ชีวิตที่พอเพียง : 125. อย่าแบกโลก


         ผมสังเกตว่า เมื่อเราทำอะไรสำเร็จ    บ่อยครั้งจะมีคนมาแสดงความยินดีชื่นชม    บางครั้งก็มาป้อยอ     และมักมีคนบอกให้ทำอย่างอื่นอีก     เรื่องที่เขาแนะให้ทำ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งดี     แต่มีไม่น้อยที่เป็นเรื่องใหญ่เกินกำลัง     ผมเรียกว่าเป็นเรื่อง "แบกโลก"     ผมจะบอกตัวเองว่า อย่าแบกโลก

         ในที่ประชุมระดมความคิดเรื่องต่างๆ ซึ่งสมัยทำงานที่ สกว. เราจัดบ่อยมาก     ในการจัดประชุมแต่ละครั้งเราต้องเตรียมตัวมาก ทั้งเสาะหาชื่อคนที่เรียกว่า ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดที่จะมาให้ข้อคิดเห็น     ต้องหาวิธีที่จะให้เขาอยากมาร่วมประชุม    เพราะคนเหล่านี้มักเป็นคนที่ไม่ว่าง  มีงานเต็มอยู่เสมอ     และเตรียมอื่นๆ อีกมากมาย     แต่ที่สำคัญที่สุดคือเตรียมทำให้โจทย์ หรือวัตถุประสงค์ของการประชุมชัด และพุ่งเป้า (โฟกัส)    ตอนประชุม พอเครื่องติด ซึ่งหมายความว่าผู้เข้าร่วมประชุมเห็นคุณค่าของเรื่องนั้นต่อสังคม  มักมีคนเสนอให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ให้ใหญ่ขึ้น  กว้างขึ้น ในระดับที่ผมประเมินว่างานจะใหญ่ขึ้นเป็นร้อยเท่าพันเท่า จนไม่โฟกัส      ผมก็จะบอกที่ประชุมแบบติดตลกว่า "ดร. ก เสนอให้ สกว. แบกโลก    ผมขอบิเอาสะเก็ดนิดเดียวมาแบกก่อนได้ไหม    ต่อเมื่อสร้างสมพลังและสติปัญญามากขึ้นค่อยบิชิ้นใหญ่ขึ้น เอามาแบก"      ผู้เข้าร่วมประชุมก็จะเข้าใจทันทีว่าเราต้องการโฟกัสส่วนไหนของเรื่อง ไม่ใช่เอาทั้งหมดของเรื่อง จนทำงานไม่สำเร็จ

        ผมมองว่า อาการแบกโลกเกิดจากการไม่มีทักษะในการแยกแยะและพุ่งเป้าความคิด     พอคิดเชื่อมโยงขยายใหญ่ออกไปเรื่อย ก็เห็นว่าทุกเรื่องสัมพันธ์กัน    และสำคัญไปหมด     จึงโดนปัญหาทับตาย     เพราะมุ่งแก้ปัญหาก้อนใหญ่และซับซ้อนเกินไปในครั้งเดียว

        อาการแบกโลกอีกแบบหนึ่ง เป็นการแบกปัญหาไว้ในใจ ทำให้เกิดความทุกข์  เป็นปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนยุ่งเหยิงมาก มองไม่เห็นทางออก ก็เอามาทุกข์ใจ     มีคนมาปรึกษาเรื่องแบบนี้กับผมบ่อยๆ     ผมก็บอกว่าคำแนะนำของผมก็คือ "อย่าแบกโลก"     และผมไม่ใช่แค่แนะนำ  ตัวผมเองก็ทำเช่นนั้น     คือสงบเสงี่ยมเจียมตัวว่าเรามีความสามารถแค่นี้  ตัวแค่นี้  ไม่มีกำลังพอที่จะแบกโลก   เราไม่ทิ้งโลก ไม่ดูดาย แต่ขอแบกเฉพาะส่วนที่เราพอจะทำได้   

        ผมวิเคราะห์ว่า คนที่แบกโลกคือคนที่คิดแบบ "คิดเพื่อคิด"    หรืออาจจะคิดฟุ้งซ่านไปเลย     คนที่ "คิดเพื่อทำ" จะไม่แบกโลก   เพราะการคิดเพื่อทำ ต้องคิดในระดับ (หรือขนาด) ที่พอจะทำได้

        คนแบกโลกเขาอาจ "คิดเพื่อทำ" ก็ได้นะครับ     แต่คงจะคิดเพื่อให้คนอื่นทำ    เรียกร้องให้คนอื่นทำตามความคิดของตน     แต่ผมจะไม่คิดแบบนั้น    ผมเอาแค่คิดเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ทำก็พอแล้ว     ชีวิตที่พอเพียงต้องสงวนพลังความคิดไว้คิดในสิ่งที่จะทำ  ไม่เปลืองพลังไปกับการคิดฟุ้งซ่าน

         คิดแล้วทำ  ทำแล้วทบทวนไตร่ตรอง  หาความหมายความเข้าใจที่ลึกขึ้นกว้างขึ้น    ปรึกษาหารือฟังความเห็นคนอื่นหลากหลายความคิด    อ่านตำราหาความรู้เชิงทฤษฎีมาประกอบ     ตอนแรกอาจทำคนเดียวหรือทีมเล็กๆ ๒ - ๓ คน     เมื่อทำได้และต้องการขยายเป้าหมายก็หาทีมที่ใหญ่ขึ้นหรือเครือข่ายที่มีอุดมการณ์หรือคุณค่าร่วมกันมาทำ     ก็จะค่อยๆ แบบโลกก้อนใหญ่ขึ้นได้

       นี่คือวิธีคิดแบบผม หรือที่ผมเรียกว่าแบบกุลีหรือคนงาน     ซึ่งคนอีกแบบหนึ่งเขาจะไม่คิดแบบนี้     เขาจะบินสูง เข้าสู่ระบบอำนาจรัฐ หรืออำนาจการเมือง  เดินทางลัดเข้าไปแบกโลกได้ทันที

วิจารณ์ พานิช
๙ กย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 53204เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2006 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เป็นบันทึกที่เตือนสติได้ดีค่ะ การทำงานเล็กๆที่ทำได้หลายๆเรื่องให้ดีๆ ดีกว่าคิดจะทำเรื่องใหญ่น้อยเรื่องจริงๆค่ะ แต่คงมีเรื่องชื่อเสียงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงทำให้คนชอบที่จะทำเรื่องใหญ่มากกว่านะคะ อาจารย์

 ขอบพระคุณครับ

  • เตือนสติได้มาก ทั้งส่วนบุคคล และองค์กร
  • คิดมาก คิดใหญ่ มักมีกิเลสเป็นตัวนำ มุ่งแสวงหาโลกธรรมฝ่ายบวกเป็นที่ตั้ง
  • คิดพอดีๆ กับสิ่งที่พอทำได้ แล้วลงมือทำ มีเป้าหมายอันแท้จริงของงานเป็นตัวตั้ง  มีสันโดษเป็นเครื่องกำกับ  สนุก เพลิดเพลิน และไม่รุ่มร้อน
  • ขอบคุณมากค่ะ
  • ได้ข้อคิดที่ดีมาก ๆ เลยค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท