยันแท้ ขยันจริง ๆ วันหนึ่งก็พักผ่อนเพียง ๔ ชั่วโมง นอกจากนั้นก็ทำงานตลอด อย่างนี้แหละ เพราะว่าท่านเสียสละ ถ้าเราทำงานไปมีความสุขไปมันก็เสียสละไปในตัวเรื่อย ๆ มันรีแลกซ์ มันคลายเครียดไปเรื่อย ๆ


เราทำงานกับเพื่อนกับฝูงเราก็มีความสุขในการที่ได้ทำงานกับเพื่อนกับฝูง เราอยู่กับเจ้านายก็มีความสุขในการทำงานกับเจ้านาย เราอยู่กับลูกน้องก็มีความสุขในการทำงาน  กับลูกน้อง มีความรักมาก เมตตามาก สงสารมาก เพราะใจของเรามีแต่ความสุข มีแต่  ความเมตตา มีแต่ความสงสาร ไม่ถือโทษโกรธเคือง ไม่เอาเปรียบเอารัดใคร มีแต่เป็นผู้ให้  ผู้เสียสละ ใจดีใจสบาย แล้วก็มองทุกอย่างในแง่ที่ดี ๆ สิ่งไม่ดีก็มาแก้ที่ใจเรา ถ้าทุกอย่าง  มันดีหมดเราก็ไม่ได้แก้จิตใจของเรา สิ่งที่มันไม่ดีเราก็จะได้แก้ที่จิตที่ใจ เราจะได้พัฒนา  เราคิดอย่างนี้เราเจริญปัญญาอย่างนี้นะ เราคิดในแง่บวกคิดในแง่ที่เกิดสติเกิดปัญญา  ถ้าเราใจดีใจสบายเราไม่เครียดธรรมะมันก็ไหลมาเทมา ความสุขความดับทุกข์มันก็เป็นอัตโนมัติของมันไปเรื่อย

คนเราส่วนใหญ่ก็เอาแต่ใจตัวเองนะ ลืมตัวไป เป็นคุณพ่อก็เอาแต่ใจตัวเอง เป็นคุณแม่  ก็เอาแต่ใจตัวเอง เป็นภรรยาก็เอาแต่ใจตัวเอง อย่างนี้แหละพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันไม่ถูก จะทำให้เราเป็นคนเสียผู้เสียคนนะ ทำให้เราเป็นภัยต่อตัวเองต่อคนอื่นนะ

พระพุทธเจ้าท่านให้เราเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่สงบที่เย็นนะ อย่าเป็นคนทิฏฐิมานะ ปากจัดเจ้าอารมณ์ อะไรก็แตะไม่ได้ ต้องไม่ได้ ยิ่งเป็นผู้นำยิ่งเป็นใหญ่เป็นโตก็ยิ่งอัตตาตัวตนมาก อย่างนี้มันไม่ดีเลยนะ เป็นผู้แบกของหนักน่ะ จิตใจน่ะพกอาวุธพกระเบิดนะ ระเบิดคนอื่นระเบิดตัวเองนะ

เจริญเมตตาเยอะ ๆ... 

"เรา ครอบครัวเรา ลูกเราหลานเราน่ะ ถ้าเราไม่มีความรัก  ไม่มีความเมตตาความสงสาร เอาแต่จิตแต่ใจครอบครัวของเราจะมีความสุขความดับทุกข์ได้อย่างไร...?" เพราะเราเผาบ้านเรา เผาครอบครัวเรา เพราะเราเป็นคนทิฏฐิมานะปากจัด  เจ้าอารมณ์ ไม่ฝึกจิตใจสงบ ใจเย็น จิตใจมีอุเบกขาวางเฉย ไปพูดแต่สิ่งที่มันไม่ดี  พูดแต่สิ่งที่มันไม่สบายใจ ลูกเราหลานเรา ถ้าเราไปว่าเค้าดีเค้าก็ดี ว่าไม่ดีเค้าก็ไม่ดี  มันอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่นะ คุณพ่อคุณแม่นี้สำคัญ คุณพ่อคุณแม่นี้ต้องสงบ ต้องใจเย็น  ถ้าเป็นคนทิฏฐิมานะเจ้าอารมณ์ ใครก็บอกไม่ได้สอนไม่ได้เค้าเรียกว่าเป็นคนอันตรายนะ  เป็นบุคคลที่มีปัญหานะ

พยายามเอาใจลูกเอาใจหลาน เอาใจทุก ๆ คน เราอย่าไปคนมีทิฏฐิมานะมีตัวตนถึงจะได้ชื่อว่าเป็นปูชนียบุคคล เป็นที่รักที่เคารพของลูกหลานของญาติของตระกูล ถึงจะยังไม่ตาย  ก็เป็นปูชนียบุคคลที่เคลื่อนไหวได้เดินได้นะ ลูก ๆ หลาน ๆ เค้าก็ดีใจภูมิใจ มีความสุขในการทำงาน ไม่ระแวงไม่ลังเลสงสัย พอใจลงใจนะ แล้วเค้าก็เอาตัวอย่างในทางที่ดี ๆ  พ่อแม่นี้สำคัญ พระพุทธเจ้าท่านสอนเรานะ บอกเรานะ...

เรื่องร่ำเรื่องรวยนี้ต้องฝึกปล่อยฝึกวางนะ รวยหรือจนนี้ไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่ใจ  มันสงบ คนเราน่ะถ้ารวยล้นฟ้าเป็นมหาเศรษฐีแต่ถ้าใจมันไม่สงบ ใจมันก็ไม่มีความสุขความดับทุกข์มันก็ไปพระนิพพานไม่ได้

เราฝึกปล่อยฝึกวาง ลูกเราจะเป็นอย่างไรหลานเราจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน จะจนจะรวยอย่างไรก็ช่างหัวมัน ทุกคนก็กินข้าวเอง ทุกคนหายใจเข้าหายใจออกเอง เราจะไปทุกข์แทนเขา ให้เป็นการเวียนว่ายตายเกิดอีกก็คงไม่ดี ต้องฝึกปล่อยฝึกปลงฝึกวางมันถึงจะดีนะ  ถ้าไม่อย่างนั้นเสียท่ากิเลสนะ...


การบรรยายพระธรรมคำสั่งสอนขององสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนี้ก็เห็นสมควรแก่เวลา ขอสมมุติยุติไว้แต่เพียงเท่านี้

ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ขอให้ทุกท่านทุกคนจงมีดวงตาเห็นธรรมด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

ค่ำวันพุธที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 532100เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2013 08:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2013 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

สาธุๆๆๆ....มงคลชีวิตยามเช้า  ขอบคุณข้อคิดดีๆ นำไปฝึกปฏิบัติตนค่ะ :-))

เห็นด้วยค่ะ สมาธิมา ปัญญาเกิด

ขอโมทนาบุญกุศลที่ข้อเขียนนี้จะทำให้หลาย ๆ ท่านเกิดการพัฒนาตนเองให้เป็น "คนที่สมบูรณ์" ยิ่งขึ้น ครับ

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท