UNFPA ฟันธงไทยไม่พร้อมรับมือวิกฤติประชากรศาสตร์


การเปลี่ยนโมเมนตัมทางสังคม

[1]

มีข่าว AP ชิ้นหนึ่ง เป็นข่าวเล็ก ๆ ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10434

"ยูเอ็นชี้ไทยไม่พร้อมรับมือคนแก่ล้น"

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม สำนักข่าวเอพีรายงานว่า กองทุนประชากรโลกแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอฟพีเอ เผยว่าในขณะที่จำนวนประชากรสูงอายุของไทยอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตัวในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่ทางการไทยกลับไม่เตรียมพร้อมรับมือกับจำนวนประชากรสูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นมาแต่อย่างใด

ยูเอ็นเอฟพีเอระบุว่า ปี 2548 ไทยมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี ราว 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 6 ล้านคน แต่ภายในปี 2568 ไทยจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 19.8% หรือราว 12.9 ล้านคน และในปี 2593 จะเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านคน หรือ 20% นายเกซี มูจาฮิด ที่ปรึกษาด้านนโยบายประชากรของยูเอ็นเอฟพีเอกล่าวว่า เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2563 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ที่มีประชากรสูงอายุมากกว่าจำนวนอายุต่ำกว่า 15 ปี และไทยเพิ่งผ่านร่างกฎหมายและการจัดตั้งระบบเพื่อดูแลผู้สูงอายุ แต่คงยังไม่มีประเทศใดรวมถึงไทยที่พร้อมจะรับมือกับปัญหานี้

ยูเอ็นเอฟพีเอระบุด้วยว่า จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องใช้เงินจำนวนมากสำหรับความมั่นคงทางสังคม สาธารณสุข และสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ปัจจุบันผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีในไทยและรายได้ไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพียงเดือนละ 300 บาทเท่านั้น แม้ว่าจะตั้งกองทุนผู้สูงอายุขึ้นมาช่วยเหลือแล้ว"

(ข่าวสามารถ download จาก

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0123041049&day=2006/10/04)

ขออนุญาตยกมาทั้งข่าว เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องป้อนสู่การรับรู้สู่สังคมแต่เนิ่น ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันในสังคม เพื่อแต่ละคนหาทางเตรียมตัวรับมือ "พายุประชากร" ลูกนี้เสร็จตั้งแต่พายุยังมาไม่ถึง

มีข่าวภาษาอังกฤษด้วย ใส่ link ไว้เผื่ออยากอ่าน สำนานอาจต่างไปบ้าง แต่เป็นข่าวเดียวกัน

http://www.cbc.ca/cp/health/061003/x100316.html

ผมเคยเขียนไว้ใน blog เรื่องสังคมชราภาพ แต่ไม่ได้มีตัวเลขที่ฟันธงแบบนี้

 

[2]

ผมเึคยขับรถ แล้วเห็นอุบัติเหตุข้างหน้าในระยะประชิด ผมเบรคทัน แต่ก็รู้สึกว่าทันแบบน่าหวาดเสียวไปหน่อย

อีกครั้งหนึ่ง ผมขับรถทางไกล ราวร้อยกว่าเมตรก่อนถึงทางแยกของถนนสี่เลน ถนนโล่งตลอด เห็นไฟเหลือง ผมก็ผ่อนความเร็ว กะว่าไฟแดงไล่เลี่ยกับรถจอดแตะเส้นขาวที่สี่แยกพอดี ตาเหลือบไปมองข้างหลัง เห็นมีรถพ่วงตามมาในเลนเดียวกันห่างไม่ถึงร้อยเมตร ไม่รู้นึกอย่างไร ผมตัดสินใจเปลี่ยนไปเลนซ้าย เผื่อเขาเบรคไม่ทัน แล้วชนท้ายโดยไม่เจตนาเกิดขึ้น

ไม่เบรคแฮะ ! รถใหญ่คันนั้นฝ่าไฟแดงโดยไม่มีการชะลอความเร็ว !?!

อึ้งด้วยเหตุผลอยู่หลายหลายนาที ขับไปสักพักค่อยรู้สึกอกสั่นขวัญหาย ว่าเมื่อกี้ ถ้าไม่ตัดสินใจเปลี่ยนเลน แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ? 

ผมเคยคุยกับคนขับแทกซี่ที่เคยเป็นโชเฟอร์รถพ่วงยี่สิบสองล้อถึงกรณีที่เกิดขึ้น เขาเล่าให้ฟังว่า เดี๋ยวนี้เครือข่าย logistics ขยายตัวใหญ่มาก สี่แยกไฟแดงที่มีเส้นทาง logistics หลักพาดผ่าน โดยเฉพาะในเขตชานเมือง จะเป็นจุดอันตรายที่ใครขับขี่ยวดยานต้องระวังตัวให้มากเป็นพิเศษ   

เพราะในเมืองไปเลย รถพวกนี้วิ่งเอื่อยมาก ก็ไม่สร้างปัญหา

นอกเมืองไปเลย ถนนมักจะว่างมาก ก็ไม่เป็นไร ยังพอหลบทัน 

แต่ชานเมืองมีไฟแดงมีบ่อย รถไม่แออัดมาก รถพ่วงชอบเร่งทำเวลาในโซนชานเมืองนี่แหละ ผลคือ ใครที่ติดไฟแดงแล้วไม่ดูหลังให้ดี มีสิทธิทำให้โชเฟอร์ต้องหนีตาม(คุณ)ระเบียบ โทษฐานเหยียบรถ แต่ไม่เหยียบเบรค

ปัญหาอยู่ที่รถพ่วงยี่สิบสองล้อมีแรงเฉื่อยมหาศาล (เกิน 30 ตัน) ถ้าคิดจะจอด ก็ต้องคิดล่วงหน้าระยะสองร้อยเมตรขึ้นไป หากจอดปุบปับ รถพ่วงขนาดยาวอาจคว่ำ แล้วกวาดทุกอย่างที่สี่แยกฟากตรงกันข้ามไปหมด การเหยียบรถสักคันหนึ่งที่ทำถูกกฎจราจร อาจสูญเสียน้อยกว่าการคว่ำเพราะเหยียบเบรค !

 

[3]

ขับเคลื่อนประชากรหกสิบล้านคน แรงเฉื่อยจากความอุ้ยอ้ายเทอะทะคงไม่ต่างจากการรถยี่สิบสองล้อที่หนักหลายสิบตันนั่นเท่าไหร่

สมัยก่อน คนแก่มีน้อย มีปัญหาอะไรขึ้นมา แจ้งรายการโศกนาฎกรรมบันเทิงหลังข่าวค่ำ

ข่าวประเภท "พบคนชราตาบอดอายุ 90 คุ้ยกองขยะเลี้ยงหลานพิการ"

แค่นี้ก็รับมือได้แบบสบาย ๆ

แต่คราวนี้แหละ ปัญหาใหญ่ก็จะเกิดขึ้น เมื่อคนแก่มีมากขึ้นหลายเท่าจากปัจจุบัน...

ถ้าคนแก่มีเยอะขึ้น เราจะจัดสรร air time ที่ไหนมาออกรายการโศกนาฎกรรมบันเทิงอย่างนี้ได้เพียงพอ ?

.... 

ปัญหาใหญ่ระดับชาติเลยนะนี่..

หมายเลขบันทึก: 53205เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2006 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อ่านแล้วได้แง่มากทีเดียวครับ ผมอายุย่าง 41 แล้ว (ยังโสด) ปัจจุบันก็ยังรู้สึกว่า ชีวิตไม่ปลอดภัยเลย หาก (อนาคต) แก่ไป ไม่มีงานทำ ไม่มีกิจการ ไม่ได้แต่งงาน (อีก) จะทำอย่างไร คิดแล้วเครียดเหมือนกัน เพราะเงินทองก็ไม่มีจะเก็บ (ไม่รู้จักเก็บ) ชีวิตผมอยู่อย่างประมาทมาโดยตลอด (เที่ยว กินดื่ม) เจ็บใจที่ตัวเองไม่รู้จักออม ปวดใจที่ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครสอนให้เด็กรู้จักออมได้อย่างเข้าใจถ่องแท้ ปัจจบันเริ่มออมแล้ว และไม่รู้ว่า สักวัน หากพบเหตุการณ์ที่ 2 จะมีแรงและความคิดหมุนพวงมาลัยหลบทันไหม น่าคิด ทว่าทุกวันนี้ก็พยายามสร้างค่าตัวเองด้วยการเขียน และทำวารสาร และทำงานหนัก เพราะคนแก่ ผมว่า ถ้ามีงานทำ ได้ทำงานหนัก งานที่ทำมีคุณค่าต่อสังคม ครอบครัวและตนเอง เหล่านี้ คิดว่า มีคนแก่มากก็ไม่มีผลทางร้าย ว่าไหมครับ
  • ชีวิตเป็นไปได้เพียงสองอย่างคือ เราต้องแก่ หรือไม่เราก็ตายก่อนแก่
  • เมื่อเราแก่ ชีวิตก็ยังเป็นชีวิตเรา ที่เราต้องผ่านตรงนั้น
  • คำว่าผลทางร้าย คงแล้วแต่การตีความ ว่าร้ายต่อตัวเอง หรือร้ายต่อคนอื่น
  • ร้ายต่อตัวเอง เป็นเรื่องทำตัวเอง เพราะเราเลือกได้ว่าจะดีต่อตนเองหรือร้ายต่อตนเอง 
  • ร้ายต่อคนอื่นไหม ...ไม่แน่นัก... ประเด็นนี้ ...อาจจะมีบ้าง
  • คือยามแก่ตัวเราอาจต้องพึ่งพาคนอื่นเรื่องสังขารและเงินทอง แต่ถ้าเราพร้อม ก็จะลดการพึ่งลงไปมาก แต่เรื่องไม่พึ่งเลยคงฝันเฟื่องไปหน่อย คำถามก็คือ ตอนนี้เราทำให้ลูกหลานพึ่งเราได้แค่ไหน ?
  • พร้อมเรื่องสังขารคือถ้าเราเตรียมพร้อมดี ก็อาจเป็นไปได้ว่าจะไม่หง่อมหมดสภาพก่อนวัยอันควร ก็จะไม่สร้างภาระเรื่องสังขารให้คนอื่นมาก ซึ่งเรื่องนี้ผมจะแนะนำอ่านบล็อกของคุณหมอวัลลภที่ บ้าน_Go2No ครับ
  • พร้อมเรื่องการเงินคือใช้เงินเป็น ใช้เงินฉลาด ไม่มีภาระหนี้สิน มีเก็บออมตามควร รู้จักลงทุนบ้าง ก็จะทำให้พึ่งตนเองได้ทางการเงิน อย่างน้อยก็บางส่วน
  • แต่ดีต่อคนอื่นไหม เป็นไปได้ครับ อยู่ที่ความตั้งใจจะให้ ซึ่งไม่แน่ว่ายิ่งแก่อาจยิ่งสร้างสรรค์
  • คนแก่มากมีผลทางร้ายไหม ก็คงขึ้นกับว่าเมื่อเราแก่ตัวลง เราจะเพิ่มประโยชน์ให้คนอื่น หรือจะไปเพิ่มภาระให้คนอื่น ผมว่าอยู่ที่การเลือกและการเตรียมตัวก่อนตั้งแต่วัยต้นของชีวิตครับ
  • ในสังคมของการเรียนรู้ คนแก่จะมีคุณค่าตรงสามารถถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองต่อชีวิตให้คนรุ่นหลัง จัดเป็น ขิงยิ่งแก่ ยิ่งเผ็ดร้อน ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท